2010–2019
องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู
ตุลาคม 2016


15:34

องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู

เราจะทำให้ประจักษ์พยานของเราถึงพระบิดาและพระบุตรสับสนและซับซ้อนโดยสิ่งกีดขวางไม่ได้

ชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานสำคัญที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าและมอบให้คนที่ “รักษาพระบัญญัติ [ของพระผู้เป็นเจ้า] และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่”1 อีกนัยหนึ่ง คนที่ “ไม่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู”2 จะไม่มีชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาบนสวรรค์ มีสิ่งกีดขวางความองอาจของเราจำนวนหนึ่งที่ขัดขวางไม่ให้เราบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตนิรันดร์3 สิ่งกีดขวางอาจซับซ้อน ข้าพเจ้าจะอธิบาย

หลายปีก่อนคุณพ่อของข้าพเจ้าสร้างกระท่อมหลังเล็กไว้บนที่ดินที่เราเลี้ยงปศุสัตว์ ทิวทัศน์บริเวณทุ่งหญ้างดงามยิ่งนัก ข้าพเจ้าไปที่นั่นตอนก่อผนังกระท่อม ข้าพเจ้าประหลาดใจที่หน้าต่างด้านชมวิวเห็นเพียงเสาไฟที่อยู่ไม่ไกลบ้าน สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เสาไฟต้นใหญ่บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม

เสาไฟข้างนอกหน้าต่างชมวิว

ข้าพเจ้าถามว่า “พ่อครับ ทำไมปล่อยให้พวกเขาตั้งเสาไฟบังวิวจากหน้าต่างละครับ”

คุณพ่อของข้าพเจ้าเป็นคนใจเย็นและเอาการเอางานมาก ท่านอุทานด้วยความรู้สึกบางอย่าง “เควนทิน เสาไฟนั่นสวยที่สุดแล้วสำหรับพ่อบนฟาร์มแห่งนี้!” แล้วท่านก็อธิบายเหตุผล “เมื่อพ่อมองดูเสาไฟต้นนั้น พ่อตระหนักว่า ไม่เหมือนสมัยที่พ่อโตที่นี่ ตอนนี้พ่อไม่ต้องตักน้ำใส่ถังแล้วหิ้วน้ำกลับบ้านมาทำอาหาร ล้างมือ หรืออาบน้ำ พ่อไม่ต้องจุดเทียนหรือตะเกียงน้ำมันไว้อ่านหนังสือตอนกลางคืน พ่ออยากเห็นเสาไฟนั่นตรงกลางหน้าต่างชมวิวพอดี”

คุณพ่อมีทัศนะต่างจากข้าพเจ้าเรื่องเสาไฟ สำหรับท่านเสาไฟหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้น แต่สำหรับข้าพเจ้ามันเป็นสิ่งกีดขวางทิวทัศน์ที่งดงาม คุณพ่อเห็นไฟฟ้า แสงสว่าง และความสะอาดมีค่ากว่าวิวสวยๆ ข้าพเจ้าตระหนักทันทีว่าถึงแม้เสาไฟเป็นสิ่งกีดขวางสำหรับข้าพเจ้า แต่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นจริงสำหรับคุณพ่อ

สิ่งกีดขวางคือ “สิ่งขัดขวางความเชื่อหรือความเข้าใจ” หรือ “อุปสรรคต่อความก้าวหน้า”4 กีดขวางทางวิญญาณคือ “ถลำเข้าไปในบาปหรือความดื้อรั้น”5 สิ่งกีดขวางเป็นอะไรตามที่ทำให้เราเขวจากการบรรลุเป้าหมายที่ชอบธรรม

เราจะทำให้ประจักษ์พยานของเราถึงพระผู้ช่วยให้รอดสับสนและซับซ้อนโดยสิ่งกีดขวางไม่ได้ เราจะติดกับดักนั้นไม่ได้ ประจักษ์พยานของเราถึงพระองค์ต้องบริสุทธิ์และเรียบง่ายเหมือนคำแก้ต่างที่เรียบง่ายของคุณพ่อข้าพเจ้าเรื่องเสาไฟในฟาร์มที่ท่านเติบโตมา

สิ่งกีดขวางอะไรทำให้ประจักษ์พยานที่เรียบง่ายและบริสุทธิ์ของเราถึงพระบิดาและพระบุตรสับสนและซับซ้อน และกันเราไม่ให้องอาจในประจักษ์พยานนั้น

สิ่งกีดขวางอย่างหนึ่งคือปรัชญาของมนุษย์

เรายอมรับความรู้ทุกประเภทและเชื่อว่า “รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าคือความรู้แจ้ง”6 แต่เรารู้เช่นกันว่าอุบายของปฏิปักษ์คือนำผู้คนออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้าและทำให้คนเหล่านั้นสะดุดโดยเน้นปรัชญาของมนุษย์เหนือพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์

อัครสาวกเปาโลเป็นพยานที่เชื่อถือได้ของพระเยซูคริสต์เพราะประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์กับพระผู้ช่วยให้รอดที่เปลี่ยนชีวิตเขา7 ภูมิหลังที่ไม่ธรรมดาของเปาโลเตรียมเขาให้เชื่อมสัมพันธ์กับคนหลายวัฒนธรรม เขารัก “ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา” ของชาวเธสะโลนิกาและ “ความกรุณาปรานี” ของชาวฟิลิปปี8 เดิมทีเขาพบว่าการเชื่อมสัมพันธ์กับชาวกรีกที่รอบรู้และเจนโลกนั้นยากกว่า ในเอเธนส์กลางสภาอาเรโอปากัส เขาพยายามใช้หลักปรัชญาและถูกปฏิเสธ สำหรับชาวโครินธ์ เขาตั้งใจจะสอน “หลักคำสอนของพระคริสต์ที่ถูกตรึงกางเขน”9 อย่างเรียบง่าย อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้

“คำพูดและคำเทศนาของข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นการพูดชักชวนด้วยปัญญาแต่เป็นการสำแดงพระวิญญาณและฤทธานุภาพ

“เพื่อความเชื่อของพวกท่านจะไม่ขึ้นกับปัญญาของมนุษย์ แต่ขึ้นกับฤทธิ์เดชของพระเจ้า”10

เรื่องราวพระคัมภีร์ที่วิเศษสุดบางเรื่องเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์บรรยายไว้ใน 1 โครินธ์ บทหนึ่งคือ บทที่15 ได้รับความสนใจทั่วโลกผ่านการบรรเลงเพลง Messiah ของจอร์จ เฟรดริก ฮันเดล11 เพลงดังกล่าวประกอบด้วยหลักคำสอนที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ในตอน 3 ของ Messiah ตามมาติดๆ ด้วย “สร้อยเพลงฮาเลลูยา” ซึ่งใช้พระคัมภีร์ส่วนใหญ่จาก 1 โครินธ์ 15 ในไม่กี่ข้อนี้ เปาโลบรรยายสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำสำเร็จไว้อย่างไพเราะ

“[เพราะ] บัดนี้พระคริสต์ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว … ผลแรกของพวกที่ล่วงหลับไป

“… ในเมื่อความตายเกิดขึ้นโดยมนุษย์คนหนึ่ง การเป็นขึ้นจากความตายก็เกิดขึ้นโดยมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน

“เพราะว่าเช่นเดียวกับที่ทุกคนต้องตายโดยเกี่ยวเนื่องกับอาดัม ทุกคนก็จะได้รับชีวิตโดยเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์ …

“โอ ความตาย ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน? โอ ความตาย เหล็กในของเจ้าอยู่ที่ไหน? …

“สาธุการแด่พระเจ้า ผู้ประทานชัยชนะแก่เราโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”12

เรารู้ว่าการละทิ้งความเชื่อส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะพวกเขายกระดับปรัชญาของมนุษย์ให้อยู่เหนือหลักคำสอนพื้นฐานที่จำเป็นของพระคริสต์ แทนที่จะสอนความเรียบง่ายในข่าวสารของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขากลับเปลี่ยนและทำให้ความจริงที่แจ้งชัดและมีค่ามากมายสูญหาย ความจริงแล้วคริสต์ศาสนานำประเพณีเชิงปรัชญาบางอย่างของกรีกมาทำให้ความเชื่อของผู้คนกลมกลืนกับวัฒนธรรมที่มีอยู่ วิลล์ เดอร์แรนท์นักประวัติศาสตร์เขียนว่า “คริสต์ศาสนาไม่ทำลายลัทธินอกศาสนา แต่กลับนำมาใช้ จึงทำให้กรีกที่จวนตายมีชีวิตอีกครั้ง”13 ในทางประวัติศาสตร์ และในสมัยของเรา บางคนปฏิเสธพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เพราะพวกเขาเห็นว่าพระกิตติคุณมีความซับซ้อนทางปัญญาไม่มากพอ

สมัยเริ่มการฟื้นฟู อย่างน้อยหลายคนก็ปฏิญาณตนว่าจะทำตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด หลายประเทศถือว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ แต่กระนั้นก็ยังมีคำพยากรณ์ว่าสมัยของเราจะยากกว่ามาก

ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์เป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสองดั้งเดิมของสมัยการประทานนี้และเป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งของประธานบริคัม ยังก์ ท่านเตือนว่า “เวลาจะมาถึงเมื่อ…ยากจะบอกได้ว่าใครเป็นวิสุทธิชนและใครเป็นศัตรูกับผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้น…ต้องค้นหาตะแกรงอันใหญ่ เพราะจะเป็นเวลาฝัดร่อนครั้งใหญ่ และหลายคนจะตก” ท่านสรุปว่า “การทดสอบกำลังมา”14

ในสมัยของเรา อิทธิพลของคริสต์ศาสนาในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ ลดลงอย่างมาก หากไม่มีความเชื่อทางศาสนาย่อมไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงยากจะกำหนดคุณค่าสากลเกี่ยวกับวิธีดำเนินชีวิต ปรัชญาที่ฝังลึกมักขัดแย้งกันเอง

น่าเสียดายที่เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเช่นกันกับสมาชิกบางคนของศาสนจักรผู้หลงทิศทางและได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ขณะนั้น—ซึ่งเห็นชัดว่าหลายอย่างไม่ชอบธรรม

ตามคำพยากรณ์ของฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์กล่าวในปี 1982 ว่า “การฝัดร่อนส่วนมากจะเกิดขึ้นเพราะความพลั้งพลาดในการประพฤติชอบซึ่งคนนั้นไม่กลับใจ บางคนยอมแพ้แทนที่จะยืนหยัดจนถึงที่สุด บางคนจะถูกคนแปรพักตร์หลอก นอกจากนี้ อีกหลายคนจะขุ่นเคือง เพราะจะมีสิ่งกีดขวางตามสมัยการประทานแต่ละสมัย!”15

สิ่งกีดขวางอีกอย่างหนึ่งคือการไม่เห็นว่าบาปคือบาป

แง่มุมหนึ่งที่ก่อความยุ่งยากมากเป็นพิเศษในสมัยของเราคือหลายคนทำบาปแต่ไม่คิดว่านั่นเป็นบาป พวกเขาไม่สำนึกผิดหรือไม่ยอมรับว่าความประพฤติของตนผิดศีลธรรม บางคนที่ยืนยันความเชื่อของตนในพระบิดาและพระบุตรถึงกับเชื่อผิดๆ ว่าพระบิดาที่รักในสวรรค์ไม่ควรกำหนดผลของความประพฤติที่ขัดกับพระบัญญัติของพระองค์

เห็นชัดว่านี่คือสิ่งที่โคริแอนทอนบุตรของแอลมาผู้บุตรในพระคัมภีร์มอรมอนเชื่อ เขาประพฤติผิดศีลธรรมร้ายแรงและถูกแอลมาตักเตือน เราได้รับพรที่แอลมาศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ผู้ประสบ “เหวลึกอันมืดที่สุด [และ] ความสว่างอัศจรรย์”16 มาแล้ว เขาบันทึกคำแนะนำที่ให้ไว้ ใน แอลมาบทที่ 39 เราอ่านว่าเขาตักเตือนบุตรชายคนนี้ผ่านกระบวนการกลับใจอย่างไรและอธิบายว่าพระคริสต์จะเสด็จมารับบาปไปอย่างไร เขาชี้แจงว่าโคริแอนทอนจำเป็นต้องกลับใจเพราะ “ไม่มีสิ่งที่ไม่สะอาดจะสืบทอดอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดกได้”17

แอลมา 42 มีหลักคำสอนที่วิเศษสุดบางอย่างในพระคัมภีร์ทั้งหมดเกี่ยวกับการชดใช้ แอลมาช่วยให้โคริแอนทอนเข้าใจว่าไม่เป็น “การอยุติธรรมที่จะส่งผู้ทำบาปไปสู่สภาพแห่งความเศร้าหมอง”18แต่เขาบอกว่าตั้งแต่อาดัม พระผู้เป็นเจ้าที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาประทาน “ช่วงเวลาเพื่อการกลับใจ” เพราะหากปราศจากการกลับใจ “แผนแห่งความรอดอันยิ่งใหญ่จะถูกทำให้ล้มเหลว”19 แอลมาแสดงให้เห็นเช่นกันว่าแผนของพระผู้เป็นเจ้าเป็น “แผนแห่งความสุข”20

คำสอนของแอลมาให้ความรู้มากที่สุด “เพราะดูเถิด, ความยุติธรรมปฏิบัติข้อเรียกร้องทั้งหมดของมัน, และความเมตตาอ้างสิทธิ์ในทุกสิ่งที่เป็นของมันเองด้วย; และด้วยเหตุนี้, จึงไม่มีผู้ใดได้รับการช่วยให้รอดนอกจากคนที่สำนึกผิดอย่างแท้จริง”21 ในความเป็นจริง พรอันน่ายินดีของการกลับใจและการทำตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดสำคัญอย่างยิ่ง การชี้แจงเช่นที่แอลมาชี้แจงกับโคริแอนทอนเกี่ยวกับผลของการเลือกทำบาปและการไม่กลับใจถือว่ายุติธรรมดีแล้ว มักกล่าวกันว่า “ไม่ช้าก็เร็วทุกคนต้องรับผลจากการกระทำของตัว”22

พรซีเลสเชียลอันน่าทึ่งจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดคือ โดยผ่านการกลับใจ ความประพฤติที่เป็นบาปถูกลบล้าง หลังจากโคริแอนทอนกลับใจ แอลมาสรุปว่า “ขอให้บาปของลูกเท่านั้นเป็นเรื่องลำบากใจลูก, ด้วยความลำบากใจนั้นซึ่งจะนำลูกลงมาสู่การกลับใจ”23

การมองข้ามเป้าหมายคือสิ่งกีดขวาง

ศาสดาพยากรณ์เจคอบเรียกชาวยิวสมัยโบราณว่า “คนดื้อรั้น” ผู้ดูหมิ่นความแจ้งชัด “ฆ่าศาสดาพยากรณ์, และแสวงหาสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจได้. ดังนั้น, เพราะความมืดบอดของพวกเขา, ซึ่งความมืดบอดนั้นเกิดจากการมองข้ามเป้าหมาย, พวกเขาจึงจำเป็นต้องตก.”24

แม้จะมีตัวอย่างมากมายของการมองข้ามเป้าหมาย25 แต่ตัวอย่างสำคัญในสมัยของเราคือความคิดสุดโต่ง สุดโต่งเรื่องพระกิตติคุณคือเมื่อคนหนึ่งยกระดับหลักธรรมพระกิตติคุณข้อหนึ่งให้อยู่เหนือหลักธรรมข้ออื่นที่สำคัญเท่ากัน และเชื่อหลักธรรมที่อยู่นอกเหนือหรือขัดกับคำสอนของผู้นำศาสนจักร ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อคนหนึ่งสนับสนุนให้เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง หรือเน้นส่วนหนึ่งของพระคำแห่งปัญญา อีกตัวอย่างหนึ่งคือการเตรียมรับ “อวสานของโลก” อย่างเกินเหตุ ในสองตัวอย่างนี้คนอื่นถูกกระตุ้นให้ยอมรับการตีความส่วนตัว “ถ้าเราเปลี่ยนกฎสุขภาพหรือหลักธรรมข้อใดก็ตามให้อยู่ในรูปของความคลั่งศาสนา เรากำลังมองข้ามเป้าหมาย”26

เมื่อพูดถึงหลักคำสอนสำคัญ พระเจ้าทรงประกาศว่า “ผู้ใดก็ตามที่ประกาศมากหรือน้อยกว่านี้, คนคนนั้นไม่เป็นของเรา”27 เมื่อเรายกระดับหลักธรรมใดในลักษณะบั่นทอนคำมั่นสัญญาของเราว่าจะปฏิบัติหลักธรรมข้ออื่นที่สำคัญเท่ากัน หรือเชื่อว่าหลักธรรมนั้นขัดหรือดีกว่าคำสอนของผู้นำศาสนจักร เรากำลังมองข้ามเป้าหมาย

นอกจากนี้ สมาชิกบางคนยังได้ยกระดับอุดมการณ์ ซึ่งหลายอย่างดี ให้อยู่เหนือหลักคำสอนพระกิตติคุณขั้นพื้นฐาน พวกเขาถือว่าความภักดีต่ออุดมการณ์นั้นเป็นคำมั่นสัญญาแรกของพวกเขาและลดขั้นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์ลงมาเป็นอันดับสอง ถ้าเรายกระดับสิ่งใดเหนือความภักดีต่อพระผู้ช่วยให้รอด ถ้าความประพฤติของเรายอมรับพระองค์เป็นเพียงครูอีกคนหนึ่งและไม่ใช่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้นเรากำลังมองข้ามเป้าหมาย พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเป้าหมาย!

หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 76 กล่าวไว้ชัดเจนว่าความ “องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู”28 เป็นบททดสอบที่เรียบง่ายและจำเป็นระหว่างคนที่จะรับพรของอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดกกับคนในอาณาจักรเทอร์เรสเตรียลที่ต่ำกว่า เพื่อองอาจ เราต้องเพ่งความสนใจไปที่เดชานุภาพของพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์เพื่อชดใช้เพื่อเอาชนะความตายและชำระเราให้สะอาดจากบาปผ่านการกลับใจของเรา และเราต้องทำตามหลักคำสอนของพระคริสต์29 เราต้องให้ความสว่างและความรู้เกี่ยวกับพระชนม์ชีพและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดนำทางเราบนเส้นทางพันธสัญญา รวมทั้งศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร เราต้องแน่วแน่ในพระคริสต์ ดื่มด่ำพระวจนะของพระองค์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่30

สรุป

ถ้าเราต้องการองอาจในประจักษ์พยานของเราถึงพระเยซู เราพึงหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่หยุดยั้งและขัดขวางความก้าวหน้าของชายหญิงที่น่านับถือจำนวนมาก ขอให้เราตั้งใจว่าจะอยู่ในการรับใช้พระองค์เสมอ ขณะแสวงหาความรู้ เราพึงหลีกเลี่ยงปรัชญาของมนุษย์ที่บั่นทอนคำมั่นสัญญาของเราต่อพระผู้ช่วยให้รอด เราต้องเห็นว่าบาปคือบาปและยอมรับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการกลับใจ เราพึงหลีกเลี่ยงการมองข้ามเป้าหมายและเพ่งความสนใจไปที่พระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา และทำตามหลักคำสอนของพระองค์

คุณพ่อของข้าพเจ้าเห็นเสาไฟเป็นหนทางของการได้ไฟฟ้า แสงสว่าง และน้ำมากมายมาทำอาหารและทำความสะอาด เป็นทางที่ทำให้ชีวิตท่านดีขึ้น

นักเขียนคนหนึ่งบอกว่าเราอาจทำให้สิ่งกีดขวางกลายเป็น “ทางที่นำไปสู่อุปนิสัยอันสูงส่งและสู่สวรรค์”31ได้

สำหรับเรา ความองอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคือทางที่นำไปสู่คุณสมบัติที่เหมาะสมในการรับพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดและอาณาจักรซีเลสเชียล พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทางเดียวภายใต้ฟ้าสวรรค์ที่เราจะรอดได้32 ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานอันหนักแน่นถึงความเป็นพระเจ้าและบทบาทของพระองค์ในแผนของพระบิดา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7; ดู ยอห์น 17:3 ด้วย.

  2. หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:79.

  3. ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004), 139–141.

  4. Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 11th ed. (2003), “stumbling block.”

  5. Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, “stumble.”

  6. หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:36.

  7. ดู กิจการ 9:1–9; 26:13–18.

  8. ดู Frederic W. Farrar, The Life and Work of St. Paul (1898), 319.

  9. ดู Farrar, Life and Work of St. Paul, 319–20.

  10. 1 โครินธ์ 2:4–5.

  11. ดู George Frideric Handel, Messiah, ed. T. Tertius Noble (1912).

  12. 1 โครินธ์ 15:20–22, 55, 57.

  13. วิลล์ เดอแรนท์, The Story of Civilization, vol. 3, Caesar and Christ (1944), 595.

  14. ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์, ใน ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์, Life of Heber C. Kimball (1945), 446.

  15. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Be of Good Cheer,” Ensign, Nov. 1982, 68.

  16. โมไซยาห์ 27:29.

  17. แอลมา 40:26.

  18. แอลมา 42:1. ในหลักคำสอนวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การเตรียมการสำหรับมนุษย์ทุกคนรวมทั้งคนที่ไม่ได้ยินเรื่องพระคริสต์ในชีวิตนี้ เด็กที่เสียชีวิตก่อนวัยที่รับผิดชอบได้ และคนที่ไม่มีความเข้าใจ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:46–50; 137:7–10).

  19. แอลมา 42:5.

  20. แอลมา 42:8.

  21. แอลมา 42:24. สังเกต (ในฉบับภาษาอังกฤษ) ว่าสรรพนามของความยุติธรรมคือ เขา (ชาย) และสรรพนามของความเมตตาคือ เธอ (หญิง).

  22. โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน, ในคาร์ลา คารร์ลิสเล, “A Banquet of Consequences,” Country Life, July 6, 2016, 48. นางคาร์ลิสเลถือเป็นคำอ้างอิงของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน บางคนก็ถือเป็นคำอ้างอิงของคนอื่น.

  23. แอลมา 42:29.

  24. เจคอบ 4:14.

  25. ในบทความที่เขียนให้นิตยสารของศาสนจักรในปี 2003 ข้าพเจ้าเน้นสี่ด้านที่อาจจะทำให้เกิดความมืดบอดด้านเทววิทยาและเป็นสิ่งกีดขวางที่เจคอบพูดถึง ได้แก่ การแทนที่ความจริงพระกิตติคุณด้วยปรัชญาของมนุษย์ ความสุดโต่งเรื่องพระกิตติคุณ การแสดงออกเยี่ยงวีรบุรุษแทนการอุทิศถวายประจำวัน และการยกระดับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ให้อยู่เหนือหลักคำสอน (ดู “Looking beyond the Mark,” Liahona, Mar. 2003, 21–24).

  26. เควนทิน แอล. คุก, “Looking beyond the Mark,” Liahona, Mar. 2003, 22.

  27. หลักคำสอนและพันธสัญญา 10:68.

  28. หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:79.

  29. ดู 2 นีไฟ 31:17–21.

  30. ดู 2 นีไฟ 31:20–21.

  31. Henry Ward Beecher, in Tryon Edwards, A Dictionary of Thoughts (1891), 586.

  32. ดู 2 นีไฟ 31:21; โมไซยาห์ 3:17.