“15–21 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15: ‘พระวจนะของพระเจ้าจำเริญขึ้นและแพร่ขยายออกไป’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“15–21 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
15–21 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 10–15
“พระวจนะของพระเจ้าจำเริญขึ้นและแพร่ขยายออกไป”
อ่าน กิจการของอัครทูต 10–15 อย่างถี่ถ้วน โดยให้เวลาพระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนท่านด้วยความคิดและความรู้สึก มีอะไรให้ท่านเรียนรู้ในบทเหล่านี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย บ่อยครั้งคำสอนของพระเยซูคริสต์ท้าทายความเชื่อและประเพณีที่ผู้คนยึดถือมานาน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสายหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์—อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงนำทางศาสนจักรต่อไปโดยการเปิดเผย ตัวอย่างเช่น ในระหว่างพระชนม์ชีพของพระเยซู เหล่าสาวกของพระองค์สั่งสอนพระกิตติคุณให้เพื่อนชาวยิวเท่านั้น แต่ไม่นานหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์และเปโตรกลายเป็นศาสดาพยากรณ์ของศาสนจักร พระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยต่อเปโตรว่าถึงเวลาสั่งสอนพระกิตติคุณให้ผู้ไม่ใช่ชาวยิวแล้ว แนวคิดเรื่องการแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนต่างชาติดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน แล้วอะไรคือบทเรียนสำหรับเราในเรื่องนี้ บทเรียนหนึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและหลักปฏิบัติ—ทั้งในศาสนจักรสมัยโบราณและปัจจุบัน—มาโดยการเปิดเผยจากพระเจ้าต่อผู้นำที่พระองค์ทรงเลือก (อาโมส 3:7; คพ. 1:38) การเปิดเผยต่อเนื่องเป็นลักษณะจำเป็นของศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่ของพระเยซูคริสต์ เฉกเช่นเปโตร เราต้องเต็มใจยอมรับการเปิดเผยต่อเนื่องและดำเนินชีวิต “ตามพระวจนะทุกคำของพระผู้เป็นเจ้า” (ลูกา 4:4) รวมทั้ง “ทุกสิ่งที่ [พระองค์] ทรงเปิดเผยมาแล้ว, ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยขณะนี้” และ “เรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่อีกหลายเรื่อง” ที่พระองค์จะทรงเปิดเผย “เกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักแห่งความเชื่อ 1:9)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
“พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง”
ชาวยิวหลายรุ่นเชื่อว่าการเป็น “พงศ์พันธุ์ของอับราฮัม” หรือสายเลือดแท้ของอับราฮัมหมายความว่าพระผู้เป็นเจ้าชอบพระทัยยอมรับ (ทรงเลือก) บุคคลนั้น (ดู ลูกา 3:8) นอกนั้นถือว่าเป็นคนต่างชาติที่ “ไม่สะอาด” และพระผู้เป็นเจ้าชอบพระทัย ใน กิจการของอัครทูต 10 พระเจ้าทรงสอนอะไรเปโตรเกี่ยวกับคนที่ “ชอบพระทัยพระองค์” (กิจการของอัครทูต 10:35) ท่านพบหลักฐานอะไรในบทนี้ที่ยืนยันว่าโครเนลิอัสดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมจนเป็นที่ยอมรับต่อพระเจ้า เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง” (ข้อ 34) โดยหมายความว่าทุกคนจะได้รับพรของพระกิตติคุณถ้าพวกเขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ (ดู 1 นีไฟ 17:35)
เหมือนชาวยิวผู้ดูถูกคนที่ไม่ใช่พงศ์พันธุ์ของอับราฮัม ท่านเคยพบว่าตนเองตั้งสมมติฐานอย่างไร้เมตตาหรือโดยไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่ต่างจากท่านหรือไม่ ท่านจะเอาชนะนิสัยนี้ได้อย่างไร การพยายามทำกิจกรรมที่เรียบง่ายนี้สักสองสามวันติดต่อกันอาจเป็นเรื่องน่าสนใจ นั่นคือ เมื่อท่านปฏิสัมพันธ์กับใครก็ตาม พยายามคิดในใจว่า “คนนี้เป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า” ขณะทำเช่นนี้ ท่านสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในวิธีที่ท่านคิดและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 48–51; 1 ซามูเอล 16:7; “Peter’s Revelation to Take the Gospel to the Gentiles” (วีดิทัศน์ LDS.org) ด้วย
