“1–7 มิถุนายน แอลมา 5–7: ‘ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“1–7 มิถุนายน “ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020
1–7 มิถุนายน
แอลมา 5–7
“ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”
พิจารณาหลักธรรมใน แอลมา 5–7 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนที่ท่านรู้สึกว่าเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเด็กที่ท่านสอน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจำได้ขณะเรียนเรื่องแอลมาผู้บุตรเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อธิบายว่าหลังจากแอลมาเปลี่ยนใจเลื่อมใส เขาสอนเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระกิตติคุณให้แก่ผู้คน ให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเรื่องที่แอลมาสอน
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถมีประจักษ์พยานของฉันเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
เด็กที่ท่านสอนสามารถพัฒนาประจักษ์พยานที่เข้มแข็งของพวกเขา แม้ขณะอายุยังน้อย
กิจกรรมที่ทำได้
-
ใช้ภาพของแอลมาผู้บุตร (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 77) ทบทวนเรื่องราวของเทพที่มาเยือนเขา (ดู โมไซยาห์ 27) จากนั้นขอให้เด็กอธิบายว่าประจักษ์พยานคืออะไร และช่วยพวกเขาเท่าที่จำเป็น อธิบายว่าแอลมาพยายามให้ได้ประจักษ์พยานหลังจากเทพมาเยือนเขา อ่าน แอลมา 5:46 สองสามครั้งช้าๆ เชื้อเชิญให้เด็กฟังว่าแอลมาทำอะไรและเขารู้ความจริงได้อย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าการอดอาหารหมายถึงการไม่กินอาหารและน้ำ)
-
ให้ดูภาพของสิ่งที่ค่อยๆ โตและต้องดูแลเอาใจใส่สม่ำเสมอ เช่นพืชหรือลูกสัตว์ ขอให้เด็กแบ่งปันว่าเราจะดูแลสิ่งเหล่านี้และช่วยให้เติบโตได้อย่างไร เตือนพวกเขาว่าเราต้องดูแลประจักษ์พยานของเราอยู่เสมอเช่นกัน
-
ใช้ลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าแทนประจักษ์พยาน และเป่าลูกโป่งทุกครั้งที่ท่านบอกสิ่งที่ช่วยให้ประจักษ์พยานเติบโต มัดลูกโป่งและส่งต่อไปรอบๆ โดยขอให้เด็กแบ่งปันหนึ่งอย่างที่พวกเขาทำได้เพื่อช่วยให้ประจักษ์พยานของพวกเขาเติบโต ให้เด็กวาดภาพพวกเขาเองกำลังทำสิ่งที่จะเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนให้เข้มแข็ง
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกข์ของฉันไว้กับพระองค์
ความจริงใน แอลมา 7:10–13 สามารถช่วยให้เด็กรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงห่วงใยพวกเขาและทรงช่วยเหลือพวกเขาได้
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพพระเยซู อธิบายว่าพระองค์ทรงทราบว่าเจ็บปวด เศร้าเสียใจ หรือหวาดกลัวเป็นอย่างไร อ่านคำบางคำใน แอลมา 7:11–13 ที่บอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์อะไร และอธิบายคำที่เด็กอาจจะไม่เข้าใจ ชี้ให้เห็นว่าพระเยซูทรงสามารถช่วยเหลือและปลอบโยนเราได้เมื่อเราเศร้าเสียใจ แบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเหลือและปลอบโยนท่านอย่างไร
-
ขอให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาป่วยหรือเจ็บปวดหรือมีปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเศร้าเสียใจ แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์สิ่งเหล่านั้นเช่นกันและทรงรู้วิธีช่วยเหลือเรา
ทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เป็นทางตรง
ท่านจะใช้คำอธิบายของแอลมาเรื่องทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเลือกสิ่งดีได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน แอลมา 7:19 ให้เด็กฟัง และอธิบายว่าเมื่อเราเลือกสิ่งดี เราอยู่ในทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ แจกการเลือกหรือการกระทำให้เด็กชุดหนึ่ง (เช่นการไม่มีน้ำใจต่อสมาชิกครอบครัวหรือการรับใช้พวกเขา) ขอให้พวกเขาบอกท่านว่าการเลือกแต่ละอย่างดีและนำกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้าหรือการเลือกแต่ละอย่างไม่ดีและนำออกห่างจากพระองค์
-
