“8–14 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9: ‘พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำอะไร’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“8–14 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9:” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
8–14 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 6–9
“พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำอะไร”
เริ่มโดยอ่าน กิจการของอัครทูต 6–9 ข้อเสนอแนะในโครงร่างนี้จะช่วยท่านระบุหลักธรรมสำคัญบางประการในบทเหล่านี้ถึงแม้ท่านจะพบหลักธรรมอื่นในการศึกษาส่วนตัว
บันทึกความประทับใจของท่าน
หากใครสักคนไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนใจเลื่อมใส คนนั้นน่าจะเป็นเซาโล—ชาวฟาริสีผู้มีชื่อเสียงเรื่องการข่มเหงชาวคริสต์ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระเจ้ารับสั่งกับสาวกคนหนึ่งชื่ออานาเนียให้ตามหาเซาโลและให้พรเขา อานาเนียจึงลังเล “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เขากล่าว “ข้าพระองค์ได้ยินหลายคนพูดถึงคนนั้นว่าเขาทำร้ายธรรมิกชนของพระองค์” (กิจการของอัครทูต 9:13) แต่พระเจ้าทรงรู้ใจและศักยภาพของเซาโล และทรงมีพันธกิจให้เซาโลทำ “คนนี้เป็นภาชนะที่เราเลือกสรรไว้ เขาจะนำนามของเราไปถึงบรรดาคนต่างชาติ และบรรดากษัตริย์ และไปถึงพวกอิสราเอล” (กิจการของอัครทูต 9:15) อานาเนียจึงเชื่อฟัง และเมื่อเขาพบอดีตผู้ข่มเหงคนนี้ เขาเรียกคนนี้ว่า “พี่เซาโล” (กิจการของอัครทูต 9:17) หากเซาโลสามารถเปลี่ยนได้โดยสิ้นเชิงและอานาเนียสามารถต้อนรับเขาได้อย่างสบายใจ แล้วเราไม่ควรคำนึงถึงคนที่ไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยน—รวมทั้งตัวเราหรอกหรือ
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ใจฉันต้อง “ซื่อตรงต่อพระเจ้า”
ศาสนจักรที่กำลังเติบโตหมายถึงต้องการให้เหล่าสานุศิษย์รับใช้ในอาณาจักรมากขึ้น ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 6:1–15 อัครสาวกสิบสองกำลังมองหาคุณสมบัติอะไรในคนเหล่านั้นผู้จะรับใช้กับพวกเขา ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 6–8 ให้สังเกตว่าคนแบบสเทเฟนและฟีลิปแสดงให้เห็นคุณสมบัติเหล่านี้และอื่นๆ อย่างไร ซีโมนขาดอะไรและเราสามารถเรียนรู้อะไรจากเขาเกี่ยวกับการยอมเปลี่ยน
มีสิ่งใดหรือไม่ที่ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้เปลี่ยนเพื่อให้ใจท่าน “ซื่อตรงต่อพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 8:21–22) การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นพรแก่ท่านอย่างไรขณะที่ท่านรับใช้พระผู้เป็นเจ้า
การขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำไปสู่การปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอดและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์
ผู้นำชาวยิวแม้มีหน้าที่เตรียมผู้คนให้พร้อมรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ แต่กลับปฏิเสธพระเยซูคริสต์และเรียกร้องให้ตรึงกางเขนพระองค์เพราะความจองหองของเขาและการแสวงหาอำนาจ นี่เกิดขึ้นได้อย่างไร สเทเฟนประกาศต่อพวกเขาว่า “ท่านขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เสมอ” (กิจการของอัครทูต 7:51) ท่านคิดว่าขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายถึงอะไร เหตุใดการขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงนำไปสู่การปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอดและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์
ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 6–7 ให้มองหาข่าวสารอื่นที่สเทเฟนสอนชาวยิว เขากำลังเตือนให้ระวังเจตคติอะไรบ้าง ท่านสังเกตเห็นเจตคติคล้ายกันนี้ในชีวิตท่านหรือไม่ คำพูดของสเทเฟนสอนอะไรท่านเกี่ยวกับผลของการขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านจะรู้สึกไวและตอบรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตท่านมากขึ้นได้อย่างไร
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “The Martyrdom of Stephen” (LDS.org) ด้วย
นอกจากสเทเฟนแล้ว ใครอีกบ้างที่เสียชีวิตเป็นมรสักขีเพราะประจักษ์พยานของพวกเขาในพระเยซูคริสต์
สเทเฟนเป็นที่รู้จักกันว่าคือชาวคริสต์ที่มรณสักขีคนแรก (คนที่ถูกฆ่าเพราะความเชื่อของพวกเขา) หลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู วิสุทธิชนอีกมากมายตลอดประวัติศาสตร์ถูกฆ่าเพราะพวกเขาไม่ยอมปฏิเสธศรัทธาในพระเยซูคริสต์เช่นกัน มรณสักขีบางคนมีกล่าวไว้ใน 2 พงศาวดาร 24:20–21; มาระโก 6:17–29; กิจการของอัครทูต 12:1–2; วิวรณ์ 6:9–11; โมไซยาห์ 17:20; แอลมา 14:8–11; ฮีลามัน 13:24–26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:47–49; 135:1–7; และ อับราฮัม 1:11 เป็นไปได้ว่าหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด อัครสาวกทุกคนสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขียกเว้นยอห์น
พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยฉันนำทางผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณจากเรื่องราวใน กิจการของอัครทูต 8:26–39 พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยฟีลิปอย่างไร การแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นเหมือนการเป็นผู้นำทางอย่างไร (ดู กิจการของอัครทูต 8:31)
เมื่อฉันยอมตามพระประสงค์ของพระเจ้า ฉันสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโลดูเหมือนจะเกิดขึ้นเร็วมาก เขาเปลี่ยนโดย “ไม่ได้รีรอ” จากการจำคุกคริสต์ศาสนิกชนเป็นการสั่งสอนเรื่องพระคริสต์ในธรรมศาลา (กิจการของอัครทูต 9:20) ขณะที่ท่านอ่านเรื่องนี้ ให้ไตร่ตรองว่าเหตุใดเขาเต็มใจเปลี่ยน (อ่านคำบรรยายของเซาโลเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขาได้จาก กิจการของอัครทูต 22:1–16 และ 26:9–18 สังเกตว่า ณ เวลาที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ชื่อของเซาโลเปลี่ยนเป็นเปาโล)
แม้จะจริงที่ประสบการณ์ของเซาโลผิดจากธรรมดา—สำหรับคนส่วนใหญ่ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นกระบวนการยาวนานกว่านั้นมาก—มีสิ่งใดที่ท่านสามารถเรียนรู้ได้จากเซาโลเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสหรือไม่ ท่านเรียนรู้อะไรจากวิธีที่อานาเนียกับสาวกคนอื่นๆ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโล ท่านจะทำอะไรเพื่อประยุกต์ใช้บทเรียนเหล่านี้ในชีวิตท่าน ท่านอาจจะเริ่มโดยทูลถามในการสวดอ้อนวอนเช่นเดียวกับเปาโลว่า “พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำอะไร” หรือท่านอาจจะเขียนคำถามนี้เป็นหัวเรื่องในบันทึกส่วนตัวของท่านและบันทึกความประทับใจที่มาถึงท่านหลังจากนั้น
ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “การรอคอยบนถนนสู่ดามัสกัส,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 88–96; “The Road to Damascus” (วีดิทัศน์ LDS.org) ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
เปรียบเทียบเรื่องราวของสเทเฟนใน กิจการของอัครทูต 6:8 และ กิจการของอัครทูต 7:51–60 กับเรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 23:1–46 สเทเฟนทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร
พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานพรสเทเฟนอย่างไรเมื่อเขาถูกข่มเหง เราได้รับพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในช่วงเวลายากๆ เมื่อใด
ครอบครัวท่านรู้หรือไม่ว่า “ถีบปฏัก” หมายถึงอะไร ปฏัก คือหอกแหลมที่ใช้แทงสัตว์พาหนะ บ่อยครั้งสัตว์จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกแทง ซึ่งจะทำให้ปลายหอกฝังลงไปในเนื้อสัตว์ลึกขึ้น แนวเทียบดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับเราในด้านใดบ้าง
ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัววาดภาพเรื่องราวใน กิจการของอัครทูต 9:32–43 พวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงจากอานาเนีย ทาบิธา และหญิงม่ายชาวยัฟฟา คนที่ “ทำคุณประโยชน์มากมาย” จะช่วยให้ผู้อื่นเชื่อในพระเจ้าได้อย่างไร (ดู กิจการของอัครทูต 9:36, 42; “บทที่ 60: เปโตรทำให้ทาบิธาคืนชีพ” เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่ 156–157 หรือวีดิทัศน์ที่สอดคล้องกันใน LDS.org)
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย