“1–7 มิถุนายน แอลมา 5–7: ‘ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“1–7 มิถุนายน แอลมา 5–7” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
1–7 มิถุนายน
แอลมา 5–7
“ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”
แอลมา 5–7 จะช่วยให้ท่านได้ใคร่ครวญการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์อย่างต่อเนื่องของท่าน ขณะที่ท่านอ่าน ให้บันทึกสิ่งที่พระวิญญาณทรงสอนท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
แอลมาไม่รู้เรื่องศัลยกรรมปลูกถ่ายหัวใจเพื่อช่วยชีวิตในปัจจุบันซึ่งนำหัวใจที่ดีใส่แทนหัวใจที่เป็นโรคหรือเสียหาย แต่เขารู้เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงในใจ” ซึ่งอัศจรรย์กว่า (แอลมา 5:26)—การเปลี่ยนแปลงที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานชีวิตใหม่ทางวิญญาณแก่เรา เหมือนการ “เกิดใหม่” (ดู แอลมา 5:14, 49) แอลมาเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในใจนี้คือสิ่งที่ชาวนีไฟจำนวนมากต้องการ บางคนมั่งมีบางคนยากจน บางคนจองหองบางคนถ่อมตน บางคนเป็นผู้ข่มเหงบางคนทนทุกข์จากการข่มเหง (ดู แอลมา 4:6–15) แต่พวกเขาทั้งหมดจำเป็นต้องมาหาพระเยซูคริสต์เพื่อรับการเยียวยา—เช่นเดียวกับเราทุกคน ไม่ว่าเรากำลังพยายามเอาชนะความจองหองหรืออดทนต่อความทุกข์ทั้งหลาย แต่ข่าวสารของแอลมาเหมือนเดิมคือ “มาเถิด, และอย่ากลัวเลย” (แอลมา 7:15) จงให้พระผู้ช่วยให้รอดเปลี่ยนใจที่แข็งกระด้าง เต็มไปด้วยบาป หรือบาดเจ็บให้เป็นใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน บริสุทธิ์ และใหม่
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันต้องประสบ—และยังคงรู้สึกถึง—การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ
คำถามสะท้อนแนวคิดที่แอลมาถามผู้คนของเซราเฮ็มลาใน แอลมา 5:14–33 จะช่วยให้ท่านค้นพบจิตวิญญาณของท่านเองและเข้าใจความหมายของการประสบ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ” ตลอดชีวิตท่าน ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดอธิบายคุณค่าของคำถามเหล่านี้ว่า “ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาถามตนเองเป็นประจำว่า ‘ฉันเป็นอย่างไร’ ลักษณะเหมือนกับเรารับการสัมภาษณ์ส่วนตัวกับตัวเราเอง … เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการทบทวนส่วนตัวนี้ ข้าพเจ้าชอบอ่านและไตร่ตรองถ้อยคำสะท้อนแนวคิดซึ่งพบในแอลมาบทที่ห้า” (“หวนคืนและได้รับ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 64)
ท่านอาจจะอ่านคำถามของแอลมาประหนึ่งท่านกำลังสัมภาษณ์ตัวท่านเองและสำรวจใจตนเอง ท่านอาจต้องการบันทึกคำตอบของท่าน ท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรเนื่องจากการสัมภาษณ์ของท่าน
ดู เดล จี. เรนลันด์ “ดำรงการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 119–122 ด้วย
ฉันสามารถได้รับพยานของฉันเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
แอลมาแสดงประจักษ์พยานอันทรงพลังถึงพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ และอธิบายว่าเขาได้รับประจักษ์พยานนั้นอย่างไร ขณะที่เขากล่าวคำพยาน เขาไม่ได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่เขาเห็นและได้ยินเทพ (ดู โมไซยาห์ 27:10–17) แต่พูดถึงราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อให้รู้ความจริงด้วยตนเอง ท่านเรียนรู้อะไรจาก แอลมา 5:44–51 เกี่ยวกับวิธีที่แอลมารู้ความจริง ท่านจะทำตามแบบอย่างของเขาได้อย่างไรขณะท่านพยายามได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่าน ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากคำสอนของแอลมาใน แอลมา 5:33–35, 48–50 และ 57–60
การเชื่อฟังอย่างขยันหมั่นเพียรจะช่วยให้ฉันอยู่บน “ทางซึ่งจะนำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”
ผู้คนของกิเดียนไม่ได้ประสบสภาพลำบากเหมือนผู้คนในเซราเฮ็มลา พระวิญญาณจึงทรงช่วยให้แอลมารับรู้ถึงความต้องการของพวกเขาและสอนพวกเขาต่างออกไป (ดู แอลมา 7:17, 26) ท่านอาจจะสังเกตเห็นความแตกต่างบางอย่างระหว่างข่าวสารของแอลมาในเซราเฮ็มลา (ดู แอลมา 5) กับในกิเดียน ตัวอย่างเช่น แอลมารับรู้ว่าผู้คนของกิเดียนอยู่ “ในทางซึ่งจะนำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 7:19) ตลอดการให้โอวาทของแอลมา เขาสอนหลายเรื่องเกี่ยวกับการอยู่บนทางนั้น (ดู แอลมา 7) เขาให้คำแนะนำอะไรบ้าง ท่านจะประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านตอนนี้ได้อย่างไร
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกข์ของฉันไว้กับพระองค์
ท่านเคยรู้สึกไหมว่าไม่มีใครเข้าใจความลำบากหรือความท้าทายของท่าน หากเคย ความจริงที่สอนใน แอลมา 7:7–16 จะช่วยได้ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เป็นพยานว่า “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบและเข้าพระทัยดี เพราะทรงรู้สึกและทรงแบกภาระของเราแต่ละคน เพราะการพลีพระชนม์ชีพอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระองค์ (ดู แอลมา 34:14) พระองค์จึงเข้าพระทัยความรู้สึกได้อย่างถ่องแท้และทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้เราได้” (“ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 90)
ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 7:7–16 จงใคร่ครวญว่าข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด เราเข้าถึงเดชานุภาพของพระองค์ในชีวิตเราอย่างไร ท่านอาจจะบันทึกความคิดของท่าน
ดู อิสยาห์ 53:3–5 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
แอลมา 5:6–13
เหตุใดแอลมาจึงต้องการให้ผู้คนของเขาจดจำพระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อบรรพชนของพวกเขา ประวัติครอบครัวของท่านสอนเรื่องราวอะไรท่านบ้างเกี่ยวกับพระเมตตาของพระองค์ ท่านอาจจะเข้าไปใน familysearch.org/myfamily เพื่อบันทึกเรื่องราวเหล่านี้
แอลมา 5:14–33
สมาชิกในครอบครัวท่านอาจรู้ว่าความพร้อม—หรือไม่พร้อม—จะเดินทางไปเข้าค่าย สอบที่โรงเรียน หรือสัมภาษณ์งานนั้นเป็นอย่างไร พวกเขาจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อม ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวทบทวน แอลมา 5:14–33 และหาคำถามที่แอลมาถามเพื่อเตรียมผู้คนของเขาให้พร้อมพบพระผู้เป็นเจ้า สมาชิกครอบครัวแต่ละคนอาจจะเลือกหนึ่งคำถามและบอกว่าคำถามนั้นจะช่วยเราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร ครอบครัวท่านอาจจะติดคำถามหลายๆ ข้อของแอลมาไว้รอบๆ บ้านให้สมาชิกครอบครัวไตร่ตรอง
แอลมา 6:4–6
ในฐานะวิสุทธิชน เรามาชุมนุมกันด้วยเหตุผลอะไรบ้าง เราจะทำให้เวลาของเราที่โบสถ์เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่นมากขึ้นได้อย่างไร
แอลมา 7:9–16
เราเรียนรู้อะไรในข้อเหล่านี้ที่ช่วยให้เรา “อย่ากลัว” (แอลมา 7:15) เมื่อเราต้องกลับใจและเปลี่ยนแปลง ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ เราทำอะไรอีกบ้างเพื่อรับความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์ทรงช่วยเราอย่างไร
แอลมา 7:23
เรารู้จักใครผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของคุณสมบัติหนึ่งหรือหลายประการที่เขียนไว้ในข้อนี้ เหตุใดการพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย