“28 มกราคม–3 กุมภาพันธ์ มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3: ‘จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“28 มกราคม–3 กุมภาพันธ์ มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
28 มกราคม–3 กุมภาพันธ์
มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3
“จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า”
เริ่มโดยอ่าน มัทธิว 3; มาระโก 1; และ ลูกา 3 เมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ท่านเข้าใจบทเหล่านี้ พระองค์จะประทานข้อคิดสำหรับท่านโดยเฉพาะ บันทึกความประทับใจเหล่านี้ และวางแผนทำตามนั้น
บันทึกความประทับใจของท่าน
พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เปลี่ยนท่านได้ ลูกาอ้างคำพยากรณ์สมัยโบราณของอิสยาห์ที่พูดถึงพันธกิจของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและผลการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอดว่า “หุบเขาทุกแห่งจะถมให้เต็ม ภูเขาและเนินทุกแห่งจะให้ต่ำลง ทางคดจะกลายเป็นทางตรง และทางที่สูงๆ ต่ำๆ จะเป็นทางราบ” (ลูกา 3:5; ดู อิสยาห์ 40:4 ด้วย) นี่เป็นข่าวสารสำหรับเราทุกคน รวมถึงคนที่คิดว่าพวกเขาเปลี่ยนไม่ได้หรือไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ถ้าสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างถาวรเช่นภูเขาราบเรียบได้ พระเจ้าย่อมทรงสามารถช่วยเราทำให้ทางคดของเราตรงได้ (ดู ลูกา 3:4–5) เมื่อเรายอมรับคำเชื้อเชิญของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาให้กลับใจและเปลี่ยน เท่ากับเราเตรียมความคิดและใจเราให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์ทั้งนี้เพื่อเราจะสามารถ “เห็นความรอดของพระเจ้า” ได้ด้วย (ลูกา 3:6)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
กิตติคุณของมาระโก
มาระโกเป็นใคร
ในบรรดาผู้เขียนกิตติคุณ เรารู้จักมาระโกน้อยที่สุด เรารู้ว่าเขาเป็นคู่สอนศาสนาของเปาโล เปโตร และผู้สอนศาสนาอีกหลายคน นักวิชาการพระคัมภีร์ไบเบิลหลายคนเชื่อว่าเปโตรสั่งให้มาระโกบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด กิตติคุณของมาระโกน่าจะเขียนก่อนอีกสามคน
ดู Bible Dictionary, “Mark”ด้วย
มัทธิว 3:1–12; มาระโก 1:1–8; ลูกา 3:2–18
การกลับใจคือการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำของความคิดและใจ
พันธกิจของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาคือเตรียมใจผู้คนให้พร้อมรับพระผู้ช่วยให้รอดและเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เขาทำเช่นนั้นอย่างไร เขาประกาศว่า “จงกลับใจใหม่” (มัทธิว 3:2) เขาใช้ภาพลักษณ์เช่นผลไม้และข้าวสาลีเน้นความสำคัญของการกลับใจเพื่อต้อนรับพระคริสต์ (ดู ลูกา 3:9, 17)
ท่านพบภาพลักษณ์อะไรอีกบ้างในเรื่องราวการปฏิบัติศาสนกิจของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา ท่านอาจจะทำเครื่องหมายภาพลักษณ์เหล่านั้นในพระคัมภีร์ของท่านหรือวาดในสมุดบันทึกการศึกษา ภาพลักษณ์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับหลักคำสอนและความจำเป็นของการกลับใจ
การกลับใจที่แท้จริงคือ “การเปลี่ยนแปลงความคิดและใจที่ให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เกี่ยวกับตัวเราเอง และเกี่ยวกับโลก … [หมายถึง] ทุ่มเทใจและความตั้งใจให้พระผู้เป็นเจ้า” (คู่มือพระคัมภีร์, “กลับใจ (การ)”) ใน ลูกา 3:7–14 ยอห์นเชื้อเชิญให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อเตรียมรับพระคริสต์ คำแนะนำนี้จะประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร ท่านจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าท่านกลับใจอย่างแท้จริง (ดู ลูกา 3:8)
ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 3:4–11 (ท้ายคู่มือพระคัมภีร์); Bible Dictionary, “John the Baptist”; ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 47–51 ด้วย
พวกฟาริสีและพวกสะดูสีเป็นใคร
พวกฟาริสีเป็นสมาชิกของกลุ่มศาสนายิวผู้อวดอ้างว่าตนถือปฏิบัติกฎของโมเสสอย่างเคร่งครัด พวกเขามักจะลดระดับศาสนาลงมาเป็นการปฏิบัติพิธีกรรมมากมาย พวกสะดูสีเป็นชนชั้นชาวยิวที่มั่งคั่งมีอิทธิพลมากทางการเมืองและทางศาสนา พวกเขาไม่เชื่อในหลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิต ทั้งสองกลุ่มหันเหจากเจตนาเดิมของกฎของพระผู้เป็นเจ้า และสมาชิกหลายคนของพวกเขาไม่ยอมรับข่าวสารของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาซึ่งเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า
ดู มัทธิว 23:27; ยอห์น 1:19–24; Bible Dictionary, “Pharisees” และ “Sadducees” ด้วย
มัทธิว 3:13–17; มาระโก 1:9–11; ลูกา 3:15–16, 21–22
พระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมาเพื่อ “ทำความชอบธรรมให้ครบถ้วนทุกประการ”
เมื่อท่านรับบัพติศมา ท่านทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด เปรียบเทียบสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากเรื่องราวบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอดกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างบัพติศมาของท่าน
ใครถวายบัพติศมาพระเยซูและเขาดำรงสิทธิอำนาจอะไร |
ใครให้บัพติศมาท่าน และเขาดำรงสิทธิอำนาจอะไร |
พระเยซูทรงรับบัพติศมาที่ไหน |
ท่านรับบัพติศมาที่ไหน |
พระเยซูทรงรับบัพติศมาอย่างไร |
ท่านรับบัพติศมาอย่างไร |
เหตุใดพระเยซูทรงรับบัพติศมา |
เหตุใดท่านรับบัพติศมา |
พระบิดาบนสวรรค์ทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์พอพระทัยพระเยซู |
พระบิดาบนสวรรค์ทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์พอพระทัยเมื่อท่านรับบัพติศมา พระองค์ทรงแสดงความเห็นชอบของพระองค์นับแต่นั้นอย่างไร |
นีไฟบันทึกคำสอนสำคัญบางประการเกี่ยวกับบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอด ถ้อยคำของเขาใน 2 นีไฟ 31 สอนอะไรท่าน ท่านอาจบันทึกประสบการณ์บัพติศมาของท่านไว้ในสมุดบันทึก
ดู ยอห์น 1:32–33; โมไซยาห์ 18:8–11; หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1; 20:37, 68–74; “The Baptism of Jesus” (วีดิทัศน์, LDS.org) ด้วย
มัทธิว 3:16–17; มาระโก 1:9–11; ลูกา 3:21–22
พระคัมภีร์ไบเบิลสอนหรือไม่ว่าสมาชิกของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์เป็นสามพระองค์แยกจากกัน
พระคัมภีร์ไบเบิลมีหลักฐานมากมายแสดงว่าสมาชิกของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์เป็นสามพระองค์แยกจากกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องราวการบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอดสนับสนุนหลักคำสอนที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นสามพระองค์แยกจากกัน พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาตรัสจากสวรรค์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (แทนด้วยนกพิราบ) เสด็จลงมาบนพระผู้ช่วยให้รอดขณะพระองค์ทรงรับบัพติศมา ต่อไปนี้เป็นพระคัมภีร์บางข้อที่สอนความจริงเดียวกันนี้: ปฐมกาล 1:26–27; มัทธิว 17:1–5; ยอห์น 17:20–23; กิจการของอัครทูต 7:55–56; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเมื่อเราศึกษาเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา แบบอย่างของยอห์นจะช่วยให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนทำหน้าที่ของตนให้เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร (ดู คพ. 13:1; 20:46–60ด้วย)
เพื่อสอนสมาชิกครอบครัวเกี่ยวกับบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจจะให้ดูสิ่งของสกปรกชิ้นหนึ่งและให้สมาชิกครอบครัวนำไปล้างน้ำ กิจกรรมนี้แทนบัพติศมาอย่างไร จากนั้นขอให้สมาชิกครอบครัวพูดถึงลักษณะของการชำระให้สะอาดด้วยไฟ เหตุใดจึงเรียกของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่า “บัพติศมาด้วยไฟ”? (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “พระวิญญาณบริสุทธิ์”)
เราเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเรา ครอบครัวเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย