“22–28 มิถุนายน แอลมา 17–22: ‘เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“22–28 มิถุนายน แอลมา 17–22” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
22–28 มิถุนายน
แอลมา 17–22
“เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ”
ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 17–22 ให้บันทึกการกระตุ้นเตือนที่มาถึงท่านและทำตามนั้น การทำเช่นนั้นจะแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าท่านเต็มใจรับการเปิดเผยส่วนตัวมากขึ้น
บันทึกความประทับใจของท่าน
นึกถึงเหตุผลทั้งหมดที่ผู้คนไม่แบ่งปันพระกิตติคุณ อาทิ “ฉันรู้ไม่มากพอ” หรือ “ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะสนใจ” หรือ “จะเป็นอย่างไรถ้าฉันทำให้พวกเขาไม่พอใจ” ท่านอาจจะพบว่าตัวท่านคิดทำนองนี้ในบางครั้ง ชาวนีไฟมีเหตุผลเพิ่มเติมสำหรับการไม่แบ่งปันพระกิตติคุณกับชาวเลมัน นั่นคือ ชาวเลมันเป็น “คนป่าเถื่อนและแข็งกระด้างและดุร้าย; ผู้คนที่เบิกบานในการกระทำฆาตกรรมชาวนีไฟ” (แอลมา 17:14; ดู แอลมา 26:23–25 ด้วย) แต่พวกบุตรของโมไซยาห์มีเหตุผลหนักแน่นกว่านั้นว่าทำไมพวกเขารู้สึกว่าตน ต้อง แบ่งปันพระกิตติคุณกับชาวเลมัน “พวกท่านปรารถนาจะให้ประกาศความรอดแก่ชาวโลกทั้งปวง, เพราะพวกท่านทนไม่ได้ที่จิตวิญญาณมนุษย์คนใดจะต้องพินาศ” (โมไซยาห์ 28:3) ความรักนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แอมันกับพี่น้องของเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัว มิตรสหาย และคนรู้จักได้เช่นกัน—แม้คนที่อาจดูเหมือนไม่ยอมรับ
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เมื่อฉันเสริมสร้างศรัทธาของฉัน ฉันจะแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ท่านเคยกลับมาเจอเพื่อนเก่าและรู้สึกเหมือนแอลมา—ปีติเป็นล้นพ้นที่พวกเขายังคงเข้มแข็งในศรัทธาหรือไม่ (ดู แอลมา 17:1–2) ท่านเรียนรู้อะไรจากพวกบุตรของโมไซยาห์เกี่ยวกับวิธีจรรโลงศรัทธาของท่านในพระกิตติคุณและตั้งใจมั่นว่าจะทำให้ศรัทธาเข้มแข็ง ขณะท่านไตร่ตรองพลังทางวิญญาณของพวกบุตรของโมไซยาห์ ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไร
การเตรียมทางวิญญาณของพวกบุตรของโมไซยาห์ส่งผลต่อการทำงานกับชาวเลมันอย่างไร ท่านอาจจะใช้โอกาสนี้ประเมินความพยายามของท่านในการสอนพระกิตติคุณ “ด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 17:3)
ฉันสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อนำความรอดมาให้บุตรธิดาของพระองค์
ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้พระเจ้าทราบเสมอว่าถ้าพระองค์ทรงประสงค์จะทำธุระเรื่องใด ทอม มอนสันจะทำธุระนั้นให้พระองค์” (“On the Lord’s Errand: The Life of Thomas S. Monson,” video, ChurchofJesusChrist.org) ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 17:6–12 ให้ดูว่าพวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรจึงสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้ ท่านจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่นได้อย่างไร ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพวกเขาที่ทำให้ท่านกล้าทำสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้ท่านทำ
ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 57–60 ด้วย
ฉันสามารถช่วยผู้อื่นเตรียมรับพระกิตติคุณ
ลาโมไนเป็นผู้นำของ “คนป่าเถื่อนและแข็งกระด้างและดุร้าย” (แอลมา 17:14) ทว่าเขาเอาชนะประเพณีที่สืบทอดมานานหลายปีและยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ขณะที่ท่านอ่านการปฏิสัมพันธ์ของแอมันกับลาโมไน ให้สังเกตว่าแอมันทำอะไรที่ช่วยให้ลาโมไนรับข่าวสารของเขาได้ง่ายขึ้น ถ้าท่านคิดได้ว่าท่านจะทำอะไรเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ขอให้จดการกระตุ้นเตือนเหล่านั้น
อาจเป็นประโยชน์เช่นกันถ้าท่านทำเครื่องหมายหรือจดความจริงที่แอมันสอนลาโมไน (ดู แอลมา 18:24–39) และความจริงที่แอรันสอนบิดาของลาโมไน (ดู แอลมา 22:1–16) ข้อเหล่านี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับความจริงที่ท่านสามารถแบ่งปันกับผู้อื่นได้เพื่อช่วยให้พวกเขาแสวงหาประจักษ์พยานในพระกิตติคุณ
ประจักษ์พยานของฉันสามารถมีอิทธิพลกว้างไกล
ถึงแม้เรื่องราวการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เราอ่านในพระคัมภีร์มักเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตื่นตาตื่นใจ แต่แก่นแท้ของเรื่องเหล่านั้นที่เรามักจะพบคือคนเหล่านั้นกล้าออกรับและแบ่งปันพยานของพวกเขากับผู้อื่น วิธีหนึ่งที่จะศึกษาเหตุการณ์ใน แอลมา 18–22 คือมองหาผลอันกว้างไกลของบุคคลคนหนึ่งที่แสดงประจักษ์พยานของเขา ท่านอาจจะบันทึกสิ่งที่ท่านพบไว้ในแผนภาพคล้ายกันนี้:
แอมันแบ่งปันพระกิตติคุณให้ ผู้แบ่งปันพระกิตติคุณกับ และผลคือ |
พระพาหุของพระเจ้าเอื้อมมาหาฉันเมื่อฉันกลับใจ
ตอนจบของเรื่องราวการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของลาโมไน มอรมอนสอนเรื่องสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเจ้า แอลมา 19:36 บอกอะไรท่านเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเจ้า ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระพาหุของพระเจ้าเอื้อมมาหาท่าน ท่านจะช่วยคนที่ท่านรักให้รู้สึกถึงพระเมตตาของพระองค์ได้อย่างไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
แอลมา 17–19
ท่านจะทำให้เรื่องราวในบทเหล่านี้น่าสนใจสำหรับครอบครัวท่านได้อย่างไร ท่านอาจจะแสดงบทบาทประกอบเรื่องของแอมันคุ้มครองแกะหรือเรื่องของเอบิชรวบรวมฝูงชนให้มาเห็นเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าด้วยตาของพวกเขาเอง สมาชิกครอบครัวอาจจะวาดภาพเรื่องราวแต่ละตอนและใช้ภาพเหล่านั้นเล่าเรื่อง ครอบครัวท่านจะทำอะไรเพื่อทำตามแบบอย่างของแอมันกับเอบิช
แอลมา 18:24–39
สมาชิกครอบครัวท่านอาจจะอ่าน แอลมา 18:24–39 ด้วยกันและระบุความจริงที่แอมันสอนลาโมไน ท่านคิดว่าเหตุใดแอมันจึงสอนความจริงเหล่านี้ให้ลาโมไนก่อน เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องมีประจักษ์พยานถึงความจริงเหล่านี้
แอลมา 20:8–15
เราสามารถเรียนรู้อะไรจากวิธีที่ลาโมไนตอบรับบิดาของเขา เราจะทำตามแบบอย่างของลาโมไนในการสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร (ดูตัวอย่างบางเรื่องในวีดิทัศน์ “Dare to Stand Alone” ที่ ChurchofJesusChrist.org)
แอลมา 22:15–18
ทบทวน แอลมา 20:23 เพื่อดูว่าบิดาของลาโมไนเต็มใจสละสิ่งใดเพื่อช่วยชีวิตตนให้รอด จากนั้นให้ทบทวน แอลมา 22:15 เพื่อดูว่าเขาเต็มใจสละอะไรเพื่อให้ได้รับปีติของพระกิตติคุณ เขาเต็มใจสละอะไรเพื่อให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้า (ดู ข้อ 18) สมาชิกครอบครัวท่านอาจจะเขียนแผนสละบางอย่างเพื่อให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าอย่างถ่องแท้มากขึ้น
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย