“23–29 กันยายน กาลาเทีย: ‘ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“23–29 กันยายน กาลาเทีย,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
23–29 กันยายน
กาลาเทีย
“ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ”
เมื่อท่านอ่านและไตร่ตรองกาลาเทียร่วมกับการสวดอ้อนวอน พระเจ้าจะทรงสอนท่านถึงสิ่งที่ท่านจำเป็นต้องแบ่งปันกับชั้นเรียนของท่าน การบันทึกความประทับใจของท่านแสดงถึงความสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความช่วยเหลือของพระองค์ (ดู พอล บี. ไพเพอร์, “ธำรงความศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 109)
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
การศึกษาพระคัมภีร์มักจะนำไปสู่การสนทนาพระกิตติคุณที่มีความหมายกับครอบครัวและเพื่อน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับสมาชิกชั้นเรียนของท่านสัปดาห์นี้หรือไม่ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์
สอนหลักคำสอน
กาลาเทีย 1:6–7; 3:1–5; 4:8–21; 5:1, 13–14
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้เสรีภาพ
-
การศึกษาหนังสือเล่มใดก็ตามของพระคัมภีร์จะง่ายขึ้นเมื่อเรารู้ว่าเหตุใดจึงเขียนเล่มนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องดีที่จะเริ่มการสนทนาของท่านเกี่ยวกับกาลาเทียด้วยคำถามเช่น “ท่านคิดว่าจุดประสงค์ของเปาโลในการเขียนสาส์นฉบับนี้คืออะไร” หรือ “ปัญหาอะไรที่เปาโลกำลังพยายามแก้” เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาคำใบ้ใน กาลาเทีย 1:6–7; 3:1–5; 4:8–21. ข่าวสารของเปาโลสำคัญต่อเราในปัจจุบันอย่างไร
-
วิสุทธิชนชาวกาลาเทียบางคนคิดว่าพวกเขาต้องดำเนินชีวิตตามกฎของโมเสสต่อไป สำหรับเปาโล นี่เป็นเหมือนการดำเนินชีวิตโดยมี “แอกของการเป็นทาส” เมื่อเทียบกับเสรีภาพที่มีในกฎของพระคริสต์ (กาลาเทีย 5:1) ขณะที่เราไม่ได้เผชิญปัญหานี้เป็นปกติวิสัยในปัจจุบัน เราทุกคนล้วนเผชิญการเลือกระหว่างการเป็นทาสทางวิญญาณกับเสรีภาพผ่านพระคริสต์ เพื่อช่วยสมาชิกในชั้นเรียนของท่านค้นคว้าคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับเสรีภาพและการเป็นทาส ท่านอาจขอให้พวกเขาบอกเจตคติและการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นทาสทางวิญญาณ (เช่นประเพณีทางวัฒนธรรม นิสัยที่ไม่ดี ความเชื่อผิดๆ หรือให้ความสำคัญกับการกระทำภายนอกมากกว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสข้างใน) ตามที่กล่าวไว้ใน กาลาเทีย 5:1, 13–14 เราจะพบเสรีภาพจากการเป็นทาสทางวิญญาณได้อย่างไร สมาชิกชั้นเรียนเคยประสบกับเสรีภาพที่สัญญาไว้ในพระกิตติคุณของพระคริสต์อย่างไร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันเช่นกันเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาอาจตอบบางคนที่รู้สึกว่าการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณจำกัดเสรีภาพส่วนตัว
หากเรา “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” เราจะได้รับ “ผลของพระวิญญาณ”
-
คนมากมายมีปัญหาในการรับรู้ถึงอิทธิพลของพระวิญญาณ กาลาเทีย 5 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านรับรู้ผลของพระวิญญาณได้ บางทีท่านอาจเริ่มโดยขอให้พวกเขาค้น กาลาเทีย 5:22–25 หาคำที่เปาโลใช้เพื่อบรรยายผลของพระวิญญาณ เหตุใดผลจึงเป็นอุปลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับวิธีที่พระวิญญาณมีอิทธิพลต่อเรา บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันวิธีที่ผลนี้ประจักษ์ในชีวิตพวกเขาหรือชีวิตคนที่พวกเขารู้จัก แหล่งช่วยอื่นๆ ได้แก่ มัทธิว 7:16–18; ยอห์น 14:26–27; โมโรไน 7:13–17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–13; และข้อความจากประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”
-
บางครั้งเราเรียนรู้หลักธรรมได้โดยเรียนรู้สิ่งที่ตรงกันข้ามกับหลักธรรม ตัวอย่างเช่น ใน กาลาเทีย 5:16–26 เปาโลเปรียบเทียบ “การงานของเนื้อหนัง” กับ “ผลของพระวิญญาณ” เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขา “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” ในระดับใด ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาอ่าน กาลาเทีย 5:16–26 แล้วสร้างแบบประเมินตนเองคล้ายกับ กิจกรรมคุณลักษณะ ในหน้า 126 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ตัวอย่างเช่น แต่ละรายการใน ข้อ 19–23 พวกเขาอาจเขียนคำถามเช่น “ฉันอิจฉาเพื่อนหรือไม่” หรือ “ฉันรู้สึกถึงความรักทุกวันหรือไม่” ไม่ควรแบ่งปันคำตอบของสมาชิกชั้นเรียนต่อแบบประเมินตนเอง แต่ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดหรือความคิดที่จะช่วยกันและกัน “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” ถ้าท่านไม่มีเวลาทำกิจกรรมนี้เสร็จในชั้นเรียน ท่านอาจแนะนำสมาชิกชั้นเรียนทำให้เสร็จที่บ้าน
