จงตามเรามา
13–19 พฤษภาคม มัทธิว 19–20; มาระโก 10; ลูกา 18: ‘ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง’


“13–19 พฤษภาคม มัทธิว 19–20; มาระโก 10; ลูกา 18: ‘ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“13–19 พฤษภาคม มัทธิว 19–20; มาระโก 10; ลูกา 18,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

คนงานในสวนองุ่น

13–19 พฤษภาคม

มัทธิว 19–20; มาระโก 10; ลูกา 18

“ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง”

อ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 19–20; มาระโก 10; และ ลูกา 18 โดยเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับ บันทึกการกระตุ้นเตือนเหล่านั้น และตัดสินใจว่าท่านจะทำตามอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ถ้าท่านมีโอกาสทูลถามพระผู้ช่วยให้รอดหนึ่งข้อ ท่านจะทูลถามว่าอย่างไร เมื่อเศรษฐีหนุ่มคนหนึ่งพบพระผู้ช่วยให้รอดครั้งแรก เขาถามว่า“ข้าพเจ้าจะต้องทำความดีอะไรบ้างจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์” (มัทธิว 19:16) พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นทั้งการชื่นชมสิ่งดีที่ชายหนุ่มทำแล้วกับการแสดงความรักและการกระตุ้นให้เขาทำมากขึ้น เมื่อเราไตร่ตรองความเป็นไปได้ของชีวิตนิรันดร์ เราอาจสงสัยทำนองเดียวกันว่าเราควรทำอะไรอีก เมื่อเราทูลถามในวิธีของเราเองว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง” (มัทธิว 19:20) พระเจ้าจะประทานคำตอบให้เราเป็นส่วนตัวเท่ากับคำตอบที่ประทานให้เศรษฐีหนุ่ม ไม่ว่าพระเจ้าทรงขอให้เราทำอะไร การทำตามพระดำรัสตอบนั้นมักจะเรียกร้องให้เราวางใจพระองค์มากกว่าความชอบธรรมของเราเอง (ดู ลูกา 18:9–14) และให้เรา “รับแผ่นดินของพระเจ้าเหมือนเด็กเล็กๆ” (ลูกา 18:17; ดู 3 นีไฟ 9:22 ด้วย)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 19:1–9; มาระโก 10:1–12

การแต่งงานระหว่างชายหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า

การสนทนาระหว่างพระผู้ช่วยให้รอดกับพวกฟาริสีเป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวอย่างที่บันทึกไว้ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเจาะจงเรื่องการแต่งงาน หลังจากอ่าน มัทธิว 19:1–9 และ มาระโก 10:1–12 แล้วให้เขียนข้อความออกมาเป็นข้อๆ ที่ท่านรู้สึกว่าจะสรุปทัศนะของพระเจ้าเรื่องการแต่งงาน จากนั้นให้ศึกษา “Marriage” ใน Gospel Topics, topics.lds.org และเพิ่มลงในรายการของท่านเมื่อท่านค้นพบ ความรู้ของท่านเรื่องแผนแห่งความรอดของพระบิดาช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าเหตุใดการแต่งงานระหว่างชายหญิงจึงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า

คู่สามีภรรยาสูงวัยหน้าพระวิหาร

การแต่งงานนิรันดร์เป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอาจจะรู้จักคนที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านมาตรฐานของพระเจ้าเกี่ยวกับการแต่งงาน ดูคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีสนทนากับพวกเขาด้วยความเคารพในวีดิทัศน์เรื่อง “Everyday Example: When Beliefs Are Questioned” (LDS.org)

มัทธิว 19:3–9; มาระโก 10:2–12

พระเยซูทรงสอนหรือไม่ว่าพระองค์ไม่ทรงยอมรับการหย่าร้างหรือคนหย่าร้างไม่ควรแต่งงานใหม่

ในคำปราศรัยเรื่องการหย่าร้าง เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่าพระบิดาบนสรรค์ทรงมุ่งหมายให้สัมพันธภาพการแต่งงานอยู่ชั่วนิรันดร์ แต่พระผู้เป็นเจ้าเข้าพระทัยเช่นกันว่า “เพราะใจ [ของเรา] แข็งกระด้าง” (มัทธิว 19:8) รวมถึงการเลือกไม่ดีและความเห็นแก่ตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย บางครั้งการหย่าร้างก็จำเป็น

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์อธิบายว่าพระเจ้า “ทรงยอมให้บุคคลที่หย่าร้างแต่งงานใหม่หากปราศจากความมัวหมองของการผิดศีลธรรมดังระบุไว้ในกฎที่สูงกว่า หากสมาชิกที่หย่าร้างไม่ได้ทำการล่วงละเมิดร้ายแรง สมาชิกดังกล่าวมีสิทธิ์ได้ใบรับรองพระวิหารภายใต้มาตรฐานความมีค่าควรเดียวกันกับที่ใช้กับสมาชิกคนอื่นๆ” (“การหย่าร้าง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 88)

ดู “Divorce,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

มัทธิว 19:16–22; มาระโก 10:17–22; ลูกา 18:18–23

ถ้าฉันทูลถามพระเจ้า พระองค์จะทรงสอนฉันว่าฉันต้องทำอะไรจึงจะสืบทอดชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก

เรื่องราวของเศรษฐีหนุ่มสามารถทำให้สานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์มาชั่วชีวิตต้องฉุกคิด ขณะที่ท่านอ่าน มาระโก 10:17–22 ท่านพบหลักฐานอะไรยืนยันความซื่อสัตย์และความจริงใจของเศรษฐีหนุ่ม

เช่นเดียวกับเศรษฐีหนุ่ม เราทุกคนไม่ดีพร้อมและไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ในฐานะสานุศิษย์เราจึงต้องถามว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง”—และเราควรถามคำถามนี้ตลอดชีวิตเรา สังเกตว่าคำตอบนั้นมาจากความรักของพระองค์ผู้ทรงเห็นว่าจริงๆ แล้วเราเป็นใคร (ดู มาระโก 10:21) ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมถามพระเจ้าว่าท่านยังขาดอะไรอีกบ้าง—และยอมรับคำตอบของพระองค์

ดู แลร์รีย์ อาร์. ลอว์เรนซ์, “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 33–35; เอส. มาร์ก พอลเมอร์, “พระเยซูทอดพระเนตรดูคนนั้น ทรงเอ็นดูเขา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 114–116 ด้วย

มัทธิว 20:1–16

ทุกคนสามารถรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ ไม่ว่าพวกเขายอมรับพระกิตติคุณเมื่อใด

ท่านสามารถเล่าประสบการณ์ของคนงานในสวนองุ่นได้หรือไม่ ท่านพบบทเรียนอะไรบ้างสำหรับตัวท่านเองในข้อนี้ ข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เรื่อง “คนงานในสวนองุ่น” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 31–33) อาจจะช่วยให้ท่านเห็นวิธีใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้อุปมาเรื่องนี้ พระวิญญาณประทานการกระตุ้นเตือนอะไรแก่ท่านอีก

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

มัทธิว 19:1–9; มาระโก 10:1–12

ครอบครัวท่านจะได้ประโยชน์จากการสนทนาคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าเรื่องการแต่งงานและครอบครัวหรือไม่ ถ้าได้ ท่านอาจจะอ่าน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) คำสอนในถ้อยแถลงช่วยขจัดความสับสนและความเท็จในข่าวสารของโลกเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัวอย่างไร

มาระโก 10:23–27

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง การมี ความร่ำรวยกับ การวางใจใน ความร่ำรวย (ดู มาระโก 10:23–24) ขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 27 ท่านอาจต้องการมุ่งความสนใจไปที่งานแปลของโจเซฟ สมิธ “กับคน ที่วางใจในความร่ำรวย นั้นเป็นไปไม่ได้; แต่ใช่จะ เป็นไปไม่ได้กับคนที่วางใจในพระผู้เป็นเจ้าและละทิ้งทุกอย่างเพื่อเห็นแก่เรา เพราะกับ คนเช่นนั้น ทุกสิ่ง เหล่านี้ เป็นไปได้” (ใน Mark 10:27, footnote a)

มัทธิว 20:1–16

เพื่ออธิบายหลักธรรมใน มัทธิว 20:1–16 ท่านอาจจะจัดการแข่งขันง่ายๆ เช่น วิ่งแข่งระยะสั้น และสัญญาว่าผู้ชนะจะได้รางวัล หลังจากทุกคนแข่งเสร็จแล้ว มอบรางวัลให้ทุกคนเหมือนกัน โดยเริ่มจากคนที่เข้าเส้นชัยคนสุดท้ายจบลงด้วยคนที่เข้าเส้นชัยคนแรก สิ่งนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับคนที่ได้รับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์

มัทธิว 20:25–27; มาระโก 10:42–45

อะไรคือความหมายของวลี “ถ้าใครต้อง‍การจะเป็นนาย คน‍นั้นจะต้องเป็นทาสของพวก‍ท่าน” (มัทธิว 20:27) พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของหลักธรรมนี้อย่างไร เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ในครอบครัวเรา วอร์ดหรือสาขาของเรา และละแวกบ้านของเราได้อย่างไร

ลูกา 18:1–14

เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจากอุปมาสองเรื่องในข้อเหล่านี้

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

หาเวลาที่ได้ผลกับท่าน ท่านมักจะเรียนรู้ง่ายที่สุดเมื่อท่านสามารถศึกษาพระคัมภีร์โดยไม่ถูกขัดจังหวะ หาเวลาที่ได้ผลกับท่าน และทำสุดความสามารถเพื่อจะได้ศึกษาเวลานั้นอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

พระคริสต์กับเศรษฐีหนุ่ม

พระคริสต์กับขุนนางหนุ่มที่ร่ำรวย โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์