“22–28 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 16–21: ‘พระเจ้าทรงเรียกเราไปประกาศข่าวประเสริฐ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“22–28 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 16–21,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
22–28 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 16–21
“พระเจ้าทรงเรียกเราไปประกาศข่าวประเสริฐ”
ก่อนดูโครงร่างนี้ ให้อ่าน กิจการของอัครทูต 16–21 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนโดยนึกถึงสมาชิกชั้นเรียนของท่าน แนวคิดต่อไปนี้อาจเสริมการดลใจที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณ
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อหนึ่งจาก กิจการของอัครทูต 16–21 ซึ่งช่วยให้นึกถึงประสบการณ์ที่พวกเขามีในการแบ่งปันพระกิตติคุณ
สอนหลักคำสอน
ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เราเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์
-
เนื่องจาก กิจการของอัครทูต 16–21 บรรยายถึงการเดินทางเป็นผู้สอนศาสนาสองครั้งของเปาโล สมาชิกชั้นเรียนสามารถเรียนรู้จากบทเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสนทนาหัวข้อนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกสองสามคนเตรียมมาแบ่งปันข้อคิดที่พวกเขาได้รับจาก กิจการของอัครทูต 16–21 เกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ เพื่อให้การสนทนาลึกซึ้งยิ่งขึ้น พวกเขาอาจแบ่งปันคำพูดจากคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดเกี่ยวกับงานสอนศาสนา พวกเขาอาจหาเอง หรือท่านอาจแนะนำข่าวสารเรื่องหนึ่งจาก “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”
-
ข่าวสารเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นในบทเหล่านี้คือบทบาทสำคัญของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น สมาชิกชั้นเรียนอาจค้นพบวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเปาโลและสิลาสใน กิจการของอัครทูต 16:6–15 พวกเขาอาจจะอ่าน 2 นีไฟ 33:1 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14 ด้วยและแบ่งปันความจริงที่พวกเขาพบเกี่ยวกับความสำคัญของการมีพระวิญญาณเมื่อแบ่งปันพระกิตติคุณ (ดูถ้อยคำของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางความพยายามของพวกเขาในการแบ่งปันพระกิตติคุณ เราเคยมีประสบการณ์ใดบ้างเมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณกับบางคนที่พระเจ้าทรงวางไว้บนทางของเรา (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา,3–4 ด้วย)
-
ท่านจะใช้ประสบการณ์ของเปาโลอย่างไรเพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านมีความกล้าหาญเมื่อพวกเขาได้รับการกระตุ้นเตือนให้แบ่งปันประจักษ์พยานของตนเอง ท่านอาจทบทวนด้วยกันถึงเรื่องราวจากพระคัมภีร์ที่บรรยายการเป็นพยานของเปาโล เช่นประสบการณ์ของเขาในมาซิโดเนีย (ดู กิจการของอัครทูต 16:19–34) ในกรุงเอเธนส์ (ดู กิจการของอัครทูต 17:16–34) และในเมืองโครินธ์ (ดู กิจการของอัครทูต 18:1–11) เราพบหลักฐานอะไรบ้างเกี่ยวกับความองอาจกล้าหาญของเปาโล หลักคำสอนใดที่เปาโลสอน (และเข้าใจ) ซึ่งทำให้เขามีความมั่นใจในข่าวสารของเขา เหตุใดบางครั้งเรากลัวที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณ และเราจะเอาชนะความกลัวนี้ได้อย่างไร บางทีผู้สอนศาสนาเต็มเวลาอาจมาเยี่ยมชั้นเรียนของท่านและแบ่งปันวิธีที่พวกเขาได้รับความกล้าหาญที่จะเป็นพยาน กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำตามแบบอย่างของเปาโลและมึความกล้ามากขึ้นในการแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคริสต์
เราเป็นเชื้อสายของพระเจ้า
-
บนเนินเขามาร์ส เปาโลสอนเรื่องพระบิดาบนสวรรค์แก่คนกลุ่มหนึ่งที่รู้เล็กน้อยเกี่ยวกับพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อสำรวจคำสอนนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน กิจการของอัครทูต 17:24–31 และเขียนความจริงที่พวกเขาพบเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน บนกระดาน ประสบการณ์ใดที่สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันได้ ซึ่งพวกเขารู้สึกถึงความจริงในถ้อยคำของเปาโลที่ว่าพระผู้เป็นเจ้า “ไม่ทรงอยู่ห่างไกลจากเราทุกคนเลย” (ข้อ 27)
-
ขณะที่ท่านพินิจข้อเหล่านี้ด้วยกัน ท่านอาจสนทนาความจริงที่สอนใน ข้อ 29, “เราเป็นเชื้อสายของพระเจ้า” ซึ่งหมายความว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเราอย่างแท้จริง เพื่อทำเช่นนี้ ท่านอาจเขียน เพราะเราเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้า และ หากเราไม่ทราบว่าเราเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้าบนกระดาน เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนบอกวิธีต่างๆ เพื่อเติมประโยคเหล่านี้ให้ครบถ้วน ตัวอย่างเช่น ความจริงที่ว่าเราเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้าสอนอะไรเราเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เกี่ยวกับตัวเราเอง เกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อกัน ชีวิตเราจะต่างไปจากนี้อย่างไรถ้าเราไม่ทราบความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเรากับพระผู้เป็นเจ้า ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับวิธีที่เราจะช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจว่าพวกเขาเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้า คำกล่าวจากเอ็ลเดอร์ ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจจะเสริมการสนทนานี้ได้
บัพติศมาต้องตามด้วยการรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
-
กิจการของอัครทูต 19 มีข้อความที่ดีในการเน้นว่าการยืนยันหลังจากรับบัพติศมามีความสำคัญเพียงใด ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวนี้จากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ “บัพติศมาด้วยน้ำเป็นบัพติศมาเพียงครึ่งเดียว และไม่เกิดประโยชน์อันใดหากปราศจากอีกครึ่งที่เหลือ ซึ่งก็คือการบัพติศมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 102) คำสอนของเปาโลใน กิจการของอัครทูต 19:1–7 ยืนยันคำกล่าวของโจเซฟ สมิธอย่างไร สมาชิกชั้นเรียนอาจได้รับประโยชน์จากการค้นหา “พระวิญญาณบริสุทธิ์, บัพติศมา” ในคู่มือพระคัมภีร์ด้วยเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพรของการได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 22–28 ระหว่างสัปดาห์หน้า ถามคำถามพวกเขาทำนองนี้ “หากท่านมีโอกาสบอกผู้นำของประเทศเราเกี่ยวกับพระกิตติคุณ ท่านจะพูดอะไร” บอกพวกเขาว่าใน กิจการของอัครทูต 22–28พวกเขาจะพบสิ่งที่เปาโลพูดกับผู้นำที่มีอำนาจมากในสมัยของเขา
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ข่าวสารเกี่ยวกับงานสอนศาสนา
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 57–60
-
เดวิด เอ. เบดนาร์, “มาดูเถิด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 107–110
-
นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “พยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 35–38
-
เมอร์วิน บี. อาร์โนลด์, “ช่วยชีวิต: เราทำได้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 53–55
-
เอส. กิฟฟอร์ด นีลเซ็น, “เร่งกลยุทธ์ของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 33–35
เราทุกคนเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้า
“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” แบ่งปันความจริงนิรันดร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าว่า “มนุษย์ทั้งหลาย—ชายกับหญิง—ได้รับการสร้างในรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนเป็นปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ และด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงมีลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 129)
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความสำคัญของการมองตัวเราเองว่าเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด
“จงระวังวิธีที่ท่านบอกลักษณะตัวท่านเอง อย่ากำหนดลักษณะหรือนิยามตัวท่านเองโดยใช้คุณสมบัติบางอย่างที่ไม่ถาวร คุณสมบัติเดียวที่ควรบอกลักษณะเราคือเราเป็นบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ข้อเท็จจริงนั้นอยู่เหนือบุคลิกลักษณะอื่นทั้งปวง รวมถึงเชื้อชาติ อาชีพ อุปนิสัย เกียรติยศ หรือศาสนา …
“เรามีสิทธิ์เสรีของเรา และเราสามารถเลือกอุปนิสัยใดก็ได้เพื่อนิยามตนเอง แต่เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อเราเลือกนิยามตัวเราเองหรือนำเสนอตนเองโดยใช้บุคลิกลักษณะที่ไม่ถาวรหรือไม่สำคัญในคำศัพท์นิรันดร์ เราลดความสำคัญของสิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรา และเราให้ความสำคัญเกินไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ อาจนำเราไปสู่หนทางที่ไม่ถูกต้องและขัดขวางความก้าวหน้านิรันดร์ของเรา” (“Be Wise” [Brigham Young University–Idaho devotional, Nov. 7, 2006], byui.edu).