“20–26 กรกฎาคม แอลมา 36–38: ‘พึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“20–26 กรกฎาคม แอลมา 36–38” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020
20–26 กรกฎาคม
แอลมา 36–38
“พึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต”
ขณะที่ท่านเตรียมสอน พึงจดจำว่าสมาชิกชั้นเรียนอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับ แอลมา 36–38 ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อต่อยอดประสบการณ์เหล่านั้น
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
วิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในพระคัมภีร์คือแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและมอบหมายให้อ่านกลุ่มละบทจาก แอลมา 36–38 ให้แต่ละกลุ่มหาและแบ่งปันข้อที่สร้างแรงบันดาลใจจากบทที่พวกเขาอ่าน
สอนหลักคำสอน
เราสามารถเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราถ่อมตนและกลับใจ
-
สมาชิกบางคนในชั้นเรียนของท่านอาจสงสัยว่าทำไมพวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันน่าทึ่งเหมือนแอลมา นี่อาจจะช่วยพวกเขาได้ถ้าท่านแบ่งปันสิ่งที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอน “สำหรับเราส่วนใหญ่ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสมักจะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวจากประสบการณ์อันทรงพลังหรือน่าทึ่ง” (“เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 108) ถึงแม้บางอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมานั้นหาได้ยาก แต่ประสบการณ์ของเขาสอนหลักธรรมที่เราทุกคนต้องประยุกต์ใช้กับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสต่อเนื่องของเราเอง ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า แอลมา 36 เพื่อหาหลักธรรมเหล่านี้และเขียนเป็นข้อๆ บนกระดาน อะไรอีกบ้างที่ได้ช่วยให้เราเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มากขึ้น
-
แอลมาใช้วลี “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า” เพื่ออธิบายการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจแนวความคิดนี้ ท่านจะให้พวกเขาอ่านข้อต่อไปนี้เป็นส่วนตัวหรือกับคู่ โดยมองหาความหมายของการเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า: 1 ยอห์น 4:7; โมไซยาห์ 5:7; 27:25–26; และ แอลมา 5:14; 22:15 ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ จากนั้นพวกเขาจะค้นคว้า แอลมา 36 เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้: ผู้คนรู้สึกและปฏิบัติอย่างไรเมื่อพวกเขาเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ท่านจะแบ่งปันคำกล่าวของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”
พระคัมภีร์สงวนไว้ “เพื่อจุดประสงค์อันชาญฉลาด”
-
การศึกษาถ้อยคำของแอลมาขณะที่เขามอบบันทึกศักดิ์สิทธิ์ให้ฮีลามันบุตรชายอาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนบอกได้ว่าพวกเขารู้สึกถึงพลังของพระคัมภีร์ในชีวิตพวกเขาอย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาทบทวน แอลมา 37 เพื่อหาข่าวสารที่แอลมาให้แก่ฮีลามันเกี่ยวกับพระคัมภีร์ (ดู ข้อ 1–19 และ 43–47 เป็นพิเศษ) เราแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ต่อเรา เราจะสอนคนที่เรารักเหมือนแอลมาสอนให้ “รักษาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดให้ศักดิ์สิทธิ์” ได้อย่างไร (แอลมา 37:2) พระคัมภีร์ “แสดงเดชานุภาพของ [พระผู้เป็นเจ้า] ให้ปรากฏ” ต่อเราอย่างไร (แอลมา 37:14)
-
วิธีหนึ่งที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพรของการมีพระคัมภีร์คือศึกษาสิ่งที่แอลมากล่าวไว้ใน แอลมา 37 เกี่ยวกับบันทึกศักดิ์สิทธิ์และสิ่งอื่นที่เขามอบให้ฮีลามันดูแล ท่านจะเขียนชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นไว้บนกระดาน: แผ่นจารึกของนีไฟและแผ่นจารึกทองเหลือง (แอลมา 37:2–20) แผ่นจารึกยี่สิบสี่แผ่นของอีเธอร์และเครื่องแปลความหมาย (แอลมา 37:21–37) และเลียโฮนา (แอลมา 37:38–47) สมาชิกชั้นเรียนจะอ่านข้อเหล่านี้เพื่อเรียนรู้ว่าแอลมาสอนอะไรเกี่ยวกับของแต่ละอย่างนี้ พระคัมภีร์ขยายความทรงจำของเราในด้านใด (ดู แอลมา 37:8) เราสามารถเรียนรู้อะไรจากถ้อยคำของแอลมาเกี่ยวกับพรของการมีพระคัมภีร์ในชีวิตเราทุกวันนี้
“โดยเรื่องเล็กและเรียบง่ายสิ่งสำคัญจะเกิดขึ้น”
-
เพื่อสอนเรื่องความสำคัญของ “เรื่องเล็กและเรียบง่าย” ในงานของพระผู้เป็นเจ้า แอลมายกมาสองตัวอย่าง คือ พระคัมภีร์กับเลียโฮนา (ดู แอลมา 37:6–7, 41–42; ดู 1 นีไฟ 17:41ด้วย) หลังจากทบทวนตัวอย่างเหล่านี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะยกตัวอย่างของเรื่องเล็กและเรียบง่ายในงานของพระผู้เป็นเจ้าจากชีวิตของพวกเขาเอง ท่านอาจต้องการติดต่อสมาชิกชั้นเรียนหนึ่งหรือสองคนล่วงหน้าและขอให้พวกเขานำของเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เกิดสิ่งสำคัญในชีวิตพวกเขามาชั้นเรียน ท่านจะแบ่งปันคำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนทำให้หลักธรรมนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ท่านจะถามคำถามทำนองนี้: เหตุใดบางครั้งเราจึงไม่ทำเรื่องเล็กและเรียบง่าย เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเราเองและครอบครัวเราเอาชนะนิสัยนี้ได้อย่างไร
พระวจนะของพระคริสต์สามารถนำทางเราวันแล้ววันเล่า
-
การเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเลียโฮนาจะดลใจสมาชิกชั้นเรียนให้ขยันหมั่นเพียรและสม่ำเสมอมากขึ้นในการอ่านพระคัมภีร์ เพื่อนำทางการสนทนาเรื่องนี้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนจับคู่กันอ่าน แอลมา 37:38–47 โดยมองหาความคล้ายคลึงระหว่างเลียโฮนากับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะท้าทายพวกเขาให้หาความคล้ายคลึงในแต่ละข้อ จากนั้นท่านจะเขียนเลขข้อแต่ละข้อไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนความคล้ายคลึงที่พบไว้ข้างๆ เลขข้อ การเปรียบเทียบนี้บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรใช้ศึกษาพระคัมภีร์
การแบ่งปันประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จะทำให้คนที่เรารักเข้มแข็ง
-
ถ้อยคำของแอลมาถึงชิบลันบุตรชายให้ตัวอย่างที่ดีของวิธีเสริมสร้างความเข้มแข็งและกระตุ้นคนที่เรารักให้ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่านบทนี้และระบุว่าแอลมาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชิบลันอย่างไร แอลมา 38 เป็นบทสั้นๆ—ท่านอาจจะตัดสินใจให้ชั้นเรียนอ่าน จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันข้อที่พวกเขาพบว่ามีควาหมายหรือให้แนวคิดแก่พวกเขาสำหรับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
สมาชิกชั้นเรียนเคยสงสัยหรือไม่ว่าจะให้คำแนะนำคนที่พวกเขารักผู้ทำความผิดร้ายแรงอย่างไร อธิบายว่าพวกเขาจะพบข้อคิดที่เป็นประโยชน์ใน แอลมา 39–42
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเปรียบเสมือนการเกิดใหม่
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “เมื่อเราประสบการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์เท่านั้น และผ่านการทำงานของพระวิญญาณกับเรา นั่นเสมือนหนึ่งเรากลายเป็นคนใหม่ ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงจึงเปรียบเสมือนการเกิดใหม่ พวกท่านหลายพันคนเคยประสบการเปลี่ยนแปลงนี้ ท่านเคยละทิ้งชีวิตที่ทำบาป บางครั้งเป็นบาปร้ายแรงและน่ารังเกียจ และกลับสะอาดผ่านการใช้พระโลหิตของพระคริสต์ในชีวิตท่าน ท่านไม่มีใจจะกลับไปสู่วิถีเดิมๆ อีก ท่านเป็นคนใหม่อย่างแท้จริง นี่คือความหมายของการเปลี่ยนแปลงในใจ” (“A Mighty Change of Heart,” Ensign, Oct. 1989, 4)
เรื่องเล็กและเรียบง่าย
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า
“ข้าพเจ้านึกถึงพลังของเรื่องเล็กและเรียบง่ายที่สั่งสมผ่านกาลเวลาจากบางสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นเวลาออกไปเดินเล่นยามเช้า … ทางเท้าคอนกรีตที่หนาและแข็งแรงกำลังมีรอยแตก สิ่งนี้เกิดจากแรงผลักดันอันทรงพลังมหาศาลจากใต้พื้นดินหรือไม่ เปล่าเลย รอยแตกนี้เกิดจากการเติบโตอย่างช้าๆ และเล็กๆ ของรากไม้รากหนึ่งที่งอกมาจากต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียง
เช่นเดียวกับผลกระทบอันทรงพลังจากกาลเวลาที่ผ่านไปของเรื่องเล็กและเรียบง่ายที่เราเรียนรู้จากพระคัมภีร์และศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ ลองพิจารณาการศึกษาพระคัมภีร์ที่เราเรียนรู้ว่าให้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา หรือพิจารณาถึงการสวดอ้อนวอนส่วนตัวและการคุกเข่าสวดอ้อนวอนกับครอบครัวซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยปกติของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ … แม้ธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กและเรียบง่าย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าและการเติบโตทางวิญญาณที่ทรงพลัง สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเรื่องเล็กและเรียบง่ายแต่ละอย่างนี้อัญเชิญความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระผู้ทรงเป็นพยานผู้ให้ความสว่างและนำทางเราสู่ความจริง” (“เรื่องเล็กและเรียบง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 90)