“1–7 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 1–5: ‘ท่านทั้งหลายจะเป็นสักขีพยานของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“1–7 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 1–5,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
1–7 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 1–5
“ท่านทั้งหลายจะเป็นสักขีพยานของเรา”
หากท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 1–5 และแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณ ท่านจะได้รับการดลใจว่าความจริงใดในบทที่จะช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่านพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เต็มที่มากขึ้นและเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
มีข้อพระคัมภีร์และหลักธรรมที่มีความหมายหลายข้อใน กิจการของอัครทูต 1–5 วิธีที่ดีเยี่ยมวิธีหนึ่งในการค้นพบซึ่งมีค่าและสำคัญที่สุดต่อสมาชิกชั้นเรียนคือการให้พวกเขาบอกท่านถึงสิ่งที่โดดเด่นในการศึกษาของพวกเขา ท่านจะเชื้อเชิญให้แบ่งปันเช่นนี้ได้อย่างไร อาจเรียบง่ายเช่นการให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเพื่อหาและแบ่งปันข้อหนึ่งจาก กิจการของอัครทูต 1–5 ซึ่งพวกเขารู้สึกถึงพระสุรเสียงของพระเจ้าตรัสกับพวกเขา
สอนหลักคำสอน
กิจการของอัครทูต 1:1–8; 2:37–39; 4:1–16, 31–33
พระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
การอ่านเกี่ยวกับประสบการณ์ของอัครสาวกจะช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่านเห็นว่าพวกเขาจะได้รับพลังและการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเรียกของศาสนจักรอย่างไร วิธีหนึ่งที่จะทบทวนประสบการณ์เหล่านี้ใน กิจการของอัครทูต 1–5 คือการเขียนไว้บนกระดานว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยฉันในการเรียกของฉันโดย: แล้วเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้น กิจการของอัครทูต 1:1–8; 2:36–39; และ 4:1–16, 31–33โดยมองหาวิธีที่จะต่อประโยคให้จบ เหตุใดอัครสาวกจึงต้องการพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
ท่านสามารถสำรวจดูวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ในสมัยของเราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นชั้นเรียนได้ด้วย เพื่อทำเช่นนี้ ท่านอาจติดต่อสมาชิกชั้นเรียนหลายคนล่วงหน้าและขอให้พวกเขาทบทวนเรื่องราวใน กิจการของอัครทูต 1:1–8; 2:37–39; 4:1–16, 31–33 และเตรียมมาแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่คล้ายกับประสบการณ์ของอัครสาวก ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจแบ่งปันเกี่ยวกับเวลาที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยพวกเขาเป็นพยานถึงหลักธรรมพระกิตติคุณหรือตอบคำถามของบางคน พวกเขาเคยทำอะไรบ้างเพื่อแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
อัครสาวกของพระเยซูคริสต์ได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการเปิดเผย
-
อาจเป็นประโยชน์สำหรับชั้นเรียนของท่านที่จะรู้ว่าสมาชิกใหม่ของโควรัมอัครสาวกสิบสองในศาสนจักรสมัยโบราณได้รับเรียกโดยการเปิดเผย เช่นเดียวกับสมัยนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอธิบายว่าในวงการธุรกิจมีการเลือกคนมารับตำแหน่งผู้บริหารอย่างไร เช่นการพิจารณาภูมิหลังทางการศึกษา ประสบการณ์ และอื่นๆ ขอให้พวกเขาเปรียบเทียบกับวิธีที่อัครสาวกมัทธีอัสได้รับเรียกใน กิจการของอัครทูต 1:15–26 (ดู 1 ซามูเอล 16:1–13 ด้วย) คำพูดของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจเพิ่มความเข้าใจของสมาชิกชั้นเรียนอย่างไร (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การสนับสนุนศาสดาพยากรณ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 74–77 ด้วย) ความรู้นี้ส่งผลต่อศรัทธาของเราในผู้นำที่พระเจ้าทรงเรียกอย่างไร ท่านได้รับพยานของท่านเกี่ยวกับอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันอย่างไร
กิจการของอัครทูต 2:22–47; 3:13–26; 4:5–12
เราได้รับพรแห่งการชดใช้เมื่อเราดำเนินชีวิตตามหลักธรรมและศาสนพิธีแรกของพระกิตติคุณ
-
คนที่ท่านสอนจะพบพลังอำนาจและความหมายในความจริงอันเรียบง่ายที่เปโตรและยอห์นสอนได้อย่างไร (ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่) วิธีหนึ่งอาจเป็นการสำรวจความสำคัญของหลักธรรมและศาสนพิธีเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งเรียกว่าหลักคำสอนของพระคริสต์ (ดู 2 นีไฟ 31) ท่านอาจนำแผ่นโปสเตอร์ห้าแผ่นมาที่ชั้นเรียนและเขียนด้านต่างๆ ต่อไปนี้ซึ่งเป็นหลักคำสอนของพระคริสต์ไว้ด้านบนของแต่ละแผ่น: ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธ์ อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แบ่งชั้นเรียนออกเป็นห้ากลุ่ม และแจกโปสเตอร์ให้กลุ่มละแผ่น เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มทบทวนนิยามของหัวข้อบนแผ่นโปสเตอร์ใน คู่มือพระคัมภีร์ หรือ สั่งสอนกิตติคุณของเรา จากนั้นพวกเขาอาจทบทวนคำสอนของเปโตรใน กิจการของอัครทูต 2:22–47; 3:13–26; และ 4:5–12 และเขียนตัวอย่างของหัวข้อที่ได้รับมอบหมายของพวกเขาจากพระคัมภีร์บนแผ่นโปสเตอร์ของพวกเขา หลักธรรมและศาสนพิธีของพระกิตติคุณเหล่านี้ช่วยให้เราได้รับพรจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร หลักธรรมและศาสนพิธีเหล่านี้มีบทบาทอย่างไรในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์
-
ท่านอาจขอให้ผู้สอนศาสนาเต็มเวลา ผู้สอนศาสนาจบใหม่ หรือผู้สอนศาสนาวอร์ดอธิบายสองสามนาทีว่าพวกเขาสอนผู้อื่นเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระคริสต์อย่างไรโดยใช้ บทที่ 3 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา เหตุใดหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์จึงเป็นข่าวสารหลักของผู้สอนศาสนา คนที่รับบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้วจะประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระคริสต์ต่อไปอย่างไร
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจให้เรากระทำตามสิ่งที่เราเรียนรู้
-
ขณะที่สมาชิกชั้นเรียนศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้านและศึกษาด้วยกันในชั้นเรียนแต่ละสัปดาห์ บ่อยครั้งพวกเขาอาจจะรู้สึก “แปลบปลาบใจ” (กิจการของอัครทูต 2:37) ท่านอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้ช่วยพวกเขาทำอะไรมากขึ้นโดยถามว่า “เราควรทำอะไร” (กิจการของอัครทูต 2:37) อ่าน กิจการของอัครทูต 2:37–47 ด้วยกัน โดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นหาสิ่งต่างๆ ที่กลุ่มคน 3,000 คนนี้ทำอันเป็นผลมาจากคำเชื้อเชิญของเปโตร พวกเขาอาจแบ่งปันวิธีที่พวกเขากระทำตามการดลใจจากการศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าด้วย จากนั้นท่านอาจเหลือเวลาในช่วงท้ายชั้นเรียนให้แต่ละคนถามคำถามต่อไปนี้กับตนเอง “ฉันจะทำอะไร” และบันทึกความประทับใจของพวกเขา
กิจการของอัครทูต 3; 4:1–21; 5:12–42
เมื่อเราเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยความองอาจ
-
เรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นพยานถึงพระเยซูอย่างองอาจของเปโตรและยอห์นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ชั้นเรียนของท่านไม่หวาดหวั่นสิ่งที่คนอื่นคิดเมื่อพวกเขาแบ่งปันพยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณ สมาชิกชั้นเรียนประทับใจอะไรเกี่ยวกับความอาจหาญของเปโตรและยอห์นใน กิจการของอัครทูต 3; 4:1–21; และ 5:12–42 อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์กับความสามารถในการเป็นพยานอย่างองอาจของเรา สมาชิกชั้นเรียนอาจมีประสบการณ์ในการแบ่งปันเช่นกัน เมื่อพวกเขาหรือคนที่พวกเขารู้จักเคยปกป้องหรือเป็นพยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณอย่างกล้าหาญ
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ขอให้สมาชิกชั้นเรียนคิดว่าพวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหากพวกเขารู้ว่าการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอาจส่งผลให้พวกเขาเสียชีวิต บอกพวกเขาว่าใน กิจการของอัครทูต 6–9 พวกเขาจะอ่านเรื่องราวของคนบางคนที่เต็มใจสละชีวิตเพื่อความเชื่อของเขา
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
การเรียกสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์แบ่งปันข้อคิดต่อไปนี้เกี่ยวกับขั้นตอนการเรียกอัครสาวกใหม่: “กระบวนการนั้นพิเศษต่อศาสนจักรของพระเจ้า ไม่มีการแสวงหาตำแหน่ง ไม่มีการแย่งชิงตำแหน่ง ไม่มีการหาเสียงเพื่อโฆษณาคุณความดีของใคร วิธีของพระเจ้าแตกต่างจากวิธีของโลก วิธีของพระเจ้านั้นเงียบสงบ เป็นวิธีแห่งสันติ เป็นวิธีที่ไม่เอิกเกริกหรือมีค่าใช้จ่าย เป็นวิธีที่ไม่ยกตนข่มท่านหรือโอหังหรือทะยานอยาก ภายใต้แผนของพระเจ้า ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกเจ้าหน้าที่ได้รับการควบคุมโดยคำถามที่สำคัญกว่าว่า ‘พระเจ้าจะทรงเลือกใคร’ มีการพิจารณาไคร่ครวญอย่างเงียบๆ และครุ่นคิดหนัก มีการสวดอ้อนวอนมากเพื่อรับการยืนยันจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ว่าการเลือกนั้นถูกต้อง” (“God Is at the Helm,” Ensign, May 1994, 53)