“29 มิถุนายน–5 กรกฎาคม แอลมา 23–29: พวกเขา ‘ไม่เคยตกเลย’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“29 มิถุนายน–5 กรกฎาคม แอลมา 23–29” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020
29 มิถุนายน–5 กรกฎาคม
แอลมา 23–29
พวกเขา “ไม่เคยตกเลย”
ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 23–29 พึงจดจำว่าเพื่อช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้ความจริงในบทเหล่านี้ ท่านต้องมีประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยความหมายกับความจริงเหล่านี้ด้วยตัวท่านเอง
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนข้อที่สะดุดใจพวกเขาระหว่างการศึกษาเป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัวไว้บนกระดาน ใช้เวลาสองสามนาทีเชิญหลายๆ คนพูดถึงความจริงที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อที่เขียนไว้
สอนหลักคำสอน
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เปลี่ยนชีวิตเรา
-
ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราทุกคนกำลังขวนขวายทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราลึกซึ้งขึ้น บางทีเรื่องราวของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮอาจจะให้กำลังใจคนที่ท่านสอนขณะพวกเขาพยายามทำสิ่งนี้ ท่านอาจจะเริ่มโดยเขียนคำถามทำนองนี้บนกระดาน: เปลี่ยนใจเลื่อมใสหมายความว่าอย่างไร หรือ การเปลี่ยนแปลงแบบใดเกิดขึ้นในชีวิตผู้คนเมื่อพวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส สมาชิกชั้นเรียนจะมองหาคำตอบในข้อต่อไปนี้: แอลมา 23:6–7, 17–18; 24:17–19; 25:15–16; และ 27:26–30 พวกเขาสามารถแบ่งปันข้อคิดจากข้ออื่นที่พวกเขาอ่านใน แอลมา 23–25 และ 27 ได้ด้วย สมาชิกชั้นเรียนอาจพบคำตอบที่มีประโยชน์ต่อคำถามเหล่านี้ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เรื่อง “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 106–109; ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮทำการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างอันเนื่องจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขา แบบอย่างของพวกเขาสร้างแรงบันดาลใจให้เราเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ลึกซึ้งขึ้นอย่างไร
-
ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนทิ้งประเพณีเท็จและฝังอาวุธแห่งการกบฏเช่นเดียวกับชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮได้อย่างไร ท่านอาจจะทบทวน แอลมา 23:5–7 ด้วยกัน พระกิตติคุณช่วยให้เราพัฒนาประเพณีดีๆ อะไรบ้าง “อาวุธแห่งการกบฏ” ของชาวเลมันน่าจะหมายถึงอะไรในสมัยของเรา เราจะ “ฝังมันไว้ลึกในดิน” ได้อย่างไร (แอลมา 24:17) เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาต้องทิ้งประเพณีเท็จหรืออาวุธแห่งการกบฏอะไรบ้างเพื่อพวกเขาจะสามารถดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณได้ครบถ้วนมากขึ้น
โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการให้อภัยเมื่อเรากลับใจ
-
ถ้าท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ชั้นเรียนสนทนาเรื่องการกลับใจ เรื่องราวของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮใน แอลมา 24 เป็นแบบอย่างที่น่าจะนำมาใช้ ท่านอาจจะมอบหมายให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านคนละข้อจาก แอลมา 24:7–16 และขอให้พวกเขาเขียนบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อที่อ่านเกี่ยวกับการกลับใจไว้บนกระดาน จากนั้นพวกเขาจะค้นคว้าพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อหาข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกลับใจ: อิสยาห์ 53:5–6; 2 นีไฟ 2:6–8; และ โมไซยาห์ 5:2
พระกิตติคุณทำให้เกิดปีติ
-
ใน แอลมา 23–29 ปรากฏคำว่า “ปีติ” 24 ครั้ง ทำให้ข้อเหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีว่าการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ—และการแบ่งปันพระกิตติคุณ—ทำให้เกิดปีติอย่างไร ท่านจะแบ่งสมาชิกชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ และขอให้แต่ละกลุ่มทบทวนบางข้อต่อไปนี้ โดยมองหาเหตุผลว่าทำไมแอมัน พวกบุตรของโมไซยาห์ และแอลมาจึงชื่นชมยินดี: แอลมา 24:13–15; 26:12–22; และ 29:1–17 สมาชิกชั้นเรียนจะเขียนสิ่งที่พบไว้บนกระดาน เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่พระกิตติคุณทำให้เราเกิดปีติ
-
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “เมื่อศูนย์กลางของชีวิตเราอยู่ที่แผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า … และพระเยซูคริสต์กับพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะรู้สึกปีติได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น—หรือไม่เกิดขึ้น—ในชีวิตเรา ปีติมาจากพระองค์และมาเพราะพระองค์ พระองค์ทรงเป็นที่มาของปีติทั้งปวง” (“ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยช่วยให้พวกเขาเข้าใจความจริงจากคำพูดของประธานเนลสัน
-
แอลมากับแอมันพบปีติใหญ่หลวงในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหาข้อต่างๆ ใน แอลมา 26 และ 29 ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวอยากรับใช้งานเผยแผ่—หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ใครก็ได้อยากแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีวางแผนบางสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณ เชื้อเชิญให้พวกเขาทำตามแผน และในชั้นเรียนคราวหน้าท่านจะกระตุ้นพวกเขาให้พูดถึงความพยายามเหล่านี้
-
เมื่อแอลมาช่วยให้ผู้อื่นกลับใจ นั่นทำให้เขานึกถึงพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 29:10–13) ท่านอาจจะให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีศึกษาข้อเหล่านี้และเขียนสิ่งที่แอลมาจดจำและระลึกถึง อะไรเตือนให้เราระลึกถึงพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้า เราเคยเห็นพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราอย่างไร
เราสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า
-
เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนสำรวจความหมายของการเป็น “เครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 26:3) ท่านอาจจะให้ดูเครื่องมือหลายๆ แบบ ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนำเครื่องมือบางอย่างที่พวกเขาใช้มาด้วย เครื่องมือเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร เราเป็นเหมือนเครื่องมือในงานของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนระบุวิธีที่แอลมากับเพื่อนผู้สอนศาสนาของเขาเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดูตัวอย่างใน แอลมา 26:1–5, 11–12) เราได้ข้อคิดอะไรบ้างจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 4 เกี่ยวกับการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์พระองค์ สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาเคยรู้สึกถึงปีติที่มาจากการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
แนวคิดผิดๆ มากมายแบบนี้ที่ชักนำบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันนี้ให้หลงผิดมีให้เห็นในสมัยของแอลมาเช่นกัน บอกสมาชิกชั้นเรียนว่าใน แอลมา 30–31 พวกเขาจะเห็นว่าแอลมาและคนอื่นๆ ตอบรับคำสอนเท็จเหล่านี้อย่างไร
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า
“แก่นสารแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานและถาวรในธรรมชาติวิสัยของเราซึ่งเกิดขึ้นได้โดยผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ จิตใจ และชีวิตให้ยอมรับและทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู กิจการของอัครทูต 3:19; 3 นีไฟ 9:20) รวมถึงความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์”
หลังจากอ้าง แอลมา 23:6–8 เอ็ลเดอร์เบดนาร์อธิบายต่อไปว่า
“องค์ประกอบสำคัญสองประการที่อธิบายไว้ในข้อเหล่านี้คือ (1) ความรู้เรื่องความจริง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นประจักษ์พยาน และ (2) เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ การผสมผสานที่มีประสิทธิภาพทั้งของประจักษ์พยานกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้าจึงทำให้เกิดความมั่นคงแน่วแน่และให้ความคุ้มครองทางวิญญาณ
“พวกเขาไม่เคยตกและวาง ‘อาวุธแห่งการกบฏของตนแล้ว, คือพวกเขาไม่ต่อสู้พระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป’ การวาง ‘อาวุธแห่งการกบฏ’ ที่เรายึดมั่นเช่น ความเห็นแก่ตัว ความหยิ่งจองหอง และความไม่เชื่อฟังเรียกร้องมากกว่าการเชื่อฟังและรู้เพียงอย่างเดียว ความเชื่อมั่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การกลับใจ และความว่าง่ายเกิดขึ้นก่อนการทิ้งอาวุธแห่งการกบฏของเรา ท่านกับข้าพเจ้ายังคงครอบครองอาวุธแห่งการกบฏที่กีดกันเราจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้าอยู่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น เราต้องกลับใจเดี๋ยวนี้
“โปรดทราบว่าชาวเลมันไม่ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาผู้สอนศาสนาที่สอนพวกเขาหรือโปรแกรมอันยอดเยี่ยมของศาสนจักร พวกเขาไม่ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาบุคลิกภาพของผู้นำหรือเพื่อสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมหรือประเพณีบรรพบุรุษ แต่เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า—มาหาพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและมาหาความเป็นพระผู้เป็นเจ้าและหลักคำสอนของพระองค์—และพวกเขาไม่เคยตกเลย” (“เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 107–109)