จงตามเรามา
15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16: “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”


“15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16: ‘เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“15–21 มิถุนายน แอลมา 13–16” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

แอลมากับอมิวเล็คเดินออกจากเรือนจำ

ภาพประกอบของแอลมากับอมิวเล็คได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ โดย แอนดรูว์ บอสลีย์

15–21 มิถุนายน

แอลมา 13–16

“เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”

การดลใจที่ท่านได้รับขณะท่านไตร่ตรองพระคัมภีร์ถือว่ามีค่า ท่านแสดงให้เห็นได้ว่าท่านเห็นคุณค่าการดลใจนั้นโดยบันทึกและทำตาม

บันทึกความประทับใจของท่าน

ชีวิตในแอมันไนฮาห์ดีทั้งสำหรับอมิวเล็คและซีเอสรอมในหลายๆ ด้าน อมิวเล็คเป็น “ที่นับถือไม่น้อย” มี “ญาติพี่น้องและเพื่อนอยู่มาก” และได้ “ความมั่งคั่งไว้มาก” (แอลมา 10:4) ซีเอสรอมเป็น “ผู้ชำนาญที่สุดคนหนึ่ง” ในบรรดาทนายและมี “ธุรกิจมาก” (แอลมา 10:31) ต่อจากนั้นแอลมามาถึงแอมันไนฮาห์พร้อมคำเชื้อเชิญจากสวรรค์ให้กลับใจและ “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า” (แอลมา 13:16) สำหรับอมิวเล็ค ซีเอสรอม และคนอื่นๆ การยอมรับคำเชื้อเชิญนี้เรียกร้องการเสียสละแม้ถึงขั้นนำไปสู่ความยากลำบากจนสุดจะทนไหว

แต่เรื่องราวไม่จบตรงนั้น ใน แอลมา 13–16 เราเรียนรู้ว่าสุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เชื่อ “ในเดชานุภาพของพระคริสต์ที่ส่งผลสู่ความรอด” (แอลมา 15:6) บางครั้งมีการปลดปล่อย บางครั้งมีการเยียวยา—และบางครั้งสถานการณ์ไม่ได้ง่ายขึ้นในชีวิตนี้ แต่ “พระเจ้าทรงรับ [คนของพระองค์] ขึ้นไปสู่พระองค์แล้ว, ในรัศมีภาพ” เสมอ (แอลมา 14:11) พระเจ้าประทาน “พลังความสามารถ [ให้พวกเราเสมอ], ตามศรัทธาที่ [พวกเรา] มีอยู่ในพระคริสต์” (แอลมา 14:28) และ “ศรัทธาในพระเจ้า” ให้ “ความหวัง [เสมอ] ว่า [เรา] จะได้รับชีวิตนิรันดร์” (แอลมา 13:29) ขณะที่ท่านอ่านบทเหล่านี้ ท่านสามารถรับการปลอบโยนในสัญญาเหล่านี้ และท่านจะเข้าใจดีขึ้นว่าแอลมาหมายถึงอะไรเมื่อเขาพูดถึง “สถานพักผ่อนของพระเจ้า”

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

แอลมา 13:1–19

ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตช่วยให้ฉันได้รับการไถ่ผ่านพระเยซูคริสต์

ท่านคงจำได้ว่าใน แอลมา 12 แอลมาสอนเรื่องแผนแห่งการไถ่ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 12:24–27) ในบทที่ 13 เขาพูดเรื่องปุโรหิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งให้ “สอนสิ่งเหล่านี้แก่ผู้คน” (แอลมา 13:1) ถ้อยคำของแอลมาเปิดเผยความจริงอันทรงพลังมากมายเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต ท่านอาจจะพยายามระบุความจริงอย่างน้อยข้อละหนึ่งประการใน แอลมา 13:1–9 แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยท่านเริ่มต้น:

ข้อ 1:ฐานะปุโรหิตมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ระเบียบของพระบุตร [ของพระผู้เป็นเจ้า]” (ดู คพ. 107:1–4 ด้วย)

ข้อ 2:พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งปุโรหิตให้ช่วยผู้คนหวังพึ่งการไถ่ของพระบุตรพระองค์

ข้อ 3:ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตได้รับการเตรียมให้ทำหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา “นับจากการวางรากฐานของโลก”

ท่านพบอะไรอีกบ้าง ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตขณะท่านไตร่ตรองความจริงเหล่านี้ ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตได้ช่วยให้ท่านหวังพึ่งการไถ่ของพระคริสต์อย่างไร

น่าสังเกตตรงที่คนมากมายในแอมันไนฮาห์เป็นผู้ติดตามนีฮอร์ (ดู แอลมา 14:18; 15:15) ปุโรหิตตามระเบียบของนีฮอร์ (ดู แอลมา 1:3–6) แตกต่างอย่างไรจากปุโรหิตที่ได้รับแต่งตั้ง “ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 107:3) ที่แอลมาพูดถึง (ดู แอลมา 13:1–19)

ดู เดล จี. เรนลันด์, “ฐานะปุโรหิตและเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 64–67 ด้วย

