การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ, เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน (2018)
การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ
พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความจริงทั้งปวง
1. พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบทุกสิ่งและทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความจริงทั้งปวง (ดู โมไซยาห์ 4:9) เพราะพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเราและทรงประสงค์ให้เราก้าวหน้าไปสู่ความเป็นเหมือนพระองค์ พระองค์จึงทรงกระตุ้นให้เรา “แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (คพ. 88:118) ในการแสวงหาความจริง เราวางใจพระองค์ได้อย่างเต็มที่ พึ่งพาพระปรีชาญาณ ความรัก และเดชานุภาพของพระองค์ในการสอนและประทานพรแก่เรา พระองค์ทรงสัญญาว่าจะเปิดเผยความจริงในความนึกคิดและในใจเราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์หากเราแสวงหาพระองค์อย่างขยันหมั่นเพียร (ดู คพ. 8:2–3)
2. เพื่อช่วยเรา พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนเราถึงวิธีได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ พระองค์ทรงสร้างเงื่อนไขที่เราต้องทำตามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้นั้น รูปแบบของพระองค์ที่แต่งตั้งไว้ในสวรรค์เรียกร้องให้เรามีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะรู้ความจริง (ดู โมโรไน 10:4–5) และเต็มใจดำเนินชีวิตตามสิ่งซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผย (ดู ยอห์น 7:17) ความปรารถนาที่จริงใจจะนำเราไปสู่การแสวงหาความจริงผ่านการสวดอ้อนวอน (ดู ยากอบ 1:5–6; 2 นีไฟ 32:8–9) และการศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงจัง (ดู 2 ทิโมธี 3:15–17; 2 นีไฟ 32:3)
การถามคำถามและแสวงหาคำตอบ
3. บางครั้งเราอาจค้นพบข้อมูลใหม่หรือมีคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอน ระเบียบปฏิบัติ หรือประวัติของศาสนจักรซึ่งดูเหมือนเข้าใจยาก การถามคำถามและแสวงหาคำตอบเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเราพยายามเรียนรู้ความจริง คำถามบางข้อที่เข้ามาในความนึกคิดเราอาจได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ควรพิจารณาคำถามที่ได้รับการดลใจว่าเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งให้โอกาสเราเพิ่มพูนความเข้าใจและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของเราว่าพระเจ้าเต็มพระทัยที่จะสอนเรา ไม่ว่าคำถามของเราจะมาจากแหล่งใดก็ตาม เราได้รับพรด้วยความสามารถในการคิดหาเหตุผลและให้อิทธิพลของพระเจ้าขยายความนึกคิดของเราและช่วยให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ่งยิ่งขึ้น เจตคติและเจตนาที่เราถามคำถามและแสวงหาคำตอบจะส่งผลอย่างยิ่งต่อความสามารถของเราในการเรียนรู้ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
4. หลักธรรมสามข้อต่อไปนี้สามารถนำทางเราได้ขณะที่เราพยายามเรียนรู้และเข้าใจความจริงนิรันดร์ และแก้ไขคำถามหรือประเด็นต่างๆ
-
กระทำด้วยศรัทธา
-
พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์
-
แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์
หลักธรรม 1: กระทำด้วยศรัทธา
5. เรากระทำด้วยศรัทธาเมื่อเราเลือกวางใจพระผู้เป็นเจ้าและหันไปหาพระองค์เป็นอันดับแรกผ่านการสวดอ้อนวอนที่จริงใจ การศึกษาคำสอนของพระองค์ และการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์
6. ขณะที่เราพัฒนาความเข้าใจของเราในการแก้ไขข้อกังวลต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะพึ่งพาประจักษ์พยานที่เรามีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ การฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์ และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และทางออกไม่ได้มาในทันที จงยึดมั่นในสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้วและยืนหยัดจนกว่าความรู้เพิ่มเติมจะมาถึง” (“พระเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94) พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เรา “ดูที่ [พระองค์] ในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว” (คพ. 6:36)
7. ระหว่างช่วงเวลาที่เราอาจไม่พบคำตอบให้คำถามของเราในทันที จะช่วยได้มากหากจดจำว่าแม้พระบิดาบนสวรรค์ทรงเปิดเผยทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับความรอดของเรา แต่พระองค์ยังมิได้ทรงเปิดเผยความจริงทั้งหมด เมื่อเราแสวงหาคำตอบต่อไป เราต้องดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา—โดยวางใจว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้รับคำตอบที่เราแสวงหา (ดู สุภาษิต 3:5–6; อีเธอร์ 12:6) เมื่อเราซื่อสัตย์ต่อความจริงและความสว่างที่เราได้รับแล้ว เราจะได้รับมากขึ้น คำตอบต่อคำถามและคำสวดอ้อนวอนของเรามักจะมาเป็น “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์” (2 นีไฟ 28:30)
หลักธรรม 2: พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์
8. ในการพินิจแนวคิดทางหลักคำสอน คำถาม และประเด็นปัญหาทางสังคมด้วยมุมมองนิรันดร์ เราพิจารณาสิ่งเหล่านั้นในบริบทของแผนแห่งความรอดและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ดังที่พระเจ้าทอดพระเนตรสิ่งเหล่านั้น (ดู 1 โครินธ์ 2:5, 9–11) การทำเช่นนี้ช่วยให้เราตีกรอบคำถาม (เพื่อมองคำถามแตกต่างออกไป) และมองแนวคิดโดยขึ้นอยู่กับมาตรฐานความจริงของพระเจ้าแทนที่จะยอมรับหลักฐานหรือสมมติฐานของโลก เราทำได้โดยถามคำถามเช่น “ฉันรู้อะไรบ้างแล้วเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ แผนของพระองค์ และวิธีที่พระองค์ทรงรับมือกับบุตรธิดาของพระองค์” และ “คำสอนพระกิตติคุณข้อใดที่เกี่ยวข้องหรือให้ความกระจ่างแก่แนวคิดหรือประเด็นปัญหานี้”
9. แม้คำถามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็อาจต้องพินิจด้วยมุมมองนิรันดร์เช่นกัน เมื่อเรายังคงยึดมั่นความไว้วางใจในพระบิดาบนสวรรค์และแผนแห่งความรอดของพระองค์ เราสามารถมองเห็นประเด็นปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจช่วยได้บ้างหากจะพินิจคำถามทางประวัติศาสตร์ในบริบทที่เหมาะสมทางประวัติศาสตร์โดยพิจารณาวัฒนธรรมและบรรทัดฐานของช่วงเวลาดังกล่าวแทนที่จะยัดเยียดมุมมองและเจตคติของปัจจุบัน
10. เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ว่ารายละเอียดทางประวัติศาสตร์ไม่มีอำนาจช่วยให้รอดของศาสนพิธี พันธสัญญา และหลักคำสอน การหลงประเด็นเพราะรายละเอียดที่ด้อยความสำคัญจนทำให้ไม่เข้าใจปาฏิหาริย์ของการฟื้นฟูที่กำลังเผยให้ปรากฏก็เหมือนกับการใช้เวลาวิเคราะห์กล่องของขวัญจนลืมนึกถึงความล้ำเลิศของสิ่งที่อยู่ในกล่องนั้น
หลักธรรม 3: แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์
11. ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับการรับความรู้ทางวิญญาณ พระองค์ทรงกำหนดแหล่งช่วยซึ่งพระองค์ทรงเปิดเผยความจริงและการนำทางแก่บุตรธิดาของพระองค์ แหล่งช่วยเหล่านี้ได้แก่ความสว่างของพระคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระคัมภีร์ บิดามารดา และผู้นำศาสนจักร ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง—ศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกในปัจจุบัน—เป็นบ่อเกิดแห่งความจริงที่สำคัญมาก พระเจ้าทรงเลือกและทรงแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ให้พูดแทนพระองค์
12. เราสามารถเรียนรู้ความจริงผ่านแหล่งช่วยอื่นๆ ที่ไว้ใจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้แสวงหาความจริงที่จริงใจควรระมัดระวังแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ เราอาศัยอยู่ในช่วงเวลาที่หลายคน “เรียกความชั่วว่าความดี และเรียกความดีว่าความชั่ว” (อิสยาห์ 5:20) ซาตานเป็นบิดาแห่งความเท็จ เขาพยายามบิดเบือนความจริง ชักจูงให้เราปฏิเสธพระเจ้าและผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง เมื่อเราหันไปหาคำตอบและการนำทางจากแหล่งช่วยที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ เราจะได้รับพรในการแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จ การเรียนรู้ที่จะตระหนักและหลีกเลี่ยงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้สามารถป้องกันเราจากข้อมูลที่ผิดและจากผู้ที่ประสงค์จะทำลายความเชื่อ
การช่วยให้ผู้อื่นได้ความรู้ทางวิญญาณ
13. เมื่อผู้อื่นมาหาเราและถามคำถามหรือกำลังศึกษาหลักคำสอน ระเบียบปฏิบัติ หรือประวัติของศาสนจักร เราจะช่วยพวกเขาอย่างดีที่สุดในการแสวงหาความจริงได้อย่างไร ต่อไปนี้เป็นวิธีการบางอย่างที่เราจะช่วยพวกเขาได้
14. จงตั้งใจฟังร่วมกับการสวดอ้อนวอน: จงตั้งใจฟังก่อนจะตอบ แสวงหาความชัดเจนและเข้าใจคำถามอันแท้จริงที่พวกเขากำลังถาม พยายามคิดใคร่ครวญเพื่อให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของคำถาม ความรู้สึก และความเชื่อของพวกเขา
15. สอนและเป็นพยานถึงความจริงแห่งพระกิตติคุณ: แบ่งปันคำสอนที่นำไปใช้ได้จากพระคัมภีร์และศาสดาพยากรณ์ในปัจจุบัน แบ่งปันวิธีที่คำสอนเหล่านั้นสร้างความแตกต่างในชีวิตท่าน ช่วยคนที่ท่านพูดคุยด้วยให้พินิจและตีกรอบคำถามของพวกเขาใหม่ในบริบทของพระกิตติคุณและแผนแห่งความรอด
16. เชื้อเชิญให้พวกเขากระทำด้วยศรัทธา พึงจำไว้ว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เราแสวงหาความรู้ทางวิญญาณด้วยตนเอง ดังนั้นเราต้องเชื้อเชิญให้ผู้อื่นกระทำด้วยศรัทธาผ่านการสวดอ้อนวอน การเชื่อฟังพระบัญญัติ และหมั่นเพียรศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้า โดยใช้แหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงประสบการณ์ที่พวกเขามีเมื่อรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์และให้ยึดมั่นความจริงที่พวกเขาเรียนรู้จนได้รับความรู้เพิ่มเติม
17. ทำต่อไป: เสนอที่จะค้นหาคำตอบ แล้วทำต่อไปโดยแบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ท่านอาจค้นหาคำตอบด้วยกัน แสดงความมั่นใจในคำสัญญาของพระเจ้าที่จะประทานการเปิดเผยส่วนตัว
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: เยเรมีย์ 1:4–5; อาโมส 3:7; มัทธิว 5:14–16; มัทธิว 16:15–19; ยอห์น 15:16; ยอห์น 17:3; เอเฟซัส 2:19–20; เอเฟซัส 4:11–14; 2 นีไฟ 2:27; โมไซยาห์ 18:8–10; 3 นีไฟ 18:15, 20–21; คพ. 1:37–38; คพ. 18:15–16; คพ. 21:4–6; คพ 88:118
หัวข้อหลักคำสอนที่เกี่ยวข้อง พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์: พระวิญญาณบริสุทธิ์; การชดใช้ของพระเยซูคริสต์: ศรัทธาในพระเยซูคริสต์; ศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผย; พระบัญญัติ