จงตามเรามา
20–26 พฤษภาคม มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12: ‘นี่แน่ะ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมา’


“20–26 พฤษภาคม มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12: ‘นี่แน่ะ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“20–26 พฤษภาคม มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

ชายบนต้นไม้ขณะพระเยซูเสด็จเข้ามาใกล้

ศักเคียสบนต้นมะเดื่อ โดย เจมส์ ทิสซอท

20–26 พฤษภาคม

มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12

“นี่แน่ะ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมา”

ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; และ ยอห์น 12 ให้คิดคำถามที่ท่านจะถามซึ่งจะช่วยตอบรับความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนของท่าน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงดลใจท่านให้รู้ว่าคำถามใดและหลักธรรมใด รวมทั้งที่กล่าวไว้ในโครงร่างนี้จะตอบรับความต้องการเหล่านั้นได้ดีที่สุด

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ระหว่างสัปดาห์ก่อนชั้นเรียน ให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเตรียมมาแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขามีกับการศึกษาบทที่มอบหมายให้ศึกษาสัปดาห์นี้ พรใดมาถึงพวกเขาขณะศึกษาพระคัมภีร์ระหว่างสัปดาห์

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ลูกา 19:1–10

พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักเราเป็นส่วนตัว

  • สมาชิกชั้นเรียนของท่านอาจรู้สึกว่าบางครั้งชีวิตพวกเขาถูกมองข้ามหรือถูกลืม เรื่องราวของศักเคียสจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงรู้จักและทรงห่วงใยพวกเขา เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนเปรียบเรื่องนี้กับชีวิตพวกเขา ให้พวกเขาสมมติว่าตนเองเป็นศักเคียส ท่านคิดว่าเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากประสบการณ์ของเขา เราสามารถเรียนรู้อะไรจากความพยายามของศักเคียสในการแสวงหาพระผู้ช่วยให้รอด

  • อาจจะเป็นประโยชน์เช่นกันถ้าขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงสถานการณ์อื่นในพระคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงเรียกชื่อคน (มีตัวอย่างใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่ยืนยันกับพวกเขาเช่นกันว่าพระเจ้าทรงรู้จักพวกเขาเป็นส่วนตัว

มัทธิว 21:1–11; มาระโก 11:1-11; ลูกา 19:29-44; 12:12-16

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ของเรา

  • กิจกรรมที่เรียบง่ายสามารถนำเข้าสู่การสนทนาเรื่องการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตของพระผู้ช่วยให้รอด สมาชิกชั้นเรียนหลายๆ คนอาจจะวาดสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ไว้บนกระดาน อาทิ มงกุฎหรือบัลลังก์ ขณะที่คนอื่นๆ ทายว่าพวกเขาวาดอะไร จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ จะวาดรูปลูกลาและกิ่งไม้ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับกษัตริย์ จากนั้นท่านอาจจะให้ดูภาพการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตของพระผู้ช่วยให้รอดจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มาระโก 11:1–11 คนเหล่านี้ทราบได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ของพวกเขา เรานมัสการพระเยซูคริสต์ในฐานะกษัตริย์ของเราผ่านคำพูดและการกระทำของเราอย่างไร

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ของเรา ท่านอาจจะขอให้พวกเขาทบทวนเพลงสวด “มาเถิดเจ้าแห่งราชา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 21 หรือเพลงสวดเพลงอื่นเกี่ยวกับพระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ของเรา คำใดจากเพลงสวดเตือนให้เรานึกถึงความจริงใน มัทธิว 21:1–11; มาระโก 11:1–11; ลูกา 19:29–44; และ ยอห์น 12:12–16

มัทธิว 22:34–40

พระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อคือรักพระผู้เป็นเจ้าและรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง

  • ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนว่าการทำให้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อนี้เป็นศูนย์กลางของชีวิตเราเปรียบเสมือนยิงธนูไปที่ผนังเปล่าและวาดรูปเป้าไว้รอบๆ ธนู (ดู “เล็งตรงกลาง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2017, 4–5) การสำรวจแนวเปรียบเทียบดังกล่าวจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจ มัทธิว 22:34–40 หรือไม่ วิธีหนึ่งในการทำเช่นนี้คือวางกระดาษแผ่นใหญ่ไว้บนพื้นและให้สมาชิกชั้นเรียนผลัดกันทิ้งปากกาหรือดินสอลงบนนั้น แล้วให้พวกเขาวาดรูปเป้าตรงจุดที่ปากกาหรือดินสอตกลงบนกระดาษและเขียนพระบัญญัติข้อหนึ่งตรงเป้าแต่ละเป้า หลังจากอ่าน มัทธิว 22:34–40 ด้วยกันแล้ว ท่านอาจจะวาดรูปเป้าอันใหม่ล้อมเป้าอื่นทั้งหมดและเขียนตรงเป้าอันนั้นว่า “รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของท่าน” การมุ่งเน้นพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อช่วยให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติข้ออื่นของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเรามุ่งเน้นการเชื่อฟังของเราไปที่พระบัญญัติสองข้อนี้

มัทธิว 23:13–33

เราจะได้รับความคุ้มครองเมื่อเราไม่เดินตามคนนำทางที่ตาบอด

  • สมาชิกชั้นเรียนจะได้ประโยชน์หรือไม่จากการสนทนาคำว่า “คนนำทางที่ตาบอด” ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้พูดถึงพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ที่ตาบอดทางวิญญาณ (มัทธิว 23:16) ท่านอาจจะคิดหาวิธีสาธิตให้เห็นว่าการเดินตามคนที่มองไม่เห็นนั้นเป็นอย่างไร หรือชั้นเรียนอาจจะแจกแจงลักษณะของคนนำทางตาบอดไว้บนกระดานดังอธิบายไว้ใน มัทธิว 23:13–33 เพื่อเพิ่มรายการนั้น ท่านอาจจะดูพระคัมภีร์เพิ่มเติมที่สอนเกี่ยวกับความมืดทางวิญญาณ เช่น 2 โครินธ์ 4:3–4; 2 นีไฟ 9:28–32; และ เจคอบ 4:14 เราจะมองออกและหลีกเลี่ยงคนนำทางตาบอดได้อย่างไร

  • ท่านอาจต้องการช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีจดจ่อกับทองคำและของถวายในพระวิหารมากกว่าความหมายแท้จริงของพระวิหาร (ดู มัทธิว 23:16–22) เพื่อช่วยเรื่องนี้ ท่านอาจจะเล่าอุปมาเรื่องไข่มุกกับกล่องของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อะไรอาจทำให้เราเขวจากการชื่นชมพรที่แท้จริงของพระวิหารและการประชุมศีลระลึก

ชายสองคนสวดอ้อนวอนในพระวิหาร

คนเก็บภาษีที่กลับใจและคนฟาริสีที่คิดว่าตนชอบธรรมในพระวิหาร โดย แฟรงค์ อดัมส์

ยอห์น 12:42–43

คำสรรเสริญของมนุษย์สามารถขัดขวางเราไม่ให้เป็นสานุศิษย์ที่องอาจของพระเยซูคริสต์

  • บางคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์อาจไม่เต็มใจยืนหยัดสนับสนุนพระกิตติคุณของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่เฉยเมยหรือเย้ยหยันความเชื่อทางศาสนา ยอห์น 12:42–43 มีบทเรียนอะไรสำหรับเราในปัจจุบัน ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนค้นคว้าพระคัมภีร์ต่อไปนี้และระบุชื่อคนที่ปรารถนาจะทำให้มนุษย์พอใจและคนที่ปรารถนาจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย: อพยพ 32:1–8; 1 ซามูเอล 15:18–25; มัทธิว 14:1–10; 1 นีไฟ 6:1–6; โมไซยาห์ 17:1–12; และ โมโรไน 8:16 เราเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างเหล่านี้ ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราในการแสดงให้สาธารณชนเห็นศรัทธาของเราได้จากเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ธำรงไว้ซึ่งสิทธิ์เสรี ปกป้องอิสรภาพด้านศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 111–113

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

พระผู้ช่วยให้รอดทรงพยากรณ์ว่าในวันเวลาสุดท้ายแม้แต่ผู้ที่ทรงเลือกไว้ก็จะถูกหลอก (ดู โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 25; มาระโก 12–13; และ ลูกา 21 สัปดาห์ถัดไป ท่านอาจจะบอกพวกเขาว่าในบทเหล่านี้พวกเขาจะพบหลักการหลีกเลี่ยงการหลอกลวงในยุคสุดท้าย

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 21–23; มาระโก 11; ลูกา 19–20; ยอห์น 12

พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักท่านเป็นรายบุคคล

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ประกาศว่า “ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักท่านเป็นรายบุคคล … เนิ่นนานมาแล้ว (ดู คพ. 93:23) พระองค์ทรงรักท่านเนิ่นนานมาแล้ว พระองค์มิได้ทรงรู้จักชื่อดาวทุกดวงเท่านั้น (ดู สดุดี 147:4; อิสยาห์ 40:26) แต่พระองค์ทรงรู้จักชื่อท่านและความเจ็บปวดในใจท่านและปีติทั้งหมดของท่าน!” (“จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 58)

กรณีตัวอย่างที่พระเจ้าทรงเรียกชื่อคน

อุปมาเรื่องไข่มุกกับกล่อง

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์เล่าอุปมานี้ “พ่อค้าคนหนึ่งเสาะหาอัญมณีล้ำค่าและในที่สุดก็พบไข่มุกแท้ เขาให้ช่างฝีมือประณีตที่สุดแกะสลักกล่องใส่อัญมณีหรูหรากล่องหนึ่งและบุข้างในด้วยกำมะหยี่สีน้ำเงิน เขาจัดแสดงไข่มุกอันล้ำค่าเม็ดนี้ให้คนอื่นๆ ได้ชื่นชมสมบัติของเขา เขาเฝ้ามองเมื่อมีคนมาดู แต่ในไม่ช้าเขาก็รู้สึกเสียใจ เพราะคนเหล่านี้ชื่นชมกล่องไม่ใช่ไข่มุก” (“เปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น,” เลียโฮนา, ก.ค. 2000, 7)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ท่านไม่จำเป็นต้องสอนครบทุกเรื่อง “ในแต่ละบทเรียนมีเรื่องให้สนทนามากมาย แต่ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมให้ครบทุกเรื่องในชั้นเรียนเดียวเพื่อจะสัมผัสใจของคนบางคน—บ่อยครั้งแค่ประเด็นหลักหนึ่งหรือสองประเด็นก็เพียงพอแล้ว เมื่อท่านไตร่ตรองความต้องการของผู้เรียน พระวิญญาณจะช่วยท่านระบุว่าหลักธรรม เรื่องราว หรือพระคัมภีร์ข้อไหนจะมีประโยชน์ต่อพวกเขาเป็นพิเศษ” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 7)