อ่าน แอลมา 7:20 ช่วยให้เด็กเข้าใจคำในข้อเหล่านี้ที่พูดถึงทางกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า วาดทางตรงบนกระดานจากเราไปถึงพระบิดาบนสวรรค์ จากนั้นให้วาดทางคดเคี้ยวที่มีทางตันซึ่งนำออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า ให้เด็กใช้นิ้วเดินไปตามทางทั้งสอง ทางไหนดีกว่า ช่วยให้พวกเขานึกถึงการเลือกที่ดีที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่บนทางตรง
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
แอลมา 5:12–14, 27–28, 57; 7:14–24
ฉันต้องเกิดใหม่แล้วเดินตามทางที่นำกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า
ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการเกิดใหม่ได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพทารก และให้พวกเขาพูดคุยกันว่าทารกแรกเกิดเป็นอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กคนหนึ่งอ่าน แอลมา 5:14 เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการ “เกิดทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า” ขอให้พวกเขาคิดว่าแอลมาผู้บุตรเป็นอย่างไรก่อนเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส เขาเป็นอย่างไรหลังจากนั้น (ดู โมไซยาห์ 27:23–32 และ แอลมา 36:12–24) อธิบายว่าเมื่อเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ก็เหมือนเราได้เริ่มชีวิตใหม่เช่นเดียวกับทารก
-
อ่าน แอลมา 7:19 ด้วยกันและอธิบายว่าหลังจากเราเกิดใหม่ เราต้องเดินตาม “ทางซึ่งจะนำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” ซ่อนกระดาษที่เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ให้ทั่วห้อง: แอลมา 5:12–13, 27–28, 57; 7:14–16, 23–24 ให้เด็กหากระดาษ ค้นคว้าพระคัมภีร์ และแบ่งปันว่าพระคัมภีร์แต่ละข้อสอนว่าเราต้องทำอะไรจึงจะกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้
ฉันสามารถมีประจักษ์พยานของฉันเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
แอลมาได้รับการเยือนจากเทพ แต่ประจักษ์พยานของเขา “เป็นที่รู้แก่ [เขา] โดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” (แอลมา 5:46)
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน แอลมา 5:44–46 กับเด็ก แอลมาทำอะไรเพื่อให้ตนมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณ แจกกระดาษให้เด็กคนละแผ่นและเชื้อเชิญให้พวกเขาวางแผนทำสิ่งหนึ่งสัปดาห์นี้เพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนให้เข้มแข็ง
-
ส่งกระจกไปรอบๆ และให้เด็กดูภาพสะท้อนของตนในกระจกขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 5:14 การมีรูปลักษณ์ของพระผู้ช่วยให้รอดในสีหน้าของเราหมายความว่าอย่างไร เล่าถึงเวลาที่มีคนพูดหรือทำสิ่งที่เตือนท่านให้นึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด และขอให้เด็กเล่าด้วย
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกข์ของฉันไว้กับพระองค์
ขณะที่ท่านศึกษา แอลมา 7 ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะสร้างศรัทธาของเด็กในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรเพื่อให้พวกเขาหันไปหาพระองค์ในการทดลองของพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน แอลมา 7:11–13 โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ พวกเขาอาจจะยินดีแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกถึงความเจ็บปวด ความป่วยไข้ หรือความทุกข์ ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยทนทุกข์ทั้งหมดนี้ (อธิบายว่า “ช่วยเหลือ” หมายถึง “ช่วย”)
-
เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับความเจ็บไข้ การบาดเจ็บ หรือความทุกข์อื่นที่ท่านเคยมี และถามว่าพวกเขาเคยรู้สึกทำนองนี้หรือไม่ อ่าน แอลมา 7:11–13 ด้วยกันและชี้ให้เห็นสิ่งที่พระเยซูทรงทนทุกข์เพื่อเรา ช่วยให้เด็กนึกถึงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบสิ่งเหล่านี้ เช่นเมื่อพระองค์ทรงถูกล่อลวง (ดู มัทธิว 4:1–11) หรือเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี ทั้งหมดนั้นช่วยให้เรารู้อย่างไรว่าพระเยซูเข้าพระทัยความลำบากของเรา แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในการปลอบโยน ช่วยเหลือ และรักษาเรา
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแขวนภาพพระเยซูไว้ในที่ซึ่งพวกเขาจะมองเห็นบ่อยๆ เพื่อเตือนให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์วันนี้