“15–21 เมษายน อีสเตอร์: ‘โอ ความตาย ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ (2019)
“15–21 เมษายน อีสเตอร์,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
15–21 เมษายน
อีสเตอร์
“โอ ความตาย ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน”
ขณะที่ท่านอ่านประจักษ์พยานเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดในโครงร่างนี้ ให้บันทึกความรู้สึกและความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่มาถึงท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ชาวยิวมากมายรอบพระองค์เข้าร่วมประเพณีปัสกา พวกเขาเตรียมอาหาร ร้องเพลง และชุมนุมกันเพื่อระลึกถึงการปลดปล่อยเชื้อสายอิสราเอลจากการเป็นทาสชาวอียิปต์ ครอบครัวฟังเรื่องราวของเทพผู้ทำลายผ่านบ้านบรรพชนของพวกเขาผู้ทำเครื่องหมายที่ประตูด้วยเลือดของลูกแกะ ท่ามกลางงานฉลองเหล่านี้ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย มีไม่กี่คนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า จะทรงปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นทาสบาปและความตาย—ผ่านความทุกขเวทนาของพระองค์ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ แม้กระนั้นก็ยังมีคนจำได้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ พระผู้ปลดปล่อยนิรันดร์ของพวกเขา นับจากวันนั้นเป็นต้นมา เหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์กล่าวคำพยานต่อชาวโลกว่า “พระคริสต์วายพระชนม์เพราะบาปของเรา … ; และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา” (1 โครินธ์ 15:3–4)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการช่วยให้ฉันเอาชนะบาป ความตาย การทดลอง และความอ่อนแอ
วิธีหนึ่งที่จะจดจ่อกับพรแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดสัปดาห์นี้คือใช้เวลาแต่ละวันอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระชนม์ชีพในสัปดาห์สุดท้ายของพระเยซู (ตารางการอ่านมีให้ต่อจากนี้) ท่านพบอะไรในบทเหล่านี้ที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระองค์ในการปลดปล่อยท่านจากบาปและความตาย ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการอดทนต่อการทดลองและเอาชนะความอ่อนแอ ท่านกำลังใช้ศรัทธาในเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระองค์อย่างไร
-
วันอาทิตย์: การเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต (มัทธิว 21:6–11)
-
วันจันทร์: การชำระพระวิหาร (มัทธิว 21:12–16)
-
วันอังคาร: การสอนในเยรูซาเล็ม (มัทธิว 21–23)
-
วันพุธ: การสอนต่อ (มัทธิว 24–25)
-
วันพฤหัสบดี: ปัสกาและความทุกขเวทนาของพระคริสต์ในสวนเกทเสมนี (มัทธิว 26)
-
วันศุกร์: การไต่สวน การตรึงกางเขน และการฝังพระศพ (มัทธิว 27:1–61)
-
วันเสาร์: พระวรกายของพระคริสต์วางอยู่ในอุโมงค์ (มัทธิว 27:62–66) ส่วนพระวิญญาณของพระองค์ปฏิบัติศาสนกิจในโลกวิญญาณ (คพ. 138)
-
วันอาทิตย์: การปรากฏของพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (มัทธิว 28:1–10)
มัทธิว 28:1–10; ลูกา 24:13–35; ยอห์น 20:19–29; 1 โครินธ์ 15:1–8, 55
พยานหลายคนเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์
ลองนึกภาพว่าเป็นอย่างไรเมื่อเหล่าสาวกเห็นพระเยซูถูกเยาะเย้ย ถูกทรมาน และถูกตรึงกางเขน พวกเขาเคยเห็นเดชานุภาพของพระองค์มาแล้ว รู้สึกถึงความจริงในคำสอนของพระองค์ และมีศรัทธาว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า การเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์อาจเป็นการทดลองศรัทธาสำหรับบางคน แต่ไม่นานพวกเขาก็กลายเป็นพยานยืนยันปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์
ท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องราวของคนที่เห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ทำเครื่องหมายหรือจดประสบการณ์ของแต่ละคนใน มัทธิว 28:1–10; ลูกา 24:13–35; ยอห์น 20:19–29; และ 1 โครินธ์ 15:1–8, 55 (สังเกตว่าท่านสามารถหาพยานคนอื่นๆ ของพระคริสต์ที่ฟื้นคืนพระชนม์ได้ใน 3 นีไฟ 11; มอรมอน 1:15; อีเธอร์ 12:38–39; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:19–24; 110:1–10; และ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–17) ในเรื่องราวเหล่านี้ อะไรเสริมสร้างศรัทธาของท่านในการฟื้นคืนพระชนม์จริงๆ ของพระเจ้า หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด คนอื่นๆ ฟื้นคืนชีวิตและปรากฏต่อคนเป็นอันมาก (ดู มัทธิว 27:52–53; 3 นีไฟ 23:9) ท่านรู้สึกว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ทั้งในพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน
ดู “Jesus Is Resurrected,” “The Risen Lord Appears to the Apostles,” “Blessed Are They That Have Not Seen, and Yet Have Believed” (วีดิทัศน์, LDS.org) ด้วย
พระเยซูคริสต์ประทานความหวังและปีติแก่ฉัน
อลิซาบุตรสาวของเอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและอดทนต่อการผ่าตัดหลายครั้ง เธอเป็นแบบอย่างของ “ความหวังที่ยั่งยืน” ที่เปโตรบรรยายไว้ใน 1 เปโตร 1:3–11 เอ็ลเดอร์จอห์นสันพูดถึงจดหมายที่อลิซาเขียนในช่วงอีสเตอร์ก่อนเธอสิ้นชีวิตไม่นานว่า “อีสเตอร์เป็นเครื่องเตือนใจถึงทุกสิ่งที่ฉันหวังสำหรับตนเอง ว่าวันหนึ่งฉันจะได้รับการเยียวยาและวันหนึ่งฉันจะหาย วันหนึ่งฉันจะไม่ต้องมีโลหะหรือพลาสติกอยู่ในตัวฉัน วันหนึ่งหัวใจของฉันจะปราศจากความกลัวและความคิดของฉันจะปราศจากความกังวล … ฉันดีใจเหลือเกินที่ฉันเชื่ออย่างแท้จริงถึงชีวิตที่สวยงามหลังจากนี้” (“และความตายจะไม่มีอีกต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 121)
ถ้อยคำหรือวลีใดใน 1 เปโตร 1:3–11 ให้ความหวังแก่ท่านเพราะพระเยซูคริสต์ ท่านเคยรู้สึกถึงความหวังนั้นเมื่อใด ท่านจะแบ่งปันความหวังที่ท่านมีผ่านพระเยซูคริสต์ให้กับคนที่ท่านรักได้อย่างไร
ดู แอลมา 27:28; 36:1–24; 3 นีไฟ 9:11–17; โมโรไน 7:40–41 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
Mormon.org
หมวด “Holy Week” ของ mormon.org/easter มีเส้นเวลาและคำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของสัปดาห์สุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด แต่ละวันของสัปดาห์ครอบครัวท่านอาจจะทบทวนคำบรรยายเหล่านี้เพื่อดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรวันนั้น หรือท่านกับครอบครัวอาจจะอ่านเกี่ยวกับสัปดาห์สุดท้ายของพระองค์ในพระคัมภีร์ (ดูรายการที่แนะนำในหัวข้อ “แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว”)
เพลงสวด และ หนังสือเพลงสำหรับเด็ก
ท่านอาจจะร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างสัปดาห์นี้ รวมทั้งเพลงบางเพลงที่ท่านไม่ค่อยคุ้นหู (ดูดัชนีหัวข้อของ เพลงสวด หรือ หนังสือเพลงสำหรับเด็ก ใต้หัวข้อเช่น “การชดใช้” “อีสเตอร์” หรือ “การฟื้นคืนชีวิต”) เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวเรียนรู้เพลงต่างๆ ท่านอาจให้ดูภาพที่สอดคล้องกันกับเนื้อร้อง
“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก”
อ่าน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” กับครอบครัว ( เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2–3; ดู LDS.orgด้วย) และเชื้อเชิญให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวเลือกข่าวสารอีสเตอร์จากประจักษ์พยานนี้มาแบ่งปันกับผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะทำโปสเตอร์แสดงบนสื่อสังคม ติดที่ประตูหน้าบ้าน หรือที่หน้าต่าง
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย