จงตามเรามา
30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โมโรไน 1–6: “เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง”


“30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โมโรไน 1–6: ‘เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม โมโรไน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
แอลมาให้บัพติศมาผู้คนในผืนน้ำแห่งมอรมอน

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976), แอลมาให้บัพติศมาในผืนน้ำแห่งมอรมอน 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัดขนาด 35⅞ x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 1969

30 พฤศจิกายน–6 ธันวาคม

โมโรไน 1–6

“เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง”

ก่อนท่านเริ่มวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็ก ให้ศึกษา โมโรไน 1–6 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนขณะมองหาหลักธรรมและข้อที่ท่านรู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้มาตลอดเกี่ยวกับโมโรไน ท่านจะใช้ “บทที่ 53: โมโรไนและคำสอนของท่าน” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 154–155 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) ช่วยให้พวกเขาจดจำ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

โมโรไน 4–5

ฉันรับศีลระลึกเพื่อแสดงว่าฉันจะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา

ศีลระลึกสามารถเป็นประสบการณ์ทางวิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์—แม้สำหรับเด็กเล็ก ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนใช้เวลาระหว่างศีลระลึกนึกถึงพระเยซูได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพคนรับส่วนศีลระลึก (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 108) ขอให้เด็กบอกท่านว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างศีลระลึก เราควรจะทำอะไรระหว่างศีลระลึก

  • เชิญสมาชิกวอร์ดสองคนมาชั้นเรียนเพื่ออ่าน โมโรไน 4:3 และ 5:2 ให้เด็กฟังและแบ่งปันว่าเหตุใดพวกเขาจึงรับศีลระลึกทุกสัปดาห์ ขอให้พวกเขาเสนอสิ่งที่เด็กทำได้เพื่อช่วยให้นึกถึงพระเยซูระหว่างศีลระลึกและระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งที่ช่วยให้เด็กนึกถึงพระเยซู เช่น “คารวะอย่างสงบ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 11) ขอให้เด็กฝึกนั่งด้วยความคารวะเหมือนพวกเขาจะนั่งระหว่างศีลระลึก

โมโรไน 6:1–3

ฉันสามารถเตรียมรับบัพติศมา

คำอธิบายของโมโรไนเกี่ยวกับคนที่รับบัพติศมาในสมัยของเขาจะช่วยเด็กเตรียมรับศาสนพิธีสำคัญนี้ในปัจจุบัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านวลีต่างๆ จาก โมโรไน 6:1–3 ที่สอนว่าใครรับบัพติศมาได้บ้าง อธิบายคำศัพท์ที่เด็กอาจไม่เข้าใจ ตัวอย่างเช่น ความหมายหนึ่งของ “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” คือรู้สึกเสียใจเพราะบาปของเรา (โมโรไน 6:2) บอกว่าท่านเตรียมรับบัพติศมาอย่างไร หรือขอให้บางคนที่เพิ่งรับบัพติศมาอธิบายว่าเขาเตรียมตัวอย่างไร ช่วยให้เด็กคิดวิธีที่พวกเขาสามารถเตรียมรับบัพติศมาในวันหน้า

  • ให้ดูภาพคนรับบัพติศมา (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 103, 104) และให้เด็กพูดคุยกันว่าพวกเขาเห็นอะไรในภาพ ช่วยพวกเขาสังเกตรายละเอียดต่างๆ เช่นน้ำและชุดสีขาว ถามเด็กว่าเหตุใดเราจึงรับบัพติศมาและอธิบายว่าเหตุใดท่านจึงเลือกรับบัพติศมา

โมโรไน 6:4–6, 9

ฉันได้รับพรเมื่อฉันไปโบสถ์

เด็กที่ท่านสอนเข้าใจหรือไม่ว่าเหตุใดเราจึงไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ โมโรไน 6 ให้เหตุผลที่สำคัญบางประการ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ถามเด็กว่าเหตุใดพวกเขาชอบไปโบสถ์ และช่วยพวกเขาบอกบางอย่างที่เราทำที่โบสถ์ อ่านบางอย่างเหล่านี้ให้เด็กฟังจาก โมโรไน 6:4–6, 9 และให้พวกเขาทำท่าประกอบหรือวาดภาพตนเองกำลังทำสิ่งเหล่านี้ (เช่น สวดอ้อนวอน สอน ร้องเพลง และรับส่วนศีลระลึก)

  • ช่วยเด็กร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการไปโบสถ์ เช่น “When I Go to Church” (Children’s Songbook, 157) บอกเด็กว่าเหตุใดท่านชอบไปโบสถ์และนั่นเป็นพรแก่ท่านอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

โมโรไน –6

พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทานอันศักดิ์สิทธิ์

โมโรไน 2–6 กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์หลายครั้ง ท่านจะใช้บทเหล่านี้ช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กหาทุกข้อใน โมโรไน 2–6 ที่กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพระวิญญาณ อ่านแต่ละข้อด้วยกัน และขอให้เด็กเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้บนกระดาน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเราได้อย่างไร

  • เล่าตอนที่ท่านรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่ว่าที่โบสถ์หรือที่ใดก็ตาม อธิบายว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ และพระองค์ทรงช่วยเหลือท่านอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และกระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาอิทธิพลของพระองค์

    ภาพ
    เยาวชนหญิงกำลังรับพร

    เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการวางมือ

โมโรไน 4–5

ฉันรับศีลระลึกเพื่อแสดงว่าฉันจะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา

เมื่อเด็กเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึก พวกเขาจะปฏิบัติต่อศีลระลึกด้วยความคารวะมากขึ้นและรู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าระหว่างศาสนพิธีนี้

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนวลีต่างๆ จาก โมโรไน 4:3 และ 5:2 ในแถบกระดาษคนละแผ่น และขอให้เด็กเรียงวลีให้ถูกต้องตามลำดับ ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดศีลระลึกจึงสำคัญ

  • ขอให้เด็กสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งจะมาการประชุมศีลระลึกเป็นครั้งแรก พวกเขาจะอธิบายให้เพื่อนฟังอย่างไรว่าศีลระลึกคืออะไรและเหตุใดเราจึงรับส่วนศีลระลึก กระตุ้นให้พวกเขาใช้ โมโรไน 4:3 และ 5:2 ในคำอธิบายของพวกเขา

  • เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่ครอบครัวของพวกเขาทำระหว่างศีลระลึกเพื่อแสดงความคารวะและนึกถึงพระเยซูคริสต์ พวกเขามีความคิดอะไรอีกบ้าง เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกมาหนึ่งแนวคิดและตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เวลานึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างศีลระลึกมากขึ้น

โมโรไน 6:4–6, 9

เราไปโบสถ์เพื่อรับศีลระลึกและสนับสนุนกัน

ถ้อยคำของโมโรไนจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนพบจุดประสงค์ในการมาโบสถ์แต่ละสัปดาห์มากขึ้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนบนกระดานว่า เหตุใดเราจึงมาโบสถ์ และขอให้เด็กเขียนคำตอบที่เป็นไปได้ เชื้อเชิญให้พวกเขาหาคำตอบเพิ่มเติมใน โมโรไน 6:4–6, 9 และเขียนเพิ่มบนกระดาน เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรเพราะมาโบสถ์ ให้พวกเขาแสดงบทบาทสมมติอธิบายให้เพื่อนต่างศาสนาฟังว่าเหตุใดพวกเขารู้สึกขอบคุณที่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร

  • ให้ดูภาพหรือตัวอย่างของอาหารบำรุง เหตุใดการบำรุงเลี้ยงร่างกายของเราจึงสำคัญ อ่าน โมโรไน 6:4 ด้วยกันและถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่าวลี “บำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า” หมายความว่าอย่างไร พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าบำรุงเลี้ยงเราอย่างไร

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่านคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ และสนทนาว่าคำพูดนั้นสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถบำรุงเลี้ยงกัน: “คนส่วนใหญ่ไม่ได้มาโบสถ์เพียงเพื่อมองหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ ของพระกิตติคุณหรือมาหาเพื่อนเก่า แม้ทั้งหมดนี้จะสำคัญ พวกเขามาแสวงหาประสบการณ์ทางวิญญาณ พวกเขาต้องการสันติสุข พวกเขาต้องการเสริมสร้างศรัทธาและมีความหวังขึ้นมาใหม่ สรุปคือ พวกเขาต้องการการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า และเข้มแข็งขึ้นด้วยอำนาจของสวรรค์” (“ครูที่มาจากพระเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 29) เราจะช่วยบำรุงเลี้ยงกันทางวิญญาณที่โบสถ์ได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

กระตุ้นให้เด็กพูดกับครอบครัวเกี่ยวกับเหตุผลที่พวกเขาชอบมาโบสถ์ทุกสัปดาห์

ปรับปรุงการสอนของเรา

สนับสนุนบิดามารดา หาวิธีสนับสนุนบิดามารดาของเด็กที่ท่านสอนร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านจะสนับสนุนความพยายามของบิดามารดาในการสอนพระกิตติคุณให้บุตรธิดาได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะพูดคุยกับบิดามารดาเกี่ยวกับความต้องการและความสนใจของบุตรธิดา หรือแบ่งปันสิ่งที่บุตรธิดาของพวกเขากำลังเรียนรู้ในชั้นเรียน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25)

พิมพ์