เซมินารี
บทที่ 77—หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–17: “เรียกร้อง … ที่จะให้อภัย”


“บทที่ 77—หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–17: ‘เรียกร้อง … ที่จะให้อภัย,’” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–17,” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทที่ 77: หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–17

“เรียกร้อง … ที่จะให้อภัย”

สมาชิกในครอบครัวสองคนสวมกอดกัน

ระหว่างการเดินทางจากมิสซูรีไปยังโอไฮโอ โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ประสบกับความขัดแย้งและความรู้สึกไม่ดีต่อกัน ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64 พระเยซูคริสต์ทรงแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะให้อภัย บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์และให้อภัยมากขึ้น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ใคร่ครวญถึงการให้อภัย

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการให้อภัย หรือท่านอาจแบ่งปันเรื่องราว เช่น “การให้อภัย: ทำให้ภาระของข้าพเจ้าเบาลง” (8:24) ที่ ChurchofJesusChrist.org เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา

8:24
  • ท่านคิดว่าตัวท่านเองเป็นคนที่ให้อภัยหรือไม่? ทำไมจึงคิดหรือไม่คิดเช่นนั้น?

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ท่านให้อภัยผู้อื่น?

  • ท่านต้องให้อภัยใคร?

เชื้อเชิญให้นักเรียนแสวงหาการเปิดเผยส่วนตัวเพื่อรู้ว่าพวกเขาอาจต้องให้อภัยใคร และพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้อภัย

พระเยซูคริสต์ทรงให้อภัย

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านบริบทต่อไปนี้สำหรับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 64

ในเดือนสิงหาคมปี 1831 หลังจากอุทิศไซอันในมิสซูรี โจเซฟ สมิธ, ออลิเวอร์ คาวเดอรี, ไอแซค มอร์ลีย์, เอซรา บูธ และคนอื่นๆ กำลังกลับบ้านที่โอไฮโอ สภาพอากาศร้อน การเดินทางที่เป็นอันตราย และความไม่เห็นด้วยกับความเป็นผู้นำทำให้กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และทะเลาะวิวาทกัน หลังจากมาถึงบ้าน ความตึงเครียดระหว่างพวกเขายังคงอยู่ (ดู วิสุทธิชน: เรื่องราวของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้าย, เล่ม 1, มาตรฐานแห่งความจริง, 1815–1846 [2018], 133–134, 136–137) เพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ของพวกเขา พระเจ้าประทานการเปิดเผยที่ปัจจุบันเรียกว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 64

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–7 โดยมองหาว่าพระเยซูคริสต์ทรงตอบสนองต่อผู้ที่ทำบาปอย่างไร

พระผู้ช่วยให้รอด

ท่านอาจให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอด ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ หลังจากนั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียนหรือคู่

  • ท่านพบคุณลักษณะอะไรของพระเยซูคริสต์ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?

  • ท่านรู้สึกสำนึกคุณต่อคุณลักษณะใดมากที่สุด? เพราะเหตุใด?

เราเรียกร้องที่จะให้อภัย

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11 โดยมองหาวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราทำตามแบบอย่างของพระองค์

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนหลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนด้วยวิธีที่แตกต่างกันเพื่อที่จะค้นหาได้ง่าย

  • สิ่งใดโดดเด่นสำหรับท่านเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนโจเซฟและคนอื่นๆ?

    ช่วยให้นักเรียนระบุความจริงที่ว่า พระเยซูคริสต์ทรงเรียกร้องให้เราที่จะให้อภัยทุกคน ท่านอาจเขียนความจริงนี้บนกระดาน หรือจะเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาก็ได้

    ใช้เวลาพอสมควรเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ข้อ 9–11 คำถามบางข้อต่อไปนี้อาจช่วยได้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงเรียกร้องให้เราให้อภัยทุกคน?

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าเรามี “บาปที่ร้ายแรงกว่า” (ข้อ 9) เมื่อเราเลือกที่จะไม่ให้อภัยผู้อื่น?

  • ท่านคิดว่าการพูดในใจว่า “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงตัดสินระหว่างข้าพเจ้ากับท่าน” (ข้อ 11) จะช่วยเราให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร?

  • คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ข้อใดที่จะช่วยให้ท่านพัฒนาการให้อภัยผู้อื่น?

การเรียนรู้วิธีให้อภัยผู้อื่น

ท่านอาจให้เวลานักเรียนตั้งคำถามหรือแบ่งปันความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการให้อภัย นักเรียนอาจตอบคำถามต่อไปนี้บนกระดาน ผ่านฟีเจอร์โพลแบบไม่ระบุชื่อ หรือบนแผ่นกระดาษที่แบ่งปันกับชั้นเรียน

  • ผู้คนอาจมีคำถามอะไรบ้างขณะพยายามให้อภัยผู้อื่น?

  • ผู้คนอาจเผชิญความท้าทายอะไรบ้างเมื่อพยายามทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะให้อภัย?

นักเรียนอาจถามคำถามเช่น “พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยฉันให้อภัยผู้อื่นอย่างไร?” หรือ“ การให้อภัยผู้อื่นหมายความว่าฉันต้องเจ็บปวดอีกครั้งหรือไม่?”

