จงตามเรามา
31 ธันวาคม–6 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง


“31 ธันวาคม–6 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“31 ธันวาคม–6 มกราคม เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ครอบครัวกำลังดูอัลบั้มรูป

31 ธันวาคม–6 มกราคม

เราต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของเราเอง

จุดประสงค์ของ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว คือช่วยให้ท่านมาหาพระคริสต์และเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากขึ้น หนังสืออ่านประกอบเล่มนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจพระคัมภีร์และพบพลังทางวิญญาณที่ท่านและครอบครัวต้องการในนั้น จากนั้น ในชั้นเรียนศาสนจักรของท่าน ท่านจะพร้อมแบ่งปันข้อคิดและเป็นกำลังใจให้เพื่อนวิสุทธิชนของท่านขณะพวกเขาพยายามติดตามพระคริสต์

บันทึกความประทับใจของท่าน

“ท่านหาอะไร” พระเยซูตรัสถามเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ (ยอห์น 1:38) ท่านอาจจะถามตัวท่านด้วยคำถามเดียวกัน—เพราะสิ่งที่ท่านพบในพันธสัญญาใหม่ปีนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสิ่งที่ท่านแสวงหา “จงหาแล้วจะพบ” เป็นสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอด (มัทธิว 7:7) ดังนั้นจงถามคำถามที่เข้ามาในใจท่านขณะที่ท่านศึกษา แล้วแสวงหาคำตอบอย่างขยันหมั่นเพียร ในพันธสัญญาใหม่ ท่านจะอ่านประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยพลังทางวิญญาณของเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถมีประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยพลังทางวิญญาณของท่านเองเมื่อท่านยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดที่พบทั่วหนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ “จงตามเรามา” (ดู ลูกา 18:22)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

เพื่อเรียนรู้จากพระผู้ช่วยให้รอดจริงๆ ฉันต้องยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญ “จงตามเรามา”

พระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด “จงตามเรามา” ประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน—ไม่ว่าเราเป็นคนใหม่บนเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์หรือเดินมาแล้วตลอดชีวิตเรา นี่เป็นพระดำรัสเชื้อเชิญเศรษฐีหนุ่มคนหนึ่งผู้กำลังพยายามรักษาพระบัญญัติ (ดู มัทธิว 19:16–22) สิ่งที่เขาเรียนรู้—และสิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้—คือการเป็นสานุศิษย์หมายถึงการถวายทั้งจิตวิญญาณของเราแด่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เราก้าวหน้าในการเป็นสานุศิษย์เมื่อเราค้นพบสิ่งที่เราขาด เปลี่ยนแปลง และพยายามติดตามพระองค์อย่างเต็มที่มากขึ้น

การเรียนรู้จากพระผู้ช่วยให้รอดเริ่มขึ้นเมื่อเราพยายามเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงสอน ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจของท่านเรื่องการให้อภัยลึกซึ้งขึ้นอย่างไรเมื่อท่านสำรวจสิ่งต่อไปนี้

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มัทธิว 6:14–15; 18:21–35)

แบบอย่างจากพระชนม์ชีพของพระองค์ (ดู ลูกา 23:33–34)

อย่างไรก็ดี การเรียนรู้จะไม่สมบูรณ์จนกว่าเราติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอน ท่านจะให้อภัยมากขึ้นได้อย่างไร

ถ้าท่านต้องการเรียนรู้มากขึ้น ลองทำกิจกรรมนี้กับหลักธรรมพระกิตติคุณข้ออื่น เช่นความรักหรือความอ่อนน้อมถ่อมตน

ฉันต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของฉันเอง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “ในฐานะผู้เรียนรู้ ท่านและข้าพเจ้าต้องกระทำและเป็นผู้ทำตามพระวจนะและไม่เป็นเพียงผู้ฟังที่ถูกกระทำเท่านั้น ท่านและข้าพเจ้าเป็นผู้มีสิทธิ์เสรีที่จะกระทำและแสวงหาการเรียนรู้โดยศรัทธา หรือเราจะรอรับการสอนและถูกกระทำ … ผู้เรียนที่ใช้สิทธิ์เสรีโดยกระทำตามหลักธรรมที่ถูกต้องจะเปิดใจรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และเชื้อเชิญเดชานุภาพการสอน การเป็นพยาน และการยืนยันของพระองค์ การเรียนรู้โดยศรัทธาเรียกร้องความพยายามอย่างเต็มที่ทางวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย ไม่ใช่รับอย่างเดียว” (“แสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, ก.ย. 2007, 20)

รับผิดชอบการเรียนรู้ของท่านเองหมายความว่าอย่างไร มองหาคำตอบที่เป็นไปได้ในคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เบดนาร์และในพระคัมภีร์ต่อไปนี้: ยอห์น 7:17; 1 เธสะโลนิกา 5:21; ยากอบ 1:5–6, 22; 2:17; 1 นีไฟ 10:17–19; 2 นีไฟ 4:15; แอลมา 32:27; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:18; 58:26–28; 88:118 ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อกระตือรือร้นมากขึ้นในการเรียนพระกิตติคุณ

ฉันต้องรู้ความจริงด้วยตนเอง

บางทีท่านอาจจะรู้จักคนที่ดูเหมือนไม่เคยสูญเสียศรัทธาของพวกเขาไม่ว่าจะเกิดอะไรในชีวิตพวกเขาก็ตาม พวกเขาอาจทำให้ท่านนึกถึงหญิงพรหมจารีมีปัญญาห้าคนในอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มัทธิว 25:1–13) สิ่งที่ท่านอาจไม่เห็นคือความเพียรพยายามของพวกเขาในการเสริมสร้างประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริง เราทุกคนต้องเพียรพยายามเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราเพราะเช่นเดียวกับที่หญิงพรหมจารีเขลาได้เรียนรู้ เราจะยืมการเปลี่ยนใจเลื่อมใสจากผู้อื่นไม่ได้

เราจะมีและบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของเราเองได้อย่างไร จดความคิดของท่านขณะท่านไตร่ตรองพระคัมภีร์ต่อไปนี้: ลูกา 11:9–13; ยอห์น 5:39; ยอห์น 7:14–17; กิจการของอัครทูต 17:10–12; 1 โครินธ์ 2:9–11; และ แอลมา 5:45–46 (ดู “Testimony,” Gospel Topics, topics.lds.orgด้วย)

เยาวชนหญิงอยู่ริมทาง

เราแต่ละคนต้องมีประจักษ์พยานของเราเอง

ฉันควรทำอะไรเมื่อฉันมีคำถาม

ขณะแสวงหาความรู้ทางวิญญาณ คำถามจะเข้ามาในใจท่าน หลักธรรมต่อไปนี้จะช่วยท่านตอบคำถามในวิธีที่สร้างศรัทธาและประจักษ์พยาน:

  1. แสวงหาความเข้าใจผ่านแหล่งช่วยที่พระองค์ทรงกำหนด พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความจริงทั้งมวล และพระองค์ทรงเปิดเผยความจริงผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระคัมภีร์ ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์

  2. กระทำด้วยศรัทธา ถ้าคำตอบไม่มาในทันที จงวางใจว่าพระเจ้าจะทรงเปิดเผยคำตอบเมื่อถึงเวลา ในระหว่างนั้น จงดำเนินชีวิตตามความจริงที่ท่านรู้แล้ว

  3. มองให้ถึงนิรันดร พยายามมองสิ่งต่างๆ ดังที่พระเจ้าทรงมอง ไม่ใช่โลกมอง มองคำถามของท่านในบริบทของแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 13:1–23

วิธีหนึ่งที่จะช่วยครอบครัวท่านเตรียมเรียนรู้จากพันธสัญญาใหม่ปีนี้คือทบทวนอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช ครอบครัวท่านอาจจะสำรวจดินชนิดต่างๆ ใกล้บ้านท่านเพื่อให้เห็นภาพดินที่บรรยายไว้ในอุปมา เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียม “ดินดี” ไว้เพาะปลูกในบ้านเรา (มัทธิว 13:8)

กาลาเทีย 5:22–23; ฟีลิปปี 4:8

“เราขอแนะนำบิดามารดาและลูกๆ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาและการสอนพระกิตติคุณ ตลอดจนกิจกรรมที่ดีงามของครอบครัว แม้อาจจะมีข้อเรียกร้องหรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมและทรงคุณค่า แต่ต้องไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาแทนหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้เฉพาะบิดามารดาและครอบครัวเท่านั้นที่จะทำได้อย่างเหมาะสม” (“จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด,” เลียโฮนา, ธ.ค. 1999, 1)

ต้นปีใหม่เป็นเวลาที่เหมาะจะจัดสภาครอบครัวเกี่ยวกับการทำให้บ้านของท่านมีพระกิตติคุณเป็นศูนย์กลางมากขึ้น มีแนวคิดอะไรเข้ามาในใจท่านบ้างขณะท่านอ่านพรและคำแนะนำใน กาลาเทีย 5:22–23 และ ฟีลิปปี 4:8 ท่านอาจจะทำโปสเตอร์ติดไว้รอบบ้านเพื่อเตือนตัวท่านเองให้นึกถึงเป้าหมายของท่าน

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

มองหาหลักคำสอน หลักคำสอนคือความจริงนิรันดร์อันไม่เปลี่ยนแปลง ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ประกาศว่า “หลักคำสอนที่แท้จริงจะเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมถ้าเข้าใจ” (“Little Children,” Ensign, Nov. 1986, 17) ขณะท่านและครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์ จงมองหาความจริงที่จะช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดได้มากขึ้น

พระเยซูคริสต์

แสงสว่างของโลก โดย เบรนท์ บอรัพ

พระคริสต์ออกจากอุโมงค์

พระองค์ทรงฟื้น โดย เดล พาร์สัน