จงตามเรามา
15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16: “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”


“15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16: ‘เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

แอลมากับอมิวเล็คเดินออกจากเรือนจำ

ภาพประกอบแอลมากับอมิวเล็คได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ โดย แอนดรูว์ บอสลีย์

15–21 มิถุนายน

แอลมา 13–16

“เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”

แต่ละสัปดาห์ท่านอยู่กับเด็กในชั้นเพียงช่วงสั้นๆ ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างลึกซึ้งถ้าท่านสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์มอรมอนอย่างต่อเนื่องนอกชั้นเรียน—โดยเฉพาะกับครอบครัวของพวกเขา

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เปิดโอกาสให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้อยู่แล้วเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ใน แอลมา 13–16 เพื่อช่วยเหลือพวกเขา ให้พวกเขาดูภาพเช่นภาพใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว หรือ “บทที่ 22: ภารกิจของแอลมาในแอมันไนฮาห์” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 58–63)

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

แอลมา 13:1–2, 6, 16

ฐานะปุโรหิตช่วยให้ฉันมาหาพระคริสต์

ไตร่ตรองร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าเด็กในชั้นเรียนของท่านจำเป็นต้องเข้าใจอะไรจากสิ่งที่แอลมาสอนเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตในข้อเหล่านี้

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กพูดทวนนิยามง่ายๆ ของฐานะปุโรหิตพร้อมกับท่าน เช่น “ฐานะปุโรหิตคือพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า”

  • เปิดพระคัมภีร์ไปที่ แอลมา 13:2 และบอกเด็กว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกผู้ดำรงฐานะปุโรหิต “ซึ่งโดยทางนั้นผู้คนจะ … ตั้งตารอพระบุตรของพระองค์” เพื่อแสดงตัวอย่างวิธีที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทำสิ่งนี้ ให้ดูภาพวิธีที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตรับใช้ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 38–41, 103–109) จากนั้นเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงรับใช้ (ดู มัทธิว 26:26–28; มาระโก 5:22–24, 35–43)

  • เปิดไปที่ แอลมา 13:6 และอธิบายว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิต “สอนพระบัญญัติ [ของพระผู้เป็นเจ้า] ให้ลูกหลานมนุษย์” ช่วยให้เด็กนึกถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่พวกเขารู้จัก คนเหล่านั้นสอนพระบัญญัติอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนหนึ่งที่พวกเขารู้ว่ากำลังสอนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

เยาวชนชายที่โต๊ะศีลระลึก

ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตช่วยให้เราหวังพึ่งการไถ่จากพระเยซูคริสต์

แอลมา 14:18–29

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเพิ่มพลังให้ฉันตามศรัทธาของฉัน

เรื่องราวของแอลมากับอมิวเล็คได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหันไปพึ่งพระเจ้าเมื่อต้องการความช่วยเหลือ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพของแอลมากับอมิวเล็คบนหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ขณะท่านเล่าเรื่องใน แอลมา 14:18–29 ท่านอาจจะอ้าง “บทที่ 22: ภารกิจของแอลมาในแอมันไนฮาห์” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 58–63 หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องบน ChurchofJesusChrist.org) ให้เด็กผลัดกันใช้ภาพเล่าเรื่อง เน้นว่าแอลมากับอมิวเล็คได้รับพละกำลังให้หนีออกจากเรือนจำ “ตามศรัทธาที่ [พวกเขา] มีอยู่ในพระคริสต์” (แอลมา 14:26)

  • ช่วยให้เด็กจินตนาการว่าแอลมากับอมิวเล็ครู้สึกอย่างไรขณะอยู่ในเรือนจำ และให้พวกเขาทำท่าประกอบความรู้สึกเหล่านี้ (ดู ข้อ 22) อธิบายว่าแอลมาทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า (ดู ข้อ 26) เป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเพิ่มพละกำลังให้เราเมื่อเราสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธา

  • ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้สอนเด็กเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเพิ่มพละกำลังให้คนที่มีศรัทธา ขณะเด็กกำลังระบายสีหน้ากิจกรรม ท่านจะเล่าให้พวกเขาฟังเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพละกำลังให้ท่าน

แอลมา 16:1–8

ฉันได้รับพรเมื่อฉันทำตามศาสดาพยากรณ์

โซรัมแม่ทัพของกองทัพชาวนีไฟรู้ว่าแอลมาเป็นศาสดาพยากรณ์และขอการนำทางจากท่าน เพราะเหตุนี้โซรัมจึงประสบความสำเร็จ

กิจกรรมที่ทำได้

  • เล่าเรื่องใน แอลมา 16:1–8 ด้วยคำพูดของท่านเอง เน้นว่าเพราะโซรัมกับกองทัพชาวนีไฟทำตามศาสดาพยากรณ์แอลมา ชาวนีไฟจึงสามารถช่วยชีวิตเพื่อนๆ ที่ถูกชาวเลมันจับไปเป็นนักโทษ เล่าประสบการณ์เมื่อท่านได้รับพรเพราะท่านทำตามศาสดาพยากรณ์

  • ให้ดูภาพประธานศาสนจักร และบอกสองสามสิ่งที่ท่านสอนให้เราทำ ช่วยให้เด็กนึกถึงวิธีที่พวกเขาจะติดตามพระเยซูโดยทำสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์สอนเรา

  • ให้ดูภาพศาสดาพยากรณ์ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 6–9, 14, 18, 26–27) ขณะท่านร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ เช่น “ทำตามศาสดา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 58–59) เน้นวลีต่างๆ ในเพลงที่สอนว่าเหตุใดเราจึงควรทำตามศาสดาพยากรณ์

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

แอลมา 13:1–19

ฐานะปุโรหิตช่วยให้ฉันมาหาพระคริสต์

ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 13:1–19 ท่านพบอะไรที่ทำให้ความเคารพต่อฐานะปุโรหิตลึกซึ้งขึ้น ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้แบ่งปันอะไรกับเด็กที่ท่านสอน แนวคิดต่อไปนี้อาจจะช่วยได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน แอลมา 13:10 และ 13 กับเด็ก โดยค้นหาคุณสมบัติที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตควรมี ขอให้พวกเขานึกถึงคนรู้จักผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของคุณสมบัติเหล่านี้

  • ช่วยเด็กเขียนรายชื่อศาสนพิธีที่เราได้รับผ่านฐานะปุโรหิต (ดู “พิธีการ” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา, 207–208) ขอให้บางคนอ่าน แอลมา 13:16 ศาสนพิธีเหล่านี้ช่วยให้เรา “ตั้งตารอ [พระเยซูคริสต์] เพื่อการปลดบาปของ [พวกเรา]” อย่างไร

  • ถามเด็กว่าพวกเขารู้หรือไม่ว่าฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคได้ชื่อนี้มาอย่างไร ช่วยพวกเขาหาคำตอบใน แอลมา 13:14–19 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1–4 เราเรียนรู้อะไรจากเมลคีเซเดคเกี่ยวกับวิธีที่เราควรใช้ฐานะปุโรหิต

แอลมา 14:18–29

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเพิ่มพลังให้ฉันตามศรัทธาของฉัน

แอลมากับอมิวเล็คอยู่ในเรือนจำหลายวันก่อนพระเจ้าจะทรงปลดปล่อยพวกเขาเป็นอิสระ เรื่องนี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ว่าการทดลองของพวกเขาอาจไม่มีทางออกที่ง่ายหรือรวดเร็ว แต่พระเจ้าจะทรงเพิ่มพลังให้พวกเขา “ตามศรัทธาที่ [พวกเขา] มี” (แอลมา 14:26)

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนคำถามบนกระดานที่จะช่วยให้เด็กค้นหารายละเอียดจาก แอลมา 14:18–29 เช่น พวกผู้พิพากษาทำอะไรกับแอลมาและอมิวเล็คในเรือนจำ หรือ ทั้งสองแสดงให้เห็นศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร ให้เด็กอ่านคนละหนึ่งหรือสองข้อโดยมองหาคำตอบของคำถาม

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพเหตุการณ์จาก แอลมา 14:18–29 จากนั้นให้พวกเขาใช้ภาพเล่าเรื่อง เราจะเป็นเหมือนแอลมากับอมิวเล็คได้อย่างไร

  • เล่าประสบการณ์ซึ่งท่านแสดงศรัทธาในพระเจ้าและพระองค์ประทานพละกำลังให้ท่านเอาชนะหรืออดทนต่อการทดลอง กระตุ้นให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์คล้ายกัน

แอลมา 15:3–12

พระกิตติคุณสามาถเปลี่ยนแปลงใจ

ซีเอสรอมต่อต้านแอลมากับอมิวเล็คก่อน แต่ประจักษ์พยานของทั้งสองสัมผัสใจเขาและเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลับใจ ขณะที่ท่านศึกษาข้อเหล่านี้ ให้พิจารณาว่าประสบการณ์ของซีเอสรอมจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กที่ท่านสอนได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ทบทวนกับเด็กว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับซีเอสรอม อ่าน แอลมา 15:3–12 ด้วยกันเพื่อค้นหาว่าซีเอสรอมเปลี่ยนแปลงอย่างไร

  • เชื้อเชิญให้เด็กจินตนาการว่าพวกเขาพบซีเอสรอมก่อนเขากลับใจ พวกเขาจะพูดอะไรเพื่อช่วยให้ซีเอสรอมเชื่อพระกิตติคุณ พวกเขาอาจจะเปรียบเทียบสิ่งที่พวกเขาจะพูดกับสิ่งที่แอลมาและอมิวเล็คสอนซีเอสรอม (ดู แอลมา11:40–46; 15:6–11) เหตุใดการรู้ความจริงเหล่านี้จึงอาจจะช่วยให้คนบางคนต้องการเปลี่ยน

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงบางสิ่งที่พวกเขาจะทำได้ในสัปดาห์นี้เพื่อแสดงศรัทธาในพระเจ้า กระตุ้นให้พวกเขาบอกแผนของตนและเล่าประสบการณ์ให้ครอบครัวฟัง

ปรับปรุงการสอนของเรา

ฝึกรับรู้การเปิดเผย “บ่อยครั้งการเปิดเผยมาเป็น ‘บรรทัดมาเติมบรรทัด’ (2 นีไฟ 28:30) ไม่ได้มาพร้อมกันในคราวเดียว … “ขณะท่านไตร่ตรองถึงวิธีที่หลักธรรมพระกิตติคุณที่ท่านกำลังสอนจะเป็นพรแก่สมาชิกชั้นเรียนของท่าน แนวคิดและความประทับใจจะมาตลอดชีวิตประจำวันของท่าน—ขณะที่ท่านเดินทางไปทำงาน ทำงานบ้าน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนๆ” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12)