พันธสัญญาเดิม 2022
4–10 กรกฎาคม 2 พงศ์กษัตริย์ 2–7: “มีผู้เผยพระวจนะคนหนึ่งในอิสราเอล”


“4–10 กรกฎาคม 2 พงศ์กษัตริย์ 2–7: ‘มีผู้เผยพระวจนะคนหนึ่งในอิสราเอล’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“4–10 กรกฎาคม 2 พงศ์กษัตริย์ 2–7” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2022

ภาพ
เอลีชาแสดงให้คนใช้เห็นรถรบเพลิง

ภาพประกอบของเอลีชาแสดงให้คนใช้เห็นรถรบเพลิง © Review & Herald Publishing/licensed from goodsalt.com

4–10 กรกฎาคม

2 พงศ์กษัตริย์ 2–7

“มีผู้เผยพระวจนะคนหนึ่งในอิสราเอล”

ขณะที่ท่านเตรียมสอน ให้อ่าน 2 พงศ์กษัตริย์ 2–7 เพื่อหาแรงบันดาลใจสำหรับชีวิตท่านเอง จากนั้นให้ฟังการกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับข่าวสารที่จะเป็นพรแก่สมาชิกในชั้นเรียนของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

บางครั้งสมาชิกชั้นเรียนต้องมีเวลาทบทวนบทที่อ่านคร่าวๆ ก่อนจึงจะสามารถแบ่งปันข้อคิดจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว พยายามให้เวลาสองสามนาทีทบทวนตอนเริ่มชั้นเรียน แล้วให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

2 พงศ์กษัตริย์ 2–6

พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำปาฏิหาริย์ในชีวิตเรา

  • ขณะที่ท่านสนทนาเรื่องปาฏิหาริย์ใน 2 พงศ์กษัตริย์ 2–6 อาจเป็นประโยชน์ถ้าขอให้สมาชิกชั้นเรียนนิยามคำว่า ปาฏิหาริย์ ท่านอาจแบ่งปันข้อคิดนี้จากประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์: “[ปาฏิหาริย์] คือปรากฏการณ์อันแสดงถึงเดชานุภาพ [ของพระผู้เป็นเจ้า] ซึ่งเราอธิบายไม่ถูกหรือไม่เข้าใจถ่องแท้ … เครื่องหมายและสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ประจักษ์ชัดที่สุดในพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง แต่แม้จะน่าตื่นตะลึงและน่าพิศวง ทว่าปาฏิหาริย์มากมายของพระคริสต์เป็นเพียงภาพสะท้อนของสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่าซึ่งพระบิดาของพระองค์ทรงแสดงต่อพระพักตร์พระองค์และยังทรงแสดงรอบตัวเรา … จะมีปาฏิหาริย์มากมายเสมอถ้าเราให้ตาคอยดูและให้หูคอยฟัง” (“The God That Doest Wonders,” Ensign, May 1989, 15–16) ข้อคิดเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราอย่างไร?

  • ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนรายการปาฏิหาริย์บางอย่างที่บรรยายไว้ใน 2 พงศ์กษัตริย์ 2–6 เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าจากปาฏิหาริย์เหล่านี้? สมาชิกชั้นเรียนอาจยินดีพูดถึงปาฏิหาริย์—ใหญ่น้อย—ที่พวกเขาหรือครอบครัวเคยประสบเช่นกัน เราจะรับรู้ปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเรา—รวมทั้งปาฏิหาริย์ต่างจากที่เราหวังได้ดีขึ้นอย่างไร?

  • สมาชิกชั้นเรียนอาจจะพบว่าการเปรียบเทียบปาฏิหาริย์บางอย่างที่เอลีชาแสดงกับบางอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงแสดงสร้างแรงบันดาลใจ (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 4:8–37 กับ ลูกา 7:11–16; 2 พงศ์กษัตริย์ 4:42–44 กับ ยอห์น 6:1–13; 2 พงศ์กษัตริย์ 5:1–15 กับ ลูกา 17:11–19) ปาฏิหาริย์เหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์?

2 พงศ์กษัตริย์ 5:1–19

ถ้าเราอ่อนน้อมถ่อมตนและเชื่อฟัง พระเยซูคริสต์จะทรงรักษาเราให้หายได้

  • หนึ่งบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้จากการรักษาโรคเรื้อนของนาอามานคือความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านอาจเขียนบนกระดานว่า ความจองหองของนาอามาน และ ความอ่อนน้อมถ่อมตนของนาอามาน สมาชิกชั้นเรียนอาจค้นคว้า 2 พงศ์กษัตริย์ 5:1–19 และเขียนวลีที่แสดงถึงความจองหองและความอ่อนน้อมถ่อมตนของนาอามานไว้บนกระดาน บางครั้งเราเหมือนนาอามานอย่างไร? บางคราวเราเหมือนข้าราขการของเขาอย่างไร? เรารู้สิ่งที่นาอามานรู้ได้อย่างไร?

  • อีกบทเรียนหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้คือคุณค่าของการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ท่านอาจจะเริ่มโดยอ่าน 2 พงศ์กษัตริย์ 5:9–12 และขอความคิดเห็นของสมาชิกชั้นเรียนว่าเหตุใดนาอามานจึง “หันหลังไปเสียด้วยความเดือดดาล” (ข้อ 12) เหตุใดบางครั้งเราชอบทำ “สิ่งใหญ่” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำ มากกว่าทำสิ่งเรียบง่าย? (ข้อ 13) อะไรคือคุณค่าของการทำสิ่งเรียบง่ายเหล่านี้?

2 พงศ์กษัตริย์ 6:8–23

“ฝ่ายเรามีมากกว่าฝ่ายเขา”

  • เราทุกคนมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกโดดเดี่ยวหรือกลัว พิจารณาว่าการสนทนาเรื่องราวใน 2 พงศ์กษัตริย์ 6:8–23 อาจช่วยสมาชิกชั้นเรียนที่รู้สึกแบบนี้ได้อย่างไร ท่านอาจเริ่มโดยถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาประทับใจอะไรเกี่ยวกับข้อเหล่านี้ พวกเขาอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อ “พระเจ้าทรงเปิดตา [ของพวกเขา]” (ข้อ 17) และทรงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าตนไม่โดดเดี่ยว (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) เราจะช่วยกันและกัน “[ไม่ให้] กลัว” ได้อย่างไร? (ข้อ 16)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

“ลืมตาทางวิญญาณของเรา”

ขณะอ้างเรื่องราวใน 2 พงศ์กษัตริย์ 6:8–23 เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์กล่าวว่า

“เราอาจไม่มีรถรบเพลิงส่งมาขจัดความกลัวและปราบมารให้เรา แต่บทเรียนชัดเจน พระเจ้าทรงอยู่กับเรา สนพระทัยและทรงอวยพรเราในวิธีที่พระองค์เท่านั้นทรงทำได้ การสวดอ้อนวอนสามารถเรียกพลังและการเปิดเผยที่เราต้องการลงมาเพื่อให้ความคิดเราจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ พระเจ้าทรงทราบว่าบางครั้งเรารู้สึกกลัว ข้าพเจ้าเคยกลัวเช่นเดียวกับท่าน … ในศาสนจักรนี้เราอาจมีคนไม่มากพอให้โลกถือว่ามีอิทธิพล แต่เมื่อเราลืมตาทางวิญญาณ เราจะเห็นว่า ‘ฝ่ายเรามีมากกว่าฝ่ายเขา’ [2 พงศ์กษัตริย์ 6:16]” (“อย่ากังวลใจเลย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 18–19)

ปรับปรุงการสอนของเรา

โยงผู้เรียนกับพระคัมภีร์ เมื่อใดที่ท่านทำได้ จงกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้หันไปศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่เพื่อรับการนำทาง คำตอบให้กับคำถาม และการสนับสนุนช่วยเหลือ พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของความจริง (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 21)

พิมพ์