“9–15 ธันวาคม วิวรณ์ 1–11: ‘พระสิริและอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“9–15 ธันวาคม วิวรณ์ 1–11,” จงตามเรามา: สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
9–15 ธันวาคม
วิวรณ์ 1–11
“พระสิริและอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์”
การได้รับความประทับใจทางวิญญาณช่วยให้ท่านรับรู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงต้องการสอนท่าน การบันทึกและทำตามความประทับใจเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าท่านเห็นคุณค่าและปรารถนาจะรับมากขึ้น
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เมื่อท่านเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับวิวรณ์ อาจเป็นประโยชน์ที่จะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อมูลภูมิหลังที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือวิวรณ์ระหว่างการศึกษาส่วนตัวหรือเป็นครอบครัว ท่านอาจทบทวนข้อมูลที่มีอยู่ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ด้วยกันหรืออ่านจากคู่มือพระคัมภีร์ “ยอห์น, บุตรของเศเบดี” และ “วิวรณ์ซึ่งทรงสำแดงแก่ยอห์น”
สอนหลักคำสอน
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์
-
เนื่องจากยอห์นใช้จินตภาพและสัญลักษณ์ใน วิวรณ์ 1 เพื่อบรรยายถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์และการกระทำของพระองค์ การศึกษาบทนี้จึงเป็นวีธีที่ดีเยี่ยมในการสร้างศรัทธาว่าพระองค์ทรงพระชนม์และพระองค์ทรงนำศาสนจักรของพระองค์ บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจเขียนวลีหลายๆ ข้อบนกระดานจาก วิวรณ์ 1 ที่รวมถึงจินตภาพหรือสัญลักษณ์และแบ่งปันแต่ละอย่างที่สอนพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น เราเรียนรู้อะไรจากสัญลักษณ์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่พระคริสต์ทรงนำศาสนจักรของพระองค์ในปัจจุบัน คำบรรยายของยอห์นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคำบรรยายใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:1–4
เราจะเอาชนะความท้าทายผ่านทางพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
-
เราเป็นเหมือนวิสุทธิชนที่ยอห์นเขียนถึงอย่างน้อยหนึ่งข้อ นั่นคือ เราเผชิญความยากลำบาก เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน วิวรณ์ 2–3 และระบุการทดลองที่วิสุทธิชนในสมัยของยอห์นกำลังเผชิญ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงรู้จักการทดลองและความเข้มแข็งของแต่ละสาขา บางทีพวกเขาอาจแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับทราบสภาพการณ์ที่ไม่เหมือนใครของพวกเขา พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไรแก่วิสุทธิชนที่จะช่วยเราเอาชนะอุปสรรคของเราเช่นกัน
-
ในบทเดียวกันนี้ พระเจ้าทรงทำสัญญาที่เป็นการดลใจแก่คนที่ชนะ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทำงานเป็นคู่ในการหาคำสัญญาของพระเจ้าจาก วิวรณ์ 2–3; 7:13–17 บางทีพวกเขาอาจวาดรูปที่แสดงถึงคำสัญญาบางข้อเหล่านี้ จากนั้นแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบกับชั้นเรียน คำสัญญาเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขามุมานะที่จะเอาชนะการทดลองและความอ่อนแอของพวกเขาเองอย่างไร
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระองค์เดียวที่สามารถทำให้แผนของพระบิดาบนสวรรค์อยู่ในวิสัยที่ทำได้
-
บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงจะช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจสัญลักษณ์ใน วิวรณ์ 5 เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดหนังสือม้วนที่ผนึกไว้หรือไม่ ท่านอาจนำขนมใส่กล่องที่ล็อกกุญแจมาแบ่งปันกับชั้นเรียน ก่อนชั้นเรียน แอบมอบกุญแจเปิดล็อกให้คนหนึ่งโดยไม่บอกให้ใครรู้ อธิบายกับชั้นเรียนว่าข้างในกล่องมีอะไร และให้สมาชิกชั้นเรียนหลายคนพยายามเปิดกล่องก่อนคนที่มีกุญแจจะเปิด จากนั้นชั้นเรียนอาจเปรียบเทียบบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงนี้กับ วิวรณ์ 5 คำถามต่อไปนี้อาจช่วยได้: ความรอดของบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์เป็นเหมือนกล่องที่ล็อกไว้หรือหนังสือที่ผนึกไว้อย่างไร เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงเป็นพระองค์เดียวที่สามารถแกะตราหนังสือออก (ดูคำพูดใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) พรอะไรที่ขึ้นอยู่กับการเป็นผู้มีค่าควรของพระผู้ช่วยให้รอดในการแกะตราหนังสือ (ดู วิวรณ์ 7:14–17)
-
