“26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6: ‘ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2020
26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน
มอรมอน 1–6
“ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ”
ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 1–6 ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้ชั้นเรียนของท่านยังคงซื่อสัตย์ในเวลาของความชั่วร้ายเช่นเดียวกับมอรมอน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
บางครั้งสมาชิกลังเลไม่กล้าแบ่งปันข้อคิดเพราะพวกเขาไม่มีเวลาจัดระเบียบความคิดของตน เพื่อช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องนี้ จงให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีจดข้อคิดที่ได้จากการศึกษา มอรมอน 1–6 ที่บ้าน แล้วขอให้พวกเขาแบ่งปัน
สอนหลักคำสอน
เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมแม้มีความชั่วร้ายอยู่รอบด้าน
-
สมาชิกชั้นเรียนหลายคนสามารถเข้าใจประสบการณ์ของมอรมอนกับการพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในโลกที่ชั่วร้าย พวกเขาอาจจะแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างของมอรมอน เพื่อช่วยทำให้การสนทนานี้ง่ายขึ้น ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหาข้อที่ระบุคุณสมบัติของมอรมอนและเขียนคุณสมบัติเหล่านั้นเป็นข้อๆ บนกระดาน (ดูตัวอย่างใน มอรมอน 1:2–3, 15–16; 2:1, 23–24; 3:1–3, 12, 17–22) คุณสมบัติเหล่านี้ได้ช่วยให้มอรมอนยังคงเข้มแข็งทางวิญญาณอย่างไร และจะช่วยให้เราเป็นเหมือนมอรมอนมากขึ้นได้อย่างไร
-
มอรมอนเขียนตรงไปตรงมาถึงผู้คนในสมัยของเราบ่อยครั้ง เราสามารถเรียนรู้อะไรจากถ้อยคำของเขาถึงเราใน มอรมอน 3:17–22 และ 5:10–24 แจกกระดาษให้สมาชิกชั้นเรียนคนละแผ่นโดยมีวลี “คำแนะนำของมอรมอนถึงเรา” เขียนไว้ด้านบน และกระตุ้นให้พวกเขาหาข่าวสารในข้อเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับสมัยของเรา เราจะประยุกต์ใช้คำแนะนำของมอรมอนเพื่อช่วยให้เราเข้มแข็งทางวิญญาณอยู่ในโลกทุกวันนี้ได้อย่างไร
-
ถ้าท่านสอนเยาวชน ท่านจะใช้แบบอย่างของมอรมอนช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาสามารถเป็นผู้นำที่ชอบธรรมได้เมื่ออายุยังน้อย ถ้าท่านสอนผู้ใหญ่ ท่านจะใช้แบบอย่างนี้กระตุ้นให้สนทนาเกี่ยวกับโอกาสในการช่วยให้เยาวชนเป็นผู้นำที่ดี เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนบางคนทบทวน มอรมอน 1 และคนอื่นๆ ทบทวน มอรมอน 2 โดยสังเกตโอกาสที่มอรมอนได้เป็นผู้นำในช่วงที่อายุยังน้อย เขามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่ทำให้เขาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ สมาชิกชั้นเรียนจะยกตัวอย่างที่พวกเขาเคยเห็นอิทธิพลอันทรงพลังของเด็กและเยาวชนที่ชอบธรรม พวกเขาจะพูดถึงโอกาสที่พวกเขา—หรือเยาวชนที่พวกเขารู้จัก—ต้องเป็นผู้นำที่มีคุณสมบัติเหมือนมอรมอน
การกลับใจเรียกร้องใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด
-
เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างโทมนัสที่นำไปสู่การกลับใจกับโทมนัสที่ไม่นำไปสู่การกลับใจ ท่านจะอ่าน มอรมอน 2:10–15 ด้วยกันและสนทนาคำถามที่ว่า “โทมนัส” มีบทบาทอะไรในการกลับใจ อะไรคือความแตกต่างระหว่าง “โทมนัส … เพื่อการกลับใจ” กับ “โทมนัสของผู้ที่อัปมงคล” เจตคติและพฤติกรรมใดบ้างสามารถช่วยให้เรามี “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด”
เราสามารถรักผู้อื่นแม้เราไม่เห็นด้วยกับการเลือกของพวกเขา
-
เช่นเดียวกับมอรมอน สมาชิกหลายคนในชั้นของท่านสนิทสนมกับคนที่มีความเชื่อต่างจากพวกเขา ท่านจะใช้ประสบการณ์ของมอรมอนสอนสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับการรักผู้อื่นแม้มีความแตกต่างได้อย่างไร ท่านอาจจะอ่าน มอรมอน 3:12 ด้วยกัน และพูดถึงคราวที่มอรมอนแสดงความรักต่อคนที่ปฏิเสธข่าวสารของเขาและจงใจกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า (ดูตัวอย่างใน มอรมอน 1:16–17; 2:12) สมาชิกชั้นเรียนสามารถแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างจากชีวิตพวกเขาเองเกี่ยวกับการรักคนที่มีความเชื่อหรือค่านิยมต่างจากพวกเขา คำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะให้คำแนะนำเพิ่มเติม
พระเยซูคริสต์ทรงยืนกางพระพาหุรับเรา
-
สำหรับคนที่อาจไม่มีความหวังว่าพวกเขาจะได้รับการอภัยบาป คำบรรยายของมอรมอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยืน “กางพระพาหุรับท่าน” จะให้ความมั่นใจอีกครั้ง ท่านอาจจะอ่าน โมโรไน 6:17 ด้วยกันและให้ดูภาพพระเยซูทรงกางพระหาหุ (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 66) ข้อนี้สอนอะไรเกี่ยวกับความกระตือรือร้นของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะช่วยเรา ท่านอาจจะร่วมกันร้องเพลงสวดเพลงหนึ่งที่สอนข่าวสารคล้ายกัน เช่น “มาหาพระเยซู” (เพลงสวด บทเพลงที่ 49) ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย และขอให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนาว่าเราจะช่วยให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างไรว่าการกลับใจอยู่ในวิสัยที่ทำได้
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ท่านจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะเขียนในจดหมายถึงผู้คนในอนาคต ใน โมโรไน 7–9 เราอ่านสิ่งที่มอรมอนและโมโรไนเขียนเมื่อหลายศตวรรษก่อนถึงผู้คนในสมัยของเรา
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
รักคนที่เชื่อต่างจากเรา
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายว่า
“เราทุกคนควรทำตามคำสอนพระกิตติคุณให้รักเพื่อนบ้านของเราและหลีกเลี่ยงการโต้เถียง ผู้ติดตามพระคริสต์ควรเป็นแบบอย่างของการเป็นพลเมืองดี เราพึงรักทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดี และแสดงความห่วงใยต่อความเชื่ออันจริงใจของพวกเขา แม้เราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ควรหยาบคาย จุดยืนและการสื่อสารของเราในหัวข้อซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันไม่ควรก่อให้เกิดความขัดแย้ง เราควรฉลาดเมื่อกำลังอธิบายและปฏิบัติตามจุดยืนของเรา และเมื่อเรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น ในการทำเช่นนั้น เราขอให้ผู้อื่นไม่ขุ่นเคืองต่อความเชื่อทางศาสนาอันจริงใจของเราและต่อการใช้เสรีภาพทางศาสนาของเรา เรากระตุ้นให้พวกเราทุกคนปฏิบัติตามกฎทองคำของพระผู้ช่วยให้รอด: “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน” (มัทธิว 7:12)
“เมื่อความคิดเห็นของเราไม่เหนือกว่า เราควรยอมรับผลที่ไม่น่าพอใจด้วยความสุภาพ และปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองดีต่อปฏิปักษ์ของเรา” (“รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 27)
การกลับใจอยู่ในวิสัยที่ทำได้
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแบ่งปันประสบการณ์ต่อไปนี้
“ปีที่แล้วขณะข้าพเจ้ากับเอ็ลเดอร์เดวิด เอส. แบ็กซ์เตอร์ขับรถไปการประชุมใหญ่สเตค เราแวะที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง เมื่อกลับมาที่รถ สตรีคนหนึ่งร้องเรียกเราและเดินเข้ามาหา … เธอถามว่าเราเป็นเอ็ลเดอร์ในศาสนจักรใช่หรือไม่ เราตอบว่าใช่ เธอจึงเล่าอย่างละเอียดถึงชีวิตอันน่าเศร้าของเธอที่จมปลักอยู่ในบาป แม้จะอายุเพียง 28 ปีแต่เธอมีความทุกข์มาก เธอรู้สึกไร้ค่า ไม่ทราบจะอยู่เพื่ออะไร ขณะที่เล่าความงดงามของจิตวิญญาณเธอเริ่มปรากฏ เธอถามด้วยน้ำตานองหน้าว่ามีความหวังสำหรับเธอหรือไม่ มีทางขึ้นมาจากความสิ้นหวังหรือไม่
“‘มีครับ’ เราตอบ ‘มีความหวัง ความหวังเชื่อมโยงกับการกลับใจ คุณเปลี่ยนได้ คุณสามารถ ‘มาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์’” (โมโรไน 10:32) เราขอร้องเธอว่าอย่าผัดวันประกันพรุ่ง [ดู แอลมา 13:27; 34:33] เธอร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความนอบน้อมและขอบคุณเราอย่างจริงใจ
“ขณะที่ข้าพเจ้ากับเอ็ลเดอร์แบ็กซเตอร์เดินทางต่อ เราไตร่ตรองประสบการณ์นั้น เรานึกถึงคำแนะนำที่แอลมาให้กับจิตวิญญาณสิ้นหวัง ท่านกล่าวว่า ‘หากท่านจะกลับใจจากบาปทั้งหมดของท่าน, และจะน้อมกายลง ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า, และเรียกหาพระนามของพระองค์ด้วยศรัทธา, … เมื่อนั้นท่านจะได้รับความหวังซึ่งท่านปรารถนา’ [แอลมา 22:16] …
“… กับสตรีวัย 28 ผู้จมปลักอยู่ในบาปและกับเราทุกคน ข้าพเจ้าประกาศว่าพรอันหอมหวานของการกลับใจเกิดขึ้นได้ จากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสเต็มที่ต่อพระเจ้าและงานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์”
นอกจากนี้ ประธานเนลสันตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “เรานึกถึงคนบาปที่อยู่ภายใต้การดูแลของแอลมาผู้นำที่ห่วงใยพวกเขาด้วย ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าปราศจากความหวัง, เพราะข้าพเจ้ารู้เรื่องการพิพากษาของพระเจ้าซึ่งจะมาสู่พวกเขา; เพราะพวกเขาไม่ยอมกลับใจจากความชั่วช้าสามานย์ของตน, แต่ดิ้นรนเพื่อชีวิตของตนโดยไม่ได้เรียกหาพระสัตภาวะองค์นั้นที่ทรงสร้างพวกเขา’ (มอรมอน 5:2)” (“การกลับใจและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 127, 130)