จงตามเรามา
25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม มัทธิว 6–7: ‘พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ’


“25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม มัทธิว 6–7: ‘พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม มัทธิว 6–7,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระเยซูทรงสอนริมฝั่งทะเล

พระเยซูทรงสอนผู้คนริมฝั่งทะเล โดย เจมส์ ทิสสอท

25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม

มัทธิว 6–7

“พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ”

เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์โดยมีคำถามอยู่ในใจและปรารถนาจะเข้าใจสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรารู้ เท่ากับเราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ดลใจเรา ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 6–7 จงเอาใจใส่ความประทับใจเหล่านี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

คำเทศนาบนภูเขาเป็นปาฐกถาที่รู้จักกันดีที่สุดครั้งหนึ่งในคริสตศาสนา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนด้วยภาพลักษณ์มากมาย เช่น นครที่ตั้งบนภูเขา ดอกพลับพลึงในทุ่ง และสุนัขป่าในคราบแกะ แต่คำเทศนาบนภูเขาเป็นยิ่งกว่าสุนทรพจน์ที่ไพเราะ พลังคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดต่อเหล่าสาวกของพระองค์สามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราดำเนินชีวิตตามนั้น จากนั้นพระวจนะของพระองค์จะเป็นมากกว่าคำพูด จะกลายเป็นฐานมั่นคงสำหรับชีวิตที่สามารถต้านวาตภัยและอุทกภัยของโลกได้เหมือนบ้านของคนมีปัญญา (ดู มัทธิว 7:24–25)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 6–7

ฉันควรมีความปรารถนาในเรื่องของสวรรค์

ไม่ง่ายเสมอไปที่จะจัดลำดับเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าให้อยู่เหนือเรื่องของโลก คำสอนใดของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 6–7 ช่วยให้ท่านจดจ่อกับเรื่องของสวรรค์ ท่านมีความคิดหรือความประทับใจอะไรบ้างขณะที่ท่านศึกษาพระวจนะของพระองค์ ท่านได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไร ท่านอาจจะบันทึกความประทับใจของท่าน ตัวอย่างเช่น:

มัทธิว 6:1–4

ฉันควรสนใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงคิดอย่างไรกับฉันมากกว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับฉัน

มัทธิว 6–7

ฉันสามารถเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอนที่จริงใจและนอบน้อมถ่อมตน

คำเทศนาบนภูเขามีหลายหัวข้อ และหัวข้อที่ท่านสังเกตจะขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ปัจจุบันของชีวิตท่านและสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการสื่อสารกับท่าน

หัวข้อหนึ่งของ มัทธิว 6–7 คือการสวดอ้อนวอน ใช้เวลาสักครู่เพื่อประเมินการสวดอ้อนวอนของท่าน ท่านรู้สึกว่าท่านกำลังทำอย่างไรขณะพยายามเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอน คำสอนใดใน มัทธิว 6–7 สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านปรับปรุงวิธีสวดอ้อนวอนของท่าน บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับผ่านพระวิญญาณ ตัวอย่างเช่น:

มัทธิว 6:9

เมื่อฉันสวดอ้อนวอน ฉันควรเอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์ด้วยความคารวะ

มัทธิว 6:10

เมื่อฉันสวดอ้อนวอน ฉันควรให้ความปรารถนาของฉันเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ท่านอาจจะอ่านคำเทศนาบนภูเขาอีกครั้ง คราวนี้ให้มองหาหัวข้อหรือข่าวสารซ้ำๆ ที่นำมาใช้กับท่านได้เป็นพิเศษ บันทึกสิ่งที่ท่านพบลงในสมุดบันทึกการศึกษาตามด้วยความคิดและความประทับใจของท่าน

ภาพ
ครอบครัวกำลังสวดอ้อนวอน

เราสามารถเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอน

มัทธิว 6:7

การใช้คำ “พูดพล่อยๆ ซ้ำซาก” ในการสวดอ้อนวอนหมายความว่าอย่างไร

ผู้คนมักเข้าใจว่าคำ “พูดพล่อยๆ ซ้ำซาก” หมายถึงการพูดคำเดิมซ้ำหลายๆ ครั้ง แต่คำว่า พล่อยๆ บ่งบอกบางสิ่งที่ไม่มีค่า การใช้คำ “พูดพล่อยๆ ซ้ำซาก” ในการสวดอ้อนวอนสามารถหมายถึงการสวดอ้อนวอนโดยไม่จริงใจและไม่ได้มาจากใจ (ดู แอลมา 31:12–23)

มัทธิว 6:9–13

เหตุใดเราจึงไม่ท่องคำสวดอ้อนวอนของพระเจ้า

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “พระเจ้าทรงเกริ่นนำการสวดอ้อนวอนโดยทรงขอให้ผู้ติดตามพระองค์หลีกเลี่ยงคำ ‘พูดพล่อยๆ ซ้ำซาก’ [มัทธิว 6:7] และสวดอ้อนวอน ‘เช่นนี้’ [มัทธิว 6:9] ฉะนั้นการสวดอ้อนวอนของพระเจ้าจึงเป็นแบบฉบับให้ทำตามไม่ใช่ให้ท่องจำหรือท่องซ้ำๆ พระอาจารย์ทรงต้องการให้เราสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าขณะพยายามต่อต้านความชั่วร้ายและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม” (“บทเรียนจากคำสวดอ้อนวอนของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 57)

มัทธิว 7:1–5

ฉันควรตัดสินอย่างชอบธรรม

ใน มัทธิว 7:1 ดูเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดอาจจะกำลังตรัสว่าเราไม่ควรตัดสิน แต่ในพระคัมภีร์ข้ออื่น (รวมทั้งข้ออื่นในบทนี้) พระองค์ประทานคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีตัดสิน ถ้าอ่านแล้วยังงุนงงสงสัย งานแปลของโจเซฟ สมิธในข้อนี้อาจช่วยได้ “อย่าตัดสิน อย่างไม่ชอบธรรม เพื่อเจ้าจะไม่ถูกตัดสิน; แต่จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” (ใน มัทธิว 7:1, footnote a) ท่านพบอะไรใน มัทธิว 7:1–5 ตามด้วยข้อที่เหลือของบทนั้นที่ช่วยให้ท่านรู้วิธี “ตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม”

ดู “การตัดสินผู้อื่น,” แน่วแน่ต่อศรัทธา, 23–25; ลินน์ จี. รอบบินส์, “ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 96–98 ด้วย

มัทธิว 7:21–23

ฉันรู้จักพระเยซูคริสต์โดยทำตามพระประสงค์ของพระองค์

ประโยคที่ว่า “เราไม่เคยรู้จักพวกเจ้า” ใน มัทธิว 7:23 งานแปลของโจเซฟ สมิธเปลี่ยนเป็น “เจ้าไม่เคยรู้จักเรา” (Matthew 7:23, footnote a) การเปลี่ยนนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนใน ข้อ 21–22 เกี่ยวกับการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ดีขึ้นอย่างไร ท่านรู้สึกว่าท่านรู้จักพระเจ้าดีเพียงใด ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรู้จักพระองค์ดีขึ้น

ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ถ้าพวกท่านรู้จักเราแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 102–105 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านศึกษาคำเทศนาบนภูเขากับครอบครัวท่าน พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 6–7

วิธีหนึ่งในการเรียนรู้จาก มัทธิว 6–7 กับครอบครัวคือดูวีดิทัศน์เรื่อง “Sermon on the Mount: The Lord’s Prayer” และ “Sermon on the Mount: Treasures in Heaven” (LDS.org) สมาชิกครอบครัวอาจดูพระคัมภีร์ตามและหยุดวีดิทัศน์เมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งที่ต้องการสนทนา กิจกรรมนี้อาจใช้เวลาหลายวันหากจำเป็น

มัทธิว 6:5–13

เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอน เราจะใช้คำสวดอ้อนวอนของพระองค์เป็นต้นแบบเพื่อปรับปรุงการสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัวและกับครอบครัวได้อย่างไร (ดู ลูกา 11:1–13 ด้วย) ถ้าท่านมีลูกเล็ก ท่านอาจจะฝึกสวดอ้อนวอนด้วยกัน

มัทธิว 6:33

“แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า … ก่อน” หมายความว่าอย่างไร เรากำลังทำสิ่งนี้เป็นครอบครัวอย่างไร

มัทธิว 7:1–5

ท่านอาจจะใช้เศษไม้ชิ้นเล็กๆ และไม้แผ่นใหญ่แทนผงและท่อนไม้ขณะท่านสนทนาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่น ท่านอาจจะอ่านข้อมูล “การตัดสินผู้อื่น” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา, 23–25 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้

มัทธิว 7:24–27

เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องคนมีปัญญากับคนโง่เขลาดีขึ้น ท่านอาจจะให้พวกเขาเทน้ำบนทรายจากนั้นก็เทบนหิน เราจะสร้างรากฐานทางวิญญาณบนศิลาได้อย่างไร

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

แบ่งปันข้อคิด การสนทนาหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้จากการศึกษาส่วนตัวไม่เพียงเป็นวิธีที่ดีในการสอนผู้อื่นเท่านั้น แต่จะช่วยเสริมความเข้าใจของท่านเองด้วย พยายามแบ่งปันหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้จากการอ่านสัปดาห์นี้กับสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวหรือในชั้นเรียนของศาสนจักร

ภาพ
พระเยซูทรงสวดอ้อนวอน

เราอธิษฐานเผื่อตัวท่าน โดย เดล พาร์สัน

พิมพ์