กิจการของอัครทูต 10; 11:1–18; 15
พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนฉันเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดผ่านการเปิดเผย
เมื่อเปโตรเห็นนิมิตที่บรรยายไว้ใน กิจการของอัครทูต 10 ทีแรกเขาพยายามทำความเข้าใจและ “คิดสงสัยเรื่องนิมิตที่เห็นนั้นว่ามีความหมายอย่างไร” (ข้อ 17) ทว่าพระเจ้าประทานความเข้าใจให้เปโตรมากขึ้นเมื่อเขาแสวงหา ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 10, 11 และ 15 ให้สังเกตว่าความเข้าใจนิมิตของเปโตรลึกซึ้งขึ้นตามกาลเวลาอย่างไร ท่านเคยแสวงหาและได้รับความเข้าใจมากยิ่งขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรเมื่อท่านมีคำถาม
กิจการของอัครทูต 10, 11 และ 15 เล่ากรณีตัวอย่างที่พระเจ้าทรงกำกับดูแลผู้รับใช้ของพระองค์ผ่านการเปิดเผย การบันทึกสิ่งที่ท่านพบเกี่ยวกับการเปิดเผยขณะอ่านบทเหล่านี้อาจจะช่วยได้ พระวิญญาณตรัสกับท่านอย่างไร
ดู “การเปิดเผย” Gospel Topics, topics.lds.org; โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, “ให้พระวิญญาณทรงนำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 93–96; “The Jerusalem Conference” (วีดิทัศน์ LDS.org) ด้วย
ฉันเป็นคริสต์ศาสนิกชนเพราะฉันเชื่อในพระเยซูคริสต์และติดตามพระองค์
อะไรสำคัญเกี่ยวกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นคริสต์ศาสนิกชน (ดู กิจการของอัครทูต 11:26) การที่คนอื่นรู้ว่าท่านเป็นคริสต์ศาสนิกชนหรือยอมรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวท่านหมายความว่าอย่างไร (ดู ค.พ. 20:77) พิจารณาความสำคัญของชื่อ ตัวอย่างเช่น นามสกุลของครอบครัวท่านมีความหมายต่อท่านอย่างไร เหตุใดชื่อของศาสนจักรทุกวันนี้จึงสำคัญ (ดู ค.พ. 115:4)
ดู โมไซยาห์ 5:7–15; แอลมา 46:13–15; 3 นีไฟ 27:3–8; เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ความสำคัญของชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 101–105 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
เราเคยมีประสบการณ์ทางวิญญาณและต่อมาสงสัยสิ่งที่เรารู้สึกหรือเรียนรู้หรือไม่ เราจะให้คำแนะนำอะไรกันได้บ้างที่อาจจะช่วยให้เราเอาชนะความสงสัยของเรา (ดู โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, เกรงว่าท่านจะลืม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 113–115)
เมื่อเปโตรถูกคุมขัง สมาชิกของศาสนจักรมารวมตัวกันและสวดอ้อนวอนให้เขา มีคนที่ครอบครัวท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้สวดอ้อนวอนเพื่อเขาหรือไม่ เช่น ผู้นำศาสนจักรหรือคนที่ครอบครัวท่านรัก การสวดอ้อนวอน “ไม่หยุด” หมายความว่าอย่างไร (กิจการของอัครทูต 12:5)
ขณะที่ท่านอ่านบทนี้ด้วยกัน สมาชิกครอบครัวบางคนอาจจะจดบันทึกพรที่เหล่าสาวกและศาสนจักรได้รับ ส่วนสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ อาจจะจดการต่อต้านหรือการทดลองที่เหล่าสาวกประสบ เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เรื่องยุ่งยากทั้งหลายเกิดกับคนชอบธรรม
ข้อเหล่านี้พูดถึงความไม่เห็นพ้องในศาสนจักรเกี่ยวกับว่าควรให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เป็นคนต่างชาติ (ไม่ใช่ชาวยิว) เข้าสุหนัตอันเป็นเครื่องหมายของพันธสัญญาหรือไม่ ความไม่เห็นพ้องยุติหลังจากเหล่าอัครสาวกประชุมกันเพื่อพิจารณาเรื่องนี้และได้รับคำตอบที่เป็นการเปิดเผย นี่อาจเป็นเวลาดีที่จะสอนครอบครัวท่านว่ารูปแบบเดียวกันนี้ใช้ได้ในปัจจุบัน ให้ครอบครัวเลือกคำถามหนึ่งข้อเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ท่านต้องการหาคำตอบด้วยกัน หาข้อคิดด้วยกันในพระคัมภีร์และในคำสอนของศาสดาพยากรณ์ตลอดจนอัครสาวกยุคปัจจุบัน (คู่มือพระคัมภีร์ และดัชนีหัวข้อในนิตยสารศาสนจักรฉบับการประชุมใหญ่อาจจะช่วยได้)
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย