จงตามเรามา
1–14 เมษายน มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9: ‘พระองค์เป็นพระคริสต์’


“1–14 เมษายน มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9: ‘พระองค์เป็นพระคริสต์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“1–14 เมษายน มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
การจำแลงพระกายของพระคริสต์

การจำแลงพระกาย โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค

1–14 เมษายน

มัทธิว 16–17; มาระโก 9; ลูกา 9

“พระองค์เป็นพระคริสต์”

ในช่วงสองสัปดาห์ติดต่อกัน ให้ไตร่ตรองประจักษ์พยานของเปโตรใน มัทธิว 16:15–17 รวมทั้งประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่ท่านจะได้ยินในระหว่างการประชุมใหญ่สามัญ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไม่แปลกใช่ไหมที่พวกฟาริสีและพวกสะดูสีจะเรียกร้องให้พระเยซูแสดง “หมายสำคัญจากฟ้าสวรรค์” ให้พวกเขาเห็น ปาฏิหาริย์มากมายที่รู้กันทั่วไปยังไม่มากพอหรือ แล้วคำสอนอันเปี่ยมด้วยพลังของพระองค์หรือสารพัดวิธีที่พระองค์ทรงทำให้คำพยากรณ์แต่โบราณเกิดสัมฤทธิผลเล่า สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ได้เกิดจากการขาดหมายสำคัญแต่เกิดจากการไม่ยอม “สังเกต” และยอมรับ (ดู มัทธิว 16:1–4)

เปโตรเห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดและได้ยินคำสอนของพระองค์เหมือนพวกฟาริสีและพวกสะดูสี แต่ประจักษ์พยานอันแน่วแน่ของเปโตรที่ว่า ‘พระองค์เป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่’ ไม่ได้มาจากสัมผัสทางกายของเขา—“เลือดเนื้อ” ของเขา “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์” ทรงเปิดเผยประจักษ์พยานต่อเขา การเปิดเผย เป็นศิลาซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดสร้างศาสนจักรของพระองค์ไว้บนนั้นทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้—การเปิดเผยจากสวรรค์ต่อผู้รับใช้ของพระองค์ และนี่คือศิลาซึ่งเราสามารถสร้างการเป็นสานุศิษย์ของเราไว้บนนั้นได้—การเปิดเผยว่าพระเยซูคือพระคริสต์และผู้รับใช้ของพระองค์ถือ “กุญแจต่างๆ แห่งแผ่นดิน” เมื่อเราสร้างบนรากฐานนี้ “ประตูแห่งนรกจะเอาชนะ [เรา] ไม่ได้” (มัทธิว 16:15–19)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 16:13–17; ลูกา 9:18–21

ประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์มาโดยการเปิดเผย

ถ้าพระเยซูคริสต์ตรัสถามผู้คนวันนี้ว่า “คนทั่วไปพูดกันว่าบุตรมนุษย์เป็นใคร” คำตอบของพวกเขาจะต่างจากคำตอบของผู้คนในสมัยของพระองค์ ท่านสังเกตเห็นคนสมัยนี้มีเจตคติต่อพระเยซูอย่างไร ท่านจะตอบอย่างไรถ้าพระเยซูตรัสถามท่านว่า “แล้วพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร” (ดู มัทธิว 16:13–15)

ไตร่ตรองประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและวิธีที่ท่านได้รับ ท่านเรียนรู้อะไรจาก มัทธิว 16:15–17 ที่จะทำให้ประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็งขึ้น ถ้าท่านประสงค์จะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประจักษ์พยานและการเปิดเผยส่วนตัว ให้สำรวจพระคัมภีร์เหล่านี้: ยอห์น 15:26; 1 โครินธ์ 12:3; 2 นีไฟ 31:18; แอลมา 5:45–48; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3

มัทธิว 17:1–9; มาระโก 9:2–10; ลูกา 9:28–36

เกิดอะไรขึ้นบนภูเขาแห่งการจำแลงพระกาย

เมื่อพระเยซูทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นขึ้นบน “ภูเขาสูง” พระองค์ทรงจำแลงพระกาย (หรือส่องรัศมี) ต่อหน้าพวกเขา โมเสสกับเอลียาห์ปรากฏและมอบกุญแจฐานะปุโรหิตให้อัครสาวกเช่นกัน กุญแจเหล่านี้ทำให้พวกท่านสามารถนำศาสนจักรของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู Bible Dictionary, “Transfiguration, Mount of”) กุญแจเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูในสมัยของเราเช่นกัน (ดู คพ. 110)

มัทธิว 16:13–19; 17:1–9

“กุญแจต่างๆ ของแผ่นดินสวรรค์” คืออะไร

“กุญแจต่างๆ ของแผ่นดินสวรรค์” ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาจะประทานให้เปโตรคือกุญแจฐานะปุโรหิต (มัทธิว 16:19) “กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้นำฐานะปุโรหิตเพื่อกำกับดูแล ควบคุม และ ปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก การใช้อำนาจฐานะปุโรหิตปกครองโดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ดู คพ. 65:2; 81:2; 124:123) ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตมีสิทธิ์ควบคุมดูแลและกำกับดูแลศาสนจักรภายในขอบเขตอำนาจที่กำหนดไว้” (คู่มือ เล่ม 2: การบริหารศาสนจักร [2010], 2.1.1)

ภาพ
รูปปั้นเปโตรถือกุญแจ

“กุญแจต่างๆ ของแผ่นดินสวรรค์” คือกุญแจฐานะปุโรหิต

กุญแจต่างๆ ของฐานะปุโรหิตที่มอบให้เปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ บนภูเขาแห่งการจำแลงพระกายได้รับการฟื้นฟูในสมัยของเรา (ดู คพ.110:11–16) ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตได้แก่ ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองตลอดจนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ประธานพระวิหาร ประธานคณะเผยแผ่ ประธานสเตค ประธานท้องถิ่น อธิการ ประธานสาขา และประธานโควรัม

ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “พลังอำนาจในฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 92–95; แน่วแน่ต่อศรัทธา, 147–149; “Priesthood Keys: The Restoration of Priesthood Keys” (วีดิทัศน์, LDS.org)

มัทธิว 17:14–21; มาระโก 9:14–29

เมื่อแสวงหาศรัทธามากขึ้น ฉันต้องยึดมั่นศรัทธาที่ฉันมีอยู่แล้วก่อน

บิดาที่กล่าวไว้ใน มัทธิว 17 และ มาระโก 9 มีเหตุผลให้สงสัยว่าพระเยซูจะทรงรักษาบุตรชายของเขาได้หรือไม่ เขาเคยขอให้เหล่าสาวกของพระองค์รักษาบุตรชายของเขา แต่เหล่าสาวกรักษาไม่ได้ แต่เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เขาใช้ศรัทธา เขาไม่สงสัยอีก “ข้าพเจ้าเชื่อ” เขากล่าว และจากนั้นเขากล่าวอีกว่า “ขอโปรดช่วยในส่วนที่ขาดอยู่ด้วยเถิด” เพราะเขายอมรับว่าศรัทธาของเขายังไม่สมบูรณ์

พระวิญญาณทรงสอนอะไรท่านขณะท่านอ่านปาฏิหาริย์เรื่องนี้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยท่านเพิ่มพูนศรัทธาของท่านอย่างไร ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างบนศรัทธาที่ท่านมีอยู่แล้ว บางทีท่านอาจจะรวบรวมข้อพระคัมภีร์ ข่าวสารการประชุมใหญ่ หรือประสบการณ์ที่เคยเสริมสร้างศรัทธา

ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93–95 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะสนองความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 16:13–19; 17:1–9

เพื่อสอนเด็กเกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิต ท่านอาจจะเล่าเรื่องของเอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันเมื่อรถล็อคและท่านขึ้นรถไม่ได้ (ดู “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตอยู่ที่ไหน” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 29–32) ท่านอาจจะให้ลูกๆ ใช้กุญแจเปิดบ้าน รถ หรือล็อคอื่นๆ ให้ดูภาพของประธานศาสนจักรและเป็นพยานว่าท่านถือกุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดเช่นเดียวกับเปโตร

มัทธิว 17:20

ศาสดาพยากรณ์ที่มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์เคยเคลื่อนภูเขามาแล้ว (ดู เจคอบ 4:6; โมเสส 7:13) ประจักษ์พยานต่อไปนี้จากอธิการริชาร์ด ซี. เอชลีย์จะช่วยทำให้ข้อนี้เกี่ยวโยงกับครอบครัวท่าน “ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นการเลื่อนภูเขาจริงๆ แต่เพราะศรัทธาข้าพเจ้าจึงเห็นภูเขาแห่งความสงสัยและความสิ้นหวังเคลื่อนออกไป ความหวังและการมองในแง่ดีเคลื่อนเข้ามาแทน เพราะศรัทธาข้าพเจ้าจึงเห็นภูเขาแห่งบาปถูกแทนที่ด้วยการกลับใจและการให้อภัย เพราะศรัทธาข้าพเจ้าจึงเห็นภูเขาแห่งความเจ็บปวดถูกแทนที่ด้วยสันติ ความหวัง และความกตัญญู ใช่แล้ว ข้าพเจ้าเคยเห็นภูเขาเคลื่อน” (“ศรัทธา—การเลือกเป็นของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 40) เราต้องเคลื่อนภูเขาอะไรบ้างในชีวิตเรา เราจะแสดงศรัทธาในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อช่วยเราเคลื่อนภูเขาเหล่านี้ได้อย่างไร

ลูกา 9:61–62

หันหลังกลับหลังจากมือเราจับคันไถแล้วหมายความว่าอย่างไร เหตุใดเจตคติเช่นนี้จึงทำให้เราไม่คู่ควรกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

รวมกันบ่อยๆ ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอนว่า “อย่าพลาดโอกาสในการนำลูกๆ มารวมกันเพื่อเรียนรู้หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ ช่วงเวลาเช่นนั้นมีค่ายิ่งเมื่อเทียบกับความพยายามของศัตรู ” (“พลังแห่งการสอนคำสอน,” เลียโฮนา, ก.ค. 1999, 104)

ภาพ
ชายกับบุตรที่ป่วยอยู่เบื้องพระพักตร์พระเยซู

ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าได้พาลูกชายมาหาท่าน โดย วอลเตอร์ เรน

พิมพ์