จงตามเรามา
29 เมษายน–5 พฤษภาคม ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี’


“29 เมษายน–5 พฤษภาคม ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“29 เมษายน–5 พฤษภาคม ยอห์น 7–10,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

พระคริสต์กับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

คนที่ไม่มีบาป โดย ลิซ เลมอน สวินเดิล

29 เมษายน–5 พฤษภาคม

ยอห์น 7–10

“เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี”

ท่านและสมาชิกชั้นเรียนของท่านจะได้ข้อคิดขณะอ่าน ยอห์น 7–10 สัปดาห์นี้ พึงจดจำว่าแนวคิดในโครงร่างนี้ควรเสริมไม่ใช่แทนที่แรงบันดาลใจที่ท่านได้จากการศึกษาพระคัมภีร์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เตือนให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงความสำคัญของการทำบ้านของพวกเขาให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนพระกิตติคุณ สมาชิกชั้นเรียนสนทนาข้อความใดจาก ยอห์น 7–10 กับครอบครัวของพวกเขาระหว่างสัปดาห์ ข่าวสารใดเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

ยอห์น 7–10

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก

  • ทั่วทั้ง ยอห์น 7–10 พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศหลายเรื่องที่สามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพระพันธกิจของพระองค์ดีขึ้นและเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้และแบ่งปันสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด พระคริสต์ทรงทำบทบาทเหล่านี้ให้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตเราอย่างไร

พระเยซูคริสต์

ความสว่างของโลก โดย ฮาเวิร์ด ลีออน

ยอห์น 7:14–17

เมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ เราจะรู้ว่าคำสอนเหล่านั้นจริง

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจเข้าใจดีขึ้นว่าการดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติสร้างประจักษ์พยานอย่างไรถ้าพวกเขาเปรียบเทียบรูปแบบนี้กับกระบวนการเรียนรู้ทักษะอย่างหนึ่งผ่านประสบการณ์ส่วนตัว ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนที่รู้วิธีเล่นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งให้อธิบายว่าพวกเขาพัฒนาทักษะเหล่านี้อย่างไร การฝึกฝนด้วยตนเองสอนพวกเขามากกว่าการเพียงแแต่ดูคนอื่นแสดงทักษะนั้นอย่างไร ให้ชั้นเรียนสนทนาว่าการพยายามเรียนรู้ทักษะอย่างหนึ่งเปรียบได้อย่างไรกับรูปแบบทางวิญญาณที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายไว้ใน ยอห์น 7:14–17 สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการทำตามรูปแบบนี้เพื่อให้ได้ความรู้ทางวิญญาณ

  • ท่านจะอธิบายความจริงที่สอนใน ยอห์น 7:14–17 ว่าอย่างไร แนวคิดหนึ่งคือขอให้สมาชิกในชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงพระกิตติคุณโดยดำเนินชีวิตตามความจริงนั้น เรื่องที่ซิสเตอร์บอนนี่ แอล. ออสคาร์สันเล่าใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เป็นตัวอย่างที่ดีเช่นกัน ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนนึกถึงหลักธรรมพระกิตติคุณข้อหนึ่งที่พวกเขาต้องการมีประจักษ์พยานเข้มแข็งขึ้นเกี่ยวกับหลักธรรมนั้น และกระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายจำเพาะเจาะจงเพื่อดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนั้นอย่างเต็มที่มากขึ้น

ยอห์น 8:18–19, 26–29

เมื่อเรารู้จักพระเยซูคริสต์ เท่ากับเรารู้จักพระบิดา

  • เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่า “บางคนในโลกปัจจุบันทนทุกข์จากความเข้าใจผิดอันน่าเศร้าเกี่ยวกับ [พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา] … คนยุคใหม่หลายคนพูดว่าเขาอาจจะรู้สึกสบายใจในอ้อมพาหุของพระเยซู แต่เขาไม่สบายใจเมื่อคิดถึงการเผชิญหน้ากับพระผู้เป็นเจ้า” (“ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 85) พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 8:18–19, 26–29 สอนอะไรเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างพระองค์กับพระบิดาของพระองค์ หลังจากอ่านและสนทนาข้อเหล่านี้แล้ว สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียนบางอย่างที่พระเยซูทรงทำ ตรัส หรือทรงสอนไว้บกระดาน เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาจากสิ่งเหล่านี้

ยอห์น 8:1–11

พระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดเผื่อแผ่ถึงทุกคนที่กลับใจ

  • กับคนที่รู้สึกถูกกล่าวโทษเพราะบาปของพวกเขา เรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานความเมตตาและการกลับใจให้หญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณีจะให้กำลังใจคนนั้นได้ หรือถ้าสมาชิกชั้นเรียนรู้สึกถูกล่อลวงให้กล่าวโทษผู้อื่นเพราะบาปของคนเหล่านั้น เรื่องนี้ใช้เป็นคำเตือนได้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ยอห์น 8:1–11 โดยมองหาคำตอบของคำถามทำนองนี้: เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด การได้รับพระเมตตาของพระองค์เมื่อเราทำบาปจะช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเรารู้สึกถูกล่อลวงให้ตัดสินผู้อื่น (ดู แอลมา 29:9–10) ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Go and Sin No More” (LDS.org) ด้วย

  • เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนพบความเชื่อมโยงส่วนตัวใน ยอห์น 8:1–11 ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม—กลุ่มหนึ่งเน้นคำพูดและการกระทำของพวกฟาริสี กลุ่มหนึ่งเน้นพระดำรัสและการกระทำของพระผู้ช่วยให้รอด และกลุ่มหนึ่งเน้นคำพูดและการกระทำของหญิงคนนั้น เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มแจกแจงความจริงทางวิญญาณที่พวกเขาเรียนรู้จากการอ่านเรื่องราวในส่วนของตนออกมาเป็นข้อๆ

  • บางครั้งเราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังตัดสินผู้อื่น ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเอาชนะแนวโน้มดังกล่าว: ขอให้ชั้นเรียนช่วยท่านเขียนด้านต่างๆ ที่เราตัดสินผู้อื่น (รูปลักษณ์ภายนอก พฤติกรรม ภูมิหลัง และอื่นๆ) แจกกระดาษให้สมาชิกชั้นเรียนตัดเป็นรูปก้อนหิน และขอให้พวกเขาเลือกวิธีหนึ่งของการตัดสินผู้อื่นที่พวกเขารู้สึกผิดและเขียนบนก้อนหินกระดาษ เราเรียนรู้อะไรจากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกฟาริสีใน ยอห์น 8:1–11 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนเขียนบางอย่างที่จะเตือนพวกเขาว่าอย่าตัดสินไว้บนก้อนหินกระดาษอีกด้านหนึ่ง (อาจเป็นวลีหนึ่งจาก ยอห์น 8 ก็ได้)

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาทำของมีค่าบางอย่างหาย ในข้อพระคัมภีร์สำหรับบทเรียนของสัปดาห์ถัดไป พวกเขาจะเรียนรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงรู้สึกอย่างไรต่อคนที่หายไป

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ยอห์น 7–10

การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมช่วยให้เราได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักธรรมนั้น

ซิสเตอร์บอนนี่ แอล. ออสคาร์สันกล่าวว่า

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า ‘ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนั้นมาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบเอง’ [ยอห์น 7:17] บางครั้งเราพยายามทำกลับกัน ตัวอย่างเช่น เราอาจทำตามวิธีนี้ นั่นคือ ดิฉันจะทำตามกฎส่วนสิบอย่างมีความสุขแต่ดิฉันต้องรู้ก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ บางครั้ง เราอาจสวดอ้อนวอนเพื่อได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับกฎส่วนสิบและหวังว่าพระเจ้าจะประทานพรเราด้วยประจักษ์พยานนั้นก่อนที่เราจะเขียนใบบริจาคส่วนสิบด้วยซ้ำ แต่ประจักษ์พยานในหลักธรรมไม่ได้ทำงานเช่นนั้น พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราแสดงศรัทธา เราต้องจ่ายส่วนสิบเต็มและอย่างซื่อสัตย์สม่ำเสมอเพื่อได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับส่วนสิบ …

“ดิฉันจะยกตัวอย่างว่าการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมช่วยเราเปลี่ยนใจเลื่อมใสหลักธรรมนั้นอย่างไร … คุณพ่อคุณแม่และครูที่โบสถ์ได้ปลูกฝังคุณค่าของการปฏิบัติต่อร่างกายด้วยความเคารพ การรักษาความคิดให้สะอาด และสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะวางใจพระบัญญัติของพระเจ้า ดิฉันตัดสินใจหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ดิฉันรู้ว่ามีแอลกอฮอล์และไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และยาเสพติดเลย บ่อยครั้งที่หมายความว่าดิฉันไม่อยู่ที่งานสังสรรค์ และออกเดทน้อยมาก การใช้ยาเสพติดเริ่มจะเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในบรรดาคนหนุ่มสาว และอันตรายของยาเสพติดยังไม่เป็นที่รู้กันดีเช่นที่เรารู้ในปัจจุบัน เพื่อนดิฉันหลายคนต้องทนทุกข์กับความเสียหายถาวรจากยาเสพติดที่เปลี่ยนแปลงจิตใจหรือเสพหนักกว่าเดิม ดิฉันสำนึกคุณที่ได้รับการสอนให้ดำเนินชีวิตตามพระคำแห่งปัญญา ในบ้านของดิฉัน ดิฉันได้รับประจักษ์พยานอันลึกซึ้งในหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณขณะที่ดิฉันใช้ศรัทธาและดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนั้น ความรู้สึกดีที่มาสู่ดิฉันจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณที่แท้จริงคือพระวิญญาณของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ยืนยันว่าหลักธรรมนั้นจริง” (“จงเปลี่ยนใจเลื่อมใส,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 77)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดำเนินชีวิตคู่ควรกับการนำทางของพระวิญญาณ เมื่อท่านดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ท่านย่อมคู่ควรกับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณผู้ทรงเป็นครูที่ดีที่สุด ขณะท่านแสวงหาการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะประทานความคิดและความประทับใจให้ท่านรู้วิธีตอบรับความต้องการของคนที่ท่านสอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด 5)