2010–2019
เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?
ตุลาคม 2014


15:41

เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?

ไม่ว่าจะรวยหรือจน เราต้อง “ทำสุดกำลังของเรา” เมื่อผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือ

ช่างเป็นองค์ประกอบใหม่ที่วิเศษมากที่เพิ่มเข้ามาในรูปแบบการประชุมใหญ่สามัญ Bien hecho, Eduardo

ในชั่วขณะที่น่าประหลาดใจที่สุดของการปฏิบัติศาสนกิจช่วงแรกๆ ของพระเยซู พระองค์ทรงยืนขึ้นในธรรมศาลาที่นาซาเร็ธ บ้านของพระองค์ ทรงอ่านถ้อยคำที่อิสยาห์พยากรณ์ไว้และบันทึกไว้ในกิตติคุณลูกา “พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้เพื่อนำข่าวดีมายังคนยากจน พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามา [เพื่อเยียวยาใจที่ชอกชำ เพื่อ] ประกาศอิสรภาพแก่พวกเชลย และ…ปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ”1

นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศต่อสาธารณชนถึงการปฏิบัติศาสนกิจแห่งพระเมสสิยาห์ของพระองค์ แต่พระคัมภีร์ข้อนี้บอกชัดเจนว่าระหว่างทางไปสู่การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ หน้าที่แห่งพระเมสสิยาห์อันดับแรกและสำคัญที่สุดของพระเยซูคือการอวยพรคนยากจน รวมถึงผู้ที่ยากจนทางวิญญาณ

นับจากการเริ่มต้นปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซู พระองค์ทรงรักผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในวิธีที่ไม่ธรรมดา พระองค์ประสูติในบ้านของคนเช่นนั้นสองคนและเติบโตท่ามกลางกลุ่มชนเช่นนั้นหลายคน เราไม่ทราบรายละเอียดพระชนม์ชีพทางโลกของพระองค์ทั้งหมด แต่พระองค์เคยตรัสว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรง และนก…ยังมีรัง แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ”2 เห็นได้ชัดว่าพระผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก “และสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในนั้น”3 อย่างน้อยในวัยผู้ใหญ่ ก็ไม่มีบ้านอยู่

ตลอดประวัติศาสตร์ ความยากจนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่หนักหนาสาหัสและแพร่หลายที่สุดของมนุษยชาติ โดยปกติเป็นความเสียหายทางกาย แต่ความเสียหายทางวิญญาณและทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นอาจยิ่งทำให้ทรุดหนักลงไปอีก ในกรณีใดก็ตาม พระผู้ไถ่ผู้ยิ่งใหญ่ทรงเรียกเราตลอดเวลาให้ช่วยพระองค์ยกภาระนี้ออกจากผู้คน ในฐานะพระเยโฮวาห์ พระองค์ตรัสว่าจะทรงพิพากษาเชื้อสายแห่งอิสราเอลอย่างรุนแรงเพราะ “ของริบจาก [คนขัดสน] ก็อยู่ในบ้านของเจ้า”

พระองค์ตรัสว่า “ที่พวกเจ้าบีบคั้นชนชาติของเรา และบดขยี้หน้าคนจนนั้นหมายความว่าอย่างไร?”4

ผู้เขียนพระธรรมสุภาษิตเขียนเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนมาก “ผู้กดขี่คนยากจนก็ดูถูกพระผู้สร้างของเขา” และ “คนที่ปิดหูไม่ฟังเสียงร้องทุกข์ของคนจน ตัวเขาเองจะร้องตะโกน [เช่นกัน] แต่ไม่มีใครตอบ”5

ในสมัยของเรา ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ได้รับการฟื้นฟูยังไม่ทันจะครบปีเมื่อพระเจ้าทรงบัญชาสมาชิกศาสนจักรให้ “ดูแลคนจนและคนขัดสน, และช่วยสงเคราะห์เพื่อคลายความทุกข์ยากของคนเหล่านั้นเพื่อพวกเขาจะไม่ต้องทนทุกข์”6 สังเกตน้ำเสียงเชิงบังคับในข้อความนั้น—“พวกเขา จะ ไม่ต้องทนทุกข์” นั่นคือภาษาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้เมื่อพระองค์ทรงจริงจัง

เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายใหญ่หลวงในการจัดการปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในโลก ชายหรือหญิงคนเดียวจะทำอะไรได้ พระอาจารย์ทรงให้คำตอบด้วยพระองค์เอง ก่อนการทรยศและการตรึงกางเขนพระองค์ เมื่อมารีย์ชโลมพระเศียรพระเยซูด้วยน้ำมันหอมราคาแพง ยูดาสอิสคาริโอทประท้วงความฟุ่มเฟือยนี้และ “ตำหนิหญิงคนนั้น”7

พระเยซูตรัส

“ไปกวนใจนางทำไม? นางทำสิ่งดี …

“หญิงคนนี้ทำสุดกำลังของนางแล้ว”8

“หญิงคนนี้ทำสุดกำลังของนางแล้ว”! ช่างเป็นคำตอบที่กระชับจับใจมาก! นักข่าวคนหนึ่งเคยถามแม่ชีเทเรซาแห่งกัลกัตตาเกี่ยวกับภารกิจอันไร้ซึ่งความหวังของเธอในการช่วยเหลือคนอนาถาในเมืองนั้น นักข่าวกล่าวว่าในเชิงสถิติแล้ว แม่ชีไม่ได้ทำอะไรสำเร็จเลย สตรีร่างเล็กผู้น่าทึ่งคนนี้ตอบกลับว่างานของเธอเกี่ยวกับความรัก ไม่ใช่สถิติ แม้จะมีผู้คนจำนวนมากมาย เกินกว่า ที่เธอจะเอื้อมมือไปช่วยเหลือได้ เธอบอกว่าเธอจะรักษาพระบัญญติที่ให้รักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้านของเธอ โดยการรับใช้ผู้ที่เธอ เอื้อมถึง ด้วยทรัพยากรทุกอย่างที่เธอมี ในบางโอกาสเธอจะพูดว่า “สิ่งที่เราทำอาจเป็นเหมือนหยดน้ำในมหาสมุทร แต่ถ้าเราไม่ทำ มหาสมุทรก็จะมีน้ำน้อยไปอีกหนึ่งหยด”9 นักข่าวสรุปอย่างจริงจังว่าศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ ความเพียรพยายามเกี่ยวกับตัวเลขสถิติ เขาให้เหตุผลว่าถ้าในสวรรค์มีปีติมากเมื่อคนบาปคนเดียวกลับใจยิ่งกว่าเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจ แสดงว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ใส่พระทัยเรื่องสถิติมากนัก10

ดังนั้นเราจะ “ทำสุดกำลังของเรา” ได้อย่างไร

อย่างหนึ่ง ดังที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนไว้ คือเราสามารถหยุดให้ทรัพย์สินของเราเพราะเรามองคนจนว่าพวกเขาก่อความทุกข์ยากให้ตนเอง บางคน อาจ สร้างความยากลำบากให้ตนเอง แต่เราที่เหลือก็ทำสิ่งเดียวกันมิใช่หรือ นี่คือเหตุผลที่นักปกครองผู้มีการุณยธรรมท่านนี้ถามมิใช่หรือว่า “เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?”11 เราทุกคนร้องหาความช่วยเหลือและความหวังตลอดจนคำตอบต่อคำสวดอ้อนวอนมิใช่หรือ เราทุกคนวิงวอนขออภัยสำหรับความผิดพลาดและปัญหาที่เราทำไปมิใช่หรือ เราทุกคนอ้อนวอนขอให้พระคุณนั้นชดเชยความอ่อนแอของเรา ว่าพระเมตตาจะชนะเหนือความยุติธรรมอย่างน้อยในกรณีของเรามิใช่หรือ ไม่แปลกใจเลยที่กษัตริย์เบ็นจามินบอกว่าเรา รับ การปลดบาปของเราโดยการวิงวอนพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงตอบรับเราด้วยความการุณย์ แต่เรา เก็บรักษา การปลดบาปของเราไว้โดยการตอบรับคนจนที่วิงวอนเราด้วยความการุณย์12

นอกเหนือจากการปฏิบัติอย่างมีเมตตาต่อพวกเขาแล้ว เราควรสวดอ้อนวอนให้ผู้ที่ขัดสนเช่นกัน ชาวโซรัมกลุ่มหนึ่งที่พี่น้องร่วมศาสนาของพวกเขาถือว่า “สกปรก” และ “เป็นกาก”—นั่นเป็นถ้อยคำจากพระคัมภีร์—ถูกขับออกจากบ้านแห่งการสวดอ้อนวอน “เพราะเสื้อผ้าเนื้อหยาบ [ที่พวกเขาสวมใส่]” มอรมอนบอกว่าพวกเขา “ยากจนเกี่ยวกับสิ่งของทางโลก; และ…ยากจนในใจด้วย”13—สภาวะทั้งสองแทบจะไปด้วยกันเสมอ คู่ผู้สอนศาสนา แอลมากับอมิวเล็คโต้แย้งการถูกปฏิเสธอันไม่ชอบธรรมของพวกที่แต่งกายสกปรกโดยบอกพวกเขาว่าไม่ว่าผู้อื่นจะริดรอนสิทธิพิเศษใดๆ จากพวกเขา พวกเขาสวดอ้อนวอนได้เสมอ—ในทุ่งของพวกเขาและในบ้านของพวกเขา ในครอบครัวของพวกเขาและในใจของพวกเขา14

แต่แล้วอมิวเล็คพูดกับคนกลุ่มเดียวกันนี้ซึ่งทำให้ตนเองถูกปฏิเสธ ว่า “หลังจากท่าน [สวดอ้อนวอน] แล้ว, หาก [ท่าน] ปฏิเสธคนขัดสน, และคนเปลือยเปล่า, และไม่เยี่ยมเยียนคนเจ็บและคนมีทุกข์, และให้ทรัพย์สินของท่าน, หาก [ท่าน] มี, แก่ผู้ที่ขัดสน—ข้าพเจ้ากล่าวแก่ ท่าน,…การสวดอ้อนวอนของท่านเปล่าประโยชน์, และไม่ช่วยอะไรท่านเลย, และท่านเป็นดังคนหน้าซื่อใจคดผู้ปฏิเสธความเชื่อ”15 เป็นคำเตือนที่น่าทึ่งมาก ไม่ว่าจะรวย หรือ จน เราต้อง “ทำสุดกำลังของเรา” เมื่อผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือ

ด้วยเกรงว่าข้าพเจ้าจะถูกกล่าวหาว่านำเสนอโครงการเพ้อฝันระดับโลกหรือเห็นชอบกับการขอทานว่าเป็นธุรกิจที่เติบโต ข้าพเจ้ารับรองว่าความเคารพที่ข้าพเจ้ามีต่อหลักธรรมแห่งความอุตสาหะ ความมัธยัสถ์ การพึ่งพาตนเอง และความใฝ่ฝันนั้นหนักแน่นเช่นเดียวกับชายหญิงทุกคนที่มีชีวิตอยู่ เราต้องช่วยเหลือตัวเราเองก่อนจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าไม่รู้แน่ชัดว่าท่านแต่ละคนควรทำหน้าที่ของตนอย่างไรต่อผู้ที่ไม่ทำหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้าทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบ พระองค์จะทรงช่วยท่านและนำทางท่านในการเป็นสานุศิษย์ที่มีการุณยธรรมหากท่านต้องการและสวดอ้อนวอน และหาวิธีรักษาพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่เราครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างจริงจัง

ท่านจะตระหนักว่าข้าพเจ้าพูดถึงความต้องการที่ยากยิ่งในสังคม ซึ่งนอกเหนือไปจากสมาชิกของศาสนจักร โชคดีที่วิถีของพระเจ้าในการช่วยเหลือพวกเรากันเองนั้นง่ายกว่า ผู้ที่มีสมรรถภาพทางกายที่สามารถทำได้ ต้องรักษากฎแห่งการอดอาหาร อิสยาห์เขียนว่า

“เราเลือกการอดอาหารอย่างนี้ไม่ใช่หรือ?…

“คือการแบ่งอาหารของเจ้ากับคนหิว การนำคนยากจนไร้บ้านเข้ามาในบ้านไม่ใช่หรือ? และเมื่อเห็นคนเปลือยกายก็คลุมกายเขาไว้…[เพื่อเจ้าจะ] แก้สายรัดของแอก [และ]…ปลดปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ…ไม่ใช่หรือ? ”16

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงปาฏิหาริย์ ทั้งทางวิญญาณและทางโลก ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ที่รักษากฎแห่งการอดอาหาร ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า โดยแท้แล้ว ดังที่อิสยาห์บันทึกไว้ ข้าพเจ้าร้องทูลขณะอดอาหารมากกว่าหนึ่งครั้ง และพระผู้เป็นเจ้าตรัสตอบว่า “เราอยู่นี่”17 จงใส่ใจสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์นั้นอย่างน้อยเดือนละครั้ง จงเอื้อเฟื้อตามแต่สภาวการณ์ของท่านจะเอื้ออำนวยในการบริจาคเงินอดอาหารและการบริจาคอื่นๆ เพื่อมนุษยธรรม การศึกษา และผู้สอนศาสนา ข้าพเจ้าสัญญาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเอื้อเฟื้อต่อท่าน และผู้ที่ได้รับการสงเคราะห์จากมือท่านจะเรียกท่านว่าผู้รับพรตลอดกาล สมาชิกของศาสนจักรจำนวนมากกว่าเจ็ดแสนห้าหมื่นคนได้รับความช่วยเหลือจากเงินบริจาคอดอาหารในปีที่แล้วซึ่งจัดการโดยอธิการและประธานสมาคมสงเคราะห์ผู้อุทิศตน นั่นคือวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนมากที่ซาบซึ้งใจ

พี่น้องทั้งหลาย โอวาทเช่นนั้นเรียกร้องให้ข้าพเจ้าเปิดใจขอบคุณพรต่างๆ ที่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรง ไม่สมควรได้ และไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งทางโลกและทางวิญญาณ เช่นเดียวกันกับท่าน ข้าพเจ้าก็ต้องกังวลเรื่องเงินบ้างในบางครั้ง แต่ข้าพเจ้าไม่เคยจน หรือไม่รู้แม้กระทั่งว่าความยากจนเป็นอย่างไร ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมสภาวการณ์ของการเกิด สุขภาพ การศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจจึงแตกต่างกันมากในชีวิตมรรตัยที่นี่ แต่เมื่อข้าพเจ้าเห็นความต้องการของหลายๆ คน ข้าพเจ้าทราบว่า “ถ้าไม่ใช่เพราะพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า [ข้าพเจ้า] คงเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน”18 ข้าพเจ้าทราบด้วยว่าแม้ข้าพเจ้าอาจไม่ใช่ผู้ดูแลน้อง แต่ข้าพเจ้าก็เป็นพี่ของน้อง และ “เพราะ [ข้าพเจ้า] ได้รับมากมาย [ข้าพเจ้า] จึงหมายใจแบ่งปัน”19

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงแสดงความชื่นชมประธานโธมัส สเป็นเซอร์ มอนสัน เป็นพรที่ข้าพเจ้าได้ร่วมงานกับชายผู้นี้เป็นเวลา 47 ปีแล้ว และภาพของท่านที่ข้าพเจ้าจะเทิดทูนไว้จนวันตายคือภาพที่ท่านสวมรองเท้าแตะใส่ในบ้าน กำลังบินกลับจากเยอรมนีตะวันออกที่เศรษฐกิจพังพินาศ เพราะท่านได้ให้เสื้อผ้าและแม้แต่รองเท้าท่านก็ถอดให้ไป “เท้าของผู้นำข่าวซึ่งอยู่บนภูเขานั้น [และเดินหลบหลีกอยู่ในสนามบิน] ช่างงดงามจริง คือผู้นำข่าวที่ประกาศสันติภาพ และผู้ที่นำข่าวอันน่ายินดี”20 มากกว่าชายใดที่ข้าพเจ้ารู้จัก ประธานมอนสัน “ทำสุดกำลังของท่าน” เสมอ สำหรับแม่ม่ายและลูกกำพร้า คนยากจน และผู้ถูกกดขี่

ปี 1831 ในการเปิดเผยแก่โจเซฟ สมิธ พระเจ้าตรัสว่าสักวันหนึ่งคนยากจนจะเห็นอาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้ามา “ในเดชานุภาพและรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่” เพื่อปลดปล่อยพวกเขา21 ขอเราจงช่วยให้คำพยากรณ์นั้นเป็นจริงโดยมาในเดชานุภาพและรัศมีภาพของการเป็นสมาชิกในศาสนจักรที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์เพื่อทำสุดกำลังของเราในการปลดปล่อยใครก็ตามจากความยากจนที่คุมขังพวกเขาและทำลายความฝันมากมายของพวกเขา ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนในพระนามที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระเยซูคริสต์ เอเมน