“29 มิถุนายน–5 กรกฎาคม แอลมา 23–29: พวกเขา ‘ไม่เคยตกเลย’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“29 มิถุนายน–5 กรกฎาคม แอลมา 23–29” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
29 มิถุนายน–5 กรกฎาคม
แอลมา 23–29
พวกเขา “ไม่เคยตกเลย”
ขณะที่ท่านศึกษา แอลมา 23–29 ท่านพบข่าวสารอะไรสำหรับตัวท่านเองและครอบครัวท่าน ท่านสามารถแบ่งปันอะไรได้บ้างในชั้นเรียนศาสนจักรของท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
บางครั้งท่านสงสัยไหมว่าคนเราสามารถเปลี่ยนได้จริงหรือ ท่านอาจจะกังวลว่าท่านจะเอาชนะการเลือกไม่ดีที่ท่านเคยทำหรือนิสัยไม่ดีที่ท่านเคยมีได้ไหม หรือท่านอาจมีความกังวลคล้ายกันเกี่ยวกับคนที่ท่านรัก หากเป็นเช่นนั้น เรื่องราวของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮช่วยท่านได้ คนเหล่านี้เป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกกับชาวนีไฟไม่ได้ เมื่อแอมันกับพี่น้องของเขาตัดสินใจสั่งสอนพระกิตติคุณให้พวกเขา ชาวนีไฟ “หัวเราะเยาะ [พวกท่าน]” การสังหารชาวเลมันดูเหมือนเป็นทางออกที่มีเหตุผลมากกว่าการทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดู แอลมา 26:23–25)
แต่ชาวเลมันเปลี่ยน—ผ่านเดชานุภาพการทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของพระเจ้า ครั้งหนึ่งพวกเขาได้ชื่อว่าเป็นคน “แข็งกระด้างและดุร้าย” (แอลมา 17:14) ตอนนี้พวกเขา “ดีเด่นเพราะความกระตือรือร้นของตนที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 27:27) โดยแท้แล้วพวกเขา “ไม่เคยตกเลย” (แอลมา 23:6)
ท่านอาจจะเคยมีประเพณีเท็จให้ทิ้งหรือวาง “อาวุธแห่งการกบฏ” (แอลมา 23:7) หรือท่านอาจจะต้องกระตือรือร้นมากขึ้นอีกนิดในประจักษ์พยานของท่านและมีแนวโน้มจะตกน้อยลง ไม่ว่าท่านต้องเปลี่ยนอะไร แอลมา 23–29 สามารถให้ความหวังแก่ท่านผ่านเดชานุภาพการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ว่าท่านสามารถเปลี่ยนได้ต่อเนื่องยาวนาน
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เมื่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ายอมรับพระกิตติคุณ พรอันสำคัญยิ่งจะตามมา
เมื่อกษัตริย์ของชาวเลมันประกาศว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจะ “ไม่มีเครื่องกีดขวาง” ในบรรดาผู้คนของเขา (ดู แอลมา 23:1–5) แสดงว่าเขาเปิดประตูรับพรอันสำคัญยิ่งให้กับชาวเลมัน ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 23–29 ให้มองหาพรเหล่านี้ ท่านจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า “ไม่มีเครื่องกีดขวาง” ในชีวิตท่านหรือในครอบครัวท่าน
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เปลี่ยนชีวิตฉัน
ชาวเลมันผู้ได้รับการเยือนจากแอมันและพี่น้องของเขาดูเหมือนไม่น่าจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสได้—เพราะพวกเขาถูกประเพณีของบรรพบุรุษและความชั่วร้ายของพวกเขาเองกั้นไว้ ทว่าพวกเขาจำนวนมากยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และทำการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในชีวิตพวกเขา เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงการเปลี่ยนใจเลื่อมใส ชาวเลมันเหล่านี้จึงเรียกตนเองว่าชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ (ความหมายของ “แอนไท” ในกรณีนี้ไม่เหมือน “แอนไท” ใน “ผู้ต่อต้านพระคริสต์”)
การใคร่ครวญการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของชาวเลมันเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ท่านไตร่ตรองการเปลี่ยนใจเลื่อมใส “มาหาพระเจ้า” ของท่านเอง (แอลมา 23:6) วิธีหนึ่งที่จะศึกษาบทเหล่านี้คือระบุว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮเปลี่ยนชีวิตพวกเขาอย่างไร ข้อต่อไปนี้จะช่วยท่านเริ่ม
ขณะท่านไตร่ตรองการเปลี่ยนแปลงในชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ ให้พิจารณาว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระคริสต์ของท่านเองกำลังเปลี่ยนท่านอย่างไร ท่านรู้สึกว่าท่านยังต้องเปลี่ยนอะไรเพื่อให้พระกิตติคุณมีพลังมากขึ้นในชีวิตท่าน
พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตา
แม้บาปที่แอมันกับชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮเอาชนะมาแล้วค่อนข้างแตกต่างจากบาปอื่นในชีวิตท่าน แต่เราล้วนพึ่งพาพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านพบอะไรใน แอลมา 24:7–19 และ 26:17–22 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจพระเมตตาของพระองค์ ขณะที่ท่านอ่าน ท่านอาจจะพิจารณาสิ่งเหล่านี้: วิธีที่ท่านได้รับการเชื้อเชิญให้กลับใจ ประสบการณ์ของท่านกับการกลับใจ วิธีที่ท่านพยายามหลีกเลี่ยงการทำบาปซ้ำ และพรที่มาถึงท่านผ่านการกลับใจ เมื่อท่านอ่านข้อต่างๆ ในวิธีนี้ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่าน
การรับใช้พระเจ้าทำให้เกิดปีติ
แม้ประสบการณ์ของแอมันกับแอลมาต่างกัน แต่ทั้งสองแสดงความรู้สึกคล้ายกันเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนาของพวกเขา ท่านอาจจะอ่าน แอลมา 26 และ 29 และเปรียบเทียบกัน ท่านสังเกตเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้าง คำหรือวลีใดซ้ำกัน ท่านสามารถเรียนรู้อะไรจากแอมันและแอลมาเกี่ยวกับวิธีพบปีติที่แท้จริงแม้ท่านมีความท้าทาย (เพื่อทบทวนความท้าทายที่แอลมาพบเจอ ให้ดูหัวบทสำหรับ แอลมา 5–16 เพื่อทบทวนความท้าทายของแอมันกับพี่น้องของท่าน ให้ดูหัวบทสำหรับ แอลมา 17–28)
ฟ่อนข้าวและยุ้งคืออะไร
ในฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวมักจะถูกมัดเป็น ฟ่อน เก็บไว้ในโกดัง บางครั้งเรียกว่า ยุ้ง เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แบ่งปันความหมายของสัญลักษณ์ใน แอลมา 26:5 ว่า “ฟ่อนข้าวในการเปรียบเทียบนี้หมายถึงสมาชิกศาสนจักรที่เพิ่งรับบัพติศมา ยุ้งคือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์” (“มีชื่อและฐานะอย่างมีเกียรติ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 120) พิจารณาว่าการเปรียบเทียบใน แอลมา 26:5–7 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความสำคัญของพันธสัญญาพระวิหาร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
แอลมา 24:6–19
เหตุใดชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮจึงฝังอาวุธของพวกเขาให้ “ลึกในดิน” (แอลมา 24:16) สมาชิกครอบครัวอาจจะชอบเขียนสิ่งที่พวกเขาต้องการเอาชนะหรือละทิ้งลงในแผ่นกระดาษ จากนั้นพวกเขาจะขุดหลุมฝังกระดาษ
แอลมา 24:7–12
การศึกษาข้อเหล่านี้จะช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจของขวัญสุดวิเศษของการกลับใจ ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำอะไรเพื่อกลับใจจากบาปของพวกเขา พระเจ้าทรงช่วยให้พวกเขากลับใจอย่างไร เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพวกเขา
แอลมา 24:20–27
เราเคยเห็นอะไรที่เป็นพยานถึงความจริงในคำประกาศของมอรมอนที่ว่า “ดังนั้นเราจึงเห็นว่าพระเจ้าทรงทำงานในหลายทางเพื่อความรอดของผู้คนของพระองค์” (แอลมา 24:27)
แอลมา 26:2
ครอบครัวท่านจะตอบคำถามของแอมันใน แอลมา 26:2 อย่างไร ท่านอาจจะเขียนคำตอบลงในกระดาษแผ่นใหญ่และแขวนไว้ในที่ซึ่งทุกคนมองเห็นได้ กระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวเขียนเพิ่มขณะพวกเขานึกถึงพรอื่นๆ ที่พระผู้เป็นเจ้า “ประสาทแก่เรา”
แอลมา 29:9
แอมันกับแอลมาเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ท่านอาจจะดูเครื่องมือในบ้านและสนทนาว่าแต่ละอย่างมีประโยชน์ต่อครอบครัวท่านอย่างไร สิ่งนี้ช่วยให้เราเข้าใจอย่างไรว่าเราแต่ละคนจะเป็น “เครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” ได้อย่างไร
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้ที่ โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย