“25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 1 และ 2 เปโตร: ‘ชื่นชมยินดี ด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นสุดจะพรรณนา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 1 และ 2 เปโตร,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019
25 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม
1 และ 2 เปโตร
“ชื่นชมยินดี ด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นสุดจะพรรณนา”
จำไว้ว่าจุดประสงค์ของท่านคือสอนคน ไม่ใช่แค่นำเสนอบทเรียน ขณะที่ท่านอ่านสาส์นของเปโตร ให้นึกถึงสมาชิกชั้นเรียนแต่ละคน หลักธรรมใดจะช่วยพวกเขาสร้างศรัทธาของตนเอง
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เขียนหัวข้อ 1 เปโตร และ 2 เปโตร บนกระดาน ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนทบทวนบทเหล่านี้ และเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนคำหรือวลีที่พวกเขาพบว่ามีความหมายไว้ใต้หัวข้อเหล่านี้ จากนั้นใช้รายการที่เขียนไว้เชื้อเชิญให้คนแบ่งปันข้อคิดของพวกเขา
สอนหลักคำสอน
1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; 4:12–19
ฉันสามารถพบปีติระหว่างช่วงเวลาของการทดลองและการทนทุกข์
-
เพื่อช่วยให้คนที่ท่านสอนเข้าใจและประยุกต์ใช้คำแนะนำของเปโตรได้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับการพบปีติในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก ท่านอาจแจกกระดาษให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนวลีหรือประโยคจาก 1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; 4:12–19 ที่จะช่วยพวกเขาในช่วงเวลาของการทดลองหรือความยากลำบาก อีกด้านหนึ่งของกระดาษ พวกเขาอาจเขียนเกี่ยวกับช่วงเวลาของการทดลองเมื่อพวกเขารู้สึกถึงสันติสุขหรือปีติ อาสาสมัครสองสามคนอาจแบ่งปันวลีหรือประสบการณ์ของพวกเขา จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนอาจสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้
-
อีกวิธีที่จะทบทวนคำแนะนำของเปโตรใน 1 เปโตร 1:3–9; 2:19–24; 3:14–17; 4:12–19 คือการเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงคนรู้จักที่กำลังประสบกับการทดลอง ให้เวลาพวกเขาในชั้นเรียนเพื่อเขียนจดหมายถึงบุคคลนั้น รวมถึงความจริงจากข้อเหล่านี้ที่เป็นการให้กำลังใจ (ดู คพ. 121:1–8; 123:17 ด้วย) จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนอาจพูดเกี่ยวกับความจริงที่พวกเขาเลือก
เราได้รับเรียกให้เป็น “ประชากรของพระเจ้า”
-
ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์ เราได้รับเรียกให้ติดตามพระเยซูคริสต์ หมายความว่าการเลือกของเรามักจะต่างจากการเลือกของคนอื่น คำสอนของเปโตรใน 1 เปโตร 1:13–20; 2:1–12 จะช่วยให้คนที่ท่านสอนเข้าใจพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดดีขึ้นและปรารถนาจะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นได้อย่างไร บางทีท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าข้อเหล่านี้เพื่อหาคำอธิบายว่าการเป็น “ประชากรของพระเจ้า” (1 เปโตร 2:10) หมายถึงอะไรและจากนั้นสนทนาสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจอธิบายว่าคำว่า “กรรมสิทธิ์” ใน 1 เปโตร 2:9 หมายถึง “ซื้อไว้” หรือ “หรือรักษาไว้” สิ่งนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สึกเกี่ยวกับเราและวิธีที่พระองค์ทรงต้องการให้เราดำเนินชีวิต
มีการสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนตายเพื่อพวกเขาจะได้รับการพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม
-
สาส์นฉบับแรกของเปโตรมีหนึ่งข้อจากข้ออ้างอิงไม่กี่ข้อในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการไปเยือนโลกวิญญาณของพระเยซูคริสต์หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์—เหตุการณ์ซึ่งการเปิดเผยในยุคปัจจุบันช่วยให้เราเข้าใจอย่างสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับโลกวิญญาณ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ต่อไปนี้และเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้บนกระดาน: ยอห์น 5:25; 1 เปโตร 3:18–20; 4:6; แอลมา 40:7–14, 21; หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:11–32
ข้อความที่มีใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” แสดงให้เห็นว่าการเสด็จเยือนโลกวิญญาณของพระคริสต์ไม่เพียงเป็นที่เข้าใจและสอนโดยอัครสาวกของพระองค์เท่านั้นแต่โดยครูชาวคริสต์ในยุคแรกๆ ด้วย การเข้าใจว่าความรู้นี้สูญหายไประหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่และได้รับการฟื้นฟูในสมัยเราสามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธและการฟื้นฟูพระกิตติคุณ
-
การสนทนา 1 เปโตร 3:18–20; 4:6 จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากขึ้นในงานประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร ในการทำเช่นนี้ ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่มและมอบหมายคำถามหนึ่งข้อจากคำถามต่อไปนี้เกี่ยวกับการไถ่คนตายให้แต่ละกลุ่ม: หน้าที่ของพระผู้ช่วยให้รอดในการไถ่คนตายคืออะไร หน้าที่ของคนเหล่านั้นที่ตายไปแล้วคืออะไร—ทั้งคนที่ซื่อสัตย์และคนที่ตายโดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณ หน้าที่ของเราคืออะไร ขอให้แต่ละกลุ่มทบทวน 1 เปโตร 3:18–20; 4:6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:17–18; 138:11–32, 57–59 โดยมองหาคำตอบสำหรับคำถามของพวกเขา ขอให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ และท่านอาจแบ่งปันคำพูดจากเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน หรือวีดิทัศน์เรื่องหนึ่งใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เราเคยเห็นพรอะไรเมื่อเรามีส่วนในการนำความรอดมาสู่บรรพชนผู้ล่วงลับของเรา
โดยผ่านพลังอำนาจของพระเยซูคริสต์ เราสามารถพัฒนาธรรมชาติแห่งสวรรค์ของเราได้
-
เพื่อให้กำลังใจคนที่ท่านสอนเมื่อพวกเขาพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาระบุคุณสมบัติเหมือนพระคริสต์ที่บรรยายไว้ใน 2 เปโตร 1:1–11 ท่านอาจเขียนคุณสมบัติเหล่านี้ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนนิยามคุณสมบัติเหล่านี้ จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนอาจสนทนาว่าการพัฒนาคุณสมบัติหนึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ อย่างไร ให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองว่าคุณสมบัติใดที่พวกเขาอยากพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 126 ด้วย)
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ท่านอาจต้องการอธิบายว่าสมาชิกชั้นเรียนจะศึกษาสาส์นของยอห์นระหว่างสัปดาห์หน้า สาส์นเหล่านี้ช่วยแก้ไขคำสอนผิดๆ เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และสามารถเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราในพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงพระชนม์
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
งานแห่งการไถ่คนตายเป็นพยานถึงพระพันธกิจของพระคริสต์
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า
“ผู้เชี่ยวชาญด้านเทววิทยาซึ่งเป็นชาวคริสต์ใคร่ครวญมานานในคำถามที่ว่า อะไรเป็นบทสรุปเกี่ยวกับชะตาชีวิตของผู้คนนับไม่ถ้วนที่เคยมีชีวิตอยู่และจากไปโดยไม่มีความรู้เรื่องพระเยซูคริสต์ การฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทำให้เข้าใจวิธีการไถ่คนตายที่ยังไม่ได้รับบัพติศมาและวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเป็น ‘พระผู้เป็นเจ้าที่ดีพร้อม, เที่ยงธรรม, และพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเมตตาด้วย’ [แอลมา 42:15]
“ขณะดำเนินพระชนม์ชีพบนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงพยากรณ์ว่าพระองค์จะทรงสั่งสอนคนตายเช่นกัน [ดู ยอห์น 5:25] เปโตรบอกเราว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการตรึงกางเขนกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด [ดู 1 เปโตร 3:18–19] ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ เป็นพยานในนิมิตว่า พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนโลกวิญญาณ [ดู คพ. 138:30, 33] …
“ความกังวลของเราเรื่องการไถ่คนตาย รวมทั้งเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไปกับข้อผูกมัดนั้นล้วนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเป็นพยานของเราในพระเยซูคริสต์ ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นถ้อยแถลงอันทรงพลังที่เราจะทำได้อันเกี่ยวเนื่องกับพระพันธกิจและพระลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ประการแรก สิ่งนี้เป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ สอง เป็นพยานถึงการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระองค์ สาม พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดเดียวของความรอด สี่ พระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขของความรอด และห้า พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้ง” (“การไถ่คนตายและประจักษ์พยานของพระเยซู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2000, 11–12)
งานเขียนของครูชาวคริสต์ในสมัยแรก (ศตวรรษที่หนึ่งถึงสาม) เกี่ยวกับการสั่งสอนคนตาย
ออริเจน: “เมื่อ [พระเยซู] ทรงเป็นจิตวิญญาณ [วิญญาณ] โดยไม่มีร่างกายห่อหุ้ม พระองค์เสด็จไปพำนักท่ามกลางจิตวิญญาณซึ่งไม่มีร่างกายห่อหุ้ม ทรงทำให้พวกเขาเต็มใจเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระองค์” (ใน The Ante-Nicene Fathers, ed. Alexander Roberts and James Donaldson [1907], 4:448)
เฮอร์มาส: “อัครสาวกและครูที่สั่งสอนในพระนามของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากที่พวกเขาหลับไปในเดชานุภาพและศรัทธาของพระบุตรแห่งพระผู้เป็นเจ้า ได้สั่งสอนคนเหล่านั้นที่หลับไปก่อนเช่นกัน” (ใน The Apostolic Fathers, trans. J. B. Lightfoot [1898], 472)
วีดิทัศน์เกี่ยวกับงานประวัติครอบครัว (ดู LDS.org)
-
“Their Hearts Are Bound to You”
-
“All the Families of the Earth”
-
“Will I Do My Part?”