2010–2019
ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม
ตุลาคม 2016


10:24

ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม

มีวิธีเดียวในการตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงทำ นั่นคือการเป็นอย่างที่พระองค์ทรงเป็น

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพบนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาที่เปี่ยมด้วยความรัก พระปรีชาญาณล้ำเลิศและอดทน ในพระคัมภีร์ทุกคนรู้ว่าพระองค์ทรงเป็น “ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม (2 ทิโมธี 4:8; โมเสส 6:57) พระองค์ทรงแนะนำให้เรา “ตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” เช่นกัน (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 7:1–2) ให้เรา “วางใจในพระวิญญาณองค์นั้นซึ่งนำให้ทำดี … [และ] ให้พิพากษาอย่างชอบธรรม” (คพ. 11:12)

คำแนะนำนี้ที่พระองค์ทรงให้แก่ชาวนีไฟสิบสองคนจะช่วยเราให้พิพากษาอย่างที่พระองค์ทรงทำ “เจ้าจะเป็นผู้พิพากษาแห่งคนเหล่านี้, ตามคำพิพากษาซึ่งเราจะให้แก่เจ้า, ซึ่งจะเที่ยงธรรม. ฉะนั้น, เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า ? ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, แม้ดังที่เราเป็น” (3 นีไฟ 27:27; เน้นตัวเอน) บางครั้งเราลืมไปว่าเมื่อพระองค์ทรงแนะนำให้เราเป็นดังที่พระองค์ทรงเป็น บริบทของเรื่องนี้คือวิธีพิพากษาอย่างชอบธรรม

การพิพากษาที่ไม่ชอบธรรม

พระผู้ช่วยให้รอดกับพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์

แบบอย่างอันน่าอดสูของการพิพากษาที่ไม่ชอบธรรมมาจากอุปมาเรื่องแกะหาย เมื่อพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ตัดสินพระผู้ช่วยให้รอดและคนที่พระองค์เสวยพระกระยาหารมื้อค่ำด้วยอย่างผิดๆ โดยบอกว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา” (ลูกา 15:2)—พวกเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาเองก็เป็นคนบาป มีใจที่ชอบประณาม พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีไม่เคยรู้จักปีติของการช่วยชีวิตแกะหาย

พระผู้ช่วยให้รอดกับผู้หญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

นอกจากนี้ “พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี” ที่เป็นคนพา “ผู้หญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี” (ยอห์น 8:3) มาหาพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อดูว่าพระองค์จะทรงพิพากษาเธอตามกฎของโมเสสหรือไม่ (ดู ข้อ 5) ท่านรู้เรื่องราวที่เหลือ ว่าพระองค์ทรงทำให้พวกเขาเจียมตนเพราะการพิพากษาที่ไม่ชอบธรรมของ ตนเอง พวกเขารู้สึกผิด และออกไป “ทีละคน” (ข้อ 9 เน้นตัวเอน) จากนั้นพระองค์ตรัสกับหญิงนั้นว่า “เราก็ไม่เอาโทษเหมือนกัน จงไปเถิดและจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก [และนางสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าตั้งแต่โมงนั้นไป และเชื่อในพระนามของพระองค์]” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 8:11)

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับผู้หญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

ความเป็นมนุษย์ปุถุชนชายหญิงในตัวเราแต่ละคนมีแนวโน้มจะประณามผู้อื่นและตัดสินอย่างไม่ชอบธรรม หรือคิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น สิ่งนี้เกิดขึ้นแม้กับยากอบและยอห์น อัครสาวกสองคนของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาโกรธมากเมื่อผู้คนจากหมู่บ้านชาวสะมาเรียปฏิบัติต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างหยาบคาย (ดู ลูกา 9:51–54):

พระผู้ช่วยให้รอดกับผู้ติดตาม

“เมื่อ [พวกเขา] เห็นอย่างนั้นก็ทูลพระองค์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงต้องการให้พวกข้าพระองค์ขอไฟจากสวรรค์ลงมาเผาผลาญพวกเขาไหม อย่างเอลียาห์ได้ทำนั้น?

“แต่พระองค์ทรงหันมาตรัสห้ามพวกเขา พระองค์ตรัสว่า ท่านไม่รู้ว่า ท่านมีจิตใจทำนองใด

“เพราะว่าบุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อทำลายชีวิตมนุษย์ แต่มาเพื่อช่วยเขาทั้งหลายให้รอด” (ข้อ 54–56)

“ผู้พิพากษาใหญ่ (ทั้งหลาย)” (คพ. 107:74) ในทุกวันนี้ อธิการและประธานสาขาของเรา ควรหลีกเลี่ยงแรงกระตุ้นคล้ายกันที่จะประณาม เหมือนที่ยากอบกับยอห์นทำในครั้งนั้น ผู้พิพากษาที่ชอบธรรมจะตอบรับการสารภาพด้วยความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจ ตัวอย่างเช่น เยาวชนที่ทำผิดพลาดควรออกจากห้องอธิการโดยรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านอธิการ เปี่ยมด้วยปีติและอำนาจการเยียวยาอันเนื่องจากการชดใช้—ไม่รู้สึกอับอายหรือถูกเหยียดหยาม หาไม่แล้ว อธิการอาจไล่แกะหายเตลิดไปในถิ่นทุรกันดารโดยไม่ตั้งใจ (ดู ลูกา 15:4)

วินัย

อย่างไรก็ตาม ความเห็นอกเห็นใจไม่ได้ยกเลิกความจำเป็นสำหรับวินัย คำว่า วินัย (discipline) มาจากคำภาษาละติน discere แปลว่า “เรียนรู้” หรือ discipulus “ผู้เรียน” ทำให้สานุศิษย์ (disciple) เป็นทั้งนักเรียนและผู้ติดตาม1 การมีวินัยโดยวิธีของพระเจ้าคือการสอนด้วยความรัก ความอดทน บ่อยครั้งในพระคัมภีร์พระเจ้าทรงใช้คำว่า ตีสอน เมื่อรับสั่งถึงวินัย (ดูตัวอย่างเช่น โมไซยาห์ 23:21; คพ. 95:1) คำว่า ตีสอน (chasten) มาจากคำภาษาละติน castus หมายถึง “ปราศจากมลทินหรือบริสุทธิ์” และ ตีสอน หมายถึง “ทำให้บริสุทธิ์”2

ในโลก คือผู้พิพากษาทางโลกที่ประณามคนคนหนึ่งและ ขัง เขาไว้ในเรือนจำ ในทางตรงกันข้าม พระคัมภีร์มอรมอนสอนเราว่าเมื่อเราจงใจทำบาป เราจะกลายเป็น “ผู้พิพากษาของตนเอง” (แอลมา 41:7) และส่งตัวเราเองไปเรือนจำวิญญาณ แต่กระนั้น ผู้พิพากษาใหญ่ในกรณีนี้ก็ถือกุญแจที่ เปิด ประตูเรือนจำ “เพราะด้วยการตีสอน เราเตรียมทางเพื่อ การปลดปล่อย ของพวกเขาในสิ่งทั้งปวงออกจากการล่อลวง” (คพ. 95:1; เน้นตัวเอน) การดำเนินงานของผู้พิพากษาที่ชอบธรรมคือ เมตตา รัก และไถ่โทษ ไม่ใช่การประณาม

เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธถูกควบคุมวินัยด้วยการภาคทัณฑ์เป็นเวลาสี่ปีก่อนจะได้รับแผ่นจากรึกทองคำ “เพราะเจ้าไม่ได้รักษาพระบัญญัติของพระเจ้า”3 ต่อมา เมื่อโจเซฟทำต้นฉบับหายไป 116 หน้า ท่านถูกควบคุมวินัยอีกครั้ง แม้ว่าโจเซฟจะสำนึกผิดจริงๆ แต่พระเจ้ายังทรงเพิกถอนสิทธิพิเศษของท่านเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพราะ “ผู้ที่เรารักเราตีสอนด้วยเพื่อบาปของพวกเขาจะได้รับการให้อภัย” (คพ. 95:1)

โจเซฟกล่าวว่า “เทพยินดีเมื่อท่านคืนอูริมกับทูมมิมให้ข้าพเจ้าและกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยความซื่อสัตย์และความอ่อนน้อมถ่อมตนของข้าพเจ้า ทรงรักข้าพเจ้าเพราะ ความอดทน และความพากเพียรของข้าพเจ้าในการสวดอ้อนวอน”4 เพราะพระเจ้าทรงต้องการสอนบทเรียนของการกลับใจแก่โจเซฟ พระองค์จึงทรงเรียกร้องการพลีบูชาอันเจ็บปวดจากท่าน—การพลีบูชาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของวินัย

การพลีบูชา

“ในสมัยโบราณ, พลีบูชา หมายถึงทำให้บางสิ่งหรือบางคนบริสุทธิ์”5 ซึ่งเชื่อมโยงคำนี้ ในวิธีอิงอาศัยกับคำว่า ตีสอน— “ทำให้บริสุทธิ์” เช่นเดียวกัน ในอิสราเอลสมัยโบราณ การให้อภัยเกิดขึ้นโดยการถวายบาปหรือถวายการล่วงละเมิด หรือการพลีบูชา6 การพลีบูชาไม่เพียง “ชี้ถึงการพลีบูชาครั้งสุดท้ายและสำคัญยิ่ง” เท่านั้น (แอลมา 34:14) แต่ช่วยเพิ่มความรู้สึกสำนึกคุณอย่างลึกซึ้งต่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย การไม่เต็มใจพลีบูชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำนึกผิดถือเป็นการเย้ยหยันหรือลดคุณค่าการพลีบูชาอันสูงส่งกว่าของพระคริสต์เพื่อบาปเดียวกันและลดความสำคัญในการทนทุกข์ของพระองค์—สัญลักษณ์ด้านชาของความเนรคุณ

ในทางกลับกัน โดยผ่านการพลีบูชาอันน่าชื่นชม เรา ได้รับ บางสิ่งที่มีคุณค่านิรันดร์จริงๆ—พระเมตตาและการอภัยโทษจากพระองค์ และในที่สุด “ทุกสิ่งที่พระบิดา … มี” (คพ. 84:38) ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการกลับใจ การพลีบูชาเป็นเสมือนยาระงับความเจ็บปวดเพื่อแทนที่ “ความสำนึกผิดจากมโนธรรม” (แอลมา 42:18) ด้วย “ความสงบในมโนธรรม” (โมไซยาห์ 4:3) หากไม่มีการพลีบูชา บุคคลจะพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยตนเอง เพราะความรู้สึกยังวนเวียนอยู่กับบางสิ่งที่ตนยึดเหนี่ยวไว้7

บิดามารดาในฐานะผู้พิพากษาที่ชอบธรรม

ถึงแม้พวกเราไม่กี่คนจะได้รับเรียกเป็นผู้พิพากษาใหญ่ แต่หลักธรรมของการพิพากษาที่ชอบธรรมใช้ได้กับเราทุกคน โดยเฉพาะบิดามารดาผู้มีโอกาสใช้หลักธรรมเหล่านี้กับลูกของตนทุกวัน การสอนเด็กอย่างมีประสิทธิภาพคือหัวใจของการเป็นบิดามารดาที่ดี และการฝึกวินัยด้วยความรักคือหัวใจของการเป็นผู้พิพากษาที่ชอบธรรม

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธสอนว่า “ถ้าลูกต่อต้านและยากจะควบคุมได้ จงอดทนจนกว่าท่านจะเอาชนะด้วยความรัก … และท่านจะหล่อหลอมบุคลิกลักษณะของเขาอย่างที่ท่านพึงพอใจได้”8

เป็นเรื่องน่าคิดว่าในการสอนให้มีวินัย ศาสดาพยากรณ์ดูจะอ้างอิงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เสมอ หลักคำสอนและพันธสัญญาให้คำแนะนำเรื่องวินัยซึ่งเป็นที่รู้จักดี ดังนี้

“ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดสามารถหรือจะธำรงไว้ได้โดยอาศัยฐานะปุโรหิต, นอกจากโดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง;

“โดยความกรุณา, และความรู้บริสุทธิ์, ซึ่งจะขยายจิตวิญญาณออกไปอย่างกว้างขวางโดยปราศจากความหน้าซื่อใจคด, และปราศจากมารยา—

“จงว่ากล่าวโดยไม่ชักช้าด้วยความเฉียบขาด, เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ; และจากนั้นในเวลาต่อมาจงแสดงความรักเพิ่มขึ้น” (คพ. 121:41–43)

พระคัมภีร์ข้อนี้สอนให้เราว่ากล่าว “เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ” ไม่ใช่ เมื่อเราโมโห พระวิญญาณบริสุทธิ์และความโกรธอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะ “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง, และเขายั่วยุใจมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ” (3 นีไฟ 11:29) จอร์จ อัลเบิร์ต สมิธสอนว่า “ปกติจะไม่มีการพูดเรื่องไม่ดีภายใต้การดลใจของพระเจ้า พระวิญญาณของพระเจ้าคือวิญญาณของความเมตตา คือวิญญาณของความอดทน คือวิญญาณของจิตกุศล ความรัก การข่มใจ และความอดกลั้น  …

“… แต่ถ้าเรามีวิญญาณของการจับผิด … ในทางเสียหาย นั่น มิได้ เกิดจากความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณแห่งพระบิดาบนสวรรค์และมักเป็นภัย เสมอ

“… ความเมตตาคือพลังที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราเพื่อไขดวงใจที่แข็งกระด้าง”9

อัตลักษณ์ที่แท้จริงของบุตรธิดาของเรา

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนชาวนีไฟ พระองค์ทรงทำบางสิ่งที่พิเศษมากกับเด็กๆ

พระผู้ช่วยให้รอดกับเด็กชาวนีไฟ

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือพระองค์ทรงสอนและปฏิบัติต่อเด็ก ๆ ของฝูงชน … และพระองค์ทรงปล่อยลิ้นพวกเขา, และพวกเขาพูดถึงเรื่องสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์แก่พวกบิดาของตน …

“…และพวกเขาทั้งเห็นและได้ยินเด็กเหล่านี้; แท้จริงแล้ว, แม้ทารกก็อ้าปากและเอ่ยเรื่องอัศจรรย์ออกมา” (3 นีไฟ 26:14, 16)

บางที มากกว่า การเปิดปาก ทารก พระเจ้าทรงกำลัง เปิดตาและหู ของบิดามารดาผู้ประหลาดใจ บิดามารดาเหล่านั้นได้รับของประทานพิเศษยิ่งของการได้เห็นนิรันดรชั่วขณะหนึ่ง มองเห็นอัตลักษณ์ที่แท้จริงและความเจริญเติบโตในโลกก่อนเกิดของบุตรธิดา สิ่งนั้นจะไม่เปลี่ยนวิธีที่บิดามารดา มองเห็น และปฏิบัติกับบุตรธิดาของตนหรอกหรือ ข้าพเจ้าชื่นชอบคมวาทะของเกอเธ่ “วิธีที่คุณมอง [ลูก] คือวิธีที่คุณปฏิบัติต่อพวกเขา และวิธีที่คุณปฏิบัติต่อพวกเขาคือ [คน] ที่พวกเขาจะเป็น”10 การจดจำอัตลักษณ์ที่แท้จริงของเด็กคนหนึ่งคือของประทานแห่งการมองเห็นล่วงหน้าซึ่งดลบันดาลวิสัยทัศน์ของผู้พิพากษาที่ชอบธรรม

สรุป

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราว่า “อย่าปล่อยให้ปัญหาที่ต้องแก้ไขสำคัญกว่าคนที่ท่านต้องรัก”11 หลักธรรมนั้นสำคัญมากต่อการเป็นผู้พิพากษาที่ชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกๆ ของเราเอง

มีวิธีเดียวในการตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงทำ นั่นคือการเป็นอย่างที่พระองค์ทรงเป็น ฉะนั้น “เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า? ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, แม้ดังที่เราเป็น” ((3 นีไฟ 27:27) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู “disciple,” etymonline.com.

  2. ดู Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 11th ed. (2003), “chasten.”

  3. Karen Lynn Davidson and others, eds., Histories, Volume 1: Joseph Smith Histories, 1832–1844, vol. 1 of the Histories series of The Joseph Smith Papers (2012), 83.

  4. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 76; เน้นตัวเอน.

  5. คู่มือพระคัมภีร์, “เครื่องพลีบูชา, พลีพระชนม์ชีพ, สละ (ชีวิต), เสียสละ,” scriptures.lds.org.

  6. ดู Bible Dictionary, “Sacrifices.”

  7. เครื่องพลีบูชาที่เราถวายบนแท่นศีลระลึกทุกสัปดาห์คือใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด (ดู 2 นีไฟ 2:7; 3 นีไฟ 9:20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:8). ใจที่ชอกช้ำคือใจที่เสียใจ; วิญญาณที่สำนึกผิดคือวิญญาณที่เชื่อฟัง (ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 12).

  8. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ (1998), 329–330.

  9. คำสอนของประธานศาสนจักร: จอร์จ อัลเบิร์ต สมิธ (2010), 235–236, 238; เน้นตัวเอน.

  10. Attributed to Johann Wolfgang von Goethe, brainyquote.com.

  11. โธมัส เอส. มอนสัน, “พบปีติในการเดินทาง,”เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 106.