จงตามเรามา
14–20 กันยายน 3 นีไฟ 8–11: “จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา”


“14–20 กันยายน 3 นีไฟ 8–11: ‘จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“14–20 กันยายน 3 นีไฟ 8–11” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

ภาพ
พระเยซูทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

เราเป็นแสงสว่างของโลก โดย เจมส์ ฟูลเมอร์

14–20 กันยายน

3 นีไฟ 8–11

“จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา”

ใน 3 นีไฟ 8–11 ผู้คนได้ยินสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับพวกเขา ขณะที่ท่านอ่านบทเหล่านี้ ให้เอาใจใส่สิ่งที่สุรเสียงของพระองค์ตรัสกับท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

“ดูเถิด, เราคือพระเยซูคริสต์, ผู้ที่ศาสดาพยากรณ์เป็นพยานว่าจะมาในโลก” (3 นีไฟ 11:10) พระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงแนะนำพระองค์ด้วยพระดำรัสดังกล่าวโดยทำให้คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนเมื่อ 600 กว่าปีก่อนเกิดสัมฤทธิผล “การปรากฏครั้งนั้นและการประกาศครั้งนั้น” เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เขียน “ถือเป็นจุดศูนย์รวม เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ทั้งมวลของพระคัมภีร์มอรมอน นั่นเป็นปรากฏการณ์และประกาศิตที่ดลใจและแจ้งให้ศาสดาพยากรณ์ชาวนีไฟทุกท่านทราบ … ทุกคนพูดถึงพระองค์ ร้องเพลงสรรเสริญพระองค์ ฝันถึงพระองค์ และสวดอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงปรากฏ—แต่พระองค์ทรงปรากฏที่นี่จริงๆ นั่นเป็นวันสำคัญที่สุด! พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปลี่ยนคืนเดือนมืดทั้งหมดให้เป็นแสงสว่างยามเช้าได้เสด็จมาถึงแล้ว” (Christ and the New Covenant [1997], 250–51)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

3 นีไฟ 8–11

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแสงสว่างของโลก

ท่านอาจจะสังเกตเห็นว่าหัวข้อเกี่ยวกับความมืดและความสว่าง—ทั้งกายภาพและวิญญาณภาพ—กล่าวซ้ำหลายครั้งทั่ว 3 นีไฟ 8–11 ท่านเรียนรู้อะไรจากบทเหล่านี้เกี่ยวกับความมืดและความสว่างทางวิญญาณ อะไรนำความมืดเข้ามาในชีวิตท่าน อะไรนำความสว่างเข้ามา ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกแนะนำพระองค์ว่าทรงเป็น “แสงสว่างและชีวิตของโลก”(3 นีไฟ 9:18; 11:11) พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแสงสว่างในชีวิตท่านอย่างไร

3 นีไฟ 8–10

ถ้าฉันกลับใจ พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรวม คุ้มครอง และรักษาฉัน

ท่านจินตนาการว่าผู้คนรู้สึกอย่างไรหลังจากประสบความพินาศและความมืดที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 8 ท่านคิดว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดตรัสเกี่ยวกับแสงสว่าง ความเมตตา และการไถ่ใน บทที่ 9 และ 10

ถึงแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่าความพินาศย่อยยับเป็นผลสืบเนื่องจากบาปของผู้คน แต่พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทรงรักษาคนที่จะกลับมาหาพระองค์และกลับใจ (ดู 3 นีไฟ 9:2, 13) เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าพิศวงกับอ้อมพระพาหุแห่งพระเมตตาและความรักสำหรับคนกลับใจ ไม่ว่าบาปที่ได้ละทิ้งนั้นจะเกิดจากความเห็นแก่ตัวมากเพียงไรก็ตาม ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถและทรงกระตือรือร้นที่จะประทานอภัยบาปของเรา” (“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 50)

ค้นคว้า 3 นีไฟ 9–10 เพื่อหาหลักฐานยืนยันพระเมตตาของพระคริสต์และความกระตือร้นที่จะทรงให้อภัยเรา ตัวอย่างเช่น ท่านพบอะไรใน 3 นีไฟ 9:13–22 และ 10:1–6 ที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักและพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด ไตร่ตรองประสบการณ์เมื่อท่านรู้สึกว่าพระองค์ทรง “รวม” และ “บำรุงเลี้ยง” ท่าน (ดู 3 นีไฟ 10:4) ท่านอาจจะบันทึกประสบการณ์เหล่านี้ในบันทึกส่วนตัวหรือแบ่งปันกับคนที่ท่านรัก

3 นีไฟ 11:1–8

ฉันสามารถฝึกฟังและเข้าใจสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านเคยรู้สึกหรือไม่ว่าท่านไม่ค่อยเข้าใจข่าวสารที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังสื่อสารกับท่าน ประสบการณ์ของผู้คนใน 3 นีไฟ 11:1–8 จะช่วยให้ท่านเข้าใจหลักธรรมบางประการของการได้ยินและเข้าใจสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะบันทึกลักษณะพิเศษของสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าที่ผู้คนได้ยินและสิ่งที่ผู้คนทำเพื่อเข้าใจสุรเสียงนั้นดีขึ้น เรื่องนี้จะประยุกต์ใช้กับการพยายามได้ยินและรับรู้สุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่านผ่านการเปิดเผยส่วนตัวได้อย่างไร

3 นีไฟ 11:8–17

พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ฉันได้รับประจักษ์พยานส่วนตัวถึงพระองค์

มีประมาณ 2,500 คนชุมนุมในแผ่นดินอุดมมั่งคั่งเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏ (ดู 3 นีไฟ 17:25) แม้มีคนมากขนาดนี้ แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้พวกเขาออกมาสัมผัสรอยตะปูในพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ “ทีละคน” (3 นีไฟ 11:14–15) เรื่องนี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการมีประสบการณ์ส่วนตัวที่สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ท่าน “ลุกขึ้นและออกมาหา” พระองค์ในวิธีใด (3 นีไฟ 11:14) ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างที่ช่วยให้ท่านได้รับพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของท่าน ท่านอาจจะพิจารณาด้วยว่าแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านพยายามปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นได้อย่างไร

ภาพ
พระเยซูทรงแสดงให้ชาวนีไฟเห็นรอยตะปูในพระหัตถ์ของพระองค์

ทีละคน โดย วอลเตอร์ เรน

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

3 นีไฟ 8–9

เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 8–9 ท่านจะเล่าอีกครั้งหรือฟังเทปบันทึกเสียงตอนต่างๆ ของบทเหล่านี้ในห้องมืดก็ได้ สนทนาว่าการอยู่ในความมืดสามวันน่าจะเป็นอย่างไร จากนั้นท่านจะพูดคุยกันว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “แสงสว่าง … ของโลก” อย่างไร (3 นีไฟ 9:18)

3 นีไฟ 10:1–6

การเปรียบเทียบเรื่องแม่ไก่รวมลูกเจี๊ยบจะเป็นเครื่องมือการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจพระอุปนิสัยและพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะอ่านข้อเหล่านี้ขณะครอบครัวท่านดูภาพแม่ไก่กับลูกเจี๊ยบ เหตุใดแม่ไก่จึงต้องการรวมลูกเจี๊ยบ เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการรวมเราให้เข้ามาใกล้พระองค์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกเจี๊ยบตัวหนึ่งเลือกไม่มารวมเมื่อแม่ไก่เรียก

3 นีไฟ 11:1–7

ท่านอาจจะอ่านบางข้อเหล่านี้ด้วย “เสียงเบา” อ่อนโยน (3 นีไฟ 11:3) ผู้คนต้องทำอะไรจึงจะเข้าใจสุรเสียงจากสวรรค์ เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของพวกเขา

3 นีไฟ 11:21–38

มีคนในครอบครัวท่านกำลังเตรียมรับบัพติศมาหรือไม่ การอ่าน 3 นีไฟ 11:21–38 จะช่วยพวกเขาเตรียม การไตร่ตรองคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้จะช่วยสมาชิกครอบครัวผู้รับบัพติศมาแล้วได้อย่างไร

3 นีไฟ 11:29–30

ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความขัดแย้ง เราจะ “[ทำให้ความขัดแย้ง] หมดไป” ในบ้านของเราได้อย่างไร (3 นีไฟ 11:30)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

บันทึกความประทับใจ เอ็ลเดอร์ริชาร์ดจี. สก็อตต์กล่าวว่า “ความรู้ที่บันทึกไว้อย่างดีเป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ในยามต้องการ … [การบันทึกความประทับใจทางวิญญาณ] จะเพิ่มโอกาสให้ท่านได้รับความสว่างเพิ่มขึ้น” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Ensign, Nov. 1993, 88)

ภาพ
พระเยซูทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

เมษบาลเดียว โดย ฮาเวิร์ด ลียง

พิมพ์