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกคำถามเป็นชั้นเรียนหรือเป็นรายบุคคล จากนั้นให้พวกเขาค้นหาคำตอบจากแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์

นักเรียนอาจค้นหาคำตอบโดยค้นหาคำ เช่น “พระเยซู” “ให้อภัย” “พระผู้ช่วยให้รอด” และ “ความเมตตา” ในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณหรือคู่มือพระคัมภีร์ ท่านอาจให้ดูพระคัมภีร์ เช่น มัทธิว 5:7; 18:21–35; และ โมไซยาห์ 26:30–31 และคำกล่าวของศาสดาพยากรณ์ที่ระบุไว้ด้านล่างด้วย

เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงช่วยเราให้อภัยผู้อื่น:

13:21
เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง

บางครั้งการที่เรายินดีให้อภัยผู้อื่นจะเปิดทางให้พวกเขาและเราเชื่อได้ว่าเราสามารถกลับใจและรับการอภัย บางคราวความยินดีที่จะกลับใจและความสามารถในการให้อภัยมาคนละเวลา พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นคนกลางระหว่างเรากับพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็ทรงช่วยนำเรามาหาตัวเองและมาหากันขณะที่เรามาหาพระองค์ด้วย โดยเฉพาะเมื่อบาดแผลและความเจ็บปวดอยู่ลึก การแก้ไขความสัมพันธ์และการเยียวยาใจเราทำได้ยาก บางทีเราอาจทำไม่ได้ด้วยตนเอง แต่สวรรค์ประทานความเข้มแข็งและสติปัญญาเกินกว่าที่เรามีเพื่อให้เรารู้ว่าต้องอดทนเมื่อใดและต้องปล่อยวางอย่างไร (เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “มีความสุขตลอดไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 85)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

2:3
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“จงยกโทษให้เขา แล้วพวก‍ท่านจะได้รับการยก‍โทษ” [ลูกา 6:37] พระคริสต์ทรงสอนในสมัยพันธสัญญาใหม่ ในยุคสมัยของเราทรงสอนว่า “เรา, พระเจ้า, จะให้อภัยผู้ที่เราจะให้อภัย, แต่เรียกร้องจากเจ้าที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:10] แต่สำคัญที่พวกท่านบางคนผู้ดำเนินชีวิตด้วยความทุกข์อย่างแท้จริงจะตระหนักถึงสิ่งที่พระองค์ ไม่ได้ ตรัส พระองค์ ไม่ได้ ตรัสว่า “เจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ระทมอย่างแท้จริงจากการกระทำย่ำยีด้วยน้ำมือของผู้อื่น” และพระองค์ก็ ไม่ได้ ตรัสว่า “เพื่อจะยกโทษให้อย่างสมบูรณ์ เจ้าต้องกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษภัยหรือกลับไปสู่สภาวการณ์เลวร้ายที่เป็นอันตราย” แต่ทั้งที่อาจเกิดการกระทำผิดที่เลวร้ายที่สุดต่อเรา เราก็ยังสามารถรับมือกับความเจ็บปวดของเราได้ เพียงแค่เราก้าวเดินสู่เส้นทางแห่งการเยียวยาอย่างแท้จริง เส้นทางนั้นคือการให้อภัยซึ่งพระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงดำเนินตาม พระองค์ทรงเรียกหาเราแต่ละคนว่า “จงกลับมาติดตามเรา” [ลูกา 18:22] (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 78–79)

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบที่พบหรือความประทับใจที่พวกเขารู้สึกเกี่ยวกับการให้อภัย พวกเขาอาจแบ่งปันตัวอย่างด้วยก็ได้ว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรจากการทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อให้อภัยผู้อื่น ย้ำเตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันประสบการณ์หรือรายละเอียดที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

  • เราจะทำสิ่งใดได้บ้างที่จะช่วยเราให้อภัยผู้อื่น?

คำตอบที่เป็นไปได้ที่นักเรียนอาจแบ่งปันได้แก่:

  • ศึกษาเรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดและคนอื่นๆ ที่ให้อภัย

  • ไตร่ตรองว่าชีวิตเราจะต่างจากนี้อย่างไรหากเราให้อภัย

  • สวดอ้อนวอนอย่างจริงใจซึ่งเรามอบภาระของเราให้พระผู้เป็นเจ้า และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ที่จะให้อภัยผู้อื่น

  • รับรู้ว่าใจของเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาผ่านพระเยซูคริสต์เพื่อที่ท้ายที่สุดเราจะให้อภัยผู้อื่น

การประยุกต์ใช้ส่วนตัว

ก่อนหน้านี้ในบทเรียน เราขอให้นักเรียนนึกถึงคนที่พวกเขาต้องให้อภัย เชื้อเชิญให้พวกเขาใคร่ครวญสถานการณ์นั้นและแสวงหาการดลใจขณะตอบคำถามต่อไปนี้

ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้และพิจารณาเขียนความคิดหรือความรู้สึกของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอดในการให้อภัย?

  • ท่านจะพยายามทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์และให้อภัยมากขึ้นอย่างไร?

ท่องจำ

ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนท่องจำข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนและวลีสำคัญในพระคัมภีร์ระหว่างบทเรียนนี้ และทบทวนในบทเรียนต่อไป วลีสำคัญในพระคัมภีร์คือ “เรียกร้องจากเจ้าที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” แนวคิดสำหรับกิจกรรมการท่องจำอยู่ในเอกสารภาคผนวกใต้ “กิจกรรมทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน”