“6–12 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101: ‘จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“6–12 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021
6–12 กันยายน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101
“จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า”
เด็กในชั้นเรียนของท่านจำเป็นต้องได้ยินข่าวสารอะไรในสัปดาห์นี้? หลักธรรมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101 จะช่วยให้พวกเขาเป็นสานุศิษย์ที่ดีขึ้นของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
กระตุ้นให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาที่บ้านหรือในปฐมวัย ถามเด็กว่าพวกเขาชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับการเรียนรู้จากพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:39–40
ฉันสามารถให้อภัยคนที่ใจร้ายกับฉัน
พระเจ้าทรงขอให้วิสุทธิชนที่ถูกข่มเหงในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีให้อภัยคนที่ทำร้ายพวกเขา ขณะที่ท่านสอนให้เด็กรู้ความสำคัญของการให้อภัย พึงแน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจเช่นกันว่าถ้ามีคนทำร้ายพวกเขา พวกเขาควรบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้เสมอ
กิจกรรมที่ทำได้
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความท้าทายที่วิสุทธิชนในไซอันประสบ แบ่งปัน “บทที่ 34: พระผู้เป็นเจ้าทรงเตือนผู้คนของไซอัน” ให้กับพวกเขา (เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 128–131] หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้บน ChurchofJesusChrist.org) อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:39–40 และขอให้เด็กฟังสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนทำเมื่อศัตรูขออภัยพวกเขา เหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เราให้อภัยผู้อื่นทั้งที่คนเหล่านั้นทำไม่ดีต่อเรา?
-
ติดรูปหน้ายิ้มบนผนังด้านหนึ่งและรูปหน้าเศร้าบนผนังอีกด้านหนึ่ง เล่าสถานการณ์ต่างๆ ที่มีคนใจร้าย (ท่านอาจจะหาบางเรื่องใน เพื่อนเด็ก หรือ เลียโฮนา) เสนอวิธีที่เราจะตอบสนองความใจร้าย และช่วยให้เด็กตัดสินใจว่าการตอบสนองแต่ละอย่างทำให้พวกเขาสุขหรือเศร้า ให้เด็กชี้ให้ตรงกับรูปหน้าบนกระดาน
พระเยซูคริสต์ทรงสามารถทำให้ฉันเกิดสันติ
เมื่อวิสุทธิชนประสบการข่มเหง พระเจ้าทรงปลอบโยนพวกเขาโดยตรัสว่า “จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” พิจารณาว่าคำแนะนำนี้จะช่วยเด็กที่ท่านสอนได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กขยับไปมาบนเก้าอี้ของพวกเขา แล้วขอให้พวกเขาเลิกขยับเมื่อท่านชูภาพพระผู้ช่วยให้รอดและพูดว่า “จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16) ทำกิจกรรมนี้ซ้ำสองสามครั้ง อธิบายว่าเมื่อชีวิตยากลำบากสำหรับวิสุทธิชนในสมัยของโจเซฟ สมิธ พระเยซูทรงต้องการให้พวกเขานิ่งและวางใจพระองค์แทนที่จะวิตกกังวล พระเยซูจะทรงช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเรามีเวลาที่ยากลำบาก?
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความคารวะ เช่น “คารวะอย่างสงบ” หรือ “To Think about Jesus” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 11, 71 [ภาษาอังกฤษ]) ช่วยให้เด็กรับรู้ความรู้สึกสงบที่เกิดขึ้นเมื่อเรานิ่งและคิดถึงพระเยซู—ตัวอย่างเช่น เมื่อเราสวดอ้อนวอนหรือรับศีลระลึก
-
ช่วยให้เด็กทำงานในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ขณะพวกเขาระบายสี บอกพวกเขาว่าการคิดถึงพระเยซูคริสต์ช่วยให้รู้สึกสงบ แม้ในช่วงเวลายากๆ อย่างไร
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–14; 101:16
การทดลองของฉันจะช่วยให้ฉันเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้น
ขณะที่เด็กเผชิญความท้าทายตลอดชีวิต พวกเขาจะต้องมีศรัทธาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยพวกเขาได้ในระหว่างการทดลองของพวกเขาและการทดลองเหล่านั้นสามารถ “ร่วมกันส่งผลเพื่อความดี [ของพวกเขา]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:3)
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กช่วยท่านเขียนความท้าทายบางอย่างที่เด็กวัยพวกเขาอาจพบเจอไว้บนกระดาน บอกเด็กเกี่ยวกับความท้าทายบางอย่างของวิสุทธิชนที่อยู่ในเทศมณฑลแจ๊คสัน มิสซูรีในปี 1833 (ดู บทที่ 34 และ 35 ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 128–134) พวกเขาจะให้คำแนะนำอะไรแก่เด็กที่กำลังประสบความท้าทายเหล่านี้? ขอให้เด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–14 โดยมองหาแนวทางที่พระเจ้าประทานให้ พวกเขาจะทำตามคำแนะนำนี้ได้อย่างไรขณะเผชิญความท้าทายตามที่เขียนไว้บนกระดาน?
-
ให้เด็กอยู่นิ่งและเงียบเท่าที่จะเงียบได้สักสองสามนาทีขณะมองดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดหรือฟังเพลงเกี่ยวกับพระองค์ จากนั้นให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรและประสบอะไรในระหว่างอยู่นิ่งๆ อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16 การอยู่นิ่งและคิดถึงพระเยซูช่วยเราอย่างไร? ช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการอยู่นิ่งด้วยความคารวะกับการที่เราสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณและนึกถึงพระเยซู
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23, 39–40
พระเยซูทรงต้องการให้ฉันให้อภัยคนที่ใจร้ายกับฉัน
เราได้รับบัญชาให้รักกัน ให้อภัยผู้อื่น “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” และหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ (ดู มัทธิว 5:39, 43–44; 18:21–22) ท่านจะใช้ข้อเหล่านี้สอนความจริงเหล่านี้ให้กับเด็กๆ ได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับการข่มเหงที่เกิดขึ้นในเทศมณฑลแจ๊คสัน มิสซูรีในปี 1833 (ดู บทที่ 34 และ 35 ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 128–134) ถามเด็กว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นสมาชิกของศาสนจักรสมัยนั้น เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23, 39–40 เพื่อดูว่าพระเจ้าทรงต้องการให้วิสุทธิชนทำอะไร เหตุใดจึงยากจะให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา? เราได้รับพรอย่างไรเมื่อเราให้อภัย?
-
ถามเด็กว่าพวกเขานึกออกหรือไม่ตอนที่พระเยซูหรือบางคนในพระคัมภีร์ทำสิ่งที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23 สอน เพื่อยกตัวอย่าง ให้ดูภาพการตรึงกางเขน (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 57) ขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ลูกา 23) เชื้อเชิญพวกเขาอ่าน ลูกา 23:34 เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:23–32, 36, 38
ฉันสามารถพบปีติผ่านพระเยซูคริสต์
ชีวิตไม่ได้มีไว้ให้ปราศจากความยากลำบาก แต่ท่านสามารถช่วยให้เด็กค้นพบว่าพวกเขายังคงสามารถพบความบริบูรณ์แห่งปีติผ่านพระเยซูคริสต์
กิจกรรมที่ทำได้
-
ใส่น้ำในแก้ว ขอให้เด็กบอกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราทั้งนี้เพื่อเราจะได้มีปีติ และเชื้อเชิญให้พวกเขาหย่อนก้อนกรวดลงในแก้วแทนแต่ละอย่างที่พวกเขาบอกจนกว่าแก้วจะเต็ม อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:36 กับเด็กและขอให้พวกเขาดูว่าเราจะมีความบริบูรณ์แห่งปีติได้อย่างไร เราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อ “แสวงหา … พระเจ้า” (ข้อ 38) ทั้งนี้เพื่อเราจะได้มีปีติที่พระองค์ทรงประสงค์จะประทานแก่เรา?
-
อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:23–32 สอนว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมาอีกครั้ง ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน ให้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กพบว่าจะทำให้เราเกิดปีติเมื่อพระองค์เสด็จมา เหตุใดการรู้เรื่องเหล่านี้เมื่อเรากำลังมีความยากลำบากจึงเป็นประโยชน์?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ช่วยให้เด็กเลือกข้อหนึ่งจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101 ที่พวกเขาต้องการแบ่งปันกับครอบครัวของพวกเขา ช่วยพวกเขาวางแผนว่าจะแบ่งปันสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับข้อนั้นอย่างไร