“22–28 เมษายน มัทธิว 18; ลูกา 10: ‘ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“22–28 เมษายน มัทธิว 18; ลูกา 10,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
22–28 เมษายน
มัทธิว 18; ลูกา 10
“ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์”
ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 18 และ ลูกา 10 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน จงเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนเงียบๆ ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงบอกท่านว่าคำสอนและเรื่องราวเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ
บันทึกความประทับใจของท่าน
เมื่อท่านทูลถามพระเจ้า ท่านอาจจะได้รับคำตอบที่ท่านไม่คาดหวัง ใครเป็นเพื่อนบ้านของฉัน ใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือและความรักของท่าน ใครเป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ เด็ก ให้อภัยคนทำผิดเจ็ดครั้งพอหรือไม่ ไม่พอ ท่านควรให้อภัยเจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด (ดู ลูกา 10:29–37; มัทธิว 18:4, 21–22) ถ้าท่านกำลังแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า อย่า “รักษาหน้า” (ลูกา 10:29) แต่เพราะท่านต้องการเรียนรู้จากพระองค์จริง ๆ พระเจ้าจะทรงสอนให้ท่านรู้วิธีดำเนินชีวิตในทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์กับพระองค์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันต้องให้อภัยผู้อื่นถ้าฉันอยากได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า
คำแนะนำของเปโตรที่ว่าเขาสามารถให้อภัยบางคนได้เจ็ดครั้งอาจดูเหมือนมีน้ำใจมาก แต่พระเยซูทรงสอนกฎที่สูงกว่านั้น พระดำรัสตอบว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้ง แต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” ไม่ได้สอนเรื่องจำนวนแต่สอนเรื่องเจตคติของการให้อภัยแบบพระคริสต์ ขณะที่ท่านอ่านอุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัย ให้ไตร่ตรองเวลาที่ท่านรู้สึกถึงพระเมตตาและความสงสารของพระผู้เป็นเจ้า มีคนต้องการให้ท่านเมตตาและสงสารหรือไม่
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. ซอเรนเซนแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า “ข้าพเจ้าประสงค์จะชี้แจงว่าเราไม่ควรนำการให้อภัยบาปมาปะปนกับการทนต่อความชั่วร้าย … แม้จะต้องให้อภัยเพื่อนบ้านที่ทำร้ายเรา แต่เราควรทำอย่างสร้างสรรค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายอีก” (“การให้อภัยจะเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 12)
ดู “Forgiveness,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย
สาวกเจ็ดสิบเป็นใคร
ตามแบบแผนที่กำหนดไว้ในสมัยพันธสัญญาเดิม (ดู อพยพ 24:1; กันดารวิถี 11:16) พระเยซูคริสต์ทรง “แต่งตั้งอีกเจ็ดสิบ” นอกเหนือจากอัครสาวกสิบสอง ให้เป็นพยานถึงพระองค์ สั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์ และช่วยงานของพระองค์ แบบแผนนี้ดำเนินต่อเนื่องในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู สาวกเจ็ดสิบได้รับเรียกให้ช่วยอัครสาวกสิบสองในพันธกิจการเป็นพยานพิเศษของพระเยซูคริสต์ต่อชาวโลก สาวกเจ็ดสิบจัดระเบียบเป็นโควรัม สมาชิกของสองโควรัมแรกได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นสาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ส่วนสมาชิกของโควรัมอื่นได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นสาวกเจ็ดสิบภาค (ดู คพ. 107:25–26, 33–34, 97 ด้วย)
เพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ ฉันต้องรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
พึงจดจำว่าอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีเป็นวิธีตอบคำถามของพระเยซูที่ว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” ขณะที่ท่านอ่านอุปมาเรื่องนี้ จงนึกถึงคำถามนี้เสมอ ท่านพบคำตอบอะไรบ้าง
ในสมัยของพระเยซูความเกลียดชังระหว่างชาวยิวกับชาวสะมาเรียมีมานานหลายศตวรรษแล้ว ชาวสะมาเรียเป็นลูกหลานของชาวยิวที่อยู่ในสะมาเรียผู้แต่งงานกับคนต่างชาติ ชาวยิวรู้สึกว่าชาวสะมาเรียเป็นคนไม่ดีเพราะคบหากับคนต่างชาติและละทิ้งความเชื่อ ชาวยิวจะเดินออกนอกเส้นทางหลายพันไมล์เพื่อจะไม่ต้องผ่านสะมาเรีย (ดู ลูกา 9:52–54; 17:11–18; ยอห์น 4:9; 8:48 ด้วย)
ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกชาวสะมาเรียที่ชาวยิวเกลียดเป็นตัวอย่างของความสงสารและการรักเพื่อนบ้านของเรา อุปมาเรื่องนี้ดลใจท่านให้ทำอะไรเพื่อแสดงความเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้น
ดู โมไซยาห์ 2:17; “Parable of the Good Samaritan” (วีดิทัศน์, LDS.org); “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 106 ด้วย
เราเลือก “ส่วนที่ดีนั้น” โดยทำการเลือกที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์
ซิสเตอร์บอนนี ดี. พาร์คิน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า “มารีย์และมารธาคือท่านและดิฉัน … เธอทั้งสองรักพระเจ้าและต้องการแสดงความรักนั้น ในครั้งนี้ สำหรับดิฉันดูเหมือนว่ามารีย์จะแสดงความรักโดยฟังถ้อยคำของพระองค์ ส่วนมารธาแสดงความรักโดยรับใช้พระองค์ … พระเยซูมิได้ทรงมองข้ามความห่วงใยของมารธา แต่ทรงเบนความสนใจของเธอโดยตรัสให้เลือก ‘ส่วนที่ดีนั้น’ และนั่นคืออะไร … สิ่งที่จำเป็นนั้นมีเพียงสิ่งเดียวคือเลือกชีวิตนิรันดร์ [ดู 2 นีไฟ 2:28] เราเลือกทุกวัน” (“เลือกความใจบุญ: ส่วนดีนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 125) ท่านจะสรุปพระดำรัสที่พระเจ้าทรงแนะนำมารธาด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร สำรวจตารางเวลาของท่าน—มีสิ่ง “จำเป็น” ที่ต้องการความเอาใจใส่ของท่านมากขึ้นหรือไม่
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ครอบครัวท่านสามารถร้องเพลงสวดเพลงใดที่เกี่ยวข้องกับความจริงที่สอนในบทเหล่านี้ได้บ้าง ตัวอย่างมีสองเพลงคือ “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์” และ “ฉันทำความดีบ้างหรือไม่?” เพลงสวด, บทเพลงที่ 106, 109 แต่มีอีกหลายเพลง เนื้อร้องในเพลงสวดเหล่านี้ช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดดีขึ้นอย่างไร
เหตุใดพระเยซูจึงทรงต้องการให้เราเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ลักษณะพิเศษอะไรบ้างของเด็กที่จะทำให้เราเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นถ้าเรารวมไว้ในชีวิตเรา (ดู โมไซยาห์ 3:19)
อะไรจะทำให้คำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีเป็นจริงสำหรับครอบครัวเรา พวกเขาอยากสวมชุดแสดงละครและแสดงเรื่องนี้หรือไม่ พึงช่วยให้สมาชิกครอบครัวเห็นว่าพวกเขาจะเป็นเหมือนชาวสะมาเรียใจดีได้อย่างไร มีคนต้องการความช่วยเหลือที่โรงเรียนหรือที่โบสถ์ที่เราอาจจะมองข้ามหรือไม่ เราจะทำอะไรให้บุคคลนี้ได้บ้าง
ยากหรือไม่ที่จะทำให้เรื่องทางวิญญาณสอดคล้องกับตารางเวลาของครอบครัวท่าน เรื่องราวของมารีย์กับมารธาอาจดลใจให้จัดสภาครอบครัวหรือการสังสรรค์ในครอบครัวเกี่ยวกับวิธีทำสิ่งนี้ ท่านกับครอบครัวอาจเขียนวิธีเลือก “ส่วนที่ดีนั้น” (ดู ลูกา 10:42) ออกมาเป็นข้อๆ
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย