“20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6: ‘การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
20–26 เมษายน
โมไซยาห์ 4–6
“การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง”
ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง โมไซยาห์ 4–6 จงเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านได้รับการดลใจให้ทำสิ่งดีอะไรบ้าง (ดู โมไซยาห์ 5:2)
บันทึกความประทับใจของท่าน
ท่านเคยได้ยินคนพูดและรู้สึกได้รับการดลใจให้เปลี่ยนชีวิตท่านหรือไม่ ท่านอาจจะตัดสินใจดำเนินชีวิตต่างจากเดิมเล็กน้อย—หรือแม้ต่างจากเดิมมากเพราะสิ่งที่ท่านได้ยิน โอวาทของกษัตริย์เบ็นจามินเป็นเช่นนั้น และความจริงที่เขาสอนมีผลเช่นนั้นต่อคนที่ได้ยิน กษัตริย์เบ็นจามินแบ่งปันสิ่งที่เทพสอนเขาให้แก่ผู้คน—ว่าพรสุดวิเศษเกิดขึ้นได้ผ่าน “พระโลหิตที่ชดใช้ของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 4:2) ข่าวสารของเขาเปลี่ยนการมองตนเองทั้งหมดของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 4:2) เปลี่ยนความปรารถนาของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 5:2) และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์เสมอ (ดู โมไซยาห์ 5:5) คำพูดของกษัตริย์เบ็นจามินมีผลต่อผู้คนของเขาเช่นที่กล่าวมา และจะมีผลต่อท่านอย่างไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
โดยผ่านพระเยซูคริสต์ฉันสามารถได้รับและมีการปลดบาปของฉันอยู่เสมอ
การเอาชนะความเป็นมนุษย์ปุถุชนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพยายามมากเพื่อเป็น “วิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า” (โมไซยาห์ 3:19) บางครั้งแม้เมื่อท่านรู้สึกได้รับการอภัยบาปแล้ว ท่านอาจจะรักษาความรู้สึกนั้นและอยู่บนเส้นทางแห่งความชอบธรรมได้ยาก กษัตริย์เบ็นจามินสอนให้ผู้คนของเขารู้วิธี รับ และ มี การปลดบาปอยู่เสมอ และดำเนินชีวิตเสมอต้นเสมอปลายในฐานะวิสุทธิชน ขณะที่ท่านศึกษา โมไซยาห์บทที่ 4 ท่านอาจจะถามตัวท่านเองดังนี้
-
ข้อ 1–12:การปลดบาปนำพรใดมาให้ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน กษัตริย์เบ็นจามินสอนอะไรที่จะช่วยให้พวกเขามีการปลดบาปอยู่เสมอ เขาสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับความรอด สังเกตว่ากษัตริย์เบ็นจามินพูดถึงสิ่งใดที่เราควร “เก็บไว้ในความทรงจำเสมอ” (ข้อ 11) ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อจดจำสิ่งเหล่านี้
-
ข้อ 12–16:ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเราถ้าเราทำสิ่งที่อธิบายไว้ใน ข้อ 11 ท่านเคยประสบการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในชีวิตท่านหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่อธิบายไว้ใน โมไซยาห์ 3:19 อย่างไร
-
ข้อ 16–30:การให้คนยากไร้ช่วยให้เรามีการปลดบาปของเราอยู่เสมออย่างไร ท่านจะประยุกต์ใช้ ข้อ 27 กับการพยายามเป็นเหมือนพระคริสต์ได้อย่างไร
ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “การปลดบาปของท่านจะมีอยู่เสมอ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 59–62; เดล จี. เรนลันด์, “ดำรงการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 119–122 ด้วย
พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจฉัน
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนทั่วจะไปพูดว่า “ฉันเปลี่ยนไม่ได้ ฉันก็เป็นของฉันแบบนี้” ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินแสดงให้เราเห็นว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงสามารถเปลี่ยนใจเราได้จริงๆ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา แม้ความปรารถนาที่แท้จริงของเราก็เปลี่ยนแปลงได้ … การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง—การเปลี่ยนแปลงถาวร—สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านอำนาจการรักษา ชำระล้าง และทำให้เป็นไปได้เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ … พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ คือ พระกิตติคุณของการเปลี่ยนแปลง!” (“การตัดสินใจเพื่อนิรันดร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 108)
ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินประสบ ลองคิดดูว่า “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงเกิดขึ้นมาแล้ว—หรือจะเกิดขึ้น—ในชีวิตท่านอย่างไร ช่วงเวลา “อันลึกซึ้ง” บางช่วงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจท่าน หรือการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของท่านค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยหรือไม่
ดู เอเสเคียล 36:26–27; แอลมา 5:14; เดวิด เอ. เบดนาร์, “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 106–109 ด้วย
ฉันรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับฉันเมื่อฉันทำพันธสัญญา
เหตุผลหนึ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินต้องการปราศรัยกับผู้คนคือเพื่อ “ให้ชื่อหนึ่งแก่ผู้คนพวกนี้” บางคนเป็นชาวนีไฟและหลายคนเป็นผู้สืบตระกูลของมิวเล็ค แต่นี่ไม่ใช่ชื่อที่เขาคิดไว้ในใจ เขาเชิญชวนให้ผู้คนรับ “พระนามของพระคริสต์” ไว้กับพวกเขาอันเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาว่าพวกเขาจะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า (โมไซยาห์ 1:11; 5:10) ท่านเรียนรู้อะไรจาก โมไซยาห์ 5:7–9 เกี่ยวกับความหมายของการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวท่าน
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “ต้นกำเนิด [ของพลังทางศีลธรรมและทางวิญญาณ] คือพระผู้เป็นเจ้า เราได้รับพลังดังกล่าวผ่านพันธสัญญาของเรากับพระองค์” (“พลังแห่งพันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 23) ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 5:5–15 ให้เขียนพรที่จะเข้ามาในชีวิตท่านเมื่อท่านรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า การรักษาพันธสัญญาของท่านช่วยให้ท่านมี “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ในท่านอยู่เสมอผ่านพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์อย่างไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
โมไซยาห์ 4:9–12
ครอบครัวท่านจะ “เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 4:9) อย่างเต็มที่มากขึ้นและ “เก็บไว้ในความทรงจำเสมอ, ถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า” ได้อย่างไร (โมไซยาห์ 4:11) สมาชิกครอบครัวอาจจะอ่าน โมไซยาห์ 4:9–12 และระบุวลีที่ช่วยสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นพวกเขาอาจจะจดวลีเหล่านี้และติดไว้ทั่วบ้านเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ การจดจำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรา “ชื่นชมยินดีเสมอ” และ “การปลดบาป [ของเรา] จะมีอยู่เสมอ” อย่างไร (โมไซยาห์ 4:12)
โมไซยาห์ 4:14–15
เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการต่อสู้และการทะเลาะกันจากข้อเหล่านี้
โมไซยาห์ 4:16–26
เราล้วนเป็นคนขอทานในด้านใด ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราควรปฏิบัติอย่างไรต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า (โมไซยาห์ 4:26) ใครต้องการความช่วยเหลือของเรา
โมไซยาห์ 4:27
ครอบครัวท่านกำลังวิ่งเร็วเกินกำลังที่ท่านมีหรือไม่ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวประเมินกิจกรรมของพวกเขาเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาขยันหมั่นเพียรแต่ฉลาดด้วย
โมไซยาห์ 5:5–15
การรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับเราบอกอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ การพูดคุยว่าเหตุใดบางครั้งผู้คนจึงเขียนชื่อของตนติดไว้บนข้าวของของพวกเขาอาจจะช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเรา “เป็นของ” พระผู้ช่วยให้รอด
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย