จงตามเรามา
20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6: “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ”


“20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6: ‘การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“20–26 เมษายน โมไซยาห์ 4–6,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020

กษัตริย์เบ็นจามินสอนผู้คนของเขา

ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของท่าน โดย วอลเตอร์ เรน

20–26 เมษายน

โมไซยาห์ 4–6

“การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ”

อ่าน โมไซยาห์ 4–6 และบันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน เมื่อท่านได้รับความประทับใจ ท่านอาจจะถามตามที่เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แนะนำว่า “มีอะไรที่ข้าพเจ้าควรรู้อีกหรือไม่” (“เพื่อให้ได้รับการชี้นำทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 8)

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ท่านอาจต้องการเริ่มการสนทนาในชั้นเรียนโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันคำสอนหนึ่งเรื่องของกษัตริย์เบ็นจามินจาก โมไซยาห์ 4–5 ที่พวกเขาประสงค์จะประยุกต์ใช้มากขึ้นในชีวิต

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โมไซยาห์ 4:1–12

โดยผ่านพระเยซูคริสต์เราสามารถรับและมีการปลดบาปของเราอยู่เสมอ

  • บางคนมีความคิดผิดๆ ว่าการกลับใจเรียกร้องให้พยายามเล็กน้อย หลายคนเชื่อว่าการกลับใจเรียกร้องความพยายามมากเกินไป เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าต้องทำอะไรจึงจะได้รับการปลดบาป ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้าคำสอนของกษัตริย์เบ็นจามินใน โมไซยาห์ 4:1–12 โดยมองหาเงื่อนไขซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ทรงปลดบาปให้เรา สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียนสิ่งที่พบไว้บนกระดาน ขอให้พวกเขานึกถึงการเปรียบเทียบที่จะช่วยอธิบายสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะเปรียบเทียบการปลดบาปกับเจ้าหนี้ที่ “ละเว้น” หรือยกหนี้ให้ หรือพวกเขาอาจจะเปรียบเทียบการปลดบาปของเราอยู่เสมอกับการดูแลสิ่งที่ต้องบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น สวนหรือบ้าน

  • ท่านอาจจะถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับคนที่สงสัยว่าการกลับใจคุ้มค่าความพยายามหรือไม่ พวกเขาจะช่วยคนที่ท้อแท้และรู้สึกว่าไม่มีทางเอาชนะบาปและความอ่อนแอได้อย่างไร ท่านจะช่วยเตรียมสมาชิกชั้นเรียนให้พร้อมสนทนาเช่นนั้นโดยขอให้พวกเขาใช้เวลาสองสามนาทีค้นคว้าคำพูดของกษัตริย์เบ็นจามินใน โมไซยาห์ 4:1–12 เพื่อหาความจริงที่จะช่วยคนในสถานการณ์เหล่านี้ จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันความจริงที่ค้นพบให้แก่คนที่นั่งข้างๆ

โมไซยาห์ 4:11–27

เมื่อเรากลับใจ เราจะเปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า

  • เรารู้ได้อย่างไรว่าเราได้รับการปลดบาปของเราแล้วหรือไม่ กษัตริย์เบ็นจามินพูดถึงผลบางอย่างของการกลับใจอย่างแท้จริง—เชื้อเชิญให้สมาชิกในชั้นเรียนหาผลเหล่านั้นใน โมไซยาห์ 4:13–16 ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาไตร่ตรองชีวิตตนเองและประเมินเช่นกันว่าพวกเขากำลังดำเนินชีวิตตามคำสอนในข้อเหล่านี้ดีเพียงใด สมาชิกชั้นเรียนเห็นสัญญาณอะไรบ้างที่แสดงว่าพวกเขากำลังเปลี่ยนใจเลื่อมใส ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเรามาหาพระคริสต์ผ่านการกลับใจ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันว่าพวกเขาเคยเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในชีวิตพวกเขาอย่างไร

  • โมไซยาห์ 4:11–12 และ 14–16 จะกระตุ้นให้สนทนาว่าอะไรดลใจให้เป็นบิดามารดาที่ชอบธรรม ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการเป็นบิดามารดาที่ดีขึ้น

  • ถ้าท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้สนทนาเกี่ยวกับคำสอนของกษัตริย์เบ็นจามินเรื่องการดูแลคนจนและคนขัดสน ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนผลัดกันอ่านข้อต่างๆ จาก โมไซยาห์ 4:16–27 หลังจากอ่านจบแต่ละข้อ คนที่อ่านจะสรุปด้วยคำพูดของเขาว่ากษัตริย์เบ็นจามินสอนอะไร เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 40–42) อาจจะนำมาใช้เสริมการสนทนานี้ เราจะทำตามคำแนะนำของกษัตริย์เบ็นจามินไม่ “วิ่งไปเร็วเกินกำลัง [ของเรา]​” ได้อย่างไร (โมไซยาห์ 4:26–27) พระบัญญัติให้ “มอบทรัพย์สิน [ของเรา] แก่คนจน” เกี่ยวข้องกับการปลดบาปของเราอย่างไร

โมไซยาห์ 4:29–30

เราต้องระวังความนึกคิด คำพูด และการกระทำของเรา

  • บางครั้งดูเหมือนจะง่ายขึ้นถ้าพระเจ้าประทานรายละเอียดของบาปทุกอย่าง แต่พระองค์รับสั่งกับเราว่า “ระวังตน … และดำเนินต่อไปด้วยความเชื่อในสิ่งที่ท่านได้ยินเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเจ้าของเรา” (โมไซยาห์ 4:30) เพื่อช่วยชั้นเรียนของท่านสนทนาหลักธรรมนี้ ท่านอาจจะถามคำถามทำนองนี้: ความนึกคิด คำพูด และการกระทำของเราส่งผลต่อตัวเราและคนอื่นๆ อย่างไร “ดำเนินต่อไปด้วยความเชื่อ” หมายความว่าอย่างไร เราจะแบ่งปันคำแนะนำอะไรให้กันเพื่อช่วยให้เรา “ระวัง” ตัว

โมไซยาห์ 5:1–7

พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจเรา

  • เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอันหาที่เปรียบมิได้ที่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์นำมาสู่ชีวิตเรา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนบอกเหตุผลบางอย่างว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืนในชีวิตเราจึงมักจะทำได้ยาก จากนั้นให้พวกเขาอ่าน โมไซยาห์ 5:1–5 โดยมองหา “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ” ที่ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามินประสบ เราเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในใจ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงใจอย่างไร ท่านอาจจะดูวีดิทัศน์หนึ่งเรื่องที่แนะนำไว้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”

    พระคริสต์ทรงรักษาสตรีที่เจ็บป่วย

    พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถเปลี่ยนแปลงใจและชีวิตเรา พระหัตถ์เยียวยา โดย อดัม อับราม

  • หลังจากสนทนาความจริงใน โมไซยาห์ 5:1–7 สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจสงสัยว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงในใจของพวกเขาจึงไม่น่าตื่นเต้นเร้าใจหรือเกิดขึ้นทันทีเหมือนประสบการณ์ของผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน คำกล่าวจากเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะตอบคำถามนี้ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

โมไซยาห์ 5:5–15

พระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ฉันทำพันธสัญญากับพระองค์

  • โมไซยาห์ 5:5–15 สามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพรที่พวกเขาได้รับเมื่อพวกเขาทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวนข้อเหล่านี้พร้อมกับนึกถึงพันธสัญญาบัพติศมาและศาสนพิธีศีลระลึก แล้วแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ (ดู คพ. 20:77, 79 ด้วย)

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สมาชิกหลายคนในชั้นเรียนของท่านอาจกำลังประสบหรือเพิ่งประสบปัญหาหรือการทดลองส่วนตัว บอกพวกเขาว่าใน โมไซยาห์ 7–10 พวกเขาจะอ่านเกี่ยวกับคนกลุ่มหนึ่งที่เรียนรู้วิธีวางใจพระเจ้าในช่วงการทดลองของพวกเขา

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

วีดิทัศน์ที่ ChurchofJesusChrist.org เกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำ” (โมไซยาห์ 5:2)

  • “Daily Bread: Change”

  • “A Change of Heart”

  • “A Mighty Change: Conversion”

การเปลี่ยนแปลงมักเป็นกระบวนการ

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ดังนี้

“ท่านอาจถามว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำนี้จึงไม่เกิดกับฉันเร็วกว่านี้ ท่านควรจำไว้ว่าแบบอย่างอันน่าทึ่งของผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน แอลมา และคนอื่นๆ บางคนในพระคัมภีร์เป็นเช่นนั้น—น่าทึ่งแต่ไม่เป็นแบบฉบับ สำหรับเราส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละน้อยและใช้เวลา การเกิดใหม่อีกครั้ง ไม่เหมือนการเกิดทางกาย เป็นกระบวนการมากกว่าเหตุการณ์ และการได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการนั้นคือจุดประสงค์สำคัญของความเป็นมรรตัย

“ในเวลาเดียวกัน ขอให้เราอย่าหาข้อแก้ตัวต่อการกระทำที่เราไม่ตั้งใจ ขอเราอย่าพอใจที่จะเก็บความประสงค์บางอย่างที่จะทำความชั่วร้าย ขอให้เรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรทุกสัปดาห์และให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถอนรากถอนโคนซากที่หลงเหลือของความไม่บริสุทธิ์ภายในตัวเราต่อไป ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าขณะที่ท่านดำเนินต่อไปในเส้นทางของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ พระคุณแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จะขจัดบาปของท่านรวมทั้งสิ่งแปดเปื้อนอันเกิดจากบาปเหล่านั้นในตัวท่าน การล่อลวงจะไม่น่าสนใจ และโดยผ่านพระคริสต์ท่านจะบริสุทธิ์ ดังพระองค์และพระบิดาของเราทรงบริสุทธิ์” (“การเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 95)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ค้นหาคำในพระคัมภีร์ ขณะที่ท่านอ่านคำปราศรัยของกษัตริย์เบ็นจามิน ให้มองหาบทเรียนในแบบอย่างของเขาที่สามารถช่วยให้ท่านเป็นครูที่ดีขึ้น อาทิ กษัตริย์เบ็นจามินทำอะไรเพื่อให้ทราบว่าผู้คนของเขาเข้าใจสิ่งที่กำลังสอนหรือไม่