“25–31 มีนาคม มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6: ‘อย่ากลัวเลย’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“25–31 มีนาคม มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
25–31 มีนาคม
มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; ยอห์น 5–6
“อย่ากลัวเลย”
ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 14–15; มาระโก 6–7; และ ยอห์น 5–6 ให้มองหาความจริงที่มีความหมายต่อท่าน ท่านอาจจะถามตัวท่านเองเช่น “เรื่องราวในบทเหล่านี้เกี่ยวข้องกับฉันอย่างไร” “ฉันพบข่าวสารอะไรสำหรับชีวิตฉัน” หรือ “ฉันอยากแบ่งปันอะไรกับครอบครัวของฉันหรือกับคนอื่นๆ”
บันทึกความประทับใจของท่าน
สิ่งใดอาจดลใจเปโตรให้ทิ้งความปลอดภัยของเรือที่อยู่กลางทะเลกาลิลีระหว่างเกิดพายุอันบ้าคลั่ง อะไรนำเขาให้เชื่อว่าถ้าพระเยซูทรงสามารถเดินบนน้ำได้ เขาก็จะเดินได้ เราไม่รู้แน่ชัด แต่เปโตรอาจจะเข้าใจว่าพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาไม่เพียงเพื่อทำสิ่งอัศจรรย์ให้ผู้คนเท่านั้นแต่ให้อำนาจคนอย่างเปโตรทำสิ่งอัศจรรย์เช่นกัน สุดท้ายแล้วพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเยซูคือ “จงกลับมาติดตามเรา” (ลูกา 18:22) เปโตรเคยรับพระดำรัสเชื้อเชิญนี้แล้ว และเขายินดีรับอีกครั้ง แม้นั่นจะหมายความว่าเขาต้องเผชิญความกลัวและทำสิ่งที่ดูเหมือนจะเหลือวิสัย บางทีพระเจ้าจะไม่ขอให้เราก้าวลงจากเรือกลางพายุหรือบริจาคขนมปังเพียงน้อยนิดเมื่อหลายพันคนต้องกิน แต่พระองค์อาจจะขอให้เรายอมรับคำแนะนำแม้เมื่อเราไม่เข้าใจถ่องแท้ ไม่ว่าพระดำรัสเชื้อเชิญจะเป็นอะไร บางครั้งอาจจะดูประหลาดหรือน่าหวาดกลัว แต่ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ถ้าเรา เฉกเช่นเปโตร จะตัดความกลัว ความสงสัย และความเข้าใจอันจำกัดของเราออกไปและทำตามพระองค์ด้วยศรัทธา
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเยซูคริสต์ถวายเกียรติพระบิดาของพระองค์
ความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดาบนสวรรค์กับบุตรธิดาแต่ละคนของพระองค์เป็นความสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ ในข้อเหล่านี้ พระเยซูคริสต์ประทานต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราทำตามในความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์ อ่าน ยอห์น 5:17–47 และทำเครื่องหมายหรือจดสถานการณ์แต่ละอย่างที่มีคำว่า พระบิดา พระบุตรถวายเกียรติพระบิดาอย่างไร และท่านจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาว่าทรงมีความรู้สึกอย่างไรต่อพระบุตร การกระชับความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์จะทำให้ท่านเต็มใจแสวงหาและเชื่อฟังพระประสงค์ของพระองค์มากขึ้นได้อย่างไร
ดู ยอห์น 17; เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 84–87 ด้วย
มัทธิว 14:16–21; มาระโก 6:33–44; ยอห์น 6:5–14
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถขยายเครื่องถวายอันต่ำต้อยของฉันเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์
ท่านเคยรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถตอบรับความต้องการทั้งหมดที่ท่านเห็นอยู่รอบข้างท่าน—ในบ้านท่าน ในความสัมพันธ์ของท่าน หรือในสังคมหรือไม่ เหล่าสาวกของพระองค์ต้องรู้สึกเช่นกันเมื่อพระองค์ทรงขอให้พวกเขาเลี้ยงอาหารคนหิวโหยห้าพันคน (ดู มัทธิว 14:21) เมื่อมีเพียงขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น ให้ไตร่ตรองว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้เครื่องถวายอันต่ำต้อยเนื่องจากการรับใช้ของท่านเป็นพรแก่คนรอบข้างท่านอย่างไร พระองค์จะทรงขยายความพยายามของท่านได้อย่างไรขณะท่านรับใช้ในศาสนจักร พิจารณาคำกล่าวนี้จากประธานเจมส์ อี. เฟาสท์: “บุคคลนิรนามจำนวนมากที่พรสวรรค์เทียบเท่าขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวต่างขยายการเรียกของพวกเขาและรับใช้โดยไม่เรียกร้องความสนใจหรือการยกย่องขณะเลี้ยงอาหารคนหลายพันคน” (“Five Loaves and Two Fishes,” Ensign, May 1994, 5)
มัทธิว 14:22–33; มาระโก 6:45–52; ยอห์น 6:15–21
พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ฉันตัดความกลัวและความสงสัยออกไปและใช้ศรัทธาในพระองค์
ลองนึกภาพรายละเอียดของเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน มัทธิว 14:22–33; มาระโก 6:45–52; และ ยอห์น 6:15–21. นึกดูว่าเปโตรและสาวกคนอื่นๆ จะรู้สึกอย่างไร ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์จากพระดำรัสและการกระทำของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ ท่านเรียนรู้อะไรจากคำพูดและการกระทำของเปโตร (ดู 1 นีไฟ 3:7 ด้วย) พระเจ้าทรงกำลังเชื้อเชิญให้ท่านทำอะไรที่อาจจะเหมือนก้าวลงจากเรือ ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่ทำให้ท่านกล้าใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ฉันต้องเต็มใจเชื่อและยอมรับความจริงแม้เมื่อทำได้ยาก
วันต่อมา หลังจากพระเยซูทรงจัดหาขนมปังให้ฝูงชนได้อย่างน่าอัศจรรย์ในถิ่นทุรกันดาร ผู้ติดตามพระองค์ตามหาพระองค์และขออาหารอีก แต่พวกเขาผิดหวังและแม้ถึงกับขุ่นเคืองเมื่อพระองค์ทรงมอบการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณให้พวกเขาแทน—“อาหารแห่งชีวิต” (ยอห์น 6:48) หลายคนพบว่า “คำสอนเรื่องนี้ยากนัก” (ยอห์น 6:60)
ท่านเคยมีประสบการณ์ที่ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดหรือผู้รับใช้คนหนึ่งของพระองค์สอนเป็นหลักคำสอนที่ “ยาก” จะยอมรับหรือไม่ ลองนึกถึงประสบการณ์เช่นนั้นขณะที่ท่านอ่านเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้อยคำของเปโตรใน ข้อ 68–69 “ถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 6:68) อะไรบ้างที่ช่วยให้ท่านตั้งใจติดตามพระผู้ช่วยให้รอดต่อไป
ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “พวกข้าพระองค์จะจากไปหาใครได้” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 90–92 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ขณะที่ท่านอ่านเรื่องการเลี้ยงอาหารคนห้าพันคน ท่านอาจจะกินขนมปังและปลา พร้อมทั้งนึกภาพว่าจะต้องใช้มากเท่าใดจึงจะเลี้ยงคนห้าพันคนได้ พระคริสต์เคยเลี้ยงครอบครัวท่านทางวิญญาณอย่างไร พระองค์เคยใช้ท่านเลี้ยงคนอื่นๆ อย่างไร
ครอบครัวท่านอาจจะชอบแสดงเรื่องราวในข้อเหล่านี้ เหตุใดเหล่าสาวกจึงกลัว เหตุใดเปโตรจึงสามารถเอาชนะความกลัวและละจากเรือได้ เขาแสดงศรัทธาอย่างไรแม้เมื่อเขาเริ่มจม บางครั้งเราเหมือนเปโตรอย่างไร
เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวจดสถานการณ์ที่มีวลี “หายเป็นปกติ” ในข้อเหล่านี้ พระเยซูคริสต์ทรงทำให้ผู้คนหายเป็นปกติในด้านใด พระองค์ทรงทำให้เราหายเป็นปกติเมื่อใดและอย่างไร
แจกขนมปังให้สมาชิกครอบครัวกินคนละชิ้น และสนทนาประโยชน์ที่เราได้รับจากขนมปังและอาหารอื่นที่ดีต่อสุขภาพ จากนั้นให้ค้นคว้าข้อเหล่านี้ด้วยกัน โดยหาดูว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงเรียกพระองค์เองว่า “อาหารแห่งชีวิต” (ยอห์น 6:35)
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย