“22–28 เมษายน มัทธิว 18; ลูกา 10: ‘ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“22–28 เมษายน มัทธิว 18; ลูกา 10,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
22–28 เมษายน
มัทธิว 18; ลูกา 10
“ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์”
อ่าน มัทธิว 18 และ ลูกา 10 บันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน ขณะที่ท่านได้รับความประทับใจ ท่านอาจจะถามตามที่เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แนะนำว่า “มีอะไรที่ข้าพเจ้าควรรู้อีกหรือไม่” (“เพื่อให้ได้รับการชี้นำทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 8)
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
บทเหล่านี้มีตัวอย่างมากมายของหลักคำสอนพระกิตติคุณซึ่งต่างจากที่โลกสอนเรา สมาชิกชั้นเรียนพบความจริงอะไรบ้างในบทเหล่านี้ที่บางคนยอมรับหรือดำเนินชีวิตตามนั้นได้ยาก
สอนหลักคำสอน
เราต้องให้อภัยผู้อื่นถ้าเราอยากได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า
-
บางครั้งเราทุกคนต้องให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง ท่านจะใช้อุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัยสร้างแรงบันดาลใจแก่สมาชิกชั้นเรียนให้อภัยมากขึ้นได้อย่างไร บางทีท่านอาจจะเขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองขณะบุคคลหนึ่งเล่าอุปมา: เจ้าองค์นั้นเป็นตัวแทนของใคร ทาสที่ไม่ยอมให้อภัยเป็นตัวแทนของใคร หนี้ของเขาหมายถึงอะไร เพื่อนทาสหมายถึงใคร หนี้ของเขาหมายถึงอะไร ข้อมูลเกี่ยวกับเงินตะลันต์และเดนาริอันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะให้แนวคิดแก่สมาชิกชั้นเรียนว่าหนี้ทั้งสองในอุปมาต่างกันมากเพียงใด เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าอุปมามีข่าวสารอะไรให้พวกเขาเป็นส่วนตัว
-
ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนำอุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัยมาใช้สอนบทเรียนเดียวกันเกี่ยวกับการให้อภัยโดยใช้สถานการณ์และรายละเอียดปัจจุบัน (ท่านอาจจะให้พวกเขาทำงานเป็นกลุ่ม) สนทนาว่าอุปมาตอบคำถามของเปโตรว่าเขาควรให้อภัยกี่ครั้ง
-
วีดิทัศน์เรื่อง “Forgive Every One Their Trespasses: The Parable of the Unmerciful Servant” (LDS.org) อาจจะช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเห็นภาพของอุปมา นอกจาก มัทธิว 18:35 แล้วข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าเหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เราให้อภัยทุกคนที่ทำบาปต่อเรา: มัทธิว 6:12–15; เอเฟซัส 4:32; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:7–11
เพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ เราต้องรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา
-
แนวคิดนี้อาจจะให้แง่มุมใหม่ของอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีแก่สมาชิกชั้นเรียน: เชื้อเชิญให้พวกเขาสมมติว่ากำลังสอบสวนคดีทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์บนถนนระหว่างเมืองเยรีโคกับเยรูซาเล็ม ขอให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเตรียมมาเป็นตัวแทนของแต่ละคนในอุปมาและพูดถึงสิ่งที่เขาพัวพันในคดีนี้ ตัวอย่างเช่น เหตุใดปุโรหิตและคนเลวีไม่หยุดช่วยชายที่ได้รับบาดเจ็บ เหตุใดชาวสะมาเรียหยุดช่วย เจ้าของโรงแรมเสริมความนึกคิดอะไรได้บ้าง ชายที่บาดเจ็บรู้สึกอย่างไรต่อคนแต่ละคน พึงแน่ใจว่าการสนทนาสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนเป็นเหมือนชาวสะมาเรียใจดีกับเจ้าของโรงแรม และไม่เป็นเหมือนปุโรหิตกับชาวเลวี สมาชิกชั้นเรียนเคยรู้สึกเหมือน “ชายคนหนึ่ง” ผู้ต้องการความช่วยเหลืออย่างมากเมื่อใด ความช่วยเหลือมาได้อย่างไร พวกเราสมาชิกวอร์ดจะทำงานด้วยกันเพื่อช่วยคนอื่นๆ เหมือนชาวสะมาเรียใจดีกับเจ้าของโรงแรมได้อย่างไร
-
นอกจากจะสอนว่ารักเพื่อนบ้านหมายถึงอะไรแล้ว อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดียังเป็นสัญลักษณ์แสดงเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในการช่วยเราให้รอดด้วย (รายละเอียดเกี่ยวกับการตีความเรื่องนี้พบได้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านอุปมาโดยมองหาความหมายเชิงสัญลักษณ์นี้และอื่นๆ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์เมื่อเราอ่านอุปมาในลักษณะนี้
เราเลือก “ส่วนที่ดีนั้น” โดยทำการเลือกที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ทุกวัน
-
ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งคุ้มค่าให้ทำ เรื่องราวของมารีย์กับมารธาสามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนคิดหาวิธีเลือก “ส่วนที่ดีนั้น” (ข้อ 42; ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) หลังจากอ่าน ลูกา 10:38–42 ด้วยกันแล้ว ท่านอาจจะถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาจะตอบสนองพระดำรัสแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นมารธา ประสบการณ์นี้อาจจะส่งผลต่อการเลือกในอนาคตของพวกเขาอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใด “จำเป็น” ในชีวิตเราเอง (ลูกา 10:42) ข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เรื่อง “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133–137) จะช่วยสมาชิกชั้นเรียนได้อย่างไร
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
บอกชั้นเรียนว่าขณะพวกเขาอ่านคำประกาศของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระองค์ใน ยอห์น 7–10 สำหรับชั้นเรียนสัปดาห์หน้า พวกเขาจะรู้ด้วยความแน่ใจมากขึ้นว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เงินตะลันต์และเดนาริอัน
ยากจะรู้ค่าแน่นอนของจำนวนเงินที่กล่าวไว้ในอุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัย (ดู มัทธิว 18:23–35) แต่มีนัยในพันธสัญญาใหม่ที่จะช่วยให้เราเข้าใจความต่างอย่างมากระหว่างหนี้ 100 เดนาริอันกับหนี้ 10,000 ตะลันต์
เพื่อนทาสในอุปมาเป็นหนี้น้อยกว่าคือ 100 เดนาริอัน ใน มัทธิว 20:2 หนึ่งเดนาริอัน มีค่าเท่ากับเงินที่จ้างคนทำงานในสวนองุ่นหนึ่งวัน ด้วยเหตุนี้ เพื่อนทาสจึงต้องทำงาน 100 วันเพื่อชำระหนี้ 100 เดนาริอัน แต่จำนวนนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับหนี้ 10,000 ตะลันต์ของทาสที่ไม่ยอมให้อภัย ใน มัทธิว 25:14–15 ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของชายคนหนึ่ง—“ทรัพย์สิ่งของของเขา”—มีค่าเพียงแปดตะลันต์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องนำความมั่งคั่งของชายคนนี้ 1,000 กว่าคนมารวมกันจึงจะชำระหนี้ของทาสที่ไม่ยอมให้อภัยได้
พระเยซูคริสต์ทรงชำระหนี้มหาศาลแทนเราแต่ละคน
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับอุปมาเรื่องทาสที่ไม่ให้อภัยขณะเข้าชั้นเรียนสถาบันดังนี้
“[ครู] บอกว่าการให้อภัย 100 เดนาริอัน ซึ่งคาดหวังให้เราทุกคนให้กันและยอมรับว่าเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก ก็ยัง … มีค่าน้อยนิดเมื่อขอให้พระคริสต์ทรงให้อภัยเรา 10,000 ตะลันต์
“[ครู] เตือนสติเราว่าหนี้ส่วนหลังของเรามีค่ามหาศาลจนไม่สามารถเข้าใจได้ แต่เขากล่าวว่านั่นตรงกับประเด็นของพระผู้ช่วยให้รอดในการสอนเรื่องนี้ เป็นส่วนสำคัญของอุปมา พระเยซูตั้งพระทัยจะให้ผู้ฟังรู้สึกสักเล็กน้อยถึงของประทานอันลึกซึ้งและมีขอบเขตนิรันดร์ของพระเมตตา การให้อภัย และการชดใช้ของพระองค์
“… เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ข้าพเจ้าจำได้ว่ารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของการพลีพระชนม์ชีพของพระคริสต์เพื่อข้าพเจ้า—ของประทานที่แม้จนถึงทุกวันนี้ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่ของประทานนั้นทำให้ข้าพเจ้าพิจารณาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกว่าข้าพเจ้าต้องให้อภัยผู้อื่นและใจกว้างอย่างไม่ขาดสายต่อความรู้สึกของพวกเขา ความต้องการของพวกเขา และสภาวการณ์ของพวกเขา” (“Students Need Teachers to Guide Them” [Church Educational System satellite broadcast, June 20, 1992])
การตีความอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีของชาวคริสต์ยุคแรก
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวคริสต์พบสัญลักษณ์ในอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีที่สอนเกี่ยวกับบทบาทการเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น ชายที่ล้มท่ามกลางพวกโจรหมายถึงเราทุกคน พวกโจรหมายถึงบาปและความตาย ชาวสะมาเรียหมายถึงพระผู้ช่วยให้รอด โรงแรมหมายถึงศาสนจักร และสัญญาของชาวสะมาเรียว่าจะกลับมาหมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู John W. Welch, “The Good Samaritan: Forgotten Symbols,” Ensign, Feb. 2007, 40–47.)