เช่นเดียวกับผู้ที่ชื่นชมยินดีที่กล่าวถึงใน วิวรณ์ 5 วันนี้เราสามารถเปล่งเสียงร้องสรรเสริญพระผู้ช่วยให้รอดพระองค์นั้นผู้สมควรที่จะประทานความรอดแก่เรา บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจร้องเพลงสวดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสรรเสริญพระผู้ช่วยให้รอดด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจร้อง “สิริแด่พระเป็นเจ้า” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 18; หรือชมวีดิทัศน์ “Worthy Is the Lamb” ที่ LDS.org) และระบุความจริงที่เพลงสวดนี้สอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ประสบการณ์ใดช่วยให้เราได้รับประจักษ์พยานถึงความจริงเหล่านี้ เราเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้างระหว่างข่าวสารของเพลงสวดสรรเสริญของเรากับถ้อยแถลงใน วิวรณ์ 5:9–14 เราจะใช้เพลงสวดที่บ้านและที่โบสถ์เพื่อนมัสการและสรรเสริญพระเจ้าได้ดีขึ้นอย่างไร
ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง พระเจ้าจะทรงรวบรวมคนชอบธรรมและเตรียมพวกเขาให้พร้อมจะพำนักกับพระองค์
-
วิวรณ์ 7 อธิบายเหตุการณ์ของ “ตราดวงที่หก” ซึ่งบางส่วนแสดงถึงยุคของเรา บทนี้ตอบคำถามในตอนท้ายของบทที่ 6 เช่นกัน: “เพราะว่าวันสำคัญแห่งพระพิโรธของพระองค์มาถึงแล้ว และใครจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้เล่า” (ข้อ 17) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจมองหาคำตอบของคำถามนี้ใน บทที่ 7 ต่อไปนี้คือคำถามบางข้อที่พวกเขาอาจสนทนา: เหตุใดพระเจ้าจึงทรงเลื่อนการทำลายล้างโลกไปชั่วขณะ ศาสนพิธีและพันธสัญญา “ผนึก [เรา] ไว้สำหรับวันที่พระพิโรธของพระผู้เป็นเจ้าจะเทลง” อย่างไร (คพ. 1:9) งานของเราในการเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองคืออะไร หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4–23; 77:8–11 อาจให้ข้อคิดเพิ่มเติม
นิมิตของยอห์นสอนว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยบุตรธิดาของพระองค์ให้รอดอย่างไร
-
สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจพบว่าหนังสือวิวรณ์เข้าใจยาก อาจเป็นประโยชน์หากพวกเขาพิจารณางานเขียนของยอห์นในบริบทของแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อให้บุตรธิดาของพระองค์ได้รับความสูงส่ง ขณะที่สมาชิกชั้นเรียนอ่าน วิวรณ์ 1–11 ที่บ้าน พวกเขาอาจพบความจริงที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ พวกเขาอาจพบว่าการทบทวนหมวด “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” หัวข้อ “พระคัมภีร์เกี่ยวกับแผนแห่งความรอด” เป็นประโยชน์เช่นกัน กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาพระคัมภีร์ที่สอนความจริงเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดต่อไปขณะที่พวกเขาอ่านวิวรณ์ที่เหลือ และให้โอกาสพวกเขาระหว่างบทเรียนหน้าที่จะแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ขอให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงประเพณีคริสต์มาสที่พวกเขาชอบ เชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวน โครงร่างของสัปดาห์หน้า เพื่อหาแนวคิดที่ว่าพวกเขาจะทำให้การเฉลิมฉลองของพวกเขามีศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
พระคัมภีร์เกี่ยวกับแผนแห่งความรอด
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์
ชีวิตก่อนเกิด
ชีวิตมรรตัย
ชีวิตหลังมรรตัย
พระเยซูคริสต์เท่านั้นทรงชดใช้ให้เราได้
เมื่ออธิบายถึงเหตุการณ์ในชีวิตก่อนเกิด เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า
“พระคริสต์ทรงอาสาจะให้เกียรติสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมของมวลมนุษยชาติแม้ดังที่พระองค์ทรงชดใช้บาปของพวกเขา ในกระบวนการนั้นพระองค์จะทรงคืนรัศมีภาพทั้งมวลแด่พระบิดาเพราะความรักอันเป็นการไถ่
“การชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระคริสต์เกิดขึ้นได้เพราะ (1) พระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนเดียวบนโลกนี้ที่ไร้บาปและด้วยเหตุนี้จึงไม่อยู่ภายใต้ความตายทางวิญญาณอันเนื่องจากบาป (2) พระองค์ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระบิดาและด้วยเหตุนี้จึงมีคุณลักษณะของความเป็นพระผู้เป็นเจ้าซึ่งประทานอำนาจให้พระองค์อยู่เหนือความตายทางร่างกายและ (3) พระองค์ทรงเป็นเพียงพระองค์เดียวในสภาก่อนเกิดที่อ่อนน้อมมากพอและเต็มพระทัยรับการแต่งตั้งล่วงหน้าสู่การรับใช้” (“การชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, มี.ค. 2008, 35)