“5–11 สิงหาคม โรม 1–6: ‘ฤทธานุภาพของพระเจ้า เพื่อได้รับความรอด’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“5–11 สิงหาคม โรม 1–6,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
5–11 สิงหาคม
โรม 1–6
“ฤทธานุภาพของพระเจ้า เพื่อได้รับความรอด”
อ่าน โรม 1–6 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนโดยมีสมาชิกชั้นเรียนของท่านอยู่ในใจ ทั้งนี้เพื่อจะช่วยท่านให้รู้สึกไวต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณเมื่อท่านเตรียมสอน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ท่านอาจให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีค้นหา โรม 1–6 เพื่อหาข้อหนึ่งที่พวกเขาชอบเป็นพิเศษ จากนั้นพวกเขาอาจแบ่งปันข้อนั้นที่พวกเขาเลือกกับเพื่อนที่นั่งใกล้
สอนหลักคำสอน
“ข้าพเจ้าไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ”
-
สมาชิกชั้นเรียนของท่านเคยถูกล้อเรื่องความเชื่อของพวกเขาหรือไม่ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน โรม 1:16–17 และนึกถึงตัวอย่างจากหนังสือกิจการของอัครทูตที่เปาโลแสดงว่าเขาไม่ละอายในพระกิตติคุณ มีสิ่งใดบ้างที่ทำให้เราละอายที่เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาหรือคนอื่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ละอายในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
การเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงนั้นปรากฏอยู่ในคำมั่นสัญญาข้างใน ไม่ใช่แค่การกระทำของเราเท่านั้น
-
เราวัดการเป็นสานุศิษย์ของเราเองอย่างไร คำแนะนำของเปาโลต่อชาวโรมันจะช่วยให้เราไม่ลืมที่จะมุ่งความสนใจไปที่ “จิตใจ [และ] พระวิญญาณ” (โรม 2:29) ไม่ใช่การทำรายการสิ่งที่ต้องทำให้ครบถ้วน เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจคำแนะนำของเปาโล ท่านอาจเขียนข้อความจาก โรม 2:28–29 บนกระดาน แทนคำว่า ยิว ด้วยคำว่า วิสุทธิชนยุคสุดท้าย และคำว่า การเข้าสุหนัต ด้วยคำว่า พันธสัญญา การเปลี่ยนคำนี้เพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับคำสอนของเปาโลอย่างไร ท่านอาจสนทนาตัวอย่างของสิ่งที่เราทำในฐานะสมาชิกศาสนจักรที่มีความหมายและทรงพลังมากขึ้นเมื่อทำให้ “เป็นเรื่องของจิตใจ ตามพระวิญญาณ” (โรมัน 2:29) ตัวอย่างเช่น ดูคำปราศรัยเกี่ยวกับการสอนประจำบ้านของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ร์ “ตัวแทนของศาสนจักร” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 61–67) หรือคำปราศรัยเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนาของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น “พยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 35–38)
“ที่ไหนมีบาปปรากฏมากขึ้น ที่นั้นพระคุณก็จะไพบูลย์ยิ่งขึ้น”
-
อาจมีคนในชั้นเรียนของท่านที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อเข้าใจคำสอนของเปาโลในบทนี้เกี่ยวกับศรัทธา งาน และพระคุณ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และงานแปลบทเหล่านี้ของโจเซฟ สมิธในคู่มือพระคัมภีร์) ท่านจะช่วยพวกเขาเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไร ท่านอาจนำเสนอสถานการณ์สมมติสองอย่างต่อไปนี้เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าเราไม่ควรมองว่าความดีของเราเป็นวิธีพิสูจน์ค่าควรของเรา หรือไม่ควรมองว่าพระคุณของพระคริสต์เป็นเหตุผลที่จะแก้ตัวเรื่องความผิดพลาดและบาปของเรา เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นหาความจริงใน โรม 3:20–31; 5:1–2; 6:1–2, 21–23 ที่อาจช่วยกลอเรียและจัสติน ความจริงด้านหลักคำสอนเรื่องใดใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ที่จะช่วยพวกเขาเข้าใจความสำคัญของทั้งการทำงานอันชอบธรรมและการวางใจในพระคุณของพระคริสต์ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบหรือแสดงบทบาทสมมติตามบทสนทนา
สถานการณ์สมมติ 1
ท่านมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อกลอเรีย เธอรู้สึกว่าเธอหนักใจในความพยายามเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ เธอทำงานหนักเพื่อทำทุกสิ่งที่เธอรู้สึกว่าเธอควรทำ แต่เธอมักจะกังวลว่าความพยายามของเธอไม่พอ “ฉันดีพอหรือไม่” เธอสงสัย “พระเจ้าจะทรงยอมรับฉันไหม”
สถานการณ์สมมติ 2
ท่านมีเพื่อนชื่อจัสตินที่ไม่ค่อยใส่ใจเกี่ยวกับการเลือกที่ชอบธรรมนัก เขาเชื่อในพระเยซูคริสต์ เขาเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์ และเขาเป็นพ่อที่มีความรักและเป็นเพื่อนบ้านที่ดี อย่างไรก็ตาม เขาเลือกไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่จะทำให้เขามีคุณสมบัติคู่ควรแก่ใบรับรองพระวิหาร เมื่อครอบครัวและเพื่อนพยายามกระตุ้นให้เขาเตรียมตัวไปพระวิการ เขาตอบว่า “ผมเป็นคนดี ผมมีศรัทธาในพระคริสต์ พระองค์ทรงจ่ายราคาค่าบาปให้ผมแล้วและผมไม่คิดว่าพระองค์จะทรงกีดกันผมออกจากอาณาจักรซีเลสเชียลเพียงเพราะเรื่องเล็กๆ นี้”
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน โรม 7–16 ท่านอาจบอกพวกเขาว่าเปาโลบรรยายถึงความขัดแย้งที่อยู่ภายในเขา—และเราทุกคน ใน โรม 7–16 เรารู้ว่าความขัดแย้งนั้นคืออะไรและวิธีเอาชนะ
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ศรัทธา พระคุณ และงาน
ขณะที่เราควรมุมานะทำตามพระบัญญัติ การเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้เรารอด (ดู โรม 3:27–31) แม้เราพยายามเต็มที่แล้ว แต่เรา “ทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (โรม 3:23) เนื่องจากเหตุผลนั้น เราทุกคนต้องการพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระคุณของพระองค์ทำให้เราได้รับการอภัยบาปและทำให้เราทำงานดีต่อไปได้ ดังที่เปาโลสอน “ที่ไหนมีบาปปรากฏมากขึ้น ที่นั้นพระคุณก็จะไพบูลย์ยิ่งขึ้น” (โรม 5:20)
ประธาน เดวิด โอ. แมคเคย์แบ่งปันแนวเทียบเกี่ยวกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เริ่มจมน้ำขณะว่ายน้ำกับเพื่อนของเขา “โชคดี คนหนึ่งซึ่งมีสติและว่องไว ส่งกิ่งไม้ยาวจากแนวต้นหลิวและยื่นปลายด้านหนึ่งไปให้เด็กหนุ่มที่กำลังจมน้ำ [ผู้ที่] จับมันไว้แน่นและรอดชีวิต
“เด็กหนุ่มทุกคนบอกว่าเด็กหนุ่มคนที่เสี่ยงตายคนนั้นเป็นหนี้ชีวิตเด็กหนุ่มที่หาทางช่วยชีวิตเขา
“นั่นเป็นข้อเท็จจริงอย่างไม่ต้องสงสัย และแม้จะมีทางยื่นให้เขา แต่หากเด็กหนุ่มคนนั้นไม่คว้าไว้ หากเขาไม่พยายามเท่าที่เขาทำได้ เขาก็คงจะจมน้ำ ไม่ว่าเพื่อนเขาจะกระทำอย่างกล้าหาญเช่นไร” (David O. McKay, “The Gospel of Work,” Instructor, Jan. 1955, 1)
เมื่อกล่าวถึงคำถามว่าเรารอดได้โดยศรัทธาหรืองาน นักประพันธ์ชาวคริสต์ ซี. เอส. ลูวิส เขียนว่า “สำหรับข้าพเจ้า นั่น [ดูเหมือน] การถามว่าคมมีดด้านไหนของกรรไกรจำเป็นที่สุด” (Mere Christianity, 148)
สถานการณ์สมมติ 1
-
เจ. เดฟน์ คอร์นิช, “ฉันดีพอหรือไม่ ฉันจะทำได้ไหม”เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 32–34
“ความรอดไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินตราแห่งการเชื่อฟัง แต่ซื้อได้ด้วยพระโลหิตของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า [ดู กิจการของอัครทูต 20:28] …
“พระคุณคือของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า และความปรารถนาที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติแต่ละข้อของพระผู้เป็นเจ้าคือการเอื้อมมือมรรตัยของเราออกไปรับของประทานศักดิ์สิทธิ์นี้จากพระบิดาบนสวรรค์” (ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 107–10)
สถานการณ์สมมติ 2
-
ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 48–51
“ถ้าพระคุณเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า เหตุใดการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าจึงสำคัญ เหตุใดต้องยุ่งเกี่ยวกับพระบัญญัติ—หรือการกลับใจ …
“การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการเติบโตของความรักและการสำนึกคุณอันหาที่สุดมิได้สำหรับพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้า รูปแบบของรักแท้และการสำนึกคุณเช่นนี้จะผสมผสานงานของเรากับพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างน่าอัศจรรย์” (ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ,“ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 109)
การต้องการพระคุณอันต่อเนื่องของเรา
“นอกจากจะต้องการพระคุณเพื่อความรอดขั้นสูงสุดของท่านแล้ว ท่านยังต้องการพลังหนุนเช่นนี้ในชีวิตท่านด้วย เมื่อท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์ด้วยความพากเพียร ความอ่อนน้อม และความอ่อนโยน พระองค์จะทรงส่งเสริมและเพิ่มความเข้มแข็งให้ท่านโดยผ่านพระคุณ (ดู สุภาษิต 3:34; 1 เปโตร 5:5; คพ. 88:78; 106:7–8) การพึ่งพาพระคุณของพระองค์ทำให้ท่านเจริญก้าวหน้าและเติบโตในความชอบธรรม” (แน่วแน่ต่อศรัทธา, 183)