เซมินารี
บทเรียนที่ 134—การสถาปนานอวู: เมืองที่สวยงาม


“บทเรียนที่ 134—การสถาปนานอวู: เมืองที่สวยงาม,” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“การสถาปนานอวู,” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทเรียนที่ 134: หลักคําสอนและพันธสัญญา 124

การสถาปนานอวู

เมืองที่สวยงาม

ภาพ
ภาพวาดของนอวู

หลังจากวิสุทธิชนถูกขับไล่ออกจากมิสซูรี พวกเขาเปลี่ยนบริเวณหนองนํ้าตามแม่นํ้ามิสซิสซิปปีเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง นอวู รัฐอิลลินอยส์กลายเป็นสถานที่แห่งความสวยงามและเป็นสํานักงานใหญ่ของศาสนจักรตั้งแต่ ค.ศ. 1839 ถึง ค.ศ. 1846 บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเปรียบพระคัมภีร์และเรื่องราวประวัติศาสนจักรกับตนเอง

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

เปรียบกับเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาได้เรียนรู้ความจริงในหลักคําสอนและพันธสัญญาและในประวัติศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาบ่อยเพียงใด

อีกด้านหนึ่งของห้อง ท่านอาจให้ดูหลักคําสอนและพันธสัญญาหรือภาพศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธแทนสมัยของวิสุทธิชนยุคแรก เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งให้ยืนอยู่อีกด้านหนึ่งของห้องเพื่อเป็นตัวแทนเวลาของเรา ชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างเวลาของโจเซฟ สมิธกับตอนนี้ และถามคําถามต่อไปนี้

  • ด้านใดอาจทําให้เป็นเรื่องยากสําหรับเราที่จะเชื่อมโยงกับโจเซฟ สมิธและวิสุทธิชนยุคแรก?

  • ขณะที่ท่านศึกษาหลักคําสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร ท่านทําสิ่งใดบ้างเพื่อเชื่อมโยงกับโจเซฟ สมิธและวิสุทธิชนยุคแรกหรือเปรียบสิ่งที่ท่านศึกษากับตัวท่านเอง?

เขียนคําตอบของนักเรียนสําหรับคําถามล่าสุดไว้บนกระดาน หากนักเรียนไม่ได้กล่าวถึงหลักธรรมสี่ข้อนี้ ท่านอาจเขียนไว้บนกระดานด้วย นักเรียนจะใช้พระคัมภีร์ตลอดบทเรียน

  1. หารายละเอียดที่สำคัญ

  2. เปรียบเทียบกับชีวิตท่าน

  3. ค้นพบบทเรียนอันมีคุณค่า

  4. กำหนดการประยุกต์ใช้ส่วนตัว

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรจากพระเจ้ามากที่สุดในชีวิตตอนนี้

กระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาการนําทางและความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในขณะที่พวกเขาศึกษาเกี่ยวกับวิสุทธิชนในนอวู เป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถตอบพวกเขาผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

เนื้อหาต่อไปนี้มีไว้เพื่อนําทางนักเรียนในทักษะการเปรียบและเตรียมพวกเขาให้พร้อมทําสิ่งนี้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนที่ 1: หารายละเอียดที่สำคัญ

เพื่อฝึกปฏิบัติขั้นตอนนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังรายละเอียดสําคัญขณะที่ท่านอ่านหรือนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อมูลต่อไปนี้:

ขณะศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้ วิสุทธิชนหลายพันคนถูกขับไล่ออกจากบ้านของพวกเขาในรัฐมิสซูรี หลังจากถูกปล่อยตัว โจเซฟกลับไปอยู่กับครอบครัวและผู้ลี้ภัยเกือบ 5,000 คนจากมิสซูรีซึ่งได้คนใจดีของควินซี อิลลินอยส์ต้อนรับ

พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนซื้อที่ดินและรวมตัวกันบนหนองนํ้าที่ราคาไม่แพงใกล้ริมแม่น้ำมิสซูรี พวกเขาอาศัยอยู่ในเต็นท์และเกวียนขณะเริ่มสร้างเมืองหนึ่งที่พวกเขาจะเรียกว่านอวูในภายหลัง ยุงทําให้วิสุทธิชนหลายคนติดเชื้อมาเลเรีย ซึ่งทําให้เกิดไข้สูง หนาวสั่น และเสียชีวิต

  • รายละเอียดใดของเรื่องนี้ที่ดูเหมือนสําคัญต่อท่าน?

ขั้นตอนที่ 2: เปรียบเทียบกับชีวิตท่าน

เชื้อเชิญให้นักเรียนฝึกขั้นตอนที่สองโดยตอบคําถามต่อไปนี้แล้วนึกถึงรายละเอียดสําคัญในขั้นตอนที่ 1

  • ถึงแม้สถานการณ์ของเราอาจต่างกัน แต่มีวิธีใดบ้างที่เราอาจเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิสุทธิชนในสมัยนั้นกับชีวิตเราในปัจจุบัน?

    คําตอบบางข้ออาจรวมถึงความรู้สึก เช่น การที่เราทําบททดสอบหนึ่งอย่างเพื่อเจอกับบททดสอบต่อไป ย้ายไปที่แห่งใหม่หรือเริ่มใหม่ ดําเนินชีวิตในสภาพยากลําบาก หรือป่วยหนัก

  • ท่านทําอะไรเพื่อแสดงศรัทธาในพระเจ้าระหว่างสถานการณ์เช่นนี้?

ขั้นตอนที่ 3: ค้นพบบทเรียนอันมีคุณค่า

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาบทเรียนที่มีค่าเมื่อพวกเขาทําดังนี้: ดู “Joseph Smith: Prophet of the Restoration (2002 version)” ตั้งแต่รหัสเวลา 47:39 ถึง 50:54 หรืออธิบายว่าวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1839 โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ย้ายจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่งและเต็นท์หนึ่งไปอีกเต็นท์หนึ่งเพื่อรักษาผู้ป่วย จากนั้นให้อธิบายว่าคนหนึ่งที่พวกเขาไปเยี่ยมคืออีไลจา ฟอร์ดแฮม เขาป่วยมากจนแอนนาภรรยาของเขาร้องไห้และเตรียมเสื้อผ้าสําหรับฝังศพ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านดังนี้:

โจเซฟเดินเข้าไปหาอีไลจาและจับมือของเขา “บราเดอร์ฟอร์ดแฮม” เขาถาม “คุณไม่มีศรัทธาที่จะรักษาให้หายหรือ?”

“ผมเกรงว่าสายเกินไปแล้ว” เขากล่าว

“คุณไม่เชื่อหรือว่าพระเยซูคือพระคริสต์?”

“เชื่อครับ บราเดอร์โจเซฟ”

“อีไลจา” ศาสดาพยากรณ์ประกาศ “ข้าพเจ้าขอบัญชาท่าน ในพระนามของพระเยซูแห่งนาซาเร็ธ จงลุกขึ้นและหายเป็นปกติ”

ถ้อยคําเหล่านี้ดูเหมือนจะสั่นสะเทือนในบ้าน อีไลจาลุกขึ้นจากเตียง สีหน้าของเขาสดใส เขาแต่งตัว ขอกินอาหาร และตามโจเซฟออกไปข้างนอกเพื่อช่วยปฏิบัติศาสนกิจต่อคนอีกมากมาย (วิสุทธิชน: เรื่องราวของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้าย, เล่ม 1, มาตรฐานแห่งความจริง, 1815–1846 [2018], 402–403)

อ่านอย่างน้อยสองบทความต่อไปนี้ โดยมองหาความคล้ายคลึงระหว่างสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําหรือเปิดเผยกับเรื่องข้างต้น: มัทธิว 4:23; 1 นีไฟ 11:31; หลักคําสอนและพันธสัญญา 42:44; 66:9; 84:68

  • ท่านได้เรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากพระคัมภีร์เหล่านี้และจากวิสุทธิชนในนอวู?

เขียนคําตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน ตัวอย่างหนึ่งคือ โดยผ่านศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์และอํานาจฐานะปุโรหิตของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าจะประทานพรและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ ท่านอาจถามคําถาม เช่น “ความจริงนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเจ้า?” “ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรที่ยืนยันหลักธรรมนี้ในชีวิตท่าน?” และ “นอกจากเยียวยาเรา พระเจ้าจะทรงเสริมสร้างและอวยพรเราด้วยวิธีใดบ้าง?” ท่านอาจถามนักเรียนว่ามีคําถามเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านี้หรือไม่ หากมี ให้ชั้นเรียนสนทนากัน

อธิบายสิ่งต่อไปนี้:

แม้อยู่ในช่วงการรักษา แต่ความเจ็บป่วยยังอยู่ในหมู่วิสุทธิชนอีกหลายเดือน แต่พวกเขายังคงดูแลกันและใช้ศรัทธาในพระเจ้า พวกเขาขุดคูระบายนํ้าจากหนองนํ้าไปลงแม่นํ้า ซึ่งทําให้ที่ดินใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและลดปัญหาเรื่องยุง พวกเขาสร้างชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและท้ายที่สุดจึงสร้างพระวิหารนอวู

ขั้นตอนที่ 4: กําหนดการประยุกต์ใช้ส่วนตัว

สําหรับขั้นตอนนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันบางวิธีที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้ คําตอบของพวกเขาอาจรวมถึงวิธีที่พวกเขาสามารถใช้ศรัทธาในพระเจ้า อีกทั้งการขอพรฐานะปุโรหิต

บทเรียนเพิ่มเติม

เพื่อฝึกการเปรียบพระคัมภีร์และประวัติศาสนจักรกับตนเองต่อไป นักเรียนอาจทํากิจกรรมในเอกสารแจก “เปรียบประวัติศาสนจักรกับตัวเรา” นักเรียนอาจทํากิจกรรมด้วยตนเองหรือเป็นกลุ่มเล็ก เชื้อเชิญให้นักเรียนจดสิ่งที่พวกเขาทําแต่ละขั้นในสี่ขั้นตอน

เปรียบประวัติศาสนจักรกับตัวเรา

กิจกรรม ก

สั่งสอนพระกิตติคุณ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนว่า “การข่มเหงไม่ได้หยุดยั้งความก้าวหน้าของความจริง” (History of the Church, 4:540) ก่อนหน้านี้พระเจ้าทรงเรียกสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองหลายคนให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาที่ต่างประเทศ แม้จะมีความเจ็บป่วยและความยากลําบาก แต่พี่น้องชายที่มุ่งมั่นตั้งใจเหล่านี้ออกจากนอวูเพื่อรับใช้อย่างเชื่อฟัง ด้วยเหตุนี้ หลายพันคน—จากอังกฤษโดยส่วนใหญ่—จึงได้รับพยานจากพระผู้เป็นเจ้า เข้าร่วมศาสนจักร และเดินทางไปยังนอวู พวกเขากลายเป็นความเข้มแข็งให้ศาสนจักรอย่างมาก

อ่าน 1 นีไฟ 3:7 และ หลักคําสอนและพันธสัญญา 3:1 พิจารณาว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้จะเชื่อมโยงกับตัวอย่างของงานเผยแผ่ศาสนาอย่างไร

กิจกรรม ข

การจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์

ขณะวิสุทธิชนกําลังสร้างพระวิหารนอวู พี่น้องสตรีสองสามคนสังเกตว่าชายหลายคนที่กําลังสร้างพระวิหารไม่มีรองเท้า กางเกงขายาว และเสื้อเพียงพอ พวกเธอจัดตั้งกลุ่มสตรีกลุ่มหนึ่งโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้าและเริ่มทํางานด้วยกันเพื่อจัดเตรียมเสื้อผ้าเหล่านี้ เฉกเช่นกลุ่มต่างๆ ในเวลานั้น พวกเขาร่างรัฐธรรมนูญ พวกเขานําเสนอเอกสารต่อโจเซฟ สมิธเพื่อขอความเห็นชอบจากท่าน

[เมื่อ] โจเซฟ [เห็นเช่นนั้น] ท่านกล่าวว่านั่นเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด “แต่นี่ไม่ใช่อย่างที่ท่านต้องการ” โจเซฟกล่าว “จงบอกพี่น้องสตรีว่าพระเจ้าทรงยอมรับข้อเสนอของพวกเธอ และพระองค์มีบางสิ่งที่ดีกว่าให้พวกเธอ … ข้าพเจ้าจะจัดตั้งองค์การสตรีภายใต้ฐานะปุโรหิตตามแบบแผนของฐานะปุโรหิต” (วิสุทธิชน, 1:448)

วันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1842 พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้โจเซฟ สมิธจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจผู้นําสมาคมสงเคราะห์ในปัจจุบันให้รับใช้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกของศาสนจักรและผู้คนอีกนับไม่ถ้วน

อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 58:26–28 โดยมองหาว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้จะเชื่อมโยงกับสตรีที่ได้รับการดลใจซึ่งการกระทําของพวกเธอนําไปสู่การจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์อย่างไร

หลังจากนักเรียนศึกษาเสร็จแล้ว เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขาเปรียบสิ่งที่เรียนรู้กับชีวิตตนอย่างไร

ตัวอย่างความจริงบางประการที่พวกเขาอาจระบุได้แก่: พระเจ้าทรงเตรียมทางให้เราบรรลุสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาให้เราทําเสมอ งานของพระผู้เป็นเจ้าจะล้มเหลวไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้าประทานรางวัลแก่คนที่พยายามทําให้ความชอบธรรมเกิดขึ้น

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นี้?

  • การเปรียบพระคัมภีร์และเรื่องราวประวัติศาสนจักรกับชีวิตท่านจะช่วยท่านในอนาคตได้อย่างไร?

พิมพ์