จงตามเรามา
29 เมษายน–5 พฤษภาคม ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี’


“29 เมษายน–5 พฤษภาคม ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“29 เมษายน–5 พฤษภาคม ยอห์น 7–10,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

พระคริสต์กับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

คนที่ไม่มีบาป โดย ลิซ เลมอน สวินเดิล

29 เมษายน–5 พฤษภาคม

ยอห์น 7–10

“เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี”

ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 7–10 ท่านอาจได้รับความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในบทเหล่านี้ การบันทึกความประทับใจของท่านจะช่วยให้ท่านวางแผนทำตามนั้น

บันทึกความประทับใจของท่าน

ถึงแม้พระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อทำให้ “สันติสุข [และไมตรีจิต] มีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย” (ลูกา 2:14) แต่ “ฝูงชนขัดแย้งกันในเรื่องพระองค์” (ยอห์น 7:43) คนที่เห็นเหตุการณ์เดียวกันนี้ได้ข้อสรุปต่างกันว่าพระเยซูทรงเป็นใคร บางคนสรุปว่า “เขาเป็นคนดี” ขณะที่คนอื่นบอกว่า “เขาทำให้ฝูงชนหลงผิดไป” (ยอห์น 7:12) เมื่อพระองค์ทรงรักษาคนตาบอดในวันสะบาโต บางคนยืนกรานว่า “ชายคน‍นี้ไม่‍ได้มาจากพระ‍เจ้าเพราะเขาไม่‍ได้รักษาวัน‍สะ‌บา‌โต” แต่คน‍อื่นพูดว่า “คน‍บาปจะทำหมาย‍สำคัญอย่าง‍นั้นได้อย่าง‍ไร” (ยอห์น 9:16) แต่แม้จะมีความสับสนวุ่นวายไปหมด คนที่ค้นหาความจริงก็ยังรับรู้ถึงพลังอำนาจในพระวจนะของพระองค์พราะ “ไม่เคยมีใครพูดเหมือนอย่างคนนั้นเลย” (ยอห์น 7:46) เมื่อชาวยิวขอให้พระเยซู “บอกให้ชัดเจน” ว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์หรือไม่ พระองค์ทรงเปิดเผยหลักธรรมหนึ่งซึ่งสามารถช่วยเราแยกแยะความจริงจากความผิดพลาดได้ “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา” พระองค์ตรัส “เรารู้จักแกะเหล่านั้นและแกะนั้นก็ตามเรา” (ยอห์น 10:27)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

ยอห์น 7:14–17

เมื่อฉันดำเนินชีวิตตามความจริงที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน ฉันจะรู้ว่านั่นเป็นความจริง

ชาวยิวอัศจรรย์ใจที่พระเยซูทรงรู้มากมายทั้งที่พระองค์ไม่เคยเรียนเลย (ดู ข้อ 15)—อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในวิธีที่พวกเขาคุ้นเคย ในพระดำรัสตอบของพระองค์ พระองค์ทรงสอนวิธีรู้ความจริงอีกวิธีหนึ่งซึ่งทุกคนเรียนรู้ได้โดยไม่คำนึงถึงการศึกษาหรือภูมิหลัง ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 7:14–17 ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าหลักคำสอนที่พระเยซูทรงสอนเป็นความจริง กระบวนการนี้ช่วยให้ท่านพัฒนาประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณอย่างไร

ยอห์น 8:2–11

พระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดมีให้ทุกคน

เมื่อพูดถึงการปฏิสัมพันธ์ของพระผู้ช่วยให้รอดกับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์กล่าวว่า “แน่นอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกล่าวโทษการล่วงประเวณี แต่พระองค์ไม่ทรงเอาโทษหญิงนั้นเช่นกัน พระองค์ทรงกระตุ้นให้เธอเปลี่ยนชีวิต ทรงผลักดันให้เธอเปลี่ยนเพราะความสงสารและพระเมตตาของพระองค์ งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธยืนยันการเป็นสานุศิษย์ของเธอเนื่องจากเหตุนั้นว่า ‘และหญิงนั้นสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านับจากโมงนั้นและปักใจเชื่อในพระนามของพระองค์’ [ดู John 8:11, footnote c]” (“พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 30)

ท่านเคยรู้สึกเหมือนหญิงคนนั้นที่ได้รับพระเมตตาแทนการกล่าวโทษจากพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด ท่านเคยเป็นเหมือนพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีที่กล่าวหาหรือตัดสินผู้อื่นทั้งที่ตัวท่านก็ใช่ว่าจะไม่มีบาปเมื่อใด (ดู ยอห์น 8:7) ท่านเรียนรู้อะไรได้อีกบ้างจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิสัมพันธ์กับพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีกับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้อภัยของพระผู้ช่วยให้รอดขณะท่านอ่านข้อเหล่านี้

ยอห์น 8:58–59

เหตุใดชาวยิวจึงไม่พอใจเมื่อพระเยซูตรัสว่า “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็นอยู่แล้ว”

“เราเป็นอยู่แล้ว” เป็นคำที่พระเยโฮวาห์ใช้ระบุชื่อพระองค์ต่อโมเสส ดังบันทึกไว้ใน อพยพ 3:14 ดังนั้นเมื่อพระเยซูตรัสว่า “เราเป็นอยู่แล้ว” พระองค์ทรงระบุชื่อพระองค์เองว่าเป็นพระเยโฮวาห์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม ชาวยิวถือว่านี่เป็นการหมิ่นประมาท และภายใต้กฎของโมเสส โทษคือถูกปาด้วยก้อนหินจนตาย

ยอห์น 9

พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถแสดงองค์ให้ประจักษ์ในชีวิตเราผ่านความท้าทายของเรา

เพราะผลลบมักจะเกิดตามหลังบาป เราจึงอาจมองว่าความโชคร้ายบางอย่างของเราเป็นผลของการทำผิด แต่เมื่อเหล่าสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดคิดว่าชายคนนั้นตาบอดแต่กำเนิดเพราะเขาหรือพ่อแม่ของเขาทำบาป พระเยซูจึงแก้ไขความเข้าใจผิดของพวกเขา พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 9:3 เปลี่ยนมุมมองของท่านเกี่ยวกับความท้าทายของท่านและของผู้อื่นอย่างไร ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 9 ให้ไตร่ตรองว่า “พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏ” (ยอห์น 9:3) อย่างไร พระราชกิจเหล่านั้นปรากฏเมื่อท่านเผชิญความท้าทายอย่างไร

น่าสนใจเช่นกันที่คำถามของเหล่าสานุศิษย์ใน ยอห์น 9:2 เผยให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อในการดำรงอยู่ก่อนเกิด ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สูญหายไปในศาสนาคริสต์ระหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่แต่ได้รับการฟื้นฟูผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (ดู คพ. 93:29; โมเสส 4:1–4; อับราฮัม 3:22–26)

ยอห์น 10:16

ใครคือ “แกะอื่น” ที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงใน ยอห์น 10:16

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนทวีปอเมริกาหลังการฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ทรงอธิบายว่าแกะอื่นของพระองค์คือใคร (ดู 3 นีไฟ 15:21–16:5)

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

ยอห์น 7:24

ท่านจะช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจคำสอนของพระเยซูใน ยอห์น 7:24 ได้อย่างไร วิธีหนึ่งคือออกไปข้างนอกและทำให้สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวสกปรก คนแปลกหน้าจะคิดอย่างไรกับสมาชิกครอบครัวคนนี้หากดูลักษณะภายนอกของเขา เขียนคุณสมบัติอันดีบางประการที่สมาชิกครอบครัวคนนี้มีซึ่งมองภายนอกไม่เห็น (ดู 1 ซามูเอล 16:7)

ยอห์น 8:31–36

บางครั้งเราเป็นทาสของบาปอย่างไร พระเยซูทรงสอนความจริงอะไรบ้างที่จะทำให้เราเป็นอิสระ

พระคริสต์ทรงรักษาคนตาบอด

พระเยซูทรงรักษาคนตาบอด โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค

ยอห์น 9

ท่านจะช่วยให้ครอบครัวท่านเห็นภาพเรื่องราวที่พระเยซูทรงรักษาคนตาบอดใน ยอห์น 9 ได้อย่างไร ท่านอาจจะแสดงเรื่องนี้ด้วยกันหรือฉายวีดิทัศน์ “Jesus Heals a Man Born Blind” (LDS.org) หยุดเรื่องเป็นครั้งคราวเพื่อให้สมาชิกครอบครัวได้อ่านข้อที่สอดคล้องกันจาก ยอห์น 9 เชื้อเชิญให้พวกเขาสังเกตบทเรียนที่เรียนรู้จากเรื่องนี้ เช่น การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร

ยอห์น 10:1–18, 27–29

เพื่อให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนในการเรียนรู้จากอุปมาเรื่องคนเลี้ยงแกะที่ดี ขอให้แต่ละคนวาดภาพสิ่งต่อไปนี้หนึ่งอย่าง: ขโมย ประตู คนเลี้ยงแกะ คนรับจ้าง (คนรับจ้างเลี้ยงแกะ) สุนัขป่า และแกะ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ยอห์น 10:1–18, 27–29 แล้วสนทนากับครอบครัวว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาวาด

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

มองหาถ้อยคำและวลีที่ดลใจ ขณะที่ท่านอ่าน พระวิญญาณอาจจะทำให้ท่านสนใจถ้อยคำหรือวลีนั้นๆ ที่ดลใจและกระตุ้นท่านหรือดูเหมือนจะเขียนไว้ให้ท่านโดยเฉพาะ ท่านอาจจะทำหมายเหตุของถ้อยคำหรือวลีที่ดลใจท่านใน ยอห์น 7–10

พระคริสต์กับลูกแกะ

ไม่หายไปอีก โดย เกรก เค. โอลเซ็น