เมื่อเราหว่าน “สิ่งที่ตอบสนองพระวิญญาณ” เราจะเก็บเกี่ยวพรในเวลาที่เหมาะสม
-
การศึกษา กาลาเทีย 6:7–10 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนคิดลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับผลระยะยาวที่มาจากการเลือกของพวกเขา เพื่อช่วยพวกเขา ท่านอาจนำเมล็ดพืชหลายๆ ชนิด พร้อมด้วยพืช ผลไม้ หรือผักที่เติบโตจากเมล็ดแต่ละชนิดเหล่านั้น (หรือท่านอาจนำภาพสิ่งเหล่านี้มา) สมาชิกชั้นเรียนอาจทำงานด้วยกันเพื่อจับคู่เมล็ดกับสิ่งที่จะเติบโตจากเมล็ด จากนั้นให้พวกเขาอ่าน ข้อ 7–10 และพูดถึงการหว่าน “สิ่งที่ตอบสนองเนื้อหนัง” และ “สิ่งที่ตอบสนองพระวิญญาณ” หมายความว่าอย่างไร (ข่าวสารของเอ็ลเดอร์ อูลิส์เสส ซวาเรสใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยได้) เราเก็บเกี่ยวอะไรเมื่อเราหว่านสิ่งที่ตอบสนองเนื้อหนัง เราเก็บเกี่ยวอะไรเมื่อเราหว่านสิ่งที่ตอบสนองพระวิญญาณ (ดู กาลาเทีย 5:22–23) ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองถึงพรทางวิญญาณที่พวกเขาหวังว่าจะได้รับ เวลานี้พวกเขา “หว่าน” อะไรได้บ้างเพื่อเตรียมรับพรเหล่านั้น ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนความคิดของพวกเขาลงไปและแบ่งปันหากพวกเขาสบายใจที่จะทำเช่นนั้น
-
สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจรู้สึก “เมื่อยล้าในการทำดี” (กาลาเทีย 6:9)—บางทีเนื่องจากพวกเขาไม่แน่ใจว่าความพยายามของพวกเขาเกิดผลหรือไม่ การสนทนาถึง กาลาเทีย 6:7–10 อาจมีประโยชน์ เพื่อแนะนำข้อเหล่านี้ ท่านอาจเชื้อเชิญบางคนในชั้นเรียนให้พูดสั้นๆ เกี่ยวกับเวลาที่เขาจำเป็นต้องมีความอดทนเมื่อพยายามปลูกบางสิ่ง ประสบการณ์ของคนนี้ และ กาลาเทีย6:7–10 สอนอะไรเราเกี่ยวกับความพยายามในการ “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” (กาลาเทีย 5:25)
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนของท่านให้อ่านสาส์นถึงชาวเอเฟซัส ท่านอาจบอกพวกเขาว่าในสาส์นนี้พวกเขาจะเรียนรู้วิธี “ต่อสู้กับอุบายของมาร” (เอเฟซัส 6:11)
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ผลของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนว่า : “เรารู้เรื่องของพระวิญญาณอย่างไร เรารู้อย่างไรว่านั่นมาจากพระผู้เป็นเจ้า รู้โดยผลของสิ่งนั้น หากนำไปสู่การเติบโตและพัฒนา หากนำไปสู่ศรัทธาและประจักษ์พยาน หากนำไปสู่วิธีทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น หากนำไปสู่ความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า นั่นย่อมมาจากพระผู้เป็นเจ้า หากสิ่งนั้นทำลายเรา หากนำเราเข้าไปในความมืด หากทำให้เราสับสนและกังวล หากนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์ นั่นย่อมมาจากมาร”
ครั้งหนึ่ง ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ท่านรู้จักการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณโดยผลของพระวิญญาณ—ซึ่งให้ความกระจ่าง เสริมสร้าง เชื่อถือได้ ยืนยันว่าจริง ยกระดับจิตใจ และนำเราให้มีความคิดดีขึ้น มีคำพูดดีขึ้น และการกระทำดีขึ้น นั่นย่อมมาจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า สิ่งซึ่งทำลาย ซึ่งนำเราไปในทางต้องห้าม—นั่นมาจากปฏิปักษ์ ข้าพเจ้าคิดว่านั่นชัดเจนและเรียบง่าย” (ดูคำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์[2016], 142)
หว่านสิ่งที่ตอบสนองพระวิญญาณ
อธิบายว่า: “การหว่านในพระวิญญาณหมายถึงความคิด คำพูด และการกระทำทั้งหมดของเราจะต้องยกระดับเราเข้าไปสู่ระดับแห่งความสูงส่งของพระบิดาพระมารดาในสวรรค์ของเรา อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์พูดถึงเนื้อหนังว่าเป็นอุปนิสัยทางร่างกายหรือทางเนื้อหนังของมนุษย์ปุถุชน ซึ่งยอมให้ผู้คนได้รับอิทธิพลจากความลุ่มหลง ความปรารถนา ความอยาก และแรงผลักดันของเนื้อหนังแทนที่จะมองหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ระวัง อิทธิพลเหล่านั้นจะผนวกกับแรงกดดันของความชั่วร้ายในโลกอาจทำให้เรามีพฤติกรรมหยาบคายและไม่ยั้งคิดซึ่งอาจกลายเป็นนิสัยอย่างหนึ่งของเรา” (“อยู่ในแดนของพระเจ้า” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 39)