เยาวชนชายที่โต๊ะศีลระลึก

ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตช่วยให้เราหวังพึ่งการไถ่ของพระเยซูคริสต์

แอลมา 13:3

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตเป็นคนกลุ่มเดียวที่ “ได้รับเรียกและเตรียมไว้นับจากการวางรากฐานของโลก” ใช่หรือไม่

คำสอนของแอลมาใน แอลมา 13:3 กล่าวเจาะจงถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิต แต่หลักธรรมที่เขาสอน—ว่าแต่ละคนได้รับงานมอบหมายและถูกเตรียมไว้ให้ทำงานเหล่านั้น “นับจากการวางรากฐานของโลก”—ประยุกต์ใช้กับเราทุกคน ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “ในโลกก่อนที่เราจะมาที่นี่ สตรีผู้ซื่อสัตย์ได้รับงานมอบหมายบางอย่าง ส่วนชายผู้ซื่อสัตย์ได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้ทำงานฐานะปุโรหิตบางอย่าง แม้เวลานี้เราจะจำรายละเอียดปลีกย่อยไม่ได้ แต่ก็ไม่เปลี่ยนความจริงอันน่ายินดีของสิ่งที่เราเคยเห็นด้วย” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 232; ดู คพ. 138:55–56 ด้วย)

แอลมา 14

บางครั้งพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้คนชอบธรรมทนทุกข์

แอลมา 14 พูดถึงคนชอบธรรมที่ทนทุกข์และแม้กระทั่งเสียชีวิตเพราะความเชื่อของพวกเขา ท่านอาจสงสัยเช่นเดียวกับหลายๆ คนว่าเหตุใดเรื่องร้ายๆ จึงเกิดกับคนที่พยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ท่านอาจไม่พบคำตอบทั้งหมดของคำถามที่ตอบยากนี้ใน แอลมา 14 แต่มีให้เรียนรู้มากจากวิธีที่แอลมากับอมิวเล็คตอบรับสถานการณ์ที่พวกเขาประสบ คำพูดและการกระทำของพวกเขาสอนอะไรท่านถึงสาเหตุที่บางครั้งพระเจ้าทรงยอมให้คนชอบธรรมทนทุกข์ ท่านเรียนรู้อะไรจากพวกเขาเกี่ยวกับการเผชิญการข่มเหง

ดู มัทธิว 5:43–44; มาระโก 14:55–65; โรม 8:35–39; 1 เปโตร 4:12–14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:5–9

แอลมา 15:16, 18

การเป็นสานุศิษย์เรียกร้องการเสียสละ

อาจจะน่าสนใจถ้าเขียนสิ่งที่อมิวเล็คเสียสละเพื่อน้อมรับพระกิตติคุณออกมาเป็นข้อๆ (ดู แอลมา 10:4–5; 15:16) และเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาได้รับ (ดู แอลมา 15:18; 16:13–15; 34:8) ท่านเต็มใจเสียสละอะไรเพื่อเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์มากขึ้น

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

แอลมา 13

ครอบครัวท่านอาจจะได้ประโยชน์จากการทำหมายเหตุทุกครั้งที่คำว่า “สถานพักผ่อน” ปรากฎใน แอลมา 13 คำและแนวคิดใดปรากฏพร้อมคำนี้ ช่วยให้เราเข้าใจอย่างไรว่า “สถานพักผ่อนของพระเจ้า” อาจจะหมายถึงอะไร ต่างจากการพักผ่อนทางร่างกายอย่างไร

แอลมา 13:10–12

เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเห็นภาพตามที่ข้อเหล่านี้สอน ท่านอาจจะซักล้างบางอย่างด้วยกัน—เช่นซักผ้าขาว เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราสกปรก เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราสะอาดอีกครั้ง ความรู้สึกเหล่านี้คล้ายกับที่เรารู้สึกเมื่อเราทำบาปแล้วกลับใจและกลับสะอาดผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

แอลมา 15:1–12

เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของซีเอสรอมเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระเจ้าในการเสริมสร้างและเยียวยาเราแม้เมื่อเราทำผิดพลาด ฐานะปุโรหิตมีบทบาทอะไรในการที่เราได้รับพลังและการเยียวยาจากพระเจ้า

แอลมา 16:1–10

หลังจากอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ท่านอาจจะอ่าน แอลมา 9:4 เราเรียนรู้อะไรจากการเปรียบเทียบความรู้สึกของโซรัมต่อถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์กับความรู้สึกของผู้คนของแอมันไนฮาห์ เรากำลังทำอะไรเพื่อให้มีศรัทธาต่อถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

จงพร้อมเสมอ ช่วงการสอนผ่านไปเร็ว ฉะนั้นจงใช้ประโยชน์จากช่วงเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เรื่องเศร้าในโลกอาจเป็นโอกาสให้แบ่งปันหลักธรรมจาก แอลมา 14 เกี่ยวกับสาเหตุที่บางครั้งพระเจ้าทรงยอมให้ผู้บริสุทธิ์ทนทุกข์ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 16)

แอลมากับอมิวเล็คในเรือนจำ

แอลมากับอมิวเล็คในเรือนจำ โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์