“11–17 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4: พวกท่านต้องเกิดใหม่’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“11–17 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4,”จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
11–17 กุมภาพันธ์
ยอห์น 2-4
“พวกท่านต้องเกิดใหม่”
ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 2–4 พระวิญญาณจะทรงสอนหลายสิ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของท่าน จดบันทึกการกระตุ้นเตือนของพระองค์ ท่านอาจจะพบข้อคิดทางวิญญาณเพิ่มเติมจากแนวคิดการศึกษาในโครงร่างนี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
ที่งานสมรสในหมู่บ้านคานา พระคริสต์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น—เหตุการณ์ที่ยอห์นเรียกว่า “หมายสำคัญครั้งแรก” (ยอห์น 2:11) นั่นเป็นจริงมากกว่าหนึ่งความหมาย แม้จะเป็นปาฏิหาริย์ครั้งแรกที่พระเยซูทรงทำอย่างเปิดเผย แต่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นอันน่าอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่งเช่นกัน—ซึ่งก็คือกระบวนการการเปลี่ยนแปลงใจเราขณะที่เราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้น ปาฏิหาริย์นี้ของชีวิตเริ่มต้นด้วยการตัดสินใจติดตามพระเยซูคริสต์ เปลี่ยนและดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นผ่านพระองค์ สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงนี้จะสมบูรณ์จนการ “เกิดใหม่” เป็นวิธีอธิบายการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง (ยอห์น 3:7) แต่การเกิดใหม่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นสานุศิษย์ พระดำรัสของพระคริสต์ต่อหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำเตือนเราว่าถ้าเราอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไป ในที่สุดพระกิตติคุณจะกลายเป็น “บ่อน้ำพุ” ในตัวเรา “พลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:14)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เดชานุภาพของพระเยซูคริสต์เปลี่ยนฉันได้
ขณะที่ท่านอ่านเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นใน ยอห์น 2:1–11 ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระคริสต์ในการเปลี่ยนท่าน
ท่านอาจจะได้ข้อคิดเพิ่มเติมโดยพิจารณามุมมองของหลายคนที่นั่น เช่น มารีย์ เหล่าสาวก และคนอื่นๆ คนเหล่านี้อาจจะเคยประสบปาฏิหาริย์อย่างไร ท่านอาจจะเปรียบเทียบสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ในข้อเหล่านี้กับสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนนิโคเดมัส (ดู ยอห์น 3:1–8 และหญิงที่บ่อน้ำ (ดู ยอห์น 4:3–26)
ฉันต้องเกิดใหม่เพื่อเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อนิโคเดมัสมาหาพระเยซูเป็นส่วนตัว เขาเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ละเอียดรอบคอบ ต่อมา เขาปกป้องพระเยซูต่อหน้าสาธารณชน (ดู ยอห์น 7:45–52) และสมทบกับผู้เชื่อที่งานฝังพระศพพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ยอห์น 19:38–40) ท่านพบคำสอนอะไรบ้างใน ยอห์น 3:1–21 ที่อาจจะดลใจนิโคเดมัสให้ติดตามพระเยซูและเกิดใหม่
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ สอนว่า “การเกิดใหม่มาโดยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสนพิธี” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 103) บัพติศมาของท่าน (การ “เกิดจากน้ำ” [ยอห์น 3:5]) และการยืนยัน (การเกิดจาก “พระวิญญาณ” [ยอห์น 3:5]) มีบทบาทอะไรในการเกิดใหม่ ท่านกำลังทำอะไรเพื่อดำเนินกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ (ดู แอลมา 5:11–14)
ดู โมไซยาห์ 5:7; 27:25–26; “Salvation,” Gospel Topics, topics.lds.org; เดวิด เอ. เบดนาร์, “ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 24–27 ด้วย
พระบิดาบนสวรรค์ทรงแสดงความรักต่อฉันผ่านพระเยซูคริสต์
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า “ความจริง ข้อสำคัญข้อแรกที่เกี่ยวข้องกับนิรันดรคือพระผู้เป็นเจ้าทรงรัก เรา ด้วยสุดพระทัย สุดพระพลานุภาพ สุดพระปรีชาสามารถ และสุดพระฤทธานุภาพ ของพระองค์” (“พรุ่งนี้พระยาห์เวห์จะทรงทำการอัศจรรย์ท่ามกลางพวกท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 127) ท่านเคยรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าผ่านของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์เมื่อใด
ศีลระลึกให้เวลาใคร่ครวญความรักของพระผู้เป็นเจ้าและของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์ เพลงสวดเพลงใดช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักนี้ ท่านอาจจะดูวีดิทัศน์ของคณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลร้องเพลง “ฉันเฝ้าพิศวง” (LDS.org) ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ศีลระลึกมีความหมายมากขึ้น
พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณหรือ
บางคนอาจสับสนกับพระดำรัสของพระเยซูที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ งานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับข้อนี้ให้คำชี้แจงที่สำคัญดังนี้ “พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่คนเช่นนั้น” (ใน John 4:24, footnote a) การเปิดเผยยุคปัจจุบันสอนเช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก (ดู คพ. 130:22–23; ดู ปฐมกาล 5:1–3; ฮีบรู 1:1–3 ด้วย)
พระคริสต์ทรงมอบน้ำดำรงชีวิตให้ฉัน
พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์รับสั่งกับหญิงชาวสะมาเรียว่าคนที่ดื่มน้ำที่พระองค์ทรงมอบให้จะไม่กระหายอีกเลย พระกิตติคุณเปรียบเสมือนน้ำดำรงชีวิตอย่างไร
ข่าวสารประการหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่หญิงชาวสะมาเรียคือวิธีที่เรานมัสการสำคัญกว่าสถานที่ซึ่งเรานมัสการ (ดู ยอห์น 4:21–24) ท่านกำลังทำอะไรเพื่อ “นมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ยอห์น 4:23)
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “นมัสการ”; ดีน เอ็ม. เดวีส, “พรของการนมัสการ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 93–95 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ขณะที่ครอบครัวท่านอ่านบทเหล่านี้สัปดาห์นี้ จงเอาใจใส่เป็นพิเศษว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้สิ่งประจำวัน—การเกิด ลม น้ำ และอาหาร—สอนความจริงทางวิญญาณอย่างไร ท่านสามารถใช้สิ่งใดบ้างในบ้านท่านสอนความจริงทางวิญญาณ
เมื่อท่านหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้บ้านของท่านไม่สะอาดทางกายภาพและทางวิญญาณ บ้านจะกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์—เหมือนพระวิหาร ครอบครัวท่านต้องไม่นำอะไรเข้าไปในบ้านท่านเพื่อบ้านจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะทำอะไรเพื่อไม่นำสิ่งเหล่านั้นเข้าไป
ขอให้สมาชิกครอบครัวนึกถึงปาฏิหาริย์ของการตั้งครรภ์และการให้กำเนิด—กระบวนการสร้างสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้และมีปัญญา พระคริสต์ทรงสอนว่าเราต้องเกิดใหม่ก่อนเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เหตุใดการเกิดใหม่จึงเป็นอุปลักษณ์ที่ดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เราจำเป็นต้องทำก่อนจึงจะสามารถเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้ เราเคยประสบกระบวนการเกิดใหม่ทางวิญญาณอย่างไร
เชิญสมาชิกครอบครัวกล่าวย้ำข้อนี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเองราวกับว่าพวกเขากำลังอธิบายให้เพื่อนฟัง พระคริสต์ทรงช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราอย่างไร
พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังสอนอะไรเราเมื่อพระองค์ทรงเปรียบเทียบพระกิตติคุณกับน้ำดำรงชีวิต ท่านอาจจะชูแก้วน้ำใบหนึ่งและขอให้ครอบครัวท่านบรรยายคุณภาพของน้ำ เหตุใดเราต้องดื่มน้ำทุกวัน เหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเทียบพระกิตติคุณของพระองค์กับ “บ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:14)
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย