“13–19 เมษายน โมไซยาห์ 1–3: ‘เปี่ยมด้วยความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“13–19 เมษายน โมไซยาห์ 1–3” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
13–19 เมษายน
โมไซยาห์ 1–3
“เปี่ยมด้วยความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์ทั้งปวง”
กษัตริย์เบ็นจามินให้เหตุผลหนึ่งสำหรับการบันทึกความประทับใจทางวิญญาณของเราว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ลีไฮ, บรรพบุรุษของเรา, จะจำเรื่องเหล่านี้ได้ทั้งหมด, เพื่อสอนลูก ๆ ของท่าน, เว้นแต่จะเป็นไปโดยความช่วยเหลือจากแผ่นจารึกเหล่านี้” (โมไซยาห์ 1:4)
บันทึกความประทับใจของท่าน
เมื่อท่านได้ยินคำว่า กษัตริย์ ท่านอาจจะนึกถึงมงกุฏ ปราสาทราชวัง ข้าราชบริพาร และบัลลังก์ ใน โมไซยาห์ 1–3 ท่านจะได้อ่านเกี่ยวกับกษัตริย์อีกแบบ แทนที่จะอาศัยแรงงานของผู้คน กษัตริย์เบ็นจามิน “ทำงานด้วยมือ [ของเขา] เอง” (โมไซยาห์ 2:14) แทนที่จะให้คนอื่นๆ รับใช้เขา เขารับใช้ผู้คน “ด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลังซึ่งพระเจ้าประทานให้ [เขา]” (โมไซยาห์ 2:11) กษัตริย์องค์นี้ไม่ต้องการให้ผู้คนกราบไหว้เขา แต่เขาสอนคนเหล่านั้นให้กราบไว้องค์กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา เพราะเขาเข้าใจว่า “พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ผู้ทรงครอบครอง” (โมไซยาห์ 3:5) เหมือนผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งหมดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า คำพูดและแบบอย่างของกษัตริย์เบ็นจามินทำให้เรานึกถึงกษัตริย์แห่งสวรรค์ ซึ่งได้แก่ พระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ กษัตริย์เบ็นจามินเป็นพยานว่าพระเยซูเสด็จ “จากสวรรค์” และเสด็จ “ออกไปในหมู่มนุษย์, ทรงทำปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่ … และดูเถิด, พระองค์จะเสด็จมาสู่ผู้คนของพระองค์, เพื่อความรอดจะได้มาสู่ลูกหลานมนุษย์แม้โดยทางศรัทธาในพระนามของพระองค์” (โมไซยาห์ 3:5, 9)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
การรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเรียกร้องให้เตรียมพร้อม
เมื่อกษัตริย์เบ็นจามินส่งข่าวออกไปว่าเขาต้องการพูดกับผู้คน คนมามากจน “ไม่ได้นับจำนวน” (โมไซยาห์ 2:2) พวกเขามา ส่วนหนึ่งเพราะความสำนึกคุณและความรักที่มีต่อผู้นำของพวกเขา แต่สำคัญกว่านั้นคือพวกเขามารับการสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 2:1–9 จงมองหาสิ่งที่ผู้คนทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็นคุณค่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า กษัตริย์เบ็นจามินขอให้พวกเขาทำอะไรเพื่อเตรียมฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ข้อ 9) ท่านจะเตรียมตนเองให้พร้อมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในการศึกษาส่วนตัวและกับครอบครัวและระหว่างการประชุมของศาสนจักรได้ดีขึ้นอย่างไร
เมื่อฉันรับใช้ผู้อื่นเท่ากับฉันกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้า
ท่านพยายามหาเวลารับใช้หรือปรารถนาให้การรับใช้ของท่านทำให้ท่านเกิดปีติมากขึ้นหรือไม่ ท่านคิดว่ากษัตริย์เบ็นจามินจะพูดอะไรถ้าท่านถามเขาว่าเหตุใดเขาจึงรับใช้สุด “พลัง, ความนึกคิด, และพละกำลัง” ของเขา(โมไซยาห์ 2:11) ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 2:10–26 ให้ระบุความจริงที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนเกี่ยวกับการรับใช้และไตร่ตรองว่าท่านจะใช้ความจริงเหล่านั้นในชีวิตท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น การรู้ว่าเมื่อท่านรับใช้ผู้อื่นเท่ากับท่านกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้ามีความหมายต่อท่านอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 2:17) นึกถึงวิธีหนึ่งที่ท่านจะรับใช้คนบางคนในสัปดาห์นี้!
ดู มัทธิว 25:40ด้วย
ฉันสามารถเอาชนะความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
เช่นเดียวกับศาสดาพยากรณ์ทุกท่าน กษัตริย์เบ็นจามินเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ทั้งนี้เพื่อผู้คนของเขา “จะได้รับการปลดบาปของเขา, และชื่นชมยินดีด้วยความปรีดียิ่ง” (โมไซยาห์ 3:13) เขาสอนเช่นกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงทำให้เราสะอาดผ่านการชดใช้ของพระองค์เท่านั้น แต่ประทานพลังความสามารถให้เราทิ้ง “ความเป็นมนุษย์ปุถุชน” และกลับเป็น “วิสุทธิชน” (โมไซยาห์ 3:19; ดู คู่มือพระคัมภีร์, “มนุษย์ปุถุชน,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย)
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายว่า “การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ให้ทั้ง อำนาจการชำระให้สะอาดและเดชานุภาพแห่งการไถ่ ที่ช่วยให้เราเอาชนะบาปและ อำนาจการชำระให้บริสุทธิ์และการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ที่ช่วยให้เราเป็นคนดีกว่าที่เราจะเป็นได้โดยอาศัยกำลังของเราอย่างเดียว การชดใช้อันไม่มีขอบเขตมีให้ทั้งสำหรับคนบาปและวิสุทธิชนในเราแต่ละคน” (ดู “มือสะอาดและใจบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 104)
ต่อไปนี้เป็นคำถามให้ไตร่ตรองขณะท่านอ่านประจักษ์พยานของกษัตริย์เบ็นจามินเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดใน โมไซยาห์ 3:1–20:
-
ฉันเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์
-
พระเยซูคริสต์ทรงช่วยฉันเอาชนะบาปอย่างไร พระองค์ทรงช่วยฉันเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของฉันและกลับเป็นเหมือนวิสุทธิชนมากขึ้นอย่างไร
-
ฉันเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการกลับเป็นวิสุทธิชนจาก โมไซยาห์ 3:19
เหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงเรียกพระเยซูว่า “พระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก”
ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธอธิบายว่า “พระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งเรารู้จักพระองค์ในฐานะพระเยโฮวาห์ทรงเป็นผู้บริหารงานแห่งการสร้างของพระบิดาเอโลฮิม … พระเยซูคริสต์ โดยทรงเป็นพระผู้สร้าง ทรงได้รับเรียกว่าพระบิดาแห่งสวรรค์และแห่งแผ่นดินโลกเสมอ … และเพราะการสร้างของพระองค์เป็นนิรันดร์ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเรียกพระองค์ว่าพระบิดาผู้สถิตนิรันดร์แห่งสวรรค์และแห่งแผ่นดินโลก” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ [1998], 357)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
โมไซยาห์ 1:1–7
แผ่นจารึกทองเหลืองและแผ่นจารึกของนีไฟเป็นพรแก่ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินอย่างไร พระคัมภีร์เป็นพรแก่ครอบครัวเราอย่างไร
โมไซยาห์ 2–3
คงสนุกถ้าครอบครัวท่านสร้างสภาวะแวดล้อมให้การปราศรัยของกษัตริย์เบ็นจามิน ท่านอาจจะทำหอคอยเล็กๆ และให้สมาชิกครอบครัวผลัดกันอ่านคำพูดของกษัตริย์เบ็นจามินขณะยืนอยู่บนนั้น คนที่เหลือในครอบครัวอาจจะฟังจากข้างในเต็นท์ชั่วคราว
โมไซยาห์ 2:9–19
เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการรับใช้จากคำสอนและแบบอย่างของกษัตริย์เบ็นจามิน เรารู้สึกได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไร
โมไซยาห์ 2:15–25
การสนทนาเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวท่านหรือไม่ เหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงไม่โอ้อวดในเรื่องทั้งหมดที่เขาทำ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากคำสอนของเขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า
โมไซยาห์ 2:36–41
กษัตริย์เบ็นจามินสอนอะไรเกี่ยวกับผลของการรู้ความจริงแต่ไม่ดำเนินชีวิตตามความจริงนั้น เขาสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีได้รับความสุขที่แท้จริง
โมไซยาห์ 3:19
เราจำเป็นต้องทำอะไรจึงจะกลับเป็นวิสุทธิชน ลักษณะนิสัยใดจากข้อนี้ที่ครอบครัวเรามุ่งพัฒนาได้
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย