“20–26 มกราคม 1 นีไฟ 11–15: ‘มีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“20–26 มกราคม 1 นีไฟ 11–15” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020
20–26 มกราคม
1 นีไฟ 11–15
“มีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า”
เริ่มการเตรียมสอนของท่านโดยอ่าน 1 นีไฟ 11–15 บันทึกความคิดและความประทับใจของท่านเกี่ยวกับข้อความและหลักธรรมที่ท่านจะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนา แนวคิดด้านล่างจะช่วยได้
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
บทเหล่านี้ประกอบด้วยหลักธรรมที่สมาชิกชั้นเรียนอาจต้องการพิจารณาขณะพวกเขาแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ท่านอาจจะเขียนคำถามเหมือนกับคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบในการอ่านสัปดาห์นี้ที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้
-
การละทิ้งความเชื่อและการฟื้นฟูคืออะไร
-
เหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงจำเป็น
-
ฉันจะรู้ความจริงของพระผู้เป็นเจ้าด้วยตนเองได้อย่างไร
สอนหลักคำสอน
พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระเยซูคริสต์มาแสดงความรักของพระองค์
-
เทพแสดงให้นีไฟเห็นสัญลักษณ์และเหตุการณ์ต่างๆ จากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดที่แสดงให้เห็นความรักของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะพบว่าการสำรวจสัญลักษณ์และเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสนทนาว่าสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเราอย่างไร ท่านมีรูปภาพ วีดิทัศน์ หรือโสตทัศนอุปกรณ์จะให้ดูหรือไม่ที่บรรยายเหตุการณ์บางเรื่องในข้อเหล่านี้ (ดูตัวอย่างใน biblevideos.ChurchofJesusChrist.org) พระชนม์ชีพและการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านเข้าใจความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อท่านอย่างไร
พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเราต้านอิทธิพลของซาตาน
-
บางครั้งสมาชิกในชั้นเรียนของท่านอาจรู้สึกเหมือนผู้คนในนิมิตของนีไฟผู้ระหกระเหินในหมอกแห่งความมืดหรือเผชิญการเหยียดยามของคนในอาคารใหญ่และกว้าง ท่านอาจจะถามชั้นเรียนว่าเหตุใดหมอกแห่งความมืดจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมของการล่อลวง (ดู 1 นีไฟ 12:17) เหตุใดอาคารใหญ่และกว้างจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมของความเพ้อฝันและความจองหองของโลก (ดู 1 นีไฟ 12:18) จากนั้นท่านอาจจะแบ่ง บทที่ 12–15 ในหมู่สมาชิกชั้นเรียนและเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้าข้อที่สอนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเราเอาชนะการล่อลวง ความถือดี และความจองหองอย่างไร (ดูตัวอย่างใน 1 นีไฟ 13:34–40; 14:14)
-
ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพลังที่มาจากพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร (ดู 1 นีไฟ 15:24) ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาสนทนาคำถามทำนองนี้: นีไฟเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ซาตานพยายามทำลายพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างลับๆ อย่างไร (ดู 1 นีไฟ 13:26–29) พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ทำอะไรเพื่อสงวนรักษาพระวจนะของพระองค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาของท่าน ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์อย่างไรและพวกเขาทำอะไรเพื่อทำให้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
พระเจ้าทรงเตรียมทางสำหรับการฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์
-
ลำดับเหตุการณ์อาจจะช่วยให้สมาชิกเข้าใจนิมิตของนีไฟเกี่ยวกับเหตุการณ์ของการฟื้นฟู ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสร้างเหตุการณ์ตามลำดับเวลาบนกระดาน โดยใช้เหตุการณ์ที่พบใน 1 นีไฟ 13 เหตุการณ์ใดในเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์ใดกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ท่านอาจจะแบ่งปันคำพูดอ้างอิงใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” โดยจอร์จ วอชิงตันประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขายอมรับอิทธิพลของพระผู้เป็นเจ้าในการปฏิวัติอเมริกาอันเป็นเหตุการณ์ที่เตรียมทางสำหรับการฟื้นฟู
-
สมาชิกชั้นเรียนจะใช้ 1 นีไฟ 13 อธิบายให้คนที่นับถือศาสนาอื่นฟังอย่างไรว่าเหตุใดการฟื้นฟูจึงจำเป็น (ดูตัวอย่างใน 1 นีไฟ 13:26–29, 35–42) สมาชิกชั้นเรียนจะใช้พระคัมภีร์ข้อใดอีกบ้างช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเหตุใดการฟื้นฟูจึงจำเป็น (ดูบางตัวอย่างใน Topical Guide, “Restoration of the Gospel”) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะได้ประโยชน์จากการแสดงบทบาทสมมติว่าพวกเขาจะอธิบายให้คนบางคนเข้าใจความจำเป็นของการฟื้นฟูอย่างไร และสิ่งนั้นเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร
พระคัมภีร์มอรมอนสอนความจริงที่แจ้งชัดและมีค่า
-
อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าใช้ 1 นีไฟ 13:20–41 เริ่มการสนทนาว่าเหตุใดเราจึงต้องมีพระคัมภีร์มอรมอน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียน “สิ่งที่แจ้งชัดและมีค่า” บางอย่างที่หายไปจากพระคัมภีร์ไบเบิลและได้รับการฟื้นฟูผ่านพระคัมภีร์มอรมอน (ดูตัวอย่าง ข้อ 26 และ 39 หรือรายการใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) ท่านอาจจะต้องการเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่า “สิ่งที่แจ้งชัดและมีค่า” ที่ได้รับการฟื้นฟูเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร
-
ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์ “The Book of Mormon—a Book from God” (ChurchofJesusChrist.org) และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าวีดิทัศน์เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับสาเหตุที่เราต้องมีพระคัมภีร์มอรมอน หรือท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งวาดภาพประกอบบนกระดานตามที่บรรยายไว้ในคำพูดอ้างอิงของเอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ดีขึ้นอย่างไร
2:3
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 16–22 ระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง ท่านอาจจะกล่าวว่าในนั้นมีเรื่องราวที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขาต้องทำบางอย่างที่ดูเหมือนไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
วีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอน
หาวีดิทัศน์บรรยายเหตุการณ์จาก 1 นีไฟ 11–15 ในชุดวีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอนบน ChurchofJesusChrist.org หรือแอปพลิเคชันคลังค้นคว้า
พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในการปฏิวัติอเมริกา
จอร์จ วอชิงตันกล่าวว่า “มนุษย์ต้องเป็นคนเลวจริงๆ จึงสามารถมองดูเหตุการณ์ของการปฏิวัติอเมริกาได้โดยไม่มีความรู้สึกถึงความสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้ทรงลิขิตจักรวาลผู้ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงของพระองค์ประจักษ์ชัดบ่อยครั้งเพื่อประโยชน์ของเรา” (จดหมายถึงแซมิวเอล แลงดอน 28 ก.ย.1789, founders.archives.gov/documents/Washington/05-04-02-0070)
รายการพระคัมภีร์มอรมอนของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน
จาก “พระคัมภีร์มอรมอน: ชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระคัมภีร์เล่มนี้” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 60–63)
พระคัมภีร์มอรมอนหักล้างความคิดที่ว่า:
-
การเปิดเผยสิ้นสุดพร้อมกับพระคัมภีร์ไบเบิล
-
ทารกต้องรับบัพติศมา
-
ความสุขพบได้ในความชั่วร้าย
-
ความดีของแต่ละคนเพียงพอกับความสูงส่ง (ต้องมีศาสนพิธีและพันธสัญญา)
-
การตกของอาดัมทำให้มนุษยชาติแปดเปื้อน “บาปที่ติดตัวมาแต่เกิด”
พระคัมภีร์มอรมอนชี้แจงความเข้าใจเกี่ยวกับ:
-
การดำรงอยู่ก่อนเกิดของเรา
-
ความตาย ความตายเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้า
-
การดำรงอยู่หลังมรรตัย ซึ่งเริ่มต้นในเมืองบรมสุขเกษม
-
วิธีที่การฟื้นคืนชีวิตของร่างกายรวมกับวิญญาณกลายเป็นจิตวิญญาณอมตะ
-
วิธีที่พระเจ้าทรงพิพากษาเราจะเป็นไปตามการกระทำและความปรารถนาของใจเรา
-
วิธีประกอบศาสนพิธีอย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น บัพติศมา ศีลระลึก การประสาทพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์
-
การฟื้นคืนพระชนม์
-
บทบาทสำคัญของเหล่าเทพ
-
ลักษณะนิรันดร์ของฐานะปุโรหิต
-
พลังของพระวจนะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์มากกว่าพลังของดาบ
เราต้องการพระคัมภีร์มอรมอน
เอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์สอนว่า
“พระคัมภีร์ไบเบิลเป็นพยานเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์มอรมอนเป็นอีกเล่มหนึ่ง เหตุใดพยานเล่มที่สองนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง ภาพตัวอย่างต่อไปนี้อาจช่วยได้: ท่านสามารถลากเส้นตรงผ่านจุดเดียวบนกระดาษแผ่นนี้ได้กี่เส้น คำตอบคือไม่จำกัด ลองคิดสักครู่ว่าจุดเดียวหมายถึงพระคัมภีร์ไบเบิลและเส้นตรงหลายร้อยเส้นที่ลากผ่านจุดดังกล่าวหมายถึงการตีความพระคัมภีร์ไบเบิลไปต่างๆ นานา ซึ่งการตีความแต่ละอย่างหมายถึงนิกายต่างๆ
“แต่เกิดอะไรขึ้นถ้าบนกระดาษแผ่นนี้มีจุดที่สองซึ่งหมายถึงพระคัมภีร์มอรมอน ท่านสามารถลากเส้นตรงระหว่างจุดสองจุดนี้ พระคัมภีร์ไบเบิลกับพระคัมภีร์มอรมอน ได้กี่เส้น เส้นเดียว การตีความหลักคำสอนของพระคริสต์เพียงหนึ่งเดียวทำให้ประจักษ์พยานของพยานทั้งสองเล่มนี้คงอยู่” (“พระคัมภีร์มอรมอน—พระคัมภีร์จากพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 95–96)