พระเจ้าทรงมีแผนสำหรับเรา!
หากเราดำเนินชีวิตดังที่เราดำเนินอยู่นี้ต่อไป พรที่สัญญาไว้จะเกิดสัมฤทธิผลหรือไม่
นับเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้ที่ผู้พูดการประชุมใหญ่สามัญสามารถเลือกพูดในภาษาของพวกเขาเองได้ ครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าพูดที่แท่นพูดนี้ ข้าพเจ้ากังวลเกี่ยวกับสำเนียงภาษาอังกฤษของข้าพเจ้า ตอนนี้ ข้าพเจ้ากังวลเรื่องความเร็วในการพูดภาษาโปรตุเกสของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่อยากพูดเร็วกว่าคำบรรยาย
เราทุกคนล้วนเคยประสบหรือจะต้องประสบกับช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ในชีวิต ฉันควรเลือกอาชีพนี้หรืออาชีพนั้น ฉันควรรับใช้งานเผยแผ่หรือไม่ นี่เป็นคนที่ถูกต้องที่ฉันจะแต่งงานด้วยหรือไม่
นี้ล้วนเป็นสถานการณ์ในหลายๆ ด้านของชีวิตซึ่งการเปลี่ยนทิศทางสักเล็กน้อยมีผลอย่างใหญ่หลวงต่อผลในภายหน้า ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ กล่าวว่า: “ตลอดหลายปีของการรับใช้พระเจ้า…ข้าพเจ้ารียนรู้ว่าความแตกต่างระหว่างความสุขกับความทุกข์ในแต่ละคน ในชีวิตแต่งงาน และครอบครัว มักเกิดจากความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย” (“เรื่องเล็กๆ น้อยๆ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 70)
เราจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยเหล่านี้ในการคาดคะเนได้อย่างไร
ข้าพเจ้าจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อแสดงถึงข่าวสารของข้าพเจ้า
ในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 1980 ครอบครัวใหม่ของเราประกอบไปด้วยโมนิกา ภรรยาข้าพเจ้า ลูกสองในสี่คนของเรา และข้าพเจ้า เราอยู่ที่เซาเปาลู บราซิล ข้าพเจ้าทำงานให้บริษัทที่ดี ข้าพเจ้าเรียนจบจากมหาวิทยาลัย และเพิ่งได้รับการปลดจากการเป็นอธิการของวอร์ดที่เราอยู่ ชีวิตเราดี และทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นอย่างที่ควรเป็น—จนกระทั่งวันหนึ่งมีเพื่อนเก่าคนหนึ่งแวะมาเยี่ยมเรา
เมื่อเขาใกล้จะกลับ เขาพูดและถามคำถามที่ทำให้ความเชื่อมั่นของข้าพเจ้าสั่นคลอน เขาพูดว่า “คาร์ลอส ทุกอย่างดูเหมือนกำลังไปได้ดีสำหรับคุณ ครอบครัวของคุณ อาชีพของคุณ และการรับใช้ของคุณในศาสนจักร แต่—” แล้วเขาก็ถามคำถาม “ถ้าคุณดำเนินชีวิตอย่างที่คุณดำเนินอยู่นี้ต่อไป พรที่สัญญาไว้ในปิตุพรของคุณจะเกิดสัมฤทธิผลหรือไม่”
ข้าพเจ้าไม่เคยคิดถึงปิตุพรแบบนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอ่านเป็นครั้งคราวแต่ไม่เคยตั้งใจรอคอยพรที่สัญญาไว้ในอนาคตและประเมินว่าข้าพเจ้าดำเนินชีวิตอย่างไรในปัจจุบัน
หลังจากที่เขามาเยี่ยม ข้าพเจ้าหันไปสนใจปิตุพรของข้าพเจ้า โดยคิดว่า “หากเราดำเนินชีวิตดังที่เราดำเนินอยู่นี้ต่อไป พรที่สัญญาไว้จะเกิดสัมฤทธิผลหรือไม่” หลังจากไตร่ตรองสักพัก ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพของข้าพเจ้า
ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจว่าอะไรถูกหรือผิดแต่เป็นการตัดสินใจว่าอะไรดีหรือดีกว่า ดังที่เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนเราเมื่อท่านกล่าวว่า “ขณะที่เราพิจารณาการเลือกต่างๆ เราควรจำไว้ว่าไม่เพียงพอที่บางสิ่งนั้นดี ทางเลือกอื่นๆ ดีกว่า และยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกที่ดีที่สุด” (“ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133).
แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเรากำลังตัดสินใจอย่างดีที่สุด
นี่คือหลักธรรมที่ข้าพเจ้าเรียนรู้
หลักธรรมข้อที่หนึ่ง: เราต้องพิจารณาทางเลือกของเราโดยมีเป้าหมายอยู่ในใจ
การตัดสินใจที่จะส่งผลต่อชีวิตของเราและคนที่เรารักโดยปราศจากการมองเห็นภาพกว้างของผลลัพธ์จะทำให้เกิดความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากเราคาดหมายผลลัพธ์ที่เป็นไปได้จากการตัดสินใจเหล่านี้ในอนาคต เราจะเห็นทางที่ดีที่สุดที่ต้องเดินในปัจจุบันได้ชัดยิ่งขึ้น
การเข้าใจว่าเราเป็นใคร เราอยู่ที่นี่ทำไม และพระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากเราในชีวิตนี้จะช่วยให้เรามีวิสัยทัศน์กว้างไกลยิ่งขึ้นอย่างที่เราต้องการ
เราจะพบแบบอย่างในพระคัมภีร์ซึ่งการมองภาพกว้างทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะไปทางไหน
โมเสสพูดกับพระเจ้าตรงหน้า เรียนรู้เกี่ยวกับแผนแห่งความรอด และด้วยเหตุนั้น จึงเข้าใจบทบาทของท่านในฐานะศาสดาพยากรณ์ในการรวบรวมอิสราเอลมากยิ่งขึ้น
“และพระผู้เป็นเจ้ารับสั่งกับโมเสส, โดยตรัสว่า: ดูเถิด, เราคือพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ …
“…และเราจะให้เจ้าเห็นหัตถศิลป์จากมือเรา …
“และเรามีงานอย่างหนึ่งให้เจ้า, โมเสส, บุตรของเรา” (โมเสส 1:3–4, 6)
ด้วยความเข้าใจนี้ โมเสสสามารถทนความยากลำบากในทะเลทรายหลายปีและนำอิสราเอลกลับไปบ้านของพวกเขา
ลีไฮ ศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ในพระคัมภีร์มอรมอน นิมิตฝันและในนิมิตของท่าน ท่านเรียนรู้ถึงพันธกิจของท่านในการนำครอบครัวท่านไปสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา
“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือพระเจ้าทรงบัญชาบิดาข้าพเจ้า, แม้ในความฝัน, ว่าท่านควรพาครอบครัวของท่านออกไปในแดนทุรกันดาร.
“… และท่านทิ้งบ้านท่าน, และแผ่นดินแห่งมรดกของท่าน, และทองของท่าน, และเงินของท่าน, และของมีค่าของท่าน” (1 นีไฟ 2:2, 4)
ลีไฮยังคงซื่อสัตย์ต่อนิมิตนี้แม้ว่าจะประสบกับความยากลำบากในการเดินทางและต้องทิ้งชีวิตสะดวกสบายในเยรูซาเล็มไว้เบื้องหลัง
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง โดยผ่านทางการเปิดเผยหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่นิมิตแรก ท่านสามารถทำพันธกิจในการฟื้นฟูทุกสิ่งได้เสร็จสมบูรณ์ (ดูโจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1–26)
แล้วเราล่ะ พระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากเราแต่ละคน
เราไม่จำเป็นต้องเห็นเทพเพื่อได้รับความเข้าใจ เรามีพระคัมภีร์ พระวิหาร ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต ปิตุพรของเรา ผู้นำที่ได้รับการดลใจ และเหนือสิ่งอื่นใด เรามีสิทธิ์ได้รับการเปิดเผยส่วนตัวเพื่อนำการตัดสินใจของเรา
หลักธรรมข้อที่สอง: เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับการท้าทายที่จะมาถึง
น้อยมากที่ทางที่ดีที่สุดจะง่ายที่สุด บ่อยครั้งจะตรงกันข้าม เราสามารถมองดูแบบอย่างของศาสดาพยากรณ์ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึง
โมเสส ลีไฮ และโจเซฟ สมิธไม่ได้มีเส้นทางที่ง่ายถึงแม้ว่าการตัดสินใจของพวกท่านถูกต้อง
เราเต็มใจจะจ่ายราคาการตัดสินใจของเราหรือไม่ เราเตรียมเพื่อออกจากที่ที่เราสบายใจไปในที่ที่ดีกว่าหรือไม่
กลับไปที่ประสบการณ์เกี่ยวกับปิตุพรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้บทสรุปในเวลานั้นว่าข้าพเจ้าควรมุ่งศึกษาเพิ่มเติมและสมัครรับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน หากข้าพเจ้าได้รับเลือก ข้าพเจ้าต้องออกจากงาน ขายทุกอย่างที่เรามี และมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาสองปีในฐานะนักเรียนทุน
การสอบเช่น TOEFL และ GMAT เป็นความท้าทายแรกๆ ที่ต้องเอาชนะ ซึ่งใช้เวลาเตรียมตัวนานถึงสามปี หลายครั้งข้าพเจ้าพบทั้งคำว่า “ไม่” หรือ “อาจจะ” กว่ามหาวิทยาลัยจะรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังจำโทรศัพท์ที่ข้าพเจ้าได้รับในช่วงสิ้นปีที่สามจากคนที่ดูแลทุนการศึกษา
เขาบอกว่า “คาร์ลอส ผมมีข่าวดีและข่าวร้ายมาบอกคุณ ข่าวดีคือคุณคือหนึ่งในผู้เข้ารอบสามคนสุดท้ายในปีนี้” ขณะนั้นมีเปิดเพียงหนึ่งทุน “ข่าวร้ายคือหนึ่งในผู้สมัครเป็นลูกชายของคนสำคัญ และอีกคนก็เป็นลูกชายของคนสำคัญอีกคน แล้วก็มีคุณ”
ข้าพเจ้าตอบทันทีว่า “และผม…ผมเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า”
น่ายินดี ที่บิดามารดาทางโลกไม่ได้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจ และผมได้รับทุนในปีนั้น ในปี 1992
เราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ พระองค์ทรงเป็นบิดาของเรา พระองค์ทรงรักเรา และพระองค์ทรงมีแผนสำหรับเรา เราไม่ได้อยู่ที่นี่ในชีวิตนี้เพื่อจะเสียเวลาไปเปล่าๆ มีอายุมากขึ้น แล้วก็ตาย พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราเติบโตและบรรลุศักยภาพของเรา
ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า “พวกท่านทุกคน ไม่ว่าโสดหรือแต่งงานแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด มีโอกาสเรียนรู้และเติบโต จงขยายความรู้ทั้งทางด้านสติปัญญาและทางวิญญาณให้แก่รูปลักษณ์ที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพแห่งสวรรค์ของท่าน” (“พลังยิ่งใหญ่ของสมาคมสงเคราะห์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 115)
หลักธรรมข้อที่สาม: เราต้องแบ่งปันวิสัยทัศน์นี้กับคนที่เรารัก
ลีไฮพยายามมากกว่าสองสามครั้งเพื่อช่วยเลมันกับเลมิวเอลเข้าใจความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขากำลังทำให้เกิดขึ้น ความจริงที่ว่าพวกเขาไม่ได้มีวิสัยทัศน์เดียวกันกับบิดาของตนทำให้พวกเขาพร่ำบ่นระหว่างเดินทาง ตรงกันข้าม นีไฟแสวงหาพระเจ้าเพื่อเห็นสิ่งที่บิดาท่านเห็น
“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นหลังจากข้าพเจ้า, นีไฟ, ได้ยินคำทั้งหมดของบิดาข้าพเจ้า, เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านเห็นในนิมิต,…ข้าพเจ้า…ปรารถนาด้วยว่าข้าพเจ้าจะเห็น, และได้ยิน, และรู้ถึงเรื่องเหล่านี้, โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (1 นีไฟ 10:17)
ด้วยนิมิตนี้ นีไฟไม่เพียงเอาชนะการท้าทายของการเดินทางแต่ยังนำครอบครัวของท่านเมื่อถึงคราวจำเป็น
มีแนวโน้มมากว่าเมื่อเราตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง คนที่เรารักจะได้รับผลกระทบ และบางคนจะได้รับผลของการเลือกนี้ร่วมกับเราด้วย หากเป็นไปได้ พวกเขาควรจะเห็นสิ่งที่เราเห็นได้และมีความเชื่อเดียวกับเราได้ แต่เป็นไปไม่ได้เสมอไป ทว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้น การเดินทางจะราบรื่นขึ้น
ประสบการณ์ส่วนตัวที่ข้าพเจ้าใช้เป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าต้องการการสนับสนุนจากภรรยาข้าพเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัยเลย ลูกๆ ยังเด็กและไม่มีอะไรจะพูดมากนัก แต่การสนับสนุนจากภรรยาของข้าพเจ้าสำคัญ ข้าพเจ้าจำได้ว่า โมนิกาและข้าพเจ้าต้องคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแผนอย่างระมัดระวังจนกระทั่งเธอรู้สึกสบายใจและรู้สึกมุ่งมั่นด้วย วิสัยทัศน์ร่วมกันนี้ไม่เพียงทำให้เธอสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแต่เป็นส่วนสำคัญยิ่งในความสำเร็จนั้น
ข้าพเจ้าทราบว่าพระเจ้าทรงมีแผนสำหรับเราในชีวิตนี้ พระองค์ทรงรู้จักเรา พระองค์ทรงรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา เพียงเพราะว่าทุกสิ่งไม่ราบรื่นไม่ได้หมายความว่าในบางครั้งบางคราวเราไม่ควรคิดว่าอาจจะมีสิ่งที่ดีกว่า หากเรายังคงดำเนินชีวิตอย่างที่เราดำเนินชีวิตอยู่ พรที่สัญญาไว้จะมีสัมฤทธิผลหรือไม่
พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเรา พระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์ และข้าพเจ้าทราบว่าโดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์เราจะพบความเข้มแข็งในการเอาชนะความท้าทายในทุกวันของเรา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน