“แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน
ต่อไปนี้เป็นวิธีง่ายๆ บางวิธีที่จะยกระดับการศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์
มองหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
พระคัมภีร์สอนเราว่าทุกสิ่งเป็นพยานถึงพระคริสต์ (ดู 2 นีไฟ 11:4; โมเสส 6:63) ฉะนั้นจงมองหาพระองค์ในเหตุการณ์ เรื่องเล่า และคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจจดหรือทำเครื่องหมายข้อที่สอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและวิธีติดตามพระองค์
มองหาคำและวลีที่สร้างแรงบันดาลใจ
ท่านอาจพบว่าคำบางคำและวลีบางวลีในพระคัมภีร์ทำให้ท่านประทับใจประหนึ่งเขียนไว้ให้ท่านโดยเฉพาะ ท่านอาจรู้สึกเกี่ยวข้องเป็นส่วนตัว สร้างแรงบันดาลใจ และผลักดันท่าน ท่านอาจทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านั้นในพระคัมภีร์ของท่านหรือเขียนไว้ในสมุดบันทึกการศึกษา
มองหาความจริงพระกิตติคุณ
บางครั้งความจริงพระกิตติคุณ (บ่อยครั้งเรียกว่าหลักคำสอนหรือหลักธรรม) บอกกล่าวโดยตรง และบางคราวบอกเป็นนัยผ่านตัวอย่างหรือเรื่องเล่า ถามตัวท่านเองว่า “ข้อเหล่านี้สอนความจริงนิรันดร์อะไรบ้าง”
ฟังพระวิญญาณ
จงเอาใจใส่ความคิดและความรู้สึกของท่าน แม้ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังอ่าน ความประทับใจเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้
เปรียบพระคัมภีร์กับชีวิตท่าน
พิจารณาว่าเรื่องเล่าและคำสอนที่ท่านกำลังอ่านประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามว่า “ฉันเคยมีประสบการณ์อะไรคล้ายกับที่ฉันกำลังอ่านบ้าง” หรือ “ฉันจะทำตามแบบอย่างของบุคคลนี้ในพระคัมภีร์ได้อย่างไร”
ถามคำถามขณะท่านศึกษา
ขณะท่านศึกษาพระคัมภีร์ คำถามอาจเข้ามาในความคิดท่าน คำถามเหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังอ่านหรือกับชีวิตท่านโดยรวม ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้และหาคำตอบขณะท่านยังคงศึกษาพระคัมภีร์
ใช้สิ่งช่วยศึกษาพระคัมภีร์
เพื่อให้ได้ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อที่ท่านอ่าน ให้ใช้เชิงอรรถ Topical Guide Bible Dictionary คู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) และสิ่งช่วยศึกษาอื่นๆ
พิจารณบริบทของพระคัมภีร์
ท่านจะพบข้อคิดที่มีความหมายเกี่ยวกับพระคัมภีร์ถ้าท่านพิจารณาบริบทของข้อนั้น—สภาวการณ์หรือสภาวะแวดล้อมของพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น การรู้ภูมิหลังและความเชื่อของผู้คนที่ศาสดาพยากรณ์พูดถึงจะช่วยให้ท่านเข้าใจเจตนาของถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์
บันทึกความคิดและความรู้สึกของท่าน
มีหลายวิธีให้บันทึกความประทับใจที่เกิดขึ้นขณะท่านศึกษา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่มีความหมาย และบันทึกความคิดเป็นหมายเหตุไว้ในพระคัมภีร์ของท่าน ท่านอาจจดบันทึกส่วนตัวเกี่ยวกับข้อคิด ความรู้สึก และความประทับใจที่ท่านได้รับ
ศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้าย
อ่านสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้ายเคยสอนเกี่ยวกับหลักธรรมที่ท่านพบในพระคัมภีร์ (ตัวอย่างเช่น ดู conference.ChurchofJesusChrist.org และนิตยสารศาสนจักร)
แบ่งปันข้อคิด
การสนทนาข้อคิดจากการศึกษาส่วนตัวของท่านไม่เพียงเป็นวิธีที่ดีในการสอนผู้อื่นเท่านั้น หากแต่ช่วยเพิ่มพลังความเข้าใจของท่านในสิ่งที่ท่านได้อ่านด้วย
ดำเนินชีวิตตามที่ท่านเรียนรู้
การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ควรสร้างแรงบันดาลใจเราเท่านั้นแต่ควรนำเราให้เปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตของเราด้วย จงฟังสิ่งที่พระวิญญาณกระตุ้นเตือนท่านให้ทำขณะที่ท่านอ่าน และจากนั้นให้ตั้งใจทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้น
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “หากเรา ‘มุ่งหน้า, ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว … [เรา] จะมีชีวิตนิรันดร์’[2 นีไฟ 31:20]
“ดื่มด่ำมีความหมายมากกว่าชิม ดื่มด่ำหมายถึงลิ้มรสด้วยความอร่อย เราลิ้มรสพระคัมภีร์ด้วยความอร่อยโดยศึกษาพระคัมภีร์ด้วยเจตนาจะค้นพบอย่างเบิกบานใจและเชื่อฟังอย่างซื่อสัตย์ เมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ พระวจนะย่อมถูกฝังลง ‘ในแผ่นดวงใจมนุษย์’ [2 โครินธ์ 3:3] พระวจนะกลายเป็นส่วนสำคัญของธรรมชาติวิสัยของเรา” (“ให้พระคัมภีร์นำทางชีวิตท่าน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 23)