“16–22 สิงหาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 89–92: ‘หลักธรรมพร้อมด้วยสัญญา’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“16–22 สิงหาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 89–92” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
16–22 สิงหาคม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 89–92
“หลักธรรมพร้อมด้วยสัญญา”
ขณะที่ท่านศึกษาความจริงใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 89–92 ให้ไตร่ตรองวิธีใหม่ๆ และสร้างสรรค์ที่สามารถช่วยให้เด็กเข้าใจความจริงเหล่านั้น
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชื้อเชิญให้เด็กวาดและพูดเกี่ยวกับสิ่งดีๆ ที่พวกเขาทำสัปดาห์นี้เพื่อดูแลร่างกายและวิญญาณของตน
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันจะได้รับพรเมื่อฉันเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา
สอนเด็กว่าร่างกายของเราเป็นของประทานจากพระบิดาบนสวรรค์และพระองค์ทรงต้องการให้เราดูแลร่างกายให้ดี
กิจกรรมที่ทำได้
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจพระบัญญัติของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 89:10–17 ให้วาดหรือให้ดูภาพอาหารดีๆ ที่เรากินได้หรือสิ่งดีๆ ที่เราทำได้เพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรง (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) ช่วยให้เด็กเข้าใจเช่นกันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ชา กาแฟ และยาอันตรายต่างๆ ทำร้ายร่างกายของเราและพระเจ้าทรงเตือนไม่ให้เราใช้ เชื้อเชิญให้เด็กเลือกบางอย่างที่พวกเขาทำได้สัปดาห์นี้เพื่อให้ร่างกายของพวกเขาแข็งแรง
-
เชิญให้เด็กผลัดกันวาดภาพบนกระดานซึ่งแทนสิ่งที่สอนในพระคำแห่งปัญญา ให้เด็กที่เหลือทายว่าแต่ละคนกำลังวาดอะไร พูดคุยเกี่ยวกับพระบัญญัติของพระเจ้าใน ภาค 89 ที่เกี่ยวข้องกับภาพวาด
-
ใช้ตัวอย่างต่อไปนี้หรือตัวอย่างอื่นที่ท่านคิดออกแสดงให้เห็นว่าเราได้รับพรอย่างไรจากการเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 89:18–21) ออกกำลังกายท่าง่ายๆ ด้วยกัน เช่น เดินหรือวิ่งอยู่กับที่ แล้วทำท่า “เหน็ดเหนื่อย” หรือ “อ่อนล้า” (ข้อ 20) เป็นพยานถึงสัญญาของพระเจ้า
-
ให้ดูภาพพระวิหาร และขอให้เด็กบรรยายสิ่งที่เห็น ใช้เพลงเกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย เช่น “The Lord Gave Me a Temple” (Children’s Songbook, 153) เพื่อสอนเด็กว่าร่างกายของเราเหมือนวิหารสำหรับวิญญาณของเราและพระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราดูแลร่างกายให้แข็งแรง ช่วยให้เด็กคิดหาวิธีที่เราสามารถดูแลร่างกายของเรา และทำท่าประกอบ
พระผู้เป็นเจ้าประทานศาสดาพยากรณ์เพื่อนำทางและคุ้มครองเรา
ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าจะช่วยให้เราพบความปลอดภัยจากมรสุมชีวิตได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพศาสดาพยากรณ์สมัยก่อน และบอกพวกเขาว่าศาสดาพยากรณ์เหล่านี้เตือนผู้คนในสมัยของพวกท่านอย่างไร (ดูแนวคิดใน “ทำตามศาสดา” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 58–59)
-
เหตุใดเราจึงควรฟังศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า? ให้ดูภาพศาสดาพยากรณ์คนปัจจุบัน และแบ่งปันบางอย่างที่ท่านสอนหรือเตือนเราเมื่อเร็วๆ นี้ ช่วยให้เด็กนึกถึงวิธีที่เราสามารถทำตามศาสดาพยากรณ์ แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สอนไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:5 (สังเกตว่า “โองการ” หมายถึงการเปิดเผยหรือศาสดาพยากรณ์ผู้รับการเปิดเผย)
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
พระคำแห่งปัญญาช่วยให้ฉันมีร่างกายและวิญญาณแข็งแรง
เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันแนะนำเยาวชนให้วางแผนล่วงหน้าว่าพวกเขาจะทำอะไรเมื่อถูกล่อลวงเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด จากนั้นท่านสอนว่า “ท่านจะพบว่าการล่อลวงนั้นมีพลังเหนือท่านน้อยลง ท่านจะตัดสินใจไว้แล้วว่าท่านจะตอบโต้อย่างไรและท่านจะทำอะไร ท่านจะไม่ต้องตัดสินใจทุกครั้งที่ท่านเผชิญการล่อลวง” (“กลยุทธ์ฐานะปุโรหิตของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 48) กระตุ้นเด็กที่ท่านสอนให้ตัดสินใจเดี๋ยวนี้—ว่าจะดำเนินชีวิตตามพระคำแห่งปัญญา—ตลอดชีวิตที่เหลือ
กิจกรรมที่ทำได้
-
แบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม และขอให้กลุ่มหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 89:1–4 และอีกกลุ่มอ่าน ข้อ 18–21 ขอให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามทำนองนี้: เหตุใดพระเจ้าประทานพระคำแห่งปัญญาแก่เรา? การดำเนินชีวิตตามพระคำแห่งปัญญาจะเป็นพรแก่ฉันทางร่างกายและทางวิญญาณได้อย่างไร?
-
แต่งประโยคที่เว้นช่องว่างให้เติมโดยใช้วลีต่างๆ จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 89 เช่น “ กำหนดไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์” หรือ “และจะ และไม่อ่อนล้า” (ข้อ 14, 20) เชื้อเชิญให้เด็กทำงานเป็นคู่เพื่อหาคำตอบใน ภาค 89 เด็กจะจัดแบ่งข้อความตามประเภทต่อไปนี้: สิ่งที่ดีต่อร่างกาย สิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย และพร
-
เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 89:4 และอีกคนอ่านคำพูดอ้างอิงจากเอ็ลเดอร์สตีเวนสันข้างต้น เหตุใดเราจึงควรตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญาแทนที่จะรอจนกว่าจะเจอการล่อลวง? ช่วยให้เด็กแสดงบทบาทสมมติว่าพวกเขาจะตอบอย่างไรถ้ามีคนบางคนหรือเพื่อนของเขาเสนอให้ทำบางอย่างที่ขัดกับพระคำแห่งปัญญา การเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญาคุ้มครองเราอย่างไร?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:2, 5, 14–16
ฝ่ายประธานสูงสุดถือ “กุญแจทั้งหลายของอาณาจักร”
พระดำรัสสอนของพระเจ้าเกี่ยวกับฝ่ายประธานสูงสุดในปี 1833 (โจเซฟ สมิธ, ซิดนีย์ ริกดัน และ เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์) จะช่วยให้เด็กเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเกี่ยวกับฝ่ายประธานสูงสุดในปัจจุบัน
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:14–16 และจดบางอย่างที่พระเจ้าทรงขอให้ฝ่ายประธานสูงสุดทำ ให้เด็กดูภาพฝ่ายประธานสูงสุดชุดปัจจุบัน และแบ่งปันบางอย่างเกี่ยวกับพวกท่าน (ท่านสามารถอ่านชีวประวัติของฝ่ายประธานสูงสุดใต้หัวข้อ “Living Prophets and Church Leaders” ที่ ChurchofJesusChrist.org) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการเรียกของฝ่ายประธานสูงสุดและพรที่ท่านได้รับจากการทำตามคำแนะนำของท่านเหล่านั้น
-
ทบทวนบางอย่างที่สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดเคยสอนกับเด็กๆ จากนั้นให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:5 ด้วยกัน ชี้ให้เห็นว่า “โองการ” คือการเปิดเผยหรือศาสดาพยากรณ์ผู้รับการเปิดเผย “รับโองการ … เป็นเรื่องเล็ก” หมายความว่าอย่างไร? เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าศาสดาพยากรณ์และสิ่งที่พวกท่านสอนสำคัญต่อเรา?
พระวิญญาณทรงสามารถช่วยให้ฉันรู้ว่าอะไรจริง
ขณะอ่านสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับอะพอครีฟา ให้คิดว่าคำแนะนำนี้จะช่วยให้เด็กแยกแยะความจริงกับความผิดที่พวกเขาจะพบเจอตลอดชีวิตได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 91 ด้วยกันเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าอะพอครีฟาคืออะไร (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “อะพอครีฟา” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย) ช่วยให้เด็กนึกถึงแหล่งอื่นที่เราจะพบ “หลายเรื่อง … ที่เป็นความจริง” และ “หลายเรื่อง … ที่ไม่เป็นความจริง” (ข้อ 1–2) อย่างเช่นในสื่อ จากนั้นให้เด็กค้นคว้า ภาค 91 เพื่อเรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าเราสามารถทำได้เพื่อแยกแยะระหว่างความจริงกับความผิด
-
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 91:4–6 ด้วยกันและถามเด็กว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เชื้อเชิญให้เด็กเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อ “พระวิญญาณทรงแสดงความจริง [ให้ประจักษ์]” ต่อพวกเขา เล่าประสบการณ์ของท่านเองเช่นกัน พระวิญญาณทรงสามารถช่วยเราในด้านใดอีกบ้าง?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกับครอบครัวว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรวันนี้เกี่ยวกับการดูแลร่างกายและวิญญาณของพวกเขาหรือเป้าหมายของพวกเขาสำหรับการเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา