“17–23 สิงหาคม ฮีลามัน 1–6: ‘ศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“17–23 สิงหาคม ฮีลามัน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
17–23 สิงหาคม
ฮีลามัน 1–6
“ศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา”
หลักธรรมในโครงร่างนี้สามารถช่วยนำทางการศึกษา ฮีลามัน 1–6 ของท่าน แต่อย่าให้เป็นข้อจำกัดแก่ท่าน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำทางท่านไปสู่ความจริงที่ท่านต้องเรียนรู้
บันทึกความประทับใจของท่าน
หนังสือของฮีลามันบันทึกทั้งชัยชนะและเรื่องเศร้าสลดในหมู่ชาวนีไฟและชาวเลมัน เริ่มด้วย “สถานการณ์ลำบากร้ายแรงในบรรดาผู้คนของชาวนีไฟ” (ฮีลามัน 1:1) และความยากลำบากเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดบันทึกนี้ ในนี้เราอ่านเรื่องการคบคิดทางการเมือง กองโจร การปฏิเสธศาสดาพยากรณ์ ความจองหองและความไม่เชื่อทั่วแผ่นดิน แต่เราพบตัวอย่างเหมือนนีไฟกับลีไฮและ “ผู้คนที่ถ่อมตนมากกว่า” เช่นกัน ผู้ไม่เพียงรอดชีวิตเท่านั้นแต่รุ่งเรืองทางวิญญาณด้วย (ฮีลามัน 3:34) พวกเขาทำอย่างไร พวกเขาเข้มแข็งได้อย่างไรขณะที่อารยธรรมของพวกเขาเริ่มเสื่อมและล่มสลาย เราเข้มแข็งได้เช่นเดียวกันใน “พายุอันมีกำลังแรง” ที่มารส่งมา “กระหน่ำ [เรา]”—โดยสร้างชีวิตเรา “บนศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา, ผู้ทรงเป็นพระคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, … รากฐานซึ่งหากมนุษย์จะสร้างบนนั้นแล้วพวกเขาจะตกไม่ได้” (ฮีลามัน 5:12)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ความจองหองแยกฉันจากพระวิญญาณและพละกำลังของพระเจ้า
ขณะที่ท่านอ่าน ฮีลามัน 1–6—และทั่วพระคัมภีร์มอรมอน—ท่านจะสังเกตเห็นรูปแบบหนึ่งในพฤติกรรมของชาวนีไฟนั่นคือ เมื่อชาวนีไฟชอบธรรม พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรพวกเขาและพวกเขารุ่งเรือง หลังจากนั้นระยะหนึ่ง พวกเขากลายเป็นคนจองหองและชั่วร้าย ทำการเลือกที่นำไปสู่ความหายนะและความทุกข์ จากนั้นพวกเขานอบน้อมถ่อมตนและได้รับการดลใจให้กลับใจ พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรพวกเขาอีกครั้ง รูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำบ่อยมากจนบางคนเรียกว่า “วัฏจักรความจองหอง”
มองหาตัวอย่างของวัฏจักรนี้ขณะที่ท่านอ่าน ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายตัวอย่างเมื่อท่านพบ ต่อไปนี้เป็นคำถามบางข้อที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจรูปแบบนี้และเห็นว่าจะประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร:
-
ท่านเห็นหลักฐานใดบ้างของความจองหองในหมู่ชาวนีไฟ (ดูตัวอย่างใน ฮีลามัน 3:33–34; 4:11–13) ท่านเห็นตัวอย่างความจองหองคล้ายกันในตัวท่านหรือไม่
-
อะไรคือผลจากความจองหองและความชั่วร้าย (ดู ฮีลามัน 4:23–26) อะไรคือผลของความนอบน้อมถ่อมตนและการกลับใจ (ดู ฮีลามัน 3:27–30, 35; 4:14–16)
-
ฮีลามันต้องการให้บุตรชายจดจำอะไร (ดู ฮีลามัน 5:4–12) การจดจำความจริงเหล่านี้จะช่วยให้ท่านหลีกเลี่ยงการเป็นคนจองหองได้อย่างไร
ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ความจองหองและฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 70–74 ด้วย
ฉันสามารถรับการชำระให้บริสุทธิ์เมื่อฉันยอมถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้า
ใน ฮีลามัน 3 มอรมอนพูดถึงสมัยที่ศาสนจักรรุ่งเรืองและได้รับพรจนผู้นำประหลาดใจ (ดู ข้อ 24–32) ในที่สุดบางคนกลายเป็นคนจองหอง ขณะที่คนอื่นๆ “เข้มแข็งยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในความนอบน้อม, … แม้ถึงการชำระและทำให้ใจพวกเขาบริสุทธิ์” (ฮีลามัน 3:35) สังเกตใน ข้อ 34–35 คนที่นอบน้อมถ่อมตนมากกว่าทำอะไรเพื่อให้ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ท่านได้รับการชำระให้บริสุทธิ์มากขึ้นอย่างไร อาจช่วยได้ถ้ารู้ว่าคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) นิยาม การชำระให้บริสุทธิ์ ว่าเป็น “กระบวนการทำให้เป็นอิสระจากบาป บริสุทธิ์ สะอาด และศักดิ์สิทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อทำตามแบบอย่างของสานุศิษย์เหล่านี้ ท่านกำลังทำอะไรเพื่อยอมถวายใจแด่พระผู้เป็นเจ้า
ศรัทธาของฉันแรงกล้าขึ้นเพราะ “ความสำคัญยิ่งของหลักฐานที่ [ฉัน] ได้รับ”
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เคยกล่าวกับคนที่ดิ้นรนกับศรัทธาของตนว่า “ท่านมีศรัทธามากกว่าที่ท่านคิดเนื่องจากสิ่งที่พระคัมภีร์มอรมอนเรียกว่า ‘ความสำคัญยิ่งของหลักฐาน’ [ฮีลามัน 5:50] … ผลของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณปรากฏชัดในชีวิตวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกแห่งหน” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94) ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้นึกถึงหลักฐานที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจไม่เคยได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าจริงๆ แต่ท่านเคยรู้สึกถึง “เสียงกระซิบ” จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ “เสียดแทงแม้จนถึงจิตวิญญาณทีเดียว”(ฮีลามัน 5:30; ดู คพ. 88:66 ด้วย) บางทีท่านอาจจะเคยอยู่ในความมืด ร้องหาพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธามากขึ้น และ “เปี่ยมด้วยปีตินั้นซึ่งสุดจะพรรณนา” (ฮีลามัน 5:40–47) ประสบการณ์ใดเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์อีกบ้าง
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
ฮีลามัน 3:27–30
ขณะศาสดาพยากรณ์มอรมอนย่อบันทึกศักดิ์สิทธิ์ เขาใช้วลี “ดังนั้นเราจึงเห็น” เป็นครั้งคราวเพื่อเน้นความจริงสำคัญๆ เขาต้องการให้เราเห็นอะไรใน ฮีลามัน 3:27–30 ตลอดการศึกษาของท่านสัปดาห์นี้ ท่านอาจจะหยุดเป็นครั้งคราวเพื่อถามสมาชิกครอบครัวว่าพวกเขาจะเติมวลี “และดังนั้นเราจึงเห็น” ให้สมบูรณ์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอ่านว่าอย่างไร พวกเขาต้องการเน้นความจริงอะไรบ้าง
ฮีลามัน 5:6–7
จอร์จ เอ. สมิธคุณปู่ผู้ล่วงลับของประธานจอร์จ อัลเบิร์ต สมิธปรากฏต่อท่านในความฝันและถามว่า “ปู่อยากรู้ว่าหลานทำอะไรกับชื่อของปู่” ประธานสมิธตอบว่า “ผมไม่เคยทำอะไรกับชื่อของคุณปู่ซึ่งทำให้คุณปู่ต้องอับอายขายหน้าเลย” (ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: จอร์จ อัลเบิร์ต สมิธ [2011], xxvii) หลังจากอ่าน ฮีลามัน 5:6–7 ท่านอาจจะพูดคุยกับสมาชิกครอบครัวเกี่ยวกับการจดจำและให้เกียรติชื่อที่เรามี รวมทั้งพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด
ฮีลามัน 5:12
เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านนึกภาพออกว่า “รากฐานอันแน่นอน” หมายถึงอะไร ท่านอาจจะประกอบโครงสร้างเล็กๆ ด้วยกันและวางไว้บนฐานหลายๆ แบบ จากนั้นท่านจะทำให้เกิด “พายุอันมีกำลังแรง” โดยฉีดน้ำใส่โครงสร้างแล้วใช้พัดลมหรือเครื่องเป่าผมเป่าโครงสร้างนั้น เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างนั้นเมื่ออยู่บนฐานต่างกัน พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเสมือน “รากฐานอันแน่นอน” ในชีวิตเราอย่างไร
ฮีลามัน 5:29–33
เราเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างกับการรับรู้สุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเรา
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย