“21–27 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“21–27 มกราคม ยอห์น 1,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
21–27 มกราคม
ยอห์น 1
เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว
ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง ยอห์น 1 ให้บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ ท่านพบข่าวสารอะไรบ้างที่จะมีค่าต่อท่านและครอบครัวท่านมากที่สุด ท่านจะแบ่งปันอะไรได้บ้างในชั้นเรียนศาสนจักรของท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
ท่านเคยสงสัยไหมว่าท่านจะยอมรับว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระองค์ทรงเป็นมรรตัย ชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ รวมทั้งแอนดรูว์ เปโตร ฟิลิป และนาธานาเอลสวดอ้อนวอนและรอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้นานหลายปี เมื่อพบพระองค์ พวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็นองค์ที่พวกเขาแสวงหา วิธีเดียวที่เราทุกคนจะรู้จักพระผู้ช่วยให้รอด—คือยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้ “มาดู” ด้วยตัวเราเอง (ยอห์น 1:39) เราอ่านเกี่ยวกับพระองค์ในพระคัมภีร์ เราได้ยินหลักคำสอนของพระองค์ เราสังเกตวิธีที่พระองค์ดำเนินพระชนม์ชีพ เรารู้สึกถึงพระวิญญาณของพระองค์ ระหว่างนั้น เราค้นพบเช่นเดียวกับนาธานาเอลว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักเรา ทรงรักเรา และทรงต้องการเตรียมเราให้พร้อมรับ “เหตุการณ์ใหญ่กว่านั้น” (ยอห์น 1:50)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
กิตติคุณของยอห์น
ยอห์นเป็นใคร
ยอห์นเป็นสานุศิษย์ของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและต่อมากลายเป็นผู้ติดตามรุ่นแรกคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์และเป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสองของพระองค์ เขาเขียนกิตติคุณของยอห์น สาส์นหลายฉบับ และหนังสือวิวรณ์ ในกิตติคุณของเขา เขาเรียกตนเองเป็นสาวก “ที่พระเยซูทรงรัก” และ “สาวกคนนั้น” (ยอห์น 13:23; 20:3) ความกระตือรือร้นของยอห์นในการสั่งสอนพระกิตติคุณแรงกล้ามากถึงขนาดเขาขออยู่บนแผ่นดินโลกจนถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเขาจะได้นำจิตวิญญาณมาหาพระคริสต์ (ดู คพ. 7:1–6)
ดู Bible Dictionary, “John” และ “John, Gospel of.”ด้วย
ในปฐมกาลพระเยซูคริสต์ “ทรงอยู่กับพระเจ้า”
ยอห์นเริ่มกิตติคุณของเขาโดยพูดถึงงานที่พระคริสต์ทรงทำก่อนพระองค์ประสูติ: “ในปฐมกาล … พระวาทะ [พระเยซูคริสต์] ทรงอยู่กับพระเจ้า” ท่านเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 1–5 เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและงานของพระองค์ ท่านจะพบคำอธิบายที่เป็นประโยชน์ใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–5 (ท้ายคู่มือพระคัมภีร์) เมื่อท่านเริ่มศึกษาพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดการรู้จักงานก่อนมรรตัยของพระองค์จึงสำคัญ
ดู “Jesus Christ Chosen as Savior,” Gospel Topics, topics.lds.orgด้วย
เหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์กล่าวคำพยานถึงพระองค์
ยอห์นได้รับการดลใจให้แสวงหาพระผู้ช่วยให้รอดเพราะประจักษ์พยานของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาผู้ประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้า “ทรงใช้ … [เขา] เป็นพยานให้แก่ความสว่างนั้น” (ยอห์น 1:8–9, 15–18) ตัวยอห์นเองกล่าวคำพยานอันทรงพลังถึงพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน
ท่านอาจจะสนใจทำรายการความจริงที่ยอห์นรวมไว้ในประจักษ์พยานตอนต้นของเขาเกี่ยวกับพระคริสต์ (ข้อ 1–18; ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–19 [ท้ายคู่มือพระคัมภีร์] ด้วย) ท่านคิดว่าเหตุใดยอห์นจึงเริ่มกิตติคุณของเขาด้วยความจริงเหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนคำพยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์—ท่านต้องการแบ่งปันอะไร ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านได้รู้จักและติดตามพระผู้ช่วยให้รอด ใครจะได้รับพรเมื่อได้ยินประจักษ์พยานของท่าน
“เป็นลูกของพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร
ถึงแม้เราทุกคนเป็นบุตรและธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า แต่เมื่อเราทำบาปเราเหินห่างหรือแยกจากพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเสนอทางกลับให้เรา โดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์และการเชื่อฟังพันธสัญญาพระกิตติคุณของเรา พระองค์ “ประทานสิทธิ์ให้เราเป็นลูกของพระเจ้า” อีกครั้ง เราเกิดใหม่และคืนดีกับพระบิดาของเรา มีค่าควรรับมรดกนิรันดร์และเป็นทายาทสืบทอดทั้งหมดที่พระองค์ทรงมี (ดู โรม 8:14–18; เจคอบ 4:11)
ใครเคยเห็นพระผู้เป็นเจ้าบ้าง
พันธสัญญาเดิมบันทึกตัวอย่างของคนที่เห็นพระผู้เป็นเจ้า (ดู ปฐมกาล 32:30; อพยพ 33:11; อิสยาห์ 6:5) แล้วเหตุใดยอห์นจึงกล่าวว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย” งานแปลของโจเซฟ สมิธในข้อนี้ (ดู ยอห์น 1:18, เชิงอรรถ c) อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงปรากฏต่อมนุษย์ และเมื่อพระองค์ทรงปรากฏ พระองค์ทรงเป็นพยานถึงพระบุตรของพระองค์ ตัวอย่างเช่น เมื่อพระองค์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธในป่าศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ตรัสกับโจเซฟว่า “นี่คือบุตรที่รักของเรา จงฟังท่าน!” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17; ดู คพ. 76:23 ด้วย) มีอีกหลายตัวอย่างบันทึกไว้ว่าผู้คนเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาในนิมิต (ดู กิจการของอัครทูต 7:55–56; วิวรณ์ 4:2; 1 นีไฟ 1:8; คพ. 137:1–3) หรือได้ยินสุรเสียงของพระองค์เป็นพยานถึงพระบุตร (ดู มัทธิว 3:17; 17:5; 3 นีไฟ 11:6–7)
ใครคือเอลียาห์ และใครคือ “ผู้เผยพระวจนะคนนั้น”
ผู้นำชาวยิวสงสัยว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมากำลังทำให้เกิดสัมฤทธิผลตามคำพยากรณ์สมัยโบราณเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ผู้จะมาในบรรดาผู้คนหรือไม่ พวกเขาถามว่าเขาเป็นเอลียาห์หรือ ซึ่งเป็นคำภาษากรีกของ Elijah, ชื่อของศาสดาพยากรณ์ผู้ได้รับการพยากรณ์ว่าจะมาฟื้นฟูสิ่งทั้งปวง (ดู มาลาคี 4:5–6) พวกเขาถามว่าเขาเป็น “ผู้เผยพระวจนะคนนั้น” หรือ ซึ่งอาจหมายถึง “ผู้เผยพระวจนะ” ที่ เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15กล่าวถึง ยอห์นอธิบายว่าเขาไม่ใช่ผู้เผยพระวจนะคนนั้นแต่เป็นศาสดาพยากรณ์ผู้ซึ่งอิสยาห์กล่าวว่าจะเตรียมทางสำหรับการเสด็จมาของพระเจ้า (ดู อิสยาห์ 40:3)
ดู Bible Dictionary, “Elias.”ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ท่านจะช่วยให้ครอบครัวเห็นภาพสิ่งที่พวกเขาอ่านเกี่ยวกับความสว่างในข้อเหล่านี้ได้อย่างไร ท่านอาจจะให้สมาชิกครอบครัวผลัดกันฉายไฟในห้องมืดและแบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแสงสว่างของชีวิตพวกเขาอย่างไร จากนั้นขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 1:4–10 สมาชิกครอบครัวอาจจะมีข้อคิดเพิ่มเติมในประจักษ์พยานของยอห์นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นแสงสว่างของโลก
สังเกตประจักษ์พยานของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาใน ข้อ 36 อะไรเป็นผลจากประจักษ์พยานของเขา (ดู ข้อ 35–46) ครอบครัวท่านเรียนรู้อะไรจากผู้คนที่ข้อเหล่านี้กล่าวถึงเกี่ยวกับวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ
นาธานาเอลทำอะไรที่ช่วยให้เขาได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เราได้รับประจักษ์พยานของเราอย่างไร
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย