2010–2019
ท่านหันหน้าไปทางใด
ตุลาคม 2014


ท่านหันหน้าไปทางใด

การพยายามทำให้ผู้อื่นพึงพอใจมากกว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเป็นการสลับพระบัญญัติสำคัญข้อแรกกับข้อที่สอง

“คุณหันหน้าไปทางใด” ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจด้วยคำถามน่าพิศวงนี้ขณะเดินทางด้วยกันเพื่อทำงานมอบหมายครั้งแรกในฐานะสาวกเจ็ดสิบคนใหม่ โดยที่ไม่มีคำอธิบายว่าคำถามนี้อยู่ในบริบทใด ข้าพเจ้าถึงกับจนปัญญา “สาวกเจ็ดสิบ” ท่านกล่าวต่อ “ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้คนต่อศาสดาพยากรณ์ แต่เป็นตัวแทนศาสดาพยากรณ์ต่อผู้คน อย่าลืมว่าคุณต้องหันหน้าไปทางไหน!” นั่นเป็นบทเรียนสำคัญยิ่ง

การพยายามทำให้ผู้อื่นพึงพอใจมากกว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเป็นการสลับพระบัญญัติสำคัญ ข้อแรกกับข้อที่สอง (ดู มัทธิว 22:37–39) นั่นเป็นการลืมว่าเราหันหน้าไปทางใด กระนั้นเราทุกคนเคยทำความผิดพลาดเพราะความกลัวมนุษย์ ในอิสยาห์พระเจ้าทรงเตือนเราว่า “อย่ากลัวการเยาะเย้ยของมนุษย์” (อิสยาห์ 51:7; ดู  2 นีไฟ 8:7 ด้วย) ในความฝันของลีไฮความกลัวนี้เกิดขึ้นโดย การชี้นิ้วเยาะเย้ย จากอาคารใหญ่และกว้าง ทำให้หลายคนลืมไปว่าพวกเขาหันหน้าไปทางใดและผละออกจากต้นไม้ด้วย “ความละอาย” (ดู 1 นีไฟ 8:25–28)

แรงกดดันจากเพื่อนนี้พยายามเปลี่ยนเจตคติของบุคคล หรือไม่ก็พฤติกรรม โดยทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกผิดจากการที่ไม่เห็นพ้องกับผู้อื่น เราพยายามอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพกับผู้ที่ชี้นิ้ว แต่เมื่อความกลัวมนุษย์ล่อลวงให้เราไม่ถือโทษต่อบาป สิ่งนี้กลายเป็น “บ่วง” ตามที่หนังสือสุภาษิตกล่าว (ดู สุภาษิต 29:25) บ่วงอาจทำให้ดูน่าสนใจอย่างชาญฉลาดโดยทำให้เรารู้สึกสงสารจึงยอมโอนอ่อนผ่อนปรนหรือแม้กระทั่งเห็นชอบกับบางสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวโทษ เพราะความอ่อนแอของศรัทธา สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผู้สอนศาสนาหนุ่มสาวมีความกลัวมนุษย์ในสนามเผยแผ่และไม่ยอมรายงานให้ประธานคณะเผยแผ่ทราบถึงการฝ่าฝืนกฎที่เห็นได้อย่างชัดเจนของคู่เพราะพวกเขาไม่อยากขัดใจคู่ที่ออกนอกลู่นอกทาง ตัวกำหนดอุปนิสัยดูจากการระลึกถึงลำดับที่ถูกต้องของพระบัญญัติข้อสำคัญข้อหนึ่งและข้อสอง (ดู มัทธิว 22:37–39) เมื่อผู้สอนศาสนาที่สับสนตระหนักว่าพวกเขามีภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่คู่ของพวกเขา พวกเขาพึงกล้าหาญที่จะหันหน้าไปในทิศทางตรงกันข้าม

ด้วยวัยหนุ่มอายุ 22 ปี แม้แต่โจเซฟ สมิธยังลืมว่าท่านควรหันหน้าไปทางใดเมื่อท่านรบเร้าพระเจ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อขออนุญาตให้มาร์ติน แฮร์ริสยืมต้นฉบับ 116 หน้า บางทีโจเซฟ อาจต้องการแสดงความขอบคุณมาร์ตินที่คอยช่วยเหลือ เราทราบว่าโจเซฟ ร้อนใจมากที่จะให้มีพยานคนอื่นๆ ยืนข้างท่านเพื่อต่อต้านความเท็จและคำโกหกที่ผู้คนว่าร้ายท่าน

ไม่ว่าเหตุผลของโจเซฟคืออะไร หรืออาจฟังดูมีเหตุผลมากเพียงไร พระเจ้าไม่ได้ทรงยกโทษให้สิ่งเหล่านั้นและทรงตำหนิท่านอย่างรุนแรงว่า “เจ้าล่วงละเมิดพระบัญชาและกฎของพระผู้เป็นเจ้าบ่อยเพียงไร …และดำเนินตามการชักนำของมนุษย์ เพราะ, ดูเถิด, เจ้าไม่ควร กลัว มนุษย์ยิ่งกว่าพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 3:6–7; เพิ่มตัวเอน) ประสบการณ์อันปวดร้าวนี้ช่วยให้โจเซฟจำไปตลอดหลังจากนั้นว่าท่านควรหันหน้าไปทางใด

เมื่อผู้คนพยายาม รักษาหน้า กับมนุษย์ พวกเขาสามารถ เสียหน้า อย่างไม่รู้ตัวกับพระผู้เป็นเจ้า ลองนึกถึงคนที่สามารถทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยและในเวลาเดียวกันก็ไม่ถือโทษการไม่เชื่อฟังของมนุษย์ นั่นไม่ใช่การวางตัวเป็นกลางแต่เป็นการกลับกลอก หรือเป็น คนตีสองหน้า หรือพยายามเป็น “บ่าวสองนาย” (มัทธิว 6:24; 3 นีไฟ 13:24)

แน่นอนว่าจะต้องใช้ความกล้าที่จะเผชิญอันตราย เครื่องหมายของความกล้าหาญที่แท้จริงคือการเอาชนะความกลัวมนุษย์ ตัวอย่างเช่น คำสวดอ้อนวอนของดาเนียลช่วยให้เขาเผชิญหน้ากับสิงโต แต่สิ่งที่ทำให้เขามีใจสิงห์คือการท้าทายกษัตริย์ดาริอัส (ดู ดาเนียล 6) ความกล้าหาญแบบนั้นเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณแก่ผู้ เกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่กล่าวคำสวดอ้อนวอน คำสวดอ้อนวอนของราชินีเอสเธอร์ได้ให้ความกล้าหาญแบบเดียวกันเพื่อจะเผชิญหน้ากับกษัตริย์อาหสุเอรัส สามีของเธอ โดยที่รู้ว่าเธอเสี่ยงชีวิตในการทำเช่นนั้น (ดู  เอสเธอร์ 4:8–16)

ความกล้าหาญไม่ได้เป็นเพียงคุณธรรมพื้นฐานอย่างหนึ่ง แต่ ซี. เอส. ลิวอิส ให้ข้อสังเกตว่า “ความกล้าหาญคือ …คุณธรรมทุกรูปแบบในยามที่ต้องพิสูจน์ตน…ปิลาตเปี่ยมด้วยความเมตตาจนกลายเป็นความเสี่ยง”1 กษัตริย์เฮโรดเสียพระทัยที่ออกคำสั่งให้ตัดศีรษะยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเพราะเห็นแก่หน้า “แขก” (มัทธิว 14:9) กษัตริย์โนอาห์พร้อมที่จะปล่อยอบินาไดจนกระทั่งได้รับแรงกดดันจากปุโรหิตชั่วร้ายซึ่งทำให้เขาโอนเอน (ดู โมไซยาห์ 17:11–12) กษัตริย์ซาอูลไม่เชื่อฟังพระคำของพระเจ้าโดยทำแต่สงครามเพราะเขา “กลัวพวกพวกทหารและฟังเสียงของพวกเขา” (1 ซามูเอล 15:24) เพื่อเอาใจอิสราเอลที่เป็นกบฎตรงเชิงเขาซีนาย อาโรนหล่อโคทองคำโดยลืมไปว่าเขาหันหน้าไปทางใด (ดู อพยพ 32) เจ้าหน้าที่หลายคนในพันธสัญญาใหม่ “วางใจใน [พระเจ้า] แต่พวกเขาไม่ยอมรับพระองค์อย่างเปิดเผยเพราะกลัวพวกฟาริสี เขากลัวว่าจะถูกขับออกจากธรรมศาลา เพราะว่าพวกเขารักการชมของมนุษย์มากกว่าการชมของพระเจ้า” (ยอห์น 12:42–43) พระคัมภีร์เต็มไปด้วยตัวอย่างเช่นนั้น

ทีนี้ขอให้ฟังตัวอย่างบางเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจ

  • อับดับแรก มอรมอน: “ดูเถิด, พ่อพูดด้วยความอาจหาญ, โดยมีอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า; และพ่อไม่กลัว สิ่งที่มนุษย์จะทำได้; เพราะความรักที่บริบูรณ์ย่อมขับความกลัวออกไปสิ้น.” (โมโรไน 8:16; เพิ่มตัวเอน)

  • นีไฟ: “ดังนั้น, เรื่องอันเป็นที่พอใจแก่โลกข้าพเจ้าไม่เขียน, แต่เขียนเรื่องอันเป็นที่พอพระทัยต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อผู้ที่มิได้เป็นของโลก.” (1 นีไฟ 6:5)

  • แม่ทัพโมโรไน: “ ดูเถิด, ข้าพเจ้าคือโมโรไน, แม่ทัพของท่าน. ข้าพเจ้าไม่ได้แสวงหาอำนาจ, แต่จะดึงมันลงมา. ข้าพเจ้าไม่ได้แสวงหาเกียรติยศของโลก, แต่เพื่อรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า, และอิสรภาพและความผาสุกของประเทศข้าพเจ้า.” (แอลมา 60:36)

โมโรไนมีความกล้าหาญอย่างยิ่งในการจดจำว่าเขาหันหน้าไปทางใดจนมีผู้กล่าวถึงเขาว่า “หากคนทั้งปวงได้เป็นแล้ว, และได้เป็น, และจะเป็นอยู่ตลอดไป, เหมือนกับโมโรไน, ดูเถิด, พลังนั้นของนรกจะสั่นสะเทือนตลอดกาล; แท้จริงแล้ว, มารจะไม่มีวันมีอำนาจเหนือใจลูกหลานมนุษย์.” (แอลมา 48:17)

ศาสดาพยากรณ์ทุกยุคทุกสมัยตกอยู่ภายใต้การจู่โจมจากการชี้นิ้วเยาะเย้ย ทำไมหรือ ตามพระคัมภีร์ เป็นเพราะ “คนผิดรับความจริงได้ยาก, เพราะความจริงบาดพวกเขาถึงส่วนลึกที่สุด.” (1 นีไฟ 16:2) หรือ ดังที่ประธานฮาโรลด์ บี. ลี ให้ข้อสังเกตว่า “นกที่ถูกยิงจะกระพือปีก”2 ในความเป็นจริง ปฏิกริยาเยาะเย้ยคือความพยายามที่เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกผิดเพื่อจะทำให้ตนรู้สึกดี เช่นเดียวกับคอริฮอร์ ซึ่งสุดท้ายก็ยอมรับว่า “ข้าพเจ้ารู้เสมอว่ามีพระผู้เป็นเจ้า.” (แอลมา 30:52) คอริฮอร์เชื่อมั่นในการหลอกลวงของเขามากจนเชื่อคำโกหกของตนเอง (ดู แอลมา 30:53)

คนเยาะเย้ยมักจะแย้งว่าศาสดาพยากรณ์ไม่ได้อยู่ในศตรวรรษที่ 21 หรือเป็นคนมีทิฐิ พวกเขาพยายามชักจูง แม้กระทั่งกดดันศาสนจักรให้ลดมาตรฐานของพระผู้เป็นเจ้าไปสู่ระดับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพวกเขา ในคำพูดของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กเวลลส์กล่าวว่า สิ่งนี้จะ “ทำให้เกิดความพอใจส่วนตนแทนที่จะแสวงหาการปรับปรุงตน”3 และการกลับใจ  การลดมาตรฐานของพระเจ้าไปสู่ระดับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของสังคมคือ—การละทิ้งความเชื่อ สองศตวรรษหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนศาสนจักรหลายแห่งท่ามกลางชาวนีไฟ พวกเขาเริ่ม “ลดระดับ” หลักคำสอน นี่เป็นการขอยืมคำพูดจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์4

ขณะที่ท่านฟังข้อความนี้จาก 4 นีไฟ มองหาสิ่งที่คล้ายกันในยุคสมัยของเรา “และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเมื่อสองร้อยสิบปีผ่านไปมีศาสนจักรหลายแห่งอยู่ในแผ่นดิน; แท้จริงแล้ว, มีหลายศาสนจักรซึ่งประกาศว่ารู้จักพระคริสต์, กระนั้นพวกเขาก็ยังได้ปฏิเสธพระกิตติคุณส่วนใหญ่ของพระองค์, ถึงขนาดที่พวกเขายอมรับความชั่วร้ายนานัปการ, และได้ปฏิบัติสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้นั้นซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวถูกห้ามไว้สำหรับเขาเพราะความไม่มีค่าควร.” (4 นีไฟ 1:27)

เดจาวูในยุคสุดท้าย! สมาชิกบางคนไม่รู้ว่าพวกเขากำลังตกลงไปในบ่วงเดียวกันเมื่อพวกเขาวิ่งเต้นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในท้องที่หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ประเพณีบรรพบุรุษของพวกเขา” (คพ. 93:39) ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของพระกิตติคุณ ยังคนมีคนอื่นๆ ที่หลอกตนเองหรือปฏิเสธตนเอง วิงวอนหรือเรียกร้องให้อธิการลดมาตรฐานกับใบรับรองพระวิหาร การลงนามรับรองสำหรับเข้าเรียน หรือใบสมัครเป็นผู้สอนศาสนา การเป็นอธิการภายใต้ความกดดันเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงชำระพระวิหารเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร (ดู ยอห์น 2:15–16) อธิการในปัจจุบันได้รับเรียกให้ปกป้องมาตรฐานของพระวิหารอย่างองอาจ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เราจะแสดงตนให้ประจักษ์แก่ผู้คนของเราในความเมตตา … หากผู้คนของเราจะรักษาบัญญัติของเรา, และไม่ทำให้นิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แปดเปื้อน.” (คพ. 110:7–8)

พระผู้ช่วยให้รอด พระผู้ทรงเป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ทรงหันพระพักตร์ไปทางพระบิดาเสมอ พระองค์ทรงรักและทรงรับใช้เพื่อนมนุษย์แต่ตรัสว่า “เราไม่ยอมรับเกียรติจากมนุษย์” (ยอห์น 5:41) พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ทรงสอนทำตามพระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงแสวงหาความนิยมชมชอบจากพวกเขา เมื่อพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่เป็นจิตกุศลเช่นการรักษาผู้ป่วย ของประทานมักจะมาพร้อมกับคำขอร้อง “อย่าเล่าให้ใครฟัง” (มัทธิว 8:4; มาระโก 7:36; ลูกา 5:14; 8:56) ส่วนหนึ่งก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงกิตติศัพท์ที่จะติดตามพระองค์ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงพยายามหลีกเลี่ยง (มัทธิว 4:24) พระองค์ทรงประณามพวกฟาริสีที่ทำความดีเพื่อให้คนเห็น (ดู มัทธิว 6:5)

พระผู้ช่วยให้รอด พระสัตภาวะผู้ดีพร้อมเพียงหนึ่งเดียวที่เคยมีชีวิตอยู่ ไม่ทรงเกรงกลัวสิ่งใด ในพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงเผชิญกับผู้กล่าวหาจำนวนมากแต่ไม่ทรงยอมต่อนิ้วที่เยาะเย้ย พระองค์ทรงเป็นเพียงผู้เดียวที่ไม่เคยลืมแม้แต่ครั้งเดียวว่าพระองค์จะทรงหันพระพักตร์ไปทางใด “เราทำตามชอบพระทัย [พระบิดา] เสมอ” (ยอห์น 8:29เพิ่มตัวเอน) และ “เราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 5:30)

ระหว่าง 3 นีไฟบทที่ 11 กับ 3 นีไฟบทที่ 28 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเอ่ยพระนาม พระบิดา อย่างน้อย 163 ครั้ง ทำให้ชาวนีไฟเข้าใจอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพื่อเป็นตัวแทนพระบิดาของพระองค์ และจากยอห์นบทที่ 14 ถึง 17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงอ้างถึงพระบิดาอย่างน้อย 50 ครั้ง พระองค์ทรงเป็นสานุศิษย์ที่ดีพร้อมของพระบิดาในทุกทางที่ทรงทำได้ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนพระบิดาของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบจนกระทั่งการรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดคือการได้รู้จักพระบิดาเช่นกัน การเห็นพระบุตรคือการเห็นพระบิดา (ดู ยอห์น 14:9) การได้ยินพระบุตรคือการได้ยินพระบิดา (ดู ยอห์น 5:36) พระองค์ไม่อาจแยกจากพระบิดาในทุกกรณี พระบิดากับพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว (ดู ยอห์น 17:21–22) พระองค์ทรงทราบแน่นอนว่าพระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทางใด

ขอให้แบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจของพระองค์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราไม่ตกหลุมพรางของคำเยินยอหรือความยโสโอหังจากผู้อื่นหรือจากตัวเราเอง ขอให้แบบอย่างดังกล่าวทำให้เรากล้าหาญ ไม่เกรงกลัวหรือยอมศิโรราบให้แก่ผู้ที่คุกคามเรา ขอให้สิ่งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เราออกไปทำความดีมากที่สุดโดยไม่ออกนามและไม่ “แสวงหาเกียรติจากมนุษย์” (คพ. 121:35) ขอให้แบบอย่างอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์ช่วยให้เราระลึกไว้เสมอว่าอะไรคือ “พระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก” (มัทธิว 22:38) เมื่อผู้อื่นเรียกร้องให้เราขัดขืนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้เราระลึกอยู่เสมอว่าเราคือสานุศิษย์ของใคร และเราหันหน้าไปทางใด นี่คือคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. C. S. Lewis, The Screwtape Letters, rev. ed. (1982), 137–138.

  2. Harold B. Lee, in Mine Errand from the Lord: Selections from the Sermons and Writings of Boyd K. Packer (2008), 356.

  3. Neal A. Maxwell, “Repentance,” Ensign, Nov. 1991, 32.

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “การเรียกให้เป็นเหมือนพระคริสต์,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2014, 35.

